Skip to main content
sharethis

คนงานบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ระบุบริษัทฯ พยายามเตะถ่วงการเจรจา ส่งเพียงทนายมาเจรจาเท่านั้น การเจรจายืดเยื้อไป ไม่เป็นผลดีกับคนงาน เพราะระบบใหม่จะบีบให้โดนใบเตือน จนถูกเลิกจ้างหรือไม่ก็ต้องเซ็นสัญญาใหม่

23 ต.ค. 2556 - สำนักข่าวประชาธรรมรายงานว่าเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมาเวลาประมาณ 15.30 น.  พนักงานในบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้รวมตัวประท้วงนายจ้างหน้าโรงงานอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าบริษัทฯ พยายามเตะถ่วงการเจรจา โดยทางบริษัทส่งเพียงทนายมาเจรจาเท่านั้น ซึ่งทำให้การเจรจายืดเยื้อไป ไม่เป็นผลดีกับพนักงาน เพราะระบบใหม่จะบีบให้โดนใบเตือน จนถูกเลิกจ้างหรือไม่ก็ต้องเซ็นสัญญาใหม่

ตัวแทนคนงานที่ถูกพักงานรายหนึ่ง กล่าวว่า พวกตนได้รวมตัวเรียกร้องให้เปลี่ยนสถานภาพการจ้างของบริษัทมาเป็นเวลา หนึ่งเดือนแล้ว และหลังจากยื่นข้อเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคุณ สตีฟซึ่งเป็นกรรมการบริษัทฯ แต่เขาอ้างว่าไม่มีอำนาจ ล่าสุดสุดวันนี้เขาก็ส่งทนายมาคุยแต่ไม่ยอมเริ่มต้นเจรจาด้วยสักที

"ทนายเข้ามาคุย และเสนอให้พบกันคนละครึ่งทาง อย่างเรื่องปรับ 20 บาท ก็อาจจะยกเลิกได้ แต่เรื่องโบนัสเป็นสวัสดิการของบริษัทคงให้ไม่ได้ ในเรื่องของค่าจ้างต่อเดือนก็อาจให้ได้ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คือ 9,000 บาท ต่อเดือน ทุกอย่างที่เราขอ เขาจะเข้าไปคุยกับบริษัทให้ทุกอย่าง เรื่องมันก็เลยอยู่ระหว่างการเจรจาอยู่ เขานัดอีกทีวันที่ 2 พ.ย."

ตัวแทนคนงาน กล่าวอีกว่า "คนงานมาชุมนุมกันในวันนี้เพื่อเรียกศรัทธาของเพื่อนแรงงานด้วยกัน เพราะขนาดแค่ยื่นข้อเรียกร้อง ยังถูกพักงาน กฎหมายยังคุ้มครองไม่ได้เลย จึงอยากให้เพื่อนแรงงาน รวมถึงบริษัทฯ เห็นว่า ถ้าคนงานรวมกันก็มีโอกาสได้ข้อเสนอตามที่เรียกร้องไป เราต้องทำหนังสือเพื่อเรียกร้องสิทธิ หากยังไม่สำเร็จก็คงจะมีการนัดหยุดงานไปจนถึงฟ้องศาลแรงงาน"

ด้านตัวแทนคนงานหนึ่งในคนงานสิบคนที่ลูกเลิกจ้างจากการเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทพยายามเปลี่ยนสภาพการจ้างงานนั้นมาจากการที่บริษัทเปิดโรงงานที่อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตไปที่นั้น เนื่องจากค่าแรงถูกกว่า เพราะหลังจากบริษัทประกาศเปิดโรงงานแห่งใหม่ก็เปลี่ยนสภาพการจ้างงานทันที

"การเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มชั่วโมงทำงานต่อวันจากเดิม 7.5 ชั่วโมงทำงาน ไม่รวมเวลาพักกินข้าว มาเป็น 8.5 ชั่วโมงทำงาน การเข้างาน เริ่มงาน 8 โมง เวลา 7 โมง 58 ก็ต้องเข้าไปแล้ว ต้องอยู่ที่จุดทำงานก่อนสองนาที เข้าไปก่อนก็โดนใบเตือน เข้าไปหลังก็โดนใบเตือน แล้วเครื่องสแกนนิ้วมีอยู่สองเครื่อง มันก็เข้างานไม่ทัน"

"การเข้าห้องน้ำ ถ้าไปนานก็จะโดนเตือน ตอนนี้มีกล้องติดทั่วโรงงาน ทำอะไรเล็กน้อยก็จะถูกใบเตือน  ถ้าพนักงานได้ใบเตือน 4-5 ใบ ก็จะเรียกมาที่ออฟฟิศ แล้วบอกว่าใบเตือนคุณมีเยอะแล้ว จะให้ทำอย่างไร ถ้าจะอยู่โรงงานนี้ต่อ คุณต้องเซ็นสัญญาใหม่ ถ้าไม่เซ็นก็ต้องถูกไล่ออกจากงาน"

"เราไม่ยอมเซ็นเพราะถ้าเซ็น ตอนเขาย้ายไปแม่สอดเราจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะในสัญญาจ้างใหม่เอื้อให้โรงงานไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายน้อยที่สุด เขาใช้วิธีเหล่านี้เพื่อบีบพนักงานให้ลาออกไป คนไหนทนไม่ได้ก็ต้องลาออก เราไม่เซ็น จึงถูกเลิกจ้าง"

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า เวลา 18.00 น. สหภาพแรงงานต่างๆที่จ.ลำพูน เตรียมเดินทางมาให้กำลังใจ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์
 

ที่มา: สำนักข่าวประชาธรรม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net