Skip to main content
sharethis

หลังกระแสต้าน บก.ลายจุดเชื่อ ปชต.ไทยมีหวัง เพราะ ปชช.ตรวจสอบคนที่เลือกมา ชี้ปัญหาการเมืองไทย ไม่ใช่เลือกข้าง แต่คือเข้าข้าง หมอตุลย์ชี้คนที่อยากได้นิรโทษกรรมที่สุด คือฆาตกรฆ่าทหาร-เสื้อแดง ยันมวลชนสู้ไม่ถอย พวงทองวอนฝ่ายค้านอย่าตีขลุมเหมาเข่งทะลุซอย

8 พ.ย.2556 เวลา 16.30 น.คณะรัฐศาสตร์ และสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน รัฐศาสตร์ภาคประชาชน ตอน "หลากหลายความคิดเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ณ ห้อง103 ตึก1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วิทยากรร่วมนำเสวนา ประกอบด้วย จรัส สุวรรณมาลา พวงทอง ภวคพันธุ์ ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย และสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด)

 

‘พรสันต์’ แจงกลไกนิรโทษกรรม ภายใต้หลักนิติรัฐ-นิติธรรม

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายถึงกลไกเรื่องการนิรโทษกรรม ภายใต้หลักนิติธรรมและนิติรัฐว่า ภายใต้หลักการนี้ จะมีการกำหนดกลไกคร่าวๆ ที่จะเข้ามาเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง หรือมีการตรากฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หลักนิติรัฐนิติธรรม จะกำหนดกลไก เช่น การใช้ศาล เพื่อมาตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวขัดกับหลักรัฐธรรมนูญหรือไม่

หลักนิติธรรมและนิติรัฐ จึงมีการคิดเรื่องการนิรโทษกรรมขึ้นมา เพื่อยกเว้นโทษและความผิดแก่คนที่ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบธรรมตามกฎหมาย เนื่องมาจากระบวนการที่บกพร่องตามหลักกฎหมาย ซึ่งหากสามารถชี้ให้เห็นได้ว่าผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ถูกต้อง หรือประชาชนถูกกล่าวหาตามกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมจะ สามารถเข้าข่ายการนิรโทษกรรมได้

โดยหลักแล้ว กฎหมายนิรโทษกรรม จะนิรโทษความผิดให้กับผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย และไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ใช้กฎหมาย เพราะถือว่าประชาชนเป็นผู้ถูกกระทบสิทธิจากการใช้กฎหมายที่ไม่ชอบธรรมโดยตรง และได้รับความไม่ยุติธรรม การนิรโทษกรรมจึงเข้ามาเยียวยาตรงนี้ และผู้ใช้กฎหมายไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะผู้กระทำไม่ถูกละเมิดสิทธิ

การนิรโทษกรรม ขัดกับหลักนิติรัฐนิติธรรม หรือไม่?

จากหลักการที่กล่าวมา จึงเห็นว่าการนิรโทษกรรมจึงไม่สามารถขัดกับหลักนิติรัฐหรือนิติธรรมได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติรัฐนิติธรรม และเป็นกลไกที่ถูกออกแบบมาภายใต้หลักการนี้

พรสันต์อธิบายการตรากฎหมายนิรโทษกรรมว่า แบ่งออกได้เป็นสามประเภท คือ การออกด้วยฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และแบบผสมระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและการบริหาร ในไทย ถือว่าเป็นแบบนิติบัญญัติ เพราะมีการบัญญัติอยู่ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ในการตรากฎหมายนิรโทษกรรม จึงจำเป็นต้องพิจารณาตามตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการนิรโทษกรรม ประกอบกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามและผูกพันไว้ ภายใต้หลักการของหลักนิติรัฐและนิติธรรม

หลักเกณฑ์การตรากฎหมายนิรโทษกรรม

หลักเกณฑ์ทั่วไปในการตราตัวบทกฎหมายที่มีลักษณะนิรโทษกรรม คือ ต้องมีความชัดเจน คำนึกถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและต้องพิจารณาว่า การนิรโทษกรรม มีลักษณะของการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมอย่างไร

พรสันต์อภิปรายว่า ในการตรากฎหมายนิรโทษกรรม จำเป็นต้องพิจารณาสองข้อหลัก คือ ส่วนของกระบวนการ ว่าชอบด้วยกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญ กำหนดหรือไม่ และส่วนของเนื้อหา ว่าเป็นไปตามหลักการของกลไกนิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะมีความผิดบางอย่างที่ไม่สามารถนิรโทษได้

ในส่วนกระบวนการ จะเห็นชัดว่ามีปัญหาแน่นอนเพราะขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการพิจารณาของสภาวาระแรกรับหลักการของร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับวรชัย ที่นิรโทษเฉพาะผู้ชุมนุม เมื่อถูกเปลี่ยนแปลงในชั้นกรรมาธิการ ถือว่าขัดกับสิ่งที่สภาใหญ่ได้ลงมติไป เพราะขัดรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมสภา หากมีคนร้องเรียนที่ศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนี้น่าจะตกไปแน่นอน

ส่วนในเชิงเนื้อหา มีประเด็นสองอย่างที่ทับซ้อน คือเรื่องที่ถูกหลักการและผิดหลักการ ที่ถูกหลักการ คือ การครอบคลุมการนิรโทษกรรมประชาชน ข้อนี้เป็นไปตามหลักการใช้กฎหมาย ที่ไม่ชอบธรรม โดยจะเห็นจากการใช้กฎหมายความมั่นคงควบคุมและละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ซึ่งนี่เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดหลักการ ฉะนั้น ผู้ที่ถูกกล่าวหาตามกฎหมายนี้ เช่น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ร.บ. ความมั่นคง นี้ถือว่าสมควรได้รับการนิรโทษกรรม

ส่วนที่มีปัญหา คือ มาตราสามที่มีความกว้างและคลุมเครือ เนื้อหาสามารถถูกตีความไปครอบคลุมบุคคลหลายฝ่าย รวมถึงกรณีสุเทพ อภิสิทธิ์ รวมถึงมีการพูดถึงกันว่า รวมไปถึงกรณีตากใบ และกรือเซะด้วย และไม่มีการพิจารณาความผิดที่จะทำการนิรโทษกรรม

หากครอบคลุมทุกฝ่ายถือว่าขัดหลักนิรโทษกรรมหรือไม่

การจะตีความกฎหมายที่คลุมเครืออาจต้องดูที่เจตจำนงของกฎหมาย ในที่นี้คือมุ่งลบล้างความผิดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร ซึ่งแน่นอนว่าไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์กรือเซะหรือตากใบ ฉะนั้นโดยหลักการแล้ว ไม่สามารถตีความไปถึงตรงนั้นได้ ท้ายสุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตีความของศาล ซึ่งก็น่าจะตีความตามหลักที่ได้กล่าวไปแล้ว

นอกจากนี้ อาจถือว่าเป็นการละเมิดระบบกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ คือ หลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนสากลรวมถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประกันเรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิทธิทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิทธิที่รัฐไทย.และกฎหมายระหว่างประเทศคุ้มครองไว้โดยไม่สามารถล่วงละเมิดได้เลย

ดังนั้น การตีความกฎหมายนิรโทษกรรม ถ้าจะรวมไปถึงอภิสิทธิ์และสุเทพ ก็ไม่อาจทำได้ เพราะถือว่าขัดกับหลักการดังกล่าวที่ว่ามา ทั้งหลักสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยเป็นภาคี ระบุว่าไม่อาจนิรโทษกรรมการกระทำการที่อภิสิทธิ์และสุเทพถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิในชีวิตประชาชน สิ่งที่ต้องทำคือการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ

ส่วนในกรณีการนิรโทษกรรมทักษิณ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่สามารถใช้บังคับในกรณีนี้ได้เช่นกัน เพราะอย่างเรื่องที่ดินรัชดา ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องเจตจำนงของกฎหมายฉบับนี้ แต่ในข้อเท็จจริง ก็ทราบกันว่ามีการถูกกล่าวหาและส่งฟ้อง ตัดสินจากการตั้งหน่วยงานที่เป็นผลของรัฐประหาร ซึ่งเป็นวิถีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประชาธิปไตย และรัฐธรรมน๔ญ

ทางออกของปัญหา ณ ปัจจุบัน

พรสันต์กล่าวถึงข้อเสนอของอดีต ส.สร.ปี 50 ที่เคยเสนอให้ ส.ส. ผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้ ถอนร่างกฎหมายออก แต่การถอนดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายระบุไว้ว่าเมื่อกฎหมายผ่านสภาแล้วจะต้องบรรจุในวุฒิสภาอย่างเร่งด่วน

ข้อเสนอที่ว่า ให้ส.ว. ยับยั้งกฎหมายดังกล่าว โดยไม่รับหลักการ ให้ร่างกฎหมาย กลับไปอยู่ที่สภาล่าง แต่การที่ให้ต้องรออีก 180 วันเพื่อพิจารณา ตนเองไม่เห็นด้วยเพราะจะเป็นการยื้อเวลาโดยใช่เหตุ ประเด็นที่สำคัญตอนนี้คือ คนที่ได้รับความเดือดร้อนคือประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่การตีตกคือไม่นิรโทษใครเลยทั้งสิ้น ถ้าให้ความสำคัญแก่ประชาชนเป็นหลัก วุฒิสภาต้องแก้ร่างเนื้อหาให้กลับไปสู่ร่างวรชัย เพื่อนิรโทษเฉพาะประชาชนโดยเร็วที่สุด

พรสันต์เสนอให้ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการเต็มสภา หมายถึง พิจารณาได้ทั้งสภาโดยไม่ต้องผ่านวาระที่สอง ซึ่งทำให้ไปสู่วาระที่สามได้เร็วยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่ตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา ในทางปฏิบัติ เมื่อรัฐบาลส่งสัญญาณมาแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็สามารถมาตกลงคุยกันได้ แม้จะดูว่าเป็นการล็อบบี้ แต่ถ้าล็อบบี้แล้วเกิดผลดีต่อประชาชน ก็ควรที่จะทำ

ต่อคำถามที่ว่า นิรโทษกรรม สามารถแก้ไขความขัดแย้งของสังคมได้จริงหรือเปล่า ต้องบอกว่า ในความขัดแย้งตอนนี้ มีสองมิติ คือมิติสังคมและมิติกฎหมายที่ทับซ้อนกันอยู่ ในทางกฎหมาย สามารถแก้ไขโดยตรากฎหมายนิรโทษกรรม แต่ยังไม่ได้แก้ความขัดแย้งในเชิงสังคม ซึ่งโดยหลักแล้วต้องเอาความจริงมาเปิดเผย แต่ตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยในเชิงสังคม แม้แต่ คอป. ก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลหรือความเป็นจริงเลย ฉะนั้น ขอฟันธงว่า การตรากฎหมายนิรโทษกรรมเป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้น ไม่สามารถนำไปสู่การปกรองดองได้ถ้ายังไม่มีการเปิดเผยความจริงต่อคนในสังคม เพราะประชาชนยังคงต้องมีสิทธิในการเข้าถึงความจริง

นอกจากนี้ พรสันต์กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมของการเหมารวมคนที่คัดค้านนิรโทษกรรมเป็นเข่งเดียวกัน เนื่องจากมีหลายกลุ่มหลายก้อน จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าคัดค้านประเด็นไหนของกฎหมายนิรโทษกรรม

 

‘พวงทอง’แจงข้อเท็จจริง ชี้ทหารใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม

พวงทอง ภวัครพันธ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ภาพการชุมนุมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า แม้อินเทอร์เน็ตจะเป็นแหล่งข้อมูลและช่วยในการสื่อสารระหว่างกันในสังคม แต่ในความเป็นจริงก็มีเพียงแค่ข้อมูลชุดเดียวเท่านั้นที่มักถูกนำไปใช้และผลิตซ้ำอยู่ในสังคม ยกตัวอย่างการชุมนุมของนิสิตจุฬาที่ป้ายว่า "โกงเอง ฆ่าเอง นิรโทษเอง" ตรงนี้ชี้ว่า ความเข้าใจผิดๆ ในเรื่องของคนเสื้อแดงยังคงมีอยู่ในสังคม ไม่ว่าภาพลักษณ์ที่ว่าคนเสื้อแดงน่ากลัว เป็นพวกป่าเถื่อน ข่มขู่คุกคาม

ในฐานะที่ตนเองเคยทำงานอยู่ใน ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) จึงต้องการให้ข้อมูลอีกด้านที่เกี่ยวกับการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 6 ศพวัดปทุม ที่มีคำสั่งออกมาทั้ง 6 ศพแล้วว่าทั้งหมดเสียชีวิตจากกระสุนปืนจากฝั่งทหาร และยังมีสถิติข้อมูลว่า กองทัพระดมกำลังทหารมาปราบปรามคนเสื้อแดงกว่า 30,000 นาย มีหลักฐานว่าทหารได้เบิกกระสุน 600,000 นัด ส่งคืนกลับมา 400,000 กว่านัด ไม่รวมสไนเปอร์อีกประมาณ 3,000 กว่านัด ใช้ไป 2,000 พัน ส่วนกระสุนปลอมมีการเบิกมาแค่ 10,000 นัด

จากรายงานของ ศปช.มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวน 94 ราย คิดเป็นทหาร 10 คน ส่วนที่เหลือเป็นพลเรือน และบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนการเสียชีวิต พบว่าร้อยละ 56 เสียชีวิตจากการถูกยิงบริเวณเอวขึ้นมาถึงศีรษะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นการยิงเพื่อป้องกันตัวเอง แต่เป็นยิงเพื่อให้ตาย ส่วนที่เหลือ เป็นการใช้กระสุนปืนไรเฟิลยิงระดับล่างของร่างกายลงมา

ตัวอย่างในคดีเผาเซ็นทรัลเวิร์ด มีอยู่ผู้ต้องหาในคดีนี้ 4 ราย ซึ่งตอนนี้ถูกยกฟ้องไปหมดแล้ว สองคนในนั้นเป็นเยาวชน ในคดีดังกล่าว คำให้การของพยานที่สำคัญ คือคำให้การของที่ปรึกษาอัคคีภัยกลุ่มบริษัทเครือเซ็นทรัลมากว่า 20 ปี ได้ให้การในฐานะเป็นหัวหน้าการควบคุมการดับเพลิงในเซ็นทรัลว่า คนเสื้อแดงไม่สามารถเผาได้ เพราะมีระบบป้องกันภัยที่ดีที่สุดในเอเชีย และชี้ว่า ในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ภาพในกล้องวงจรปิด แต่กลับพบคนหน้าแปลก แต่งกายคล้ายทหาร มีอาวุธ เข้ามาเผาบริเวณห้าง รปภ.ของห้าง พยายามเข้ามาห้ามแต่ก็ต้องถอย แม้คำตัดสินจะออกมาชัด แต่อัยการก็ยังคงเดินหน้าจะฟ้องต่อ

ชี้กระบวนการศาลไม่เป็นธรรมต่อจำเลยคนเสื้อแดง

กรณีเผาศาลากลาง จ.อุบลราชธานี มีประชาชนกว่า 1,000 คนถูกจับเพียงเพราะถ่ายรูป มีหลายคนถูกติดคุกฟรี

และคดีเผาศาลากลางจังหวัดในหลายพื้นที่ไม่มีประจักษ์พยานอย่างชัดเจน มีเพียงการใช้ภาพถ่ายประกอบคำรับสารภาพเป็นหลัก อีกทั้งพบว่ามีคดีที่พยานโจทก์เบิกความเป็นคุณต่อจำเลย ศาลก็ไม่หยิบมาประกอบการวินิจฉัย อย่างกรณีนายสนอง เกตุสุวรรณ ที่ถูกตัดสินจำคุก 33 ปี มีพยานชี้ว่าเขาเข้าไปดับเพลิง แต่ศาลก็ไม่เอามาพิจารณาเป็นคุณ

"คนที่เดือดร้อนที่สุดคือประชาชนที่กฎหมายนี้ตั้งใจจะช่วยเหลือตั้งแต่แรก นี่เป็นความไม่รับผิดชอบตั้งแต่แรกแล้วของพรรคเพื่อไทยที่เอาทักษิณ เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมครั้งนี้ ดังนั้น สว.ยังมีเวลาแก้ โดยการแก้ตรงนี้ออกไปให้เหลือแต่เพียงผู้ชุมนุมเท่านั้น"

พวงทองย้ำว่า แม้แกนนำต้องมีความรับผิดชอบจากการสลายการชุมนุมช้า แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่รัฐจะสามารถใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุเข้ามาสลายการชุมนุมของประชาชน

ต่อประเด็นที่จรัสได้พูดว่า ไม่เห็นด้วยว่าให้มีการนิรโทษกรรมแกนนำ ผู้สั่งการ และทักษิณ แต่เสียงในกลุ่มของคนเสื้อเหลืองมันไม่ดังพอ เรื่องนี้มันไม่พอ มีแต่เสียงของการต่อต้านทักษิณอย่างเดียว อย่างที่สุเทพบอกว่าจะนิรโทษคนติด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่คนที่ติดคุกในคดี พ.ร.ก.ออกจากคุกหมดไปแล้ว นี่เป็นผักชีโรยหน้าเพื่อแสดงว่าเขาเห็นใจผู้ชุมนุม แต่ไม่ตรงประเด็น เพราะคนที่ติดคุกในขณะนี้มาจากคดีอื่นๆ

วอนฝ่ายค้านอย่าตีขลุมเหมาเข่งทะลุซอย

พวงทองชี้ว่า ฝ่ายเสื้อเหลืองต้องส่งเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองอีกฝ่ายด้วย ไม่ใช่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อย่างไม่ลืมหูลืมตาและไม่วิพากษ์วิจารณ์เลย จะเห็นว่าการวิพากษ์นิรโทษกรรมในขณะนี้ มันเต็มไปด้วยวาระซ่อนเร้นทั้งหมด

"อย่างกลุ่ม 40 ส.ว.ก็ยังไม่ผ่านเรื่องนี้ พยายามจะดึงเรื่องนี้ออกไป เพื่อยื้อให้วิกฤติมันมากขึ้น เพื่อให้ตรงกับเรื่องเขาพระวิหาร มันไม่ใช่แค่สุดซอยแล้ว แต่เป็นเรื่องการทะลุซอยที่มีเป้าหมายเพื่อการล้มล้างรัฐบาล" พวงทองกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายควรมองคนที่ติดคุกอยู่ตอนนี้ว่าเป็นคนที่ออกมาต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ แต่ยังคงต้องติดคุกและไม่ได้รับการประกันตัว และมองด้วยหลักเกณฑ์มนุษยธรรม จะลดความโกรธแค้นที่มีอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยังรู้สึกว่าไม่ถูกประกัน

"มันเปลี่ยนอาชญากรรมโดยรัฐทำให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม และทำให้ผู้ทำความผิดลอยนวล ไม่ควรปล่อยให้มันอยู่อีกต่อไป ถ้าเราอยากให้ประชาชนเคารพสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และความเป็นมนุษย์ เราไม่ควรต้องปล่อยให้ผู้กระทำความผิดเดินหลุดออกไปอีก” พวกทองย้ำ

พวงทอง มองว่า ต่อไป พ.ร.บ.เหมาเข่งคงล้ม เพราะรัฐบาลขณะนี้อยู่ในภาวะหวาดกลัวมาก วุฒิสภาสายเพื่อไทยเองก็บอกว่าจะวาระ 3 อย่างรวดเร็ว ยังย้ำตามแถลงการณ์ ศปช.วิงวอนวุฒิสภาทุกฝ่ายให้มีสติกับเรื่องนี้ ช่วยประชาชนออกมาก่อน ไม่เช่นนั้นจะต้องรออีกนานกว่าเพื่อไทยจะผลักเรื่องนี้อีก

ทั้งนี้ อย่างน้อยที่สุด ถ้า พ.ร.บ.นี้ตกไปยังมีร่าง พ.ร.บ.ของญาติ ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยในหลักการที่มุ่งช่วยเหลือเฉพาะประชาชนเท่านั้น แต่ไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะกล้าหยิบมาพิจารณาหรือไม่ แต่อย่างไรก็จะใช้เวลาเช่นกัน จึงอยากให้นายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมใช้ตำแหน่งของตัวเองประกันให้ผู้ถูกคุมขังได้ประกันตัวออกมาก่อน

 

‘จรัส’ ชี้สภาเผด็จการ ก่อแรงต้านนิรโทษกรรม

จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเห็นต่างทางการเมือง แต่ต่างก็ค้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะหลักการไม่ชอบ โดยจะเห็นว่าในร่างแรกนั้น ไม่มีใครค้าน เพราะที่ควรจะเป็นคือนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมทางการเมือง ไม่ใช่ผู้ที่ยิงหรือทำร้าย เนื่องจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองย่อมผิดกฎหมายเป็นธรรมดา ตัวเองก็เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การชุมนุมนั้นเป็นการใช้สิทธิความเป็นพลเมืองในการแสดงความเห็นต่างจากรัฐบาล

กรณีคณะกรรมาธิการในสภาแปรญัตติในวาระ 2 และ 3 เพิ่มข้อความให้นิรโทษกรรมรวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดย คตส. ซึ่งมีคนสำคัญคือ ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกตัดสินจำคุกและยึดทรัพย์ นอกจากนี้ยังให้ขยายจากช่วงเวลาจากปี 2549 ไปถึง 2547 ครอบคลุมความผิดอีกเยอะ ทำให้กฎหมายเกิดความคลุมเครือในการตีความ ซึ่งอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ ความผิดที่ขยายออกนี้รวมถึงเรื่องทุจริตคอร์รัปชันด้วย ซึ่งอาจขัดข้อตกลงกับต่างประเทศ ทำให้กฎหมายมีปัญหาเชิงหลักการ นอกจากนี้ ยังเป็นการเอาประชาชนเป็นตัวประกันด้วย

จรัส มองว่า กระแสการคัดค้าน พ.ร.บ.นี้ ในทางรัฐศาสตร์ ไม่ใช่การค้าน พ.ร.บ.นี้แบบเฉพาะเจาะจง แต่เป็นเพราะความไม่พอใจสิ่งที่รัฐบาลและ รัฐสภาทำเพิ่มขึ้นๆ อาทิ นโยบายจำนำข้าว การแก้รัฐธรรมนูญ ที่ใช้เสียงข้างมากในการแก้ เช่น ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีความกังวลว่าอาจทำให้ ส.ว.พึ่งพิงการเมืองมากขึ้น หรือ พ.ร.บ.เงินกู้สองล้านล้าน

จรัส กล่าวว่า คนกลัวสภาที่ออกกฎหมายแบบไม่ฟังเสียงใคร ตีสี่ก็ออกกฎหมายได้ คนจะไม่มั่นใจว่าจะเชื่ออะไรได้กับระบบการเมืองรัฐสภา เราเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รัฐสภาต้องกำกับควบคุมรัฐบาล ถ้าสภามีอำนาจการเมืองค่อนข้างสูง เป็นสภาเผด็จการ คนส่วนใหญ่จะไม่เชื่อระบอบรัฐสภา เรามาถึงจุดที่มีความเคลือบแคลงในระบอบรัฐสภาว่า ใช้ได้หรือเปล่ากับสังคมไทย ทั้งนี้ย้ำว่า ระบบรัฐสภาต้องผ่านการเรียนรู้ โดยที่คนในสังคมถ่วงดุลได้

จรัส สรุปว่า ดังนั้น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงเป็นฟางเส้นสุดท้าย ทำให้คนออกมาต่อต้านมาก แม้รัฐบาลจะบอกว่าถอนแล้ว แต่จะเห็นว่าการต่อต้านก็ยังไม่หยุด ลองคิดว่ามันเกิดจากอะไร ส่วนตัวไม่มีทางออกในเรื่องนี้ แต่ชี้ว่านี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นแรงสะสมที่ไม่ใช่เพิ่งมี แต่เห็นมาระยะหนึ่งแล้ว

แนะคุมโรคหักหลังประชาชนด้วยการตรวจสอบ

ต่อคำถามว่าจะทำอย่างให้ปกครองด้วยระบบรัฐสภาที่แท้จริง จรัส ระบุว่า "โรคหักหลังประชาชน" เป็นโรคที่อยู่กับระบอบประชาธิปไตย ขจัดไม่ได้ ทำได้เพียงควบคุมให้คนที่เลือกเข้าไปทำหน้าที่ให้ดีเท่านั้น โดยมีกลไกคือ การตรวจสอบโดยประชาชน ไม่ใช่เชียร์แบบหลับหูหลับตา เพราะคนเหล่านี้มีโอกาสหักหลังเราตลอดเวลา ไม่ว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาลก็คอร์รัปชั่นมากบ้างน้อยบ้างทั้งนั้น

"เลือกเข้าไปแล้วก็ต้องตรวจดู ไม่ใช่เลือกแล้วทิ้ง แบบที่เป็นอยู่" จรัส ทิ้งท้าย

 

หลังกระแสต้าน บก.ลายจุดเชื่อ ปชต.ไทยมีหวัง เพราะ ปชช.ตรวจสอบคนที่เลือกมา

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เริ่มโดยแซวว่า มีคนบอกว่าเรามีตัวอย่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง คือ มาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะกำหนดให้สิ่งใดถูกก็ถูก สิ่งใดผิดก็ถูก ซึ่งสิ่งนี้ยังดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญ และต้องเอาออกไป

สมบัติ กล่าวว่า พฤติกรรมของตัวแทนประชาชนที่ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ใน "สภาฮาโลวีน" เมื่อ 4.00 น. วันที่ 31 ต.ค. เป็นการกระทำที่ย่ามใจมาก ทำให้ประชาชนต่างออกมาท้วง ไม่ว่าคนคิดต่างหรือพวกเดียวกัน ซึ่งจากกรณีนี้ ทำให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยในไทย เริ่มมีความหวังแล้ว แม้ไม่ใช่ในนักการเมือง แต่คือความหวังที่อยู่ในประชาชน ที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบผู้แทนที่เลือกขึ้นมา

สมบัติ กล่าวว่า ขอให้เลิกวัฒนธรรมที่ไม่ด่าพวกเดียวกัน โดยต้องตรวจสอบว่าเขาทำถูกไหม ทั้งนี้ แม้ตนเองจะไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์ แต่ถ้าเขาทำผิดก็จะบอกว่าผิด ถูกก็บอกว่าถูก

"ปัญหาของการเมืองไทย ไม่ใช่การเลือกข้าง แต่คือการเข้าข้าง" สมบัติกล่าวและว่า ไม่มีปัญหาเลยว่าใครจะใส่สีอะไร การเปลี่ยนรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ แต่ระบบจะอยู่ได้เมื่อคนในสังคมไทย มีความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นธรรม

สมบัติ กล่าวว่า กรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ เมื่อรัฐบาลทำผิด ประชาชนต้องออกมาเอะอะโวยวาย พร้อมชื่นชมกลุ่มที่ออกมาเป่านกหวีดส่งเสียงด้วย แม้ว่าเมื่อส่งเสียงแล้ว อาจถูกบ้างผิดบ้าง ก็ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ของสังคมไป

สมบัติ กล่าวว่า การสอดไส้ประเด็นนิรโทษกรรมทักษิณไม่เหมาะสม โดยร่างแรกนั้นรับได้แล้ว ควรเอาประชาชนในฐานะเหยื่อทางการเมืองออกมา ตรงที่เห็นไม่ตรงกันก็ต่อรองกันได้ ส่วนตัวเชื่อว่ามีคนที่อีรุงตุงนังมีเสื้อแดงที่เข้าไปเผาจริง แต่จะเห็นว่า เวลาเผาศาลากลางอาจมี 50 คน แต่กลับมีการออกหมายจับถึง 300 คน กระบวนการแบบนี้ไม่ยุติธรรม ไม่ว่า 14 ตุลา 6 ตุลา หรือ พฤษภา 35 หรือนักศึกษาในอังกฤษประท้วง ก็มีการเผารถเผาเมือง นี่ไม่ใช่อาชญากรโดยธรรมชาติ แต่เป็นจิตวิทยาฝูงชน พร้อมชี้ว่า เมื่อวานนี้ สายสืบตำรวจ สน.นางเลิ้ง ก็ถูกกระทืบในม็อบเป่านกหวีด

แนะรัฐบาลก้มหัวรับฟังหลังก้าวพลาด

ทั้งนี้ สมบัติ กล่าวด้วยว่า มั่นใจว่ารัฐบาลถอยหมดแล้วจริงๆ เพียงแต่คนในสังคมยังรู้สึกโกรธ ซึ่งนั่นไม่ใช่ความผิดของประชาชน แต่เป็นวาระที่รัฐบาลต้องอดทนและรับผิดชอบ ก้มหัวรับฟัง

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประชาชนยังโกรธและสนุกกับความโกรธอยู่ สิ่งที่เขากังวลคือกลัวว่าจะเกิดการปะทะกันระหว่างคนที่ไล่รัฐบาลออกมาจากซอยกับคนเสื้อแดงที่อยู่บนถนนใหญ่ ซึ่งต่างมีปริมาณและความชอบธรรมพอๆ กัน โดยเขาเปรียบเทียบว่า หากมาถึงปากซอย ก็จะปกป้องรัฐบาล จะตีเส้น ตำหนิในประเด็นนิรโทษกรรม ซึ่งจะเรียกร้องให้รัฐบาล แสดงความรับผิดชอบ จนกว่าสังคมจะพอยอมรับได้ด้วย นี่คือเส้นความชอบธรรมของการไล่คนจากซอย โดยจากนั้นคงต้องเป็นภาระหน้าที่ของปัญญาชนที่จะเปิดการถกเถียงกัน นำพาความคิดของผู้คนในสังคมต่อไป

 

หมอตุลย์ จวกคนที่อยากได้นิรโทษกรรมที่สุด คือฆาตกรฆ่าทหาร-เสื้อแดง

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (เสื้อหลากสี) กล่าวว่า การเห็นคนไทยเสียชีวิต ไม่ว่าใครไม่ใช่เรื่องสนุก แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าการตายในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 มีคนได้ประโยชน์รวมทั้งวางแผนให้เกิดขึ้นและนั่นคือฆาตกรที่แท้จริง

นพ.ตุลย์ กล่าวต่อมาว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในร่างแรกของนายวรชัย เหมะ และส่วนตัวเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้มาชุมนุมทางการเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งถูกชักจูงมาชุมนุมทางการเมืองและมีการชักจูงให้ก่อเหตุวางเพลิง แต่การผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดย ส.ส.เสียงข้างมากในสภาเมื่อรุ่งเช้าวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

“กฎหมายนิรโทษกรรมตบหน้าคนเสื้อแดงที่เกลียดอภิสิทธิ์และทหาร ตบหัวประชาชนทั้งชาติที่ไม่เอาการโกง” ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดินกล่าว พร้อมตั้งคำถามว่าที่ ส.ส.เสียงข้างมากโดยเฉพาะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยกล้าทำเช่นนี้เพราะทักษิณใช่หรือไม่

นพ.ตุลย์ แสดงจุดยืนต่อมาว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการยัดเยียดประเด็นรัฐประหารปี 2549 มาเอี่ยวกับการนิรโทษกรรมที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปี 2553 พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมจึงนำมาเกี่ยวข้องกันเหมือนการซื้อเหล้าพ่วงเบียร์ รวมถึงกรณีการบอกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นรัฐบาลจากค่ายทหาร ตั้งโดย คมช.ทั้งที่หลังการรัฐประหารก็มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ขึ้นมาบริหารประเทศ

จนมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งมาจากการโหวตในสภา เนื่องจากการย้ายข้างของพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 ตรงนี้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่จำเป็นที่พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งอันดับ 1 จะต้องเป็นรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากอยากให้มีการแก้ไขตรงนี้ก็ต้องไปรณรงค์แก้ไขกฎหมาย

ตัวแทนกลุ่มคนเสื้อหลากสีตั้งคำถามต่อมาว่า ทำไมการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2552 จึงไม่มีการตายเกิดขึ้น ทั้งที่ก็มีการยิง มีความพยายามเอารถน้ำมันไปเผา มีการล้มการประชุมอาเซียนและพยายามลักพาตัวนายอภิสิทธิ์ด้วย

ส่วนการสลายการชุมนุมเมื่อ 10 เม.ย.2553 คนไม่เข้าใจเพราะละเลยลำดับเหตุการณ์ ทำให้เปลี่ยนผู้กระทำผิดไปเป็นผู้ถูกกระทำ ทั้งคนเสื้อแดงละทหารเป็นเหยื่อของฆาตกรที่วางแผนให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น คนที่ยิงคือคนชุดดำ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมปี 2552 จึงไม่มีการตาย

นพ.ตุลย์ กล่าวว่า การพูดตรงนี้เพื่อที่จะได้รู้ความจริงว่าทำไมต้องออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะผลลัพธ์คือจะไม่มีการดำเนินคดี คนที่ยิงคนเสื้อแดง ยิงทหารก็จะไม่ถูกเปิดเผย นี่คือสิ่งที่คนที่อยากให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมากที่สุดอยากให้เกิดขึ้น

ยืนยันมวลชนสู้ไม่ถอย ชี้อึดอัดมานาน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนิรโทษกรรม

นพ.ตุลย์ กล่าวด้วยว่า การตีความกฎหมายมี 2 รูปแบบ คือตีความตามตัวบทและตีความตามเจตนารมณ์ ซึ่งสิ่งที่ขาดไปในขณะนี้คือไม่มีใครไปถาม นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ว่ามีเจตนาอะไรในการเพิ่มมาตรา 3 และต้องการหมายรวมถึงใครบ้าง แต่เมื่ออ่านตัวร่างกฎหมายก็จะรู้ว่าหมายถึงใคร โดยตรงนี้คนที่ได้ประโยชน์คือ อภิสิทธิ์ สุเทพ และทักษิณ ซึ่งจะไม่มีใครได้รับโทษและไม่มีการดำเนินคดีอีกต่อไป แต่ความโกรธเกลียดเคียดแค้นก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป หลังจากกฎหมายบังคับใช้

ส่วนผู้ชุมนุมก็ยังคงจะชุมนุมอยู่ไม่ถอย เพราะไม่เชื่อถือ ไม่เชื่อใจรัฐบาลนี้อีกต่อไป แม้ว่าคนเสื้อแดงจะถอย แต่คนที่เหลือไม่เอาด้วย เพราะประชาชนอึดอัดมานาน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่มีทั้งการแก้มาตรา 190 ให้ไม่ต้องผ่านสภา การขึ้นราคาน้ำมัน ขึ้นราคาก๊าซ ซึ่งเป็นการขึ้นค่าใช้จ่ายในการครองชีพของประชาชน

“หากพรรคประชาธิปัตย์หยุดแค่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คนที่จะถูกไล่ต่อไปคือ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เพราะคนอัดอั้นมานานไม่ใช่เฉพาะ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” นพ.ตุลย์กล่าวย้ำ

นพ.ตุลย์ กล่าวต่อมาว่า สำหรับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เห็นด้วยหาก ส.ว.จะนำร่างกฎหมายฉบับนายวรชัยกลับมา แต่อยากให้เพิ่มข้อความต่อท้ายว่า “ทั้งนี้ไม่กระทบการดำเนินคดี เพื่อให้ความจริงปรากฏต่อไป” เพราะเขาก็อยากรู้ว่าตัวเองจะติดคุกจากการปิดสนามบินหรือไม่ ใครยิงทหาร ใครยิงคนเสื้อแดง และสำหรับคนถูกขังก็อยากให้ได้สิทธิในการประกันตัว แต่สำหรับคนที่มีอัตราโทษสูงอาจเป็นไปได้ยาก

“อยากรู้ความจริงเมื่อปี 53” นพ.ตุลย์ระบุและว่า ในส่วนฆาตกรที่ฆ่าประชาชนอยากให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุด หากทหารทำผิดก็ต้องได้รับโทษเช่นเดียวกับกรณีการวิสามัญโดยกระทำการเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งยังเรียกร้องให้คนที่เข้าใจถึงความทุกข์ของญาติผู้ถูกยิงสูญเสียชีวิต เข้าใจความรู้สึกเจ้าของทรัพย์สินที่โดนเผาในเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นด้วย

ต่อคำถามเรื่องการสอดแทรกผู้ต้องโทษมาตรา 112 ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นพ.ตุลย์ แสดงความเห็นว่า เป็นการฉวยโอกาสนำมารวมกันทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดการปราศรัยจึงต้องมีการกล่าวพาดพิงสถาบันฯ เกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net