Skip to main content
sharethis
หมอนิรันดร์ ลงพื้นที่คอนสาร จ.ชัยภูมิ นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมหน่วยราชการ-ท้องถิ่น-เอกชน-ชาวบ้าน กรณีขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานยางพาราอัดแท่งไม่โปร่งใส ยินดีจะมีการชะลอออกใบอนุญาตไปก่อน และตั้งคณะกรรมการโดยมีประชาชนเข้าร่วมตามข้อร้องเรียน
 
 
30 ต.ค.2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค.56 เวลา 08.30 น. ชาวบ้านกลุ่มรักษ์คอนสาร จาก อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ได้รวมตัวชุมนุมที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อร่วมรับฟังผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ชาวบ้านได้ร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสและไม่ชอบธรรมในการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานยางพาราอัดแท่ง ของบริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงพื้นที่พร้อมเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาชี้แจงในวันดังกล่าว
 
นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เดินทางถึงบริเวณพื้นที่ชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.และได้กล่าวทักทายกลุ่มชาวบ้านพร้อมระบุว่า ทุกกระบวนการที่หน่วยงานหลายฝ่ายร่วมประชุมเพื่อแสดงเหตุผลข้อเท็จจริงนั้น ได้มีการติดตั้งเครื่องขยายเสียง เพื่อให้ผู้มาร่วมชุมนุมที่อยู่บริเวณพื้นที่ด้านล่างกว่า 2,000 คน ได้ร่วมรับฟัง ในทุกขั้นตอนตลอดช่วงเวลาที่มีการประชุมด้วย
 
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีนิรันดร์เป็นประธาน โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร อาทิ วงศ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง, ประสาท มีแต้ม, สุวิทย์ กุหลาบวงศ์, ส.รัตนมณี พลกล้า, สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูรณ์, ประยงค์ ดอกลำไย, ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ หน่วยงานภาครัฐ อาทิ นิพนธ์ สาธิตสมิธพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ตัวแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานสิ่งแวดล้อม สาธารณสุขอำเภอคอนสาร อบต.คอนสาร อบต.ดงบัง อบต.ทุ่งนาเลา และตัวแทนจากบริษัทศรีตรังฯ รวมทั้งตัวแทนกลุ่มรักษ์คอนสาร
 
 
วิเชษฐ อุสันเที๊ย ประธานกลุ่มรักษ์คอนสาร ได้มอบหนังสือรายชื่อของประชาชนอำเภอคอนสารกว่า 5,000 รายชื่อที่ได้ร่วมเสดงเจตนารมณ์คัดค้านการเข้ามาดำเนินกิจการโรงงานยางพาราอัดแท่ง เพื่อยืนยันว่าประชาชนในพื้นที่คอนสารไม่ได้ต้องการโรงงานดังกล่าว
 
วิเชษฐ กล่าวว่า การที่ต้องคัดค้านโรงงานยางพาราเพราะไม่มีความเหมาะสม ในพื้นที่ อ.คอนสารนั้นเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำใต้ดินและบนดิน ลักษณะภูมิประเทศประกอบไปด้วยเทือกเขาที่มีความหลากหลายในระบบนิเวศ มีความสมบูรณ์ทั้งพืชพันธุ์สัตว์นานาชนิด เหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าที่จะเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ของอำเภอคอนสารนั้นก็ไม่มีแผนในการที่จะทำการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม
 
หากโรงงานที่มีขนาดใหญ่ดำเนินกิจการได้ แน่นอนว่าจะต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก นั่นคือน้ำที่ต้องมาจากการขุดเจาะน้ำบาดาลขนาดใหญ่ขึ้นมาใช้ ทำให้นอกจากผลกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงก็อาจไม่มีน้ำใช้ อีกทั้งอาจได้รับผลกระทบหากมีการปล่อยน้ำเสีย
 
“สภาพพื้นที่บริเวณที่จะสร้างโรงงานยางพาราเป็นพื้นที่สูง และอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่มีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงคนคอนสารและอำเภอใกล้เคียง อาทิ อ่างเก็บน้ำโสกลึก รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติใต้ดิน เช่น น้ำผุดนาวงเดือน น้ำผุดนาเลา น้ำผุดซำภูทอง และลุ่มน้ำเซิน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอยู่ใกล้ชุมชน โดยเฉพาะสี่แยกคอนสาร ซึ่งเป็นขุมชนขนาดใหญ่ และเป็นตลาดสดของอำเภอคอนสาร” นวิเชรษฐ กล่าวว่า
 
ด้าน ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า ประชาชนได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ชาวบ้านมีสิทธิทั้งอำนาจและหน้าที่ในการที่จะร่วมกันปกป้องชุมชน รวมทั้งมีสิทธิสามารถกำหนดอนาคตของตนเอง ซึ่งทางหน่วยงานภาครัฐควรมองสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วย ไม่ใช่มองเฉพาะกฎหมายของหน่วยงานตนเท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญ นับแต่ปี พ.ศ.2540 ถึง 2550 นั้นได้มีการพูดถึงเรื่องของสิทธิชุมชน ทำให้ประชาชนเกิดการตื่นตัวที่จะใช้สิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญ
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 15.30 น. นิรันดร์ ในฐานะประธานการประชุม กล่าวสรุปผลการประชุมว่า ทางด้านยุทธศาสตร์ของอำเภอคอนสารไม่มีแผนที่จะมีการดำเนินการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อีกทั้งมีความบกพร่องในกระบวนการขออนุญาตเพื่อจัดตั้งโรงงานยางพารา ส่วนประชาชนในตำบลดงบังเองก็ไม่มีการรับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ดังนั้นจึงไม่ใช่ความชอบธรรมในการที่จะให้อนุญาตโดยองค์กรส่วนท้องถิ่น
 
ด้านสภาพพื้นที่ พบว่าสภาพพื้นที่บริเวณที่จะสร้างโรงงานยางพาราเป็นพื้นที่สูง โดยสภาพไม่มีความเหมาะสม เพราะอยู่ระหว่างกลางชุมชน และอยู่ใกล้ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงคนคอนสารและอำเภอใกล้เคียง และอยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำโสกลึก รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติใต้ดิน
 
ส่วนบริษัทศรีตรังฯ ควรให้คำนึงถึงการเคารพสิทธิชุมชน ในด้านต่างๆ เช่น การดำเนินคดีความกับแกนนำ จำนวน 4 ราย ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการให้ข้อมูลที่อาจเข้าข่ายทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชุมชนซึ่งถือว่าเป็นสิ่งร้ายแรง และควรพึงระวังเป็นที่สุด
 
นอกจากนี้ นิรันดร์ได้กล่าวขอขอบคุณที่จะมีการชะลอการออกใบอนุญาตออกไปก่อน และให้ตั้งคณะกรรมการโดยมีประชาชนเข้าร่วมด้วยตามที่ประชาชนร้องเรียนมา ทั้งนี้ ไม่ถือเป็นการผิดกฎหมายที่ประชาชนแสดงสิทธิการร้องเรียนได้ และทางบริษัทศรีตรังฯ ซึ่งเป็นโรงงานที่ยึดหลัก CSR ต้องทำงานโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้นจึงควรคิดให้ดีในการเลือกพื้นที่ที่จะก่อตั้งโรงงาน อีกทั้งยุทธศาสตร์ของอำเภอคอนสาร ในเรื่องของอุตสาหกรรมนั้นต้องมีความสอดคล้องกับเรื่องทุนทางสังคมด้วย โดยการประกอบกิจการใดๆ ต้องไม่ทำลายภาคการเกษตรของประชาชน และต้องคำนึงถึงหลักสิทธิชุมชนด้วย
 
อนึ่ง ตั้งแต่ที่บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ยื่นขออนุญาตดำเนินการประกอบกิจการโรงงานยางพารากับองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังในการเข้าดำเนินกิจการในพื้นที่บ้านหินรอยเมย ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในพื้นที่ 291 ไร่ ชาวคอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จึงจัดตั้งกลุ่มรักษ์คอนสารขึ้น เพื่อคัดค้านความไม่โปร่งใสและไม่ชอบธรรมของโรงงานยางพาราฯ มานานกว่า 3 เดือน
 
ทางกลุ่มรักษ์คอนสารมีข้อสังเกตและทำการคัดค้านการดำเนินงานของบริษัทศรีตรังฯ ในประเด็นอาทิ การลงมติขององค์การบริหารส่วนตำบลดงบังนั้นไม่สมบูรณ์ และมีความบกพร่องที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวของบริษัทฯ ไม่มีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ รวมทั้งการดำเนินการเป็นไปอย่างเงียบเชียบและเร่งรัด ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชน
 
เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2556 กลุ่มรักษ์คอนสารจัดชุมนุมที่หน้าที่ว่าการอำเภอครั้งแรก เพื่อทวงถามหนังสือที่ระบุให้มีการทบทวนต่อการอนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงงานพาราฯ โดยก่อนจะมีการชุมนุม กลุ่มรักษ์คอนสารได้ยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ทั้งยังได้เดินทางเข้าพบสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาฯ นายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ถึงทำเนียบรัฐบาล แต่ถึงปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
 
ต่อมา 14 – 15 ต.ค.2556 กลุ่มรักษ์คอนสารชุมนุมใหญ่กันอีกครั้ง เพื่อทวงสัญญาประชาคม เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิไม่ดำเนินตามที่รับปากไว้ จากกรณีเมื่อวันที่ 30 ก.ย.56 รองผู้ว่าฯ ในนามตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ให้คำมั่นสัญญาว่าภายใน 10 วัน จะให้มีการจัดการทำประชาคม
 
วันที่ 17 ต.ค.2556 กลุ่มรักษ์คอนสารชุมนุมอีกครั้ง โดยสุภรณ์เดินทางมาร่วมประชุมพร้อมลงตรวจสอบพื้นที่ เพื่อดูข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว และรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net