Skip to main content
sharethis

 

10 ต.ค.56 ที่โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท มีการจัดสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2556 ครั้งที่ 36 เรื่อง “ 2 ปีนโยบายเศรษฐกิจยิ่งลักษณ์: ความฝันกับความจริง” โดยภายในงานมีการนำเสนองานศึกษาที่น่าสนใจหลายเรื่อง ได้แก่ เรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน, การประเมินผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท, ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษี, ความเปราะบางและความเสี่ยงทางการคลัง

 

ค่าแรง 300 บาท ไม่ส่งผลลบอย่างที่คาด

งานชิ้นนี้ศึกษาโดย ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ จาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยศึกษาผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย , ภาคอุตสาหกรรม, การแข่งขันของประเทศ และผลกระทบต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ ขอบเขตของการศึกษาคือไตรมาส 1/2551- ไตรมาส 1/2556 เพื่อให้ครอบคลุมช่วงก่อนจะปรับค่าแรงแบบก้าวกระโดด

ภาพจากการนำเสนอของวิทยากร

ผู้วิจัยกล่าวถึงความสำคัญของปัญหาว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่ดีในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำเป็นเวลานานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มผลิตภาพแรงงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน แต่รัฐบาลยังคำนึงถึงผู้ประกอบการที่ต้องรับภาระน้อย ส่วนกระบวนการในการประกาศนโยบายก็ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการนิยามค่าจ้างว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง

ผลการศึกษาอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ด้านแรงงาน มีการขยายตัวการจ้างงานต่อเนื่อง 13 เดือนติดกัน ตั้งแต่ เม.ย.55-พ.ค.56 ในอัตรา 4.75% การเลิกจ้างลดลง 31.37% คำนวณจากผู้ประกันตน อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ 0.9% ส่วนการเลิกกิจการและการตั้งกิจการใหม่ก็เป็นไปในลักษณะปกติ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายจนต้องปิดกิจการราว 300,000 ราย กลุ่มผู้ได้รับผผลกระทบที่เสียเปรียบมากที่สุดคือ SME เพราะไม่ได้กำไรอยู่แล้วมาตรการทางภาษีที่กำหนดออกมาจึงไม่ช่วย ส่วนสภาพการจ้างงานั้น พบว่าเมื่อสัมภาษณ์แรงงานแบบลงลึกจะเห็นความพยายามเปลี่ยนสภาพการจ้างงานของนายจ้างเพื่อเลี่ยงการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ

ในด้านอุตสาหกรรม งานศึกษาของ TDRI ประเมินว่าการขึ้นค่าจ้างและผลิตภาพของแรงงานทักษะต่ำให้เพิ่มขึ้นนั้น ต้องเพิ่มผลิตภาพถึง 8.4% จึงทำให้การเติบโตของ GDP ไม่ติดลบ แต่เมื่อดูข้อมูลอตุสาหกรรที่ใช้แรงงานเข้มข้นบ่งชี้ว่า ผลิตภาพของแรงงานคงที่และเริ่มลดลง ดังนั้น การพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ สำหรับผลกระทบต่อราคา พบว่า ระดับราคาสินค้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดแต่อย่างใด

ด้านการแข่งขันกับประเทศในอาเซียน พบว่า ไม่พบการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการมากอย่างที่คิด เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านก็ขึ้นค้าแรงขั้นต่ำตามไทย เพราะต้องการดึงเศรษฐกิจเช่นกัน


ภาพจากการนำเสนอของวิทยากร

ข้อเสนอแนะควรจัดความช่วยเหลือหรือสนับสนุนนายจ้างหรือลูกจ้างให้ตรงกับความต้องการเฉพาะกลุ่ม, ควรพัฒนาฝีมือแรงงาน การพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะแรงงานขั้นต่ำจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ พัฒาระบบค่าตอบแทนตามความสามารถ

ผู้วิจารณ์งานศึกษานี้ คือ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงศ์ จากสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สรุปว่า  หากดูในรายละเอียดจะเห็นห็นว่าปี 2556 มีแรงงานใหม่ที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากปี55   คล้ายว่าก็มีการออกอาการเหมือนกันว่ามีผลต่อสถานประกอบการที่หยุดการรับคนใหม่ แต่เน้นปรับปรุงคนงานเก่า นอกจากนี้ยังขอเสนอเพิ่มเติมว่าควรต้องเริ่มศึกษาทันทีหลังประกาศนโยบาย เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ว่าเมื่อถึงปลายปี 57 จะกำหนดค่าจ้งปี 58 ในทิศทางไหน

 

โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน ยังขาดข้อมูลอีกมากในสายตาธนาคารโลก

งานชิ้นนี้ศึกษาโดย ประชา คุณธรรมดี จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยตั้งโจทย์ 5 ข้อและพยายามตอบคำถามเหล่านั้น ทั้งนี้ งานศึกษาอ้างอิงข้อมูลที่ปรากฏในสาธารณะและร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... ซึ่งกำหนดให้กู้ภายใต้วงเงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนารถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ด่านศุลกากร ตามกรอบการลงทุน 7 ปี

ภาพจากการนำเสนอของวิทยากร

1) ประเทศไทยควรพิจารณาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือไม่ อย่างไร ที่ผ่านมารัฐบาลอ้างการจัดอันดับการแข่งขันของประเทศจาก World Economic Forum ว่า อันดับตัวชี้วัดย่อยคุณภาพของโครงสร้างพื้นานโดยรวมนั้น ไทยอยู่อันดับ 49 (ปัจจุบันตกมาอยู่ที่อันดับ 61) ส่วนข้อมูลจาก The Global Competitive Report 2012-2013 ยังบ่งชี้ว่าไทยแพ้สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และมาเลเซีย

ดังนั้นงานศึกษานี้จึงนำข้อมูลล่าสุดของ The Global Competitive Report 2013-2014 โดยเฉพาะข้อมูลเปรียบเทียบในอาเซียน โดยพิจารณาข้อมูลทั้ง 12 องค์ประกอบ พบว่า

ไทยมีความสามารถแข่งขันในภาพรวมอยู่อันดับที่ 37   (จาก 148 ประเทศ) เมื่อพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 12 ด้านจะพบว่า ด้านสุขภาพและด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ในอันดับแย่สุด รองลงมาคือ ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและปัจจัยด้านสถาบัน ตามด้วยด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม นนวัตกรรม ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ปัญหาหลักของประเทศไทยยังไม่ใช่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและการขนส่ง แต่กลับเป็นเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข ฯลฯ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาด้านที่ไม่ใช่วัตถุ (soft side)

2) การลงทุนตามร่างพ.ร.บฯ จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศหรือไม่ คำตอบจากการศึกษาคือ ช่วยลดต้นทุนจากการขนส่งทางถนนซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ย 1.72 บาทต่อตันกิโลเมตร ขณะที่การขนส่งทางรางและทางน้ำมีต้นทุนเฉลี่ยต่ำกว่ามาก คือ 0.93 และ 0.64 บาทต่อตันกิโลเมตร แต่สิ่งที่ขาดไปทั้งที่ควรจะมีคือ สถานีรถไฟที่เอื้อต่อการขนส่งสินค้าในลักษณะสถานีขนส่งสินค้า รวมถึงถนนเชื่มต่อสถานีกับระบราง

3) จะเชื่อมต่อภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียนอย่างไร คำตอบจากการศึกษา พบว่ามีโครงการที่เชียงของ จ.เชียงราย เท่านั้นที่เป็นการพัฒนาที่ครบถ้วนมากที่สุด รวมถึงการเชื่อมต่อทางด้านเศรษฐกิจกับ สปป.ลาว เนื่องจากีท่าเรือ รถไฟรางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งสินค้าจากระบบถนนสู่ระบบราง รวมถึงด่านศุลกากร นอกจากนี้หากโครงการ 2 ล้านล้านเน้น “ขนคน” มากกว่า “ขนของ” ยุทธศาสตร์ของประเทศจะต้องเปลี่ยนไปเน้นภาคบริการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หลายโครงการยังไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้

4) ประเด็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 หรือไม่เป็นประเด็นที่ต้องจับตา นอกจากนี้ ตามมาตรา 6 ระบุการใช้จ่ายตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติไม่ได้ระบุโครงการที่จะดำเนินการและวงเงินชัดเจน จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีบางโครงการมีต้นทุนสูงกว่าคาดการณ์ และ 5) ประเด็นประโยชน์สาธารณะ ในสหภาพยุโปรนั้นมีการกำหนดบริการสาธารณะ (Public Service Obligation –PSO) ชัดเจนและไม่ได้กำหนดให้รถไฟความเร็วสูงเป็นบริการสาธารณะ ดังนั้น รัฐจึงไม่ควรต้องอุดหนุนในส่วนนี้ ที่สำคัญ ขณะนี้ที่ดินราคาพุ่งรอแล้ว รัฐควรสร้างกรอบกำหนดเงื่อนไขดึงดูดส่วนเกินทางเศรษฐกิจของผู้ได้ประโยชน์จากการเข้ามาของโครงการ เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีพัฒนาท้องถิ่น

งานชิ้นนี้วิจารณ์โดย ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวศ นักเศรษฐศาสร์โครงสร้างพื้นฐาน จากธนาคารโลก ซึ่งระบุว่า การกู้จากธนาคารโลกนั้นยากกว่าธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากต้องใช้ข้อมูลการศึกษาต่างๆ มากมาย ละเอียด ดังนั้นจะเห็นว่าประเทศไทยก็ไม่ได้กู้กับธนาคารโลก หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) มาระยะหนึ่งแล้ว

สิ่งสำคัญสำหรับโครงการ 2 ล้านล้านคือ เรายังรู้ข้อมูลไม่มากนัก และความเชื่อมโยงระหว่างวัตถุประสงค์ของโครงการกับตัวโครงการยังไม่ชัดเจนเท่าไร ผลของรัฐบาลที่บอกอยากลดต้นทุนต่างๆ นั้น จะเกิดได้อย่างไรหากไม่เห็นรายละเอียดของโครงการ รวมถึงคำถามสำคัญว่า 7 ปีจะทำเสร็จทันไหม หากต้องการกู้ธนาคารโลกจริงอาจต้องดูกันใหม่

เรื่องรถไฟความเร็วสูง ขอแบ่งปันประสบการณ์ของธนาคารโลกว่า ในโลกนี้มีประมาณ 50 โครงการ ลักษณะของรถไฟความเร็วสูงส่วนใหญ่จะสู้กับสายการบิน แต่สำหรับทริปสั้น ๆ ลำบากกต้องสู้กับรถยนตร์ , พื้นที่ที่เหมาะ ต้องมีเมืองใหญ่สองเมืองห่างกันราว 200-500 กม. (150-300 กม.ก็มีแต่ประชากรต้องเยอะ)

 

ผลกระทบการปรับโครงสร้างภาษี 7 ปี รัฐสูญกว่า 2.6 ล้านล้าน

งานชิ้นนี้ศึกษาโดย ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการประมาณการในเบื้องต้น การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจะส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ในช่วงปีงบประมาณ 2556-2563 ราว 2.32 ล้านล้านบาท  ในขณะที่การปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในช่วงเวลาเดียวกันอีกราว 3.5 แสนล้านบาท มูลค่าความสูญเสียดังกล่าวไม่น่าจะสามารถทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกจให้กับระบบภาษีได้ เนื่องจากเป็นการปรับโครงสร้างไม่ตรงจุด นอกจากนั้น การปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวยังไม่น่าจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถให้กับการแข่งขั้นของประเทศได้ เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการดึงดูดแรงงานทักษะสูงและเงินลงทุนจากบริษัทข้ามชาติในปัจจุบัน ข้อเสนอแนะสำหรับเงินได้บุคคลธรรมดา คือ การปรับโครงสร้างค่าลดหย่อน เพื่อเสริมสร้างระบบการจัดกเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า เพราะปัจจุบันองค์ประกอบการลดหย่อนมีมากเกินไป , สร้าง Negative Income Tax ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับเงินจากรัฐแทนที่จะเสียภาษี , การดึงดูแรงงานทักษะสูง

วิจารณ์โดย ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์  ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งเสนออีกมุมในเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี นโยบายปรับลดภาษีของรัฐบาลนั้นอยู่ในแผนปฏิรูปภาษีในภาพรวมของ สศค.เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยระดับสากลที่ตอบชัดเจนว่าภาษี 30% ดีกว่าในเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่ เพราะการวิเคราะห์ควรต้องดูทั้งต้นทุนและกำไรของนโยบาย นักลงทุนต่างประเทศมักถามเสมอว่าเมื่อไรไทยจะลดภาษีนิติบุคคลถึง 17% เท่าสิงคโปร์ ภาพรวมอัตราภาษีทั่วโลกมีเทรนด์ที่ลดลง งานศึกษาของ OECD 2010 ก็ระบุว่าแนวนโยบายภาษีที่ควรทำในอนาคตคือลดภาระภาษีฐานรายได้มาสู่ภาษีฐานการบริโภค ยังไงคนรวยก็บริโภคมากกว่าคนจน

โดยสรุปเห็นว่า ควรลดอัตราภาษีรายได้ ขยายฐานภาษี เพิ่มประสิทธิการจัดเก็บ ระยะต่อไปสิ่งที่ต้องทำคือต้องสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี หาแหล่งรายได้ใหม่ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี

 

ความเปราะบางและความเสี่ยงทางการคลังภายใต้นโยบายการลงทุนของรัฐบาล

งานชิ้นนี้ศึกษาโดย ศ.ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุว่า รัฐบาลเองได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ และหลังจากวิกฤตน้ำท่วมมาก็มีนโยบายพิเศษ เช่นการดูแลสินค้าเกษตร และการบริหารนโยบายของรัฐบาลนั้นเป็นการใช้งบประมาณทั้งที่อยูในและนอกระบบงบประมาณ ใช้หน่วยงานทั้งที่อยู่ในสังกัดและนอกสังกัด และนำมาสู่การผูกมัดเชิงงบประมาณที่นำมาสู่ความเปราะบางและความเสี่ยงในอนาคต

ความท้าทายของรัฐบาลอยู่ที่การปรับโครงสร้างภาษี ในขณะที่มีรายจ่ายมีเยอะแยะเต็มไปหมด

ประเด็นที่สำคัญคือเรื่องความยั่งยืนการคลัง ซึ่งต้องมีการเพิ่มขึ้นของรายได้อย่างเหมาะสม เพียงพอในการบริหารจัดการ 20 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่าความแตกต่างระว่างการเพิ่มขึ้นของรายได้และรายจ่ายถ่างขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โอกาสและความสามารถในการบริหารจัดการสุ่มเสี่ยงมากขึ้น ที่ผ่านมาประเทศไทยเรามีความสามารถ และต้องขอบคุณผู้บริหารของกระทรวงการคลังที่สามารถบริหารหนี้สาธารณะได้ดี แต่ปี 2555 และ 2556 นี้ หนี้สาธารณะพุ่งพรวด  อันเนื่องจากการบริหารจัดการกองทุนน้ำมัน

ด้านรายจ่ายของรัฐบาลเอง ต้องดูโครงสร้างรายจ่ายเรื่องการลงทุน แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณ7-8 ปีก่อน รายจ่ายประจำอยู่ที่ราว 70 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายทั้งหมดของรัฐ แต่ตอนนี้รัฐรายจ่ายประจำมี 80 เปอร์เซ็นต์ทำให้รายจ่ายภาครัฐถูกกดดันไปด้วย นี่เป็นคำตอบว่าทำไมรัฐจึงเสนอเรื่องโครงการเงินกู้สองล้านล้าน และสามแสนห้าหมื่นล้าน เพราะมันไม่มีทางที่รัฐบาลจะลงทุนภายใต้โครงสร้างงบประมาณที่เป็นอยู่

ในด้านรายได้นั้น ไทยมีรายได้หลักจากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคล  แต่จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อสองปีที่แล้วพบว่า แม้จะจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลเพิ่มขึ้น แต่ช่องวางของศักยภาพในการเสยภาษียังห่างอยู่เยอะ ศักยภาพในการเสียภาษีของคนไทยถ้าดูรายได้ต่อหัวแล้วมีมาก  ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องคิดว่าจะหาโอกาสพัฒนาการเก็บรายได้ของเราจากฐานที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร ในส่วนของช่องว่างภาษีนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ช่องว่างศักยภาพในการจ่ายภาษีของไทยไม่แย่กว่าประเทศอื่น แต่ถ้าเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วจะพบว่าช่องว่างตรงนี้ยังมีอยู่เยอะ

ทั้งนี้ หลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 – 2547 มีการบริหารรายจ่ายค่อนข้างเข้มงวด แต่เมื่อหลังปี 2547 เป็นต้นมา อัตราเพิ่มของการจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดช่องว่างระหว่างการเพิ่มของรายได้และการเพิ่มของรายจ่ายถ่างออกไปมากขึ้น ช่องว่างนี้เป็นประเด็นอันที่ต้องพิจารณาต่อไป ว่าจะเติมช่องว่างนี้ให้แคบลงอย่างไรบ้าง

เพื่อพิจารณารายจ่ายที่ต้องนำมาประเมินความเสี่ยงทางการคลังนั้น แบ่งเป็นสองส่วนคือ ภาระการคลังต่องบประมาณโดยตรง อาทิ รายจ่ายชำระหนี้เงินกู้ ค่าแรง 300 บาท หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอีกส่วนคือ ภาระคลังต่องบประมาณที่อาจจะเกิดขึ้น  เช่น โครงการจำนำข้าว พักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อย กองทุประกันสังคม เป็นต้น

กลุ่มความเสี่ยงเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดในปี 2563 คือกลุ่มที่เป็นภาระการคลังต่องบประมาณโดยตรง ส่วนกลุ่มที่สองก็มีขนาดที่ค่อนข้างมั่นคงในภาคของภาระความเสี่ยงความเปราะบางที่เป็นผลต่อฐานะการคลังของประเทศ คำถามคือรัฐมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

โดยสรุปภาพฐานะการคลังทีเกิดขึ้นจะเห็นว่าความเปราะบางและความเสี่ยงไม่ได้เป็นเพราะโครงสร้างการคลังเท่านั้น แต่เกิดขึ้นเชิงนโยบายด้วย เพราะไม่ได้มีการปรับโครงสร้างรายจ่ายประจำ ในระยะยาว ถ้าประเด็นการนำผลการขาดดุลโครงการจำนำข้าวและสินค้าเกษตรต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะชดเชยอย่างไร ตรงนี้จะมีผลต่อความเสี่ยง ในแง่ช่องว่างทางการคลัง

ทั้งนี้ ประเด็นที่อยากฝากคือ กระบวนการจัดทำคำขอ การพิจารณา การอนุมัติต่างๆ มีปัญหามาก เพราะเป็นการพิจารณาเชิงโครงการ ความต่อเนื่องของโครงการต่างๆ ที่ต่อเนื่องกันหากถูกตัดบางส่วนก็จะมีผลกระทบกัน วันนี้ต้องหันมาทบทวนว่าจะแก้ไขอย่างไร และท้ายสุดคือระบบรายงานเชิงความสำเร็จและขนาดการใช้จ่ายทั้งหมดทั้งที่อยู่ในและนอก คงต้องพยามทำให้เห็นภาพต่อไปในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net