Skip to main content
sharethis
ประธานกลุ่มรักษ์คอนสารแจงปัญหาการดำเนินกิจการโรงงานผลิตยางพาราอัดแท่งรมควันขนาดใหญ่ในพื้นที่ ชี้กระบวนการขออนุญาตไม่โปร่งใส หวั่นโรงงานสร้างมลพิษทางอากาศ แย่งใช้น้ำทำเกษตร
 
 
นับจากวันที่ 12 ก.ค.56 ที่บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือขออนุญาตตั้งโรงงานประกอบกิจการบนเนื้อที่กว่า 290 ไร่ บริเวณบ้านหินรอยเมย หมู่ที่ 8 ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สำหรับดำเนินกิจการโรงงานผลิตยางพาราอัดแท่งรมควันขนาดใหญ่ กำลังการผลิตยางแท่งและยางผสมเดือนละ 12,000 ตัน กำลังการผลิต 18,000 แรงม้า พร้อมทั้งจะมีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย บ่อน้ำ
 
ทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชน และกลุ่มพ่อค้าในท้องถิ่นร่วมกันจัดตั้งกลุ่มในนาม “กลุ่มรักษ์คอนสาร” ขึ้นมาเมื่อวันที่ 15 ส.ค.56 โดยมีวัตถุประสงค์ในการคัดค้านโรงงานยางพารา เพื่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และร่วมกันตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าว
 
“พวกเราแกนนำกลุ่มรักษ์คอนสาร ขอรับรองว่าไม่มีใครอยู่เบื้องหลังในการต่อต้าน แน่นอนใครที่ไม่ได้อยู่ใกล้สถานที่ก่อสร้างโรงงาน ใครที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลผลกระทบ ย่อมจะมองคนอื่นในแง่ลบได้เสมอ ขอให้เปิดใจ มองให้ลึก แล้วท่านจะเข้าใจ หากโรงงานนี้อยู่ใกล้กับบ้านท่าน ท่านจะคิดอย่างไร” นายวิเชษฐ อุสันเที๊ย ประธานกลุ่มรักษ์คอนสารกล่าวหลังจากถูกตั้งคำถามถึงเบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวบ้าน
 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.ย.56 ชาวบ้านกลุ่มรักษ์คอนสารนับพันคนได้เคลื่อนขบวนจากหน้าวัดเจดีย์ไปยังที่ว่าการอำเภอคอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายอำเภอคอนสารและให้ทำเรื่องประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ทบทวนมติที่อนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราอัดแท่งรมควัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโครงการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายอำเภอคอนสาร ประธานสภาองค์การส่วนบริหารตำบลดงบัง และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ แต่ก็ไร้ความคืบหน้าใดๆ
 
นายวิเชษฐ ในฐานะประชาชนในพื้นที่บ้านน้ำพุปางวัว หมู่ที่ 8 ต.คอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ให้ข้อมูลความเป็นมาของการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานยางพาราว่า นับจากต้นปี 2556 ได้ทราบว่ามีกลุ่มนายหน้ามากว้านซื้อที่ดินจำนวนกว่าหลายร้อยไร่ กระทั่งวันที่ 12 ก.ค.56 บริษัทศรีตรังฯ ได้ทำหนังสือ ขออนุญาตตั้งโรงงานประกอบกิจการโรงงาน ต่อมาชาวบ้านจึงได้ทราบว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานยางพาราอัดแท่งของบริษัทศรีตรังฯ ในพื้นที่
 
ภายหลังองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังได้รับหนังสือการอนุญาตจากโรงงานดังกล่าว มีการทำหนังสือที่ ชย. 78201.1/648 ลงวันที่ 15 ก.ค.56 ขออนุญาตนายอำเภอคอนสาร เพื่อเดินทางไปราชการนอกเขตจังหวัดชัยภูมิในวันที่ศุกร์ 19 ก.ค.56 โดยระบุว่าเป็นการไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานยางพาราของบริษัทศรีตรังฯ คณะผู้ศึกษาดูงานประกอบด้วย คณะทำงานอำเภอคอนสาร คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา พนักงานส่วนตำบล กำนันตำบลดงบัง ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลดงบังจำนวน 90 คน
 
ต่อมาในวันที่ 16 ก.ค.56 องค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง ได้แจ้งขออนุญาตจัดตั้งโรงงานประกอบกิจการ บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) กับนายอำเภอคอนสารเพื่อให้พิจารณาการแจ้งการขออนุญาตดังกล่าว ตามหนังสือที่ชย.78201.1/655 ลงวันที่ 16 ก.ค.56
 
พร้อมกันนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังทำหนังสือ เพื่อขอความอนุเคราะห์ใช้สถานที่ในการประชาคม จัดตั้งกิจการโรงงานที่วัดหินรอยเมย ในวันเสาร์ที่ 20 ก.ค.56 ตามหนังสือที่ชย.78201.1/651 ลงวันที่ 16 ก.ค.56 และได้ทำหนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมประชาคมหมู่บ้าน โดยเชิญสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง กำนันตำบลดงบัง และผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน เพื่อเข้าร่วมหารือ แสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในการดำเนินการอนุญาตก่อสร้าง และตั้งโรงงาน ในวันที่ 20 ก.ค.56 เวลา 9.00 น.ตามหนังสือ ที่ชย.78201.1/654 16 ก.ค.56
 
นายวิเชษฐ กล่าวด้วยว่า ในวันประชาคมดังกล่าว มีผู้เข้าร่วม 463 คน โดยมีองค์ประกอบดังนี้ ปลัดอำเภอคอนสาร เกษตรอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.17 คน 8 หมู่บ้าน ชาวบ้าน ต.ดงบัง 8 หมู่บ้าน และ ตัวแทนบริษัท เท่านั้น
 
กระทั่งมีการประชุมสมัยสามัญสมัยที่ 3 ครั้งที่ 1 ของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง เมื่อวันที่ 1 ส.ค.56 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอนุญาตให้บริษัทศรีตรังเข้ามาประกอบกิจการ
 
ประธานกลุ่มรักษ์คอนสาร กล่าวว่า จากลำดับเหตุการณ์การในข้างต้นนั้น ก่อให้เกิดคำถามกับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมากถึงการเข้ามาดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานยางพาราของ บริษัทศรีตรังฯ กับองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังว่าเป็นไปอย่างเงียบเชียบและเร่งรัดอย่างมาก ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชน
 
ต่อมาวันที่ 19 ส.ค.56 กลุ่มรักษ์คอนสารได้ยื่นหนังสือกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังตามหนังสือ ที่พิเศษ / 2556 ลงวันที่ 19 ส.ค.56 เพื่อขอให้ทบทวนมติการอนุญาตสร้างโรงงานยางพาราในพื้นที่ตำบลดงบัง และขอให้เปิดเผยข้อมูลกรณีการขออนุญาตสร้างโรงงานยางพาราในพื้นที่ตำบลดงบัง
 
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังรับเรื่องและรับว่าจะจัดส่งข้อมูลให้ในวันศุกร์ที่ 23 ส.ค.56
 
นายวิเชษฐ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สังเกตเห็นความไม่ครบถ้วนของขั้นตอนกระบวนการขอจัดตั้งโรงงานดังนี้ มติขององค์การบริหารส่วนตำบลดงบังไม่มีความสมบูรณ์ และเป็นการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวของบริษัทฯ ไม่มีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูล รวมทั้งต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพ สถาบันการศึกษานักวิชาการในท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่รับทราบ  เพื่อช่วยกันศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนจะพิจารณาเห็นชอบหรืออนุญาตให้บริษัทเข้ามาดำเนินกิจการ ฯลฯ
 
ดังนั้น กลุ่มรักษ์คอนสารจึงได้มีการรวบรวมข้อมูลและจัดทำหนังสือคัดค้านการดำเนินการดังกล่าว และร้องเรียนส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายคือการคัดค้านการก่อสร้างโรงงานยางพาราในพื้นที่บ้านหินรอยเมย ด้วยเหตุผลความไม่เหมาะสม โดยหลักๆ ดังนี้
 
1.สภาพพื้นที่ ที่ตั้งโรงงานไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นบริเวณที่เป็นพื้นที่สูง อยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำโสกลึก และแหล่งน้ำธรรมชาติใต้ดิน ได้แก่ น้ำผุดนาวงเดือน น้ำผุดนาเลา น้ำผุดซำภูทอง ลำห้วยน้ำสุ ลำห้วยทรายขาว ลำห้วยน้ำเซิน นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้ชุมชนบ้านหินรอยเมย วัดบ้านหินรอยเมย รวมทั้งยังอยู่ไม่ไกลจาก 4 แยกคอนสาร ตลาดสดคอนสาร ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของอำเภอ
 
2.สถานที่ตั้งโรงงานอยู่ในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตรจากสถาบันการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนเทคโนโลยีคอนสาร โรงเรียนบ้านนาวงเดือน โรงเรียนบ้านน้ำพุปางวัว โรงเรียนบ้านฝายดินสอ โรงเรียนบ้านคอนสาร โรงเรียนอนุบาลศุภมน โรงเรียนอนุบาลณัฐพันธ์ และโรงเรียนคอนสารวิทยาคม เป็นต้น
 
3.อยู่ใกล้สถานที่ราชการ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรคอนสาร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยยาง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งนาเลา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงบัง ที่ว่าการอำเภอคอนสาร สถานีตำรวจคอนสาร โรงพยาบาลคอนสาร เป็นต้น
 
กลุ่มรักษ์คอนสาร มีความเห็นว่า ขั้นตอนที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใสของกระบวนการยื่นขออนุญาตตั้งโรงงานของบริษัทฯ รวมทั้งไม่มีการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้านถึงผลกระทบที่จะตามมาภายหลัง จากหน่วยงานภาครัฐและทางบริษัทฯ ทำให้กลุ่มรักษ์คอนสารห่วงใยว่า การก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่นี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต่อสุขภาพ และต่อบริบทของสังคมชุมชนคอนสารที่เป็นแหล่งผลิตอาหารและเป็นป่าต้นน้ำของภาคอีสาน
 
ผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น มีทั้งทางอากาศ จากกลิ่นเหม็นไปไกลกว่า 10 กิโลเมตร พร้อมทั้งควันพิษที่ก่อตัวจากกระบวนการผลิต ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งต่อระบบทางเดินหายใจและโรคภูมิแพ้ต่างๆ อีกทั้งน้ำใต้ดินจะลดปริมาณลง เนื่องจากต้องใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อสูบน้ำใต้ดินจำนวนมากมาป้อนสู่กระบวนการที่มีการผลิตกว่าสองแสนตันต่อเดือน และจะมีการเดินเครื่องตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง นอกจากนั้นจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เคยใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งก็จะมีน้ำใช้ไม่เพียงพอ
 
นอกจากนี้ การที่โรงงานจะมีการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง นั่นหมายความว่าจะต้องมีการขนส่งวัตถุดิบเข้ามายังโรงงานเป็นจำนวนมาก นั่นคือจะมีรถบรรทุกขนส่งเป็นจำนวนมากวิ่งเข้ามาในบริเวณใจกลางเมืองคอนสาร
 
นายวิเชษฐ ให้ข้อมูลต่อมาว่า ในส่วนเกษตรชาวสวนยางในพื้นที่อำเภอคอนสาร มีระบบสหกรณ์รับซื้อที่ดีอยู่แล้ว เพื่อส่งต่อไปยังโรงงาน การซื้อขายยางก็เป็นไปตามราคากลางที่ประกาศผ่านทางเว็บไซต์อยู่แล้ว สามารถตรวจสอบราคาซื้อขายกันได้ตลอดเวลา ฉะนั้นผู้ที่จะกอบโกยรายได้เพิ่มขึ้นก็จะมีเพียงนายทุนไม่กี่คนเท่านั้น เกษตรก็ยังคงขายยางตามราคาตลาดโลก ยังคงซื้อปุ๋ยและปัจจัยการผลิตในราคาแพงต่อไป คนที่รวยไม่ใช่เกษตรที่แท้จริง แต่เป็นนายทุน พ่อค้าคนกลางและบริษัทเท่านั้น
 
เพราะฉะนั้นสิ่งที่บริษัทฯ โฆษณาว่า หากมีการก่อสร้างโรงงานยางพารา จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิต รวมทั้งราคาซื้อขายยางมีราคาดีขึ้นนั้น เป็นไปไม่ได้เลย
 
“ขอยืนยันว่าทางกลุ่มรักษ์คอนสารได้ติดตาม ทั้งการณรงค์ มีการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง เราจะทำการคัดค้านอย่างถึงที่สุด ด้วยความเป็นห่วงลูกหลานที่จะได้รับผลกระทบที่จะมาสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมรวมทั้งระบบนิเวศตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งขอเรียกร้องให้บุคคลต่างๆ ทั้งผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ให้ความสนใจและร่วมมือในการคัดค้าน เพราะหากมีการก่อสร้างเสร็จแล้วทางโรงงานยางพารา คงยากที่จะยกเลิกง่ายๆ ผืนดินคอนสารที่เคยอุดมสมบูรณ์ จะทำให้วิถีชีวิตชาวคอนสารเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีในหลายๆ ด้านจะเป็นอำเภอที่มีแต่มลภาวะ สุขภาพกายและสุขภาพจิตในชุมชนจะเสื่อมถอย” ประธานกลุ่มรักษ์คอนสารกล่าว
 
ปัจจุบันกลุ่มรักษ์คอนสารยังคงร่วมติดตามความคืบหน้ากรณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ปรากฏว่ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐที่จะมาทำความเข้าใจกับประชาชน รวมทั้งบริษัทฯ ก็ยังไม่มีท่าทีที่จะยุติการดำเนินการก่อสร้างโรงงานยางพาราฯ ดังกล่าว
 
ทั้งนี้ คาดว่าในอีกไม่นาน ความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของกลุ่มรักษ์คอนสารคงถูกกำหนดขึ้นอีกครั้ง เพื่อปฏิบัติการหยุดยั้งปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนของพวกเขาในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net