Skip to main content
sharethis


 

(13 ต.ค.56) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และมูลนิธิ 14 ตุลา จัดราชดำเนินเสวนา "40 ปี 14 ตุลา เส้นทางเสรีภาพสื่อไทย" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมเสวนาโดยอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ หลายรุ่น


หวังพลังประชาชนร่วมเปลี่ยนแปลงสื่ออีกครั้ง เหมือน 14 ตุลา

บัญญัติ ทัศนียะเวช อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ช่วงปี 2534-35

เสรีภาพสื่อ สะท้อนเส้นทางของประชาธิปไตยในไทย โดยในยุค 14 ตุลา 16 เกิดพลังมหาศาลของมวลชนในการทำลายพลังของทหารที่สั่งสมมานาน พลังของมวลชนยังได้ปลุกจิตสำนึกสื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพ หลังจากที่แล้วมา สื่ออ่อนประสบการณ์ไม่ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพเท่าที่ควร ยอมจำนนต่ออิทธิพลของเผด็จการ เขียนข่าวเท่าที่ทหารออก ขาดการตรวจสอบผลกระทบต่อประชาชน เป็นการรับใช้เผด็จการโดยปริยาย ช่วงนี้จึงเป็น “น้ำลดตอผุด” คนที่ถูกกดขี่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพ มีการเปิดเผยเปิดโปงเหตุการณ์ลึกลับ อุ้มฆ่าต่างๆ 

สามปีต่อมา ยุค 6 ตุลา 19 กลุ่มขวาตกขอบที่เสียอำนาจขณะนั้นสร้างสถานการณ์ขึ้น มีกลุ่มกระทิงแดง วิทยุยานเกราะจนเกิดขบวนการปฏิรูปการปกครองขึ้น เสรีภาพสื่อมืดมิดที่สุด ขณะนั้น สมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย เป็นครั้งแรกที่ นสพ.ถูกปิดหมด ต้องไปรายการตัวในกองบัญชาการทหาร เพื่อจะได้เปิดรายฉบับ โดยมีเงื่อนไขให้นักข่าวบางคนออก หลายฉบับถูกปิดตาย บ้างถูกถ่วงไม่ให้เปิด ขณะเดียวกัน มีการใช้วิธีที่โหดเหี้ยมกับนักศึกษา ประชาชน สื่อ ทำให้มีคนจำนวนมากหนีเข้าป่า

ช่วง พ.ค. 35 สุจินดาขึ้นเป็นนายกฯ มีม็อบมือถือ มีการต่อสู้บนถนนราชดำเนิน นสพ. กับ วิทยุโทรทัศน์ที่คุมโดยรัฐบาล ออกข่าวคนละเรื่อง ประชาชนเกิดความสับสน สมาคมนักข่าวฯ ถูกสอบถามเข้ามาว่าทำไมออกข่าวคนละด้าน วิทยุที่รัฐบาลครอบครองถูกวิจารณ์อย่างมาก หลังจากนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการทำข่าว มีข่าวออกตามวิทยุโทรทัศน์แทบทุกต้นชั่วโมง เพราะความต้องการของประชาชน เป็นการปฏิวัติการออกข่าวยุคหนึ่ง

มายุคนี้ เกิดความแตกแยกของสื่อ ไม่เห็นอิทธิพลทหาร แต่เห็นอิทธิพลของทุนสามานย์ในวงการสื่อ ซึ่งที่ผ่านมา มีความคิดรับใช้ประชาชนตรงกัน แต่วันนี้แยกเป็นสองส่วน ยืนคนละข้าง บ้างเสนออย่างโจ่งแจ้ง บางฉบับมีทั้งสองฝ่าย ทำให้ประชาชนสับสนมาก นี่เป็นเรื่องที่ยังมองไม่เห็นทางออก หวังว่าพลังของประชาชนที่สั่งสมมาแบบเดียวกับ 14 ตุลา ซึ่งตอนนี้เริ่มมีเครือข่ายประชาชนที่ลุกขึ้นรักษาสิทธิในแต่ละท้องที่ ประชาชนที่แสดงความไม่พอใจผ่านการชุมนุม ที่ลุกขึ้นมาทีละหย่อม แต่ยังไม่ประสานงานกัน ถ้ามีเหตุการณ์ที่เป็นประเด็นร่วม คิดว่าเวลานั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อ


ชี้สื่อเลือกได้ จะเป็นเสรีชนหรือทาส จวกสื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่ตรวจสอบรัฐบาล

สำเริง คำพะอุ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

หลัง 6 ตุลาเป็นยุคมืดเพราะเผด็จการ แต่ทุกวันนี้มืดยิ่งกว่า นสพ.เสนอข่าว-การ์ตูนไปคนละทิศละทาง ประชาชนไม่รู้จะเอาอย่างไร เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าเปลี่ยนไปหรือเปล่า กลายเป็นอนุรักษนิยม ยานเกราะ หรือต่อต้านขบวนการประชาชนไปหรือเปล่า คิดว่าไม่ใช่

ทุกวันนี้ นสพ.ไม่ได้ถูกปิด แต่เลือกเองได้ ว่าจะมีเสรีภาพ เป็นเสรีชน หรือเป็นทาส  

ทั้งนี้ เสรีภาพของ นสพ. ขึ้นอยู่กับ หนึ่ง นโยบายของเจ้าของว่าจะมีทิศทางอย่างไร สอง คนทำหนังสือ รับนโยบายนั้นได้ไหม ถ้ารับไม่ได้ ก็เดินออก แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ นสพ.ทุกวันนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์บ้าง ไม่ก็เจ้าของร่ำรวยเกินไป เมื่อมีคนลาออกก็จ้างใหม่ได้ มีคนให้เลือก เสรีภาพที่จะอยู่ที่เราจึงไม่มี

ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไรที่คนเดินมาจากแม่วงศ์ สื่อหลักไม่เสนอข่าว หรือเสนอเพียง 3-5 นาที แต่กลับเสนอเรื่องพรรคประชาธิปัตย์จะแตกกัน นสพ.เปลี่ยนไป จากที่ควรตรวจสอบรัฐบาล ดันไปตรวจสอบฝ่ายค้าน

นสพ.เคยทนไม่ได้กับการกลับคำว่าจะไม่เป็นนายกฯ ของสุจินดา คราประยูร แต่ทนได้กับคนที่บอกจะไม่มายุ่งกับการนิรโทษกรรม ทนได้กับการที่รัฐรับจำนำข้าวขาดทุนปีละหลายแสนล้าน ทนได้กับการเป็นหนี้จากการกู้เงินสองล้านล้านบาทเพื่อลงทุนด้านคมนาคม ซ้ำ นสพ.ยังบอกว่ากู้เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว เพื่อความมั่งคั่ง

นสพ.พร้อมจะเสนอข่าวว่าปี 53 ทหารฆ่าประชาชน แต่ละเลยจะพูดถึงคนที่ฆ่าคนสองพันคนในนโยบายปราบปรามยาเสพติด เหตุการณ์กรือเซะ ไม่เคยพูดถึง

ตั้งคำถามต่อ นัก นสพ.ว่า เป็นนัก นสพ. เพื่อรับใช้ตัวเองหรือนายทุนที่ขลาดเขลาและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

 

ย้ำหน้าที่สื่อ ทำความจริงให้ปรากฏ

พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานมูลนิธิอิศรา อมันตกุล

นัก นสพ. คือผู้ที่ทำความจริงให้ปรากฏ ถ้าทำไม่ได้ ถูกบังคับไม่ให้ทำ ก็ลาออก เช่นที่ตัวเองตัดสินใจลาออกจาก นสพ.ที่อยู่มานาน

ทั้งนี้ สื่อในไทยหลังปฏิวัติ 16 ก.ย. 2500 เสรีภาพของ นสพ.ถูกปิดกั้นอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ฉบับที่เชียร์รัฐบาลยังอยู่ได้ เสรีภาพสื่ออื่นๆ ก็ไม่มี เพราะมีเพียงทีวีวิทยุของทหารกับกรมประชาสัมพันธ์

นสพ.ส่วนใหญ่ที่ออกได้ ต้องเอาตัวรอด เสนอแต่ข่าวสังคม ข่าวบันเทิง หลีกเลี่ยงทำตามหน้าที่ อย่างไรก็ตาม มีคนที่ทำลุกขึ้นมาทำคือคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ทำสื่อเป็นอาชีพ หรือ อาจเป็น นสพ.เล็กๆ โดยยกตัวอย่างการนำเสนอซึ่งจุดประเด็น 14 ตุลา ขึ้นอย่างการลงข่าวเรื่องทุ่งใหญ่ฯ ของนสพ.ประชาธิปไตย ย้ำว่าเสรีภาพเกิดจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่พยายามทำความจริงให้ปรากฏนี้ ไม่ใช่สื่อหลัก

วิจารณ์สื่อปัจจุบันว่า เดี๋ยวนี้แค่เขียนข่าวให้ครบถ้วนตามหลักการเขียนข่าวว่า "ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่" ยังไม่ครบ แล้วจะไปพูดถึง "ทำไม และอย่างไร" ได้อย่างไร 

เสรีภาพสื่อไทยขณะนี้มีจนเลอะเทอะ ทำได้ทุกอย่างจะสัมภาษณ์ใครเอาขาวเป็นดำ ดำเป็นขาวก็ได้ เป็นคอลัมนิสต์เปเปอร์ ไม่ใช่นิวส์เปเปอร์ เสนอว่าสื่อต้องต่อสู้เพื่อเสรีภาพของคนทั่วไปโดยส่วนรวม เพราะเสรีภาพของสื่อมีมากอยู่แล้ว

ปัจจุบัน เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว ก็สามารถนำเสนอข่าว สร้างวาระข่าวได้ ในสื่อทุกประเภทและทุกสถานที่ ตั้งคำถามต่อว่า เวลาบอกว่าจะพิทักษ์เสรีภาพสื่อ นั่นคือเสรีภาพของอะไรและของใคร

 

หวังสื่อทำหน้าที่ของตัวเองเข้มข้นขึ้น ช่วยประชาธิปไตยเดินหน้า

เทพชัย หย่อง บรรณาธิการเครือเนชั่น อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุฯ 

สื่อมวลชนยุคนั้นการต่อสู้โดดเดี่ยวมาก ไม่มีแฟนเพจเชียร์เหมือนปัจจุบัน องค์กรสื่ออยู่ในมุมมืด เป็นการต่อสู้ที่คนในสังคมไม่ค่อยรับรู้  คนทำสื่อจึงไม่ได้ต้องการผลตอบแทนหรือความดังแบบในยุคนี้ แต่ทำด้วยหวังให้สังคมดีขึ้น

ยุค 14 ตุลา เป็นยุคเปิดเสรีสื่อแต่ก็สั้นมาก ขณะที่ 6 ตุลา  สมัคร สุนทรเวช เรียกหนังสือพิมพ์มาพบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องบันทึกเอาไว้ เพราะไม่มีภาพแบบนี้อีกแล้ว ตอนนั้นสื่อต้องรับเงื่อนไขว่าเปิดทำการได้ แต่ต้องไม่มี บก. หรือคอลัมนิสต์ คนนั้นคนนี้ เพราะวิจารณ์รัฐบาล หรือเอียงซ้ายไป นี่เป็นเรื่องผิดหลักการ

ประเด็นของการต่อสู้ของสื่อในยุคก่อนกับยุคหลังยังเหมือนเดิม เป็นเรื่องประชาธิปไตย การทุจริต การเล่นพรรคเล่นพวก แต่ความเข้มข้นเมื่อเทียบกับ 40 ปีก่อนกลับน้อยลง ทั้งที่สื่อมีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีมากขึ้น

ในประเด็นประชาธิปไตย ตั้งคำถามว่า สื่อได้เข้าไปตรวจสอบ สะท้อนความจริงมากน้อยแค่ไหน การตรวจสอบฝ่ายที่มีอำนาจได้ทำมากแค่ไหน เมื่อประชาธิปไตยไม่ได้จบแค่หย่อนบัตรเลือกตั้ง โดยการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยได้ จะต้องรู้เท่าทัน ซึ่งจะทำได้ ก็ต่อเมื่อสื่อรู้หน้าที่ของตัวเองด้วย

ทั้งนี้้ การรายงานข้อเท็จจริง ไม่ใช่รายงานสิ่งที่นายกฯ พูด แต่คือการตรวจสอบทุกส่วนของสังคม แทนประชาชน ต้องเจอกับแรงปะทะเสียดทาน ไม่พอใจ เพราะไม่ว่ารัฐบาลแบบไหน ไม่ว่าจากทหารหรือจากการเลือกตั้ง ก็ไม่มีใครอยากเห็นสื่อมีเสรีภาพจริง เขาอยากเห็นสื่อที่ผู้มีอำนาจกำกับได้ ตรงข้ามกับความต้องการของสื่อที่ต้องการความโปร่งใส การตรวจสอบได้

ที่ผ่านมา มีพยายามแทรกแซงสื่อเกิดขึ้นแล้ว แล้วจะมากขึ้น ในกลางปีหน้า เราจะมีทีวีดิจิตอลอีกหลายช่อง ถามว่าเสรีภาพโอกาสในการรายงานข้อมูลข่าวสารเต็มที่จะจริงแค่ไหน จะเชื่อได้อย่างไรว่าจะไม่มีการแทรกแซง พร้อมชี้ว่า ที่ผ่านมา มีผู้หยิบใช้ภาพความเป็นประชาธิปไตย เพื่อสร้างกลไกกำกับควบคุมสื่อที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตย

จุดหักเหอีกครั้งหนึ่งของสื่อมวลชนไทย คือ การที่คนไม่ได้ซื้อหนังสือพิมพ์อ่าน ไม่มีทีวีในห้องนอนของคนรุ่นใหม่ คนเลือกรับข้อมูลข่าวสาร ทำให้สื่อคำนึงถึงการเข้าถึงกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มมากกว่าสื่อสารมวลชน คำนึงถึงศิลปะในการนำเสนอ อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าหลักการสื่อไม่ควรเปลี่ยน

ในการควบคุมสื่อ นอกจากทุนแล้ว มี กสทช. ที่จะกำกับสื่อ โดยที่ผ่านมา มีความพยายามออกระเบียบกำกับเนื้อหาสาระของทีวีดิจิตอล ซึ่งลงรายละเอียดไปถึงความเป็นกลางของการรายงานข่าว รายงานสัมภาษณ์ต้องมีสองฝ่ายที่เห็นต่างกัน ออกรายการพร้อมกัน มีอำนาจลงโทษถึงขั้นถอนใบอนุญาต ถ้า กสทช. มาจากการสรรหาที่เป็นอิสระโปร่งใส ก็ยังพอเชื่อได้  แต่กังวลว่า ต่อไปเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว. ซึ่งเป็นผู้สรรหา กสทช.แล้ว ไม่แน่ใจว่า กสทช.จะอิสระแค่ไหน

 

เตือนสื่อหันมากำกับกันเอง ก่อน กสทช.เข้ามา

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ตลอดเส้นทาง ชัดเจนว่าศัตรูของสื่อคือรัฐ ในบางยุคคือทหาร แต่ระยะหลัง สื่อไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมสื่อ ปี 32-33 สื่อธุรกิจครอบครัวแบบเดิมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ มีการบูมในปี 33-35 มีการเรียกร้องปฏิรูปสื่อ สื่อมีเสรีภาพเสนอข่าวมาก อัตราเงินเดือนของนักข่าวพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่พอหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 40 จากที่ กอง บก. กับฝ่ายการตลาดแยกกันชัดเจน กอง บก.ตรวจสอบรัฐได้เต็มที่ กลายเป็นแยกไม่ออก ว่าไหนเป็นข่าว ไหนประชาสัมพันธ์ ทุกวันนี้แทบไม่มี กลืนกับเนื้อหาข่าว เรื่องนี้เกิดขึ้นทั่วโลก สื่อขายจิตวิญญาณของความเป็นสื่อ หลายครั้งที่นักข่าว กอง บก. ไปคุยกับแหล่งข่าว ก็มีการฝากประชาสัมพันธ์ ไม่เฉพาะฝ่ายทุน เท่าที่ทราบ ในการเจรจาต่อรอง นอกจากทุนธุรกิจ ก็มีองค์กรรัฐ องค์กรอิสระ สังเกตว่าหลังจากนั้น โทนข่าวเปลี่ยนไป บทบาทสืบสวนไม่เข้มข้นเหมือนเดิม

การเดินรณรงค์หลายร้อยกิโลเมตรกรณีต้านเขื่อนแม่วงก์ ก็เพื่อชิงพื้นที่ในหน้า นสพ. จอทีวี เนื่องจากเรียกร้องในพื้นที่ไม่ได้เพราะสื่อไม่สนใจ จึงต้องการเรียกร้องในศูนย์กลางอย่าง กทม. เมื่อก่อน นักข่าวที่มีจรรยาบรรณ ลงบ้าง ตั้งคำถามว่าทุกวันนี้ปิดปากด้วยงบรัฐใช่หรือไม่ ทำให้ไม่กล้าพูดเต็มปาก ทั้งยังช่วยสปอนเซอร์บิดข่าว ในอีกแบบตามที่เขาต้องการ เช่น วิกฤตธรรมชาติ เบนไปอีกจุด ไม่ได้เสนอข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน

ในอนาคต ทีวีดิจิตอลก็เป็นเช่นนี้ เพราะเงิน งบ มีแรงค่อนข้างมากในการชี้ซ้ายหันขวาหัน

ไม่เฉพาะสื่อไทยที่เครดิตตกต่ำ แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ในอังกฤษ ความน่าเชื่อถือของนักข่าว ตกต่ำไล่เลี่ยกับนักการเมือง ประชาชนมองสื่อว่าไม่มีพลัง ไม่ใช่ตัวแทนปากเสียงเหมือนเก่า เมื่อก่อนประชาชนไม่มีทางเลือก บ่นกันเอง แต่ตอนนี้อยู่ในยุคใหม่ที่คนรุ่นใหม่ มีการสื่อสารอีกรูปแบบ มีโซเชียลมีเดีย มีการตรวจสอบการนำเสนอของสื่อมากขึ้น เมื่อมีข่าว "ตะกายสวรรค์" สื่อวิจารณ์กันรุนแรง เมื่อมีการนำเสนอข่าวผิด ในทีวี นสพ.พลังการตรวจสอบของภาคประชาชนเริ่มมี แม้ยังไม่เกาะเกี่ยวกันเป็นก้อน เป็นหน่ออ่อนที่รอการประทุ เมื่อสื่อไทยถูกอำนาจรัฐ หรืออำนาจอะไรที่ใหญ่กว่า เมื่อนั้น พอหันมา ประชาชนจะบอกว่าเสรีภาพสื่อไม่ใช่เสรีภาพประชาชน เพราะไม่เคยสนใจ สื่อจะโดดเดี่ยว ประชาชนจะบอกว่าคุณควรเข้าแถว

สื่อควรมองตัวเองอย่างยอมรับความเป็นจริงให้มากขึ้น ควรตรวจสอบ ตั้งคำถามกับตัวเองให้มาก

ที่ผ่านมา สื่อบอกว่า หน่วยงานรัฐไม่ควรยุ่งเพราะดูแลกันเองได้ แต่เราก็รู้ความจริงว่าองค์กรต่างๆ เป็นเสือกระดาษ เมื่อไม่พอใจ ก็ลาออก แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ที่ผ่านมา ต้องง้อ ให้กลับมาเป็นปึกแผ่น ถามว่าเมื่อไม่สามารถมีพลังดูแลกันเองได้ จะให้ใครมาดูแล

พลังที่จะสนับสนุนให้ดูแลคือพลังของภาคประชาชนให้มาตรวจสอบให้มากขึ้น ขณะที่สื่อแต่ละองค์กรควรตรวจสอบตัวเองก่อนถึงสภาวิชาชีพ คือมีผู้ตรวจสอบภายในองค์กรโดยเชิญคนที่เป็นกลางมาวิจารณ์การทำงาน ไม่เช่นนั้น หากวันหนึ่ง กสทช. จะเล่นงานสื่อด้วยมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ จะไม่มีใครสนใจสื่อ ประชาชนอาจจะบอกให้จัดแถวบ้างก็ดี แล้วจะรู้สึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net