Skip to main content
sharethis

กฟผ.ยันเมษาอีสานไฟฟ้าไม่ดับ ส.ส.เพื่อไทยชี้แจ้งไฟดับไม่ได้จุดประกายใช้สร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ แค่รัฐต้องการเตือนให้ชาวบ้านประหยัดใช้ไฟ ด้านประชาชนเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลพลังงานในประเทศ เพราะไม่ต้องการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มธุรกิจพลังงานต่อไป

 
 
5 เม.ย. 56 - สื่อสร้างสุขอุบลราชธานีรายงานว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่โรงละครคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี โดยโครงการสะพานเพื่อประชาธิปไตย จากการสนับสนุนของ USAID จัดเวทีเสวนาปัญหาไฟฟ้าดับเดือนเมษายน เพราะแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติในประเทศพม่าปิดซ่อมแซม และท่อก๊าซไทย-มาเลเซียในทะเลรั่ว เป็นวิกฤตไฟฟ้าหรือเป็นเรื่องดราม่า
 
โดยมีนักวิชาการอิสระ ส.ส.ในพื้นที่ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยร่วมเสวนา และมีประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง พร้อมแสดงความเห็นจำนวนมาก
 
นายอนุชิต เจริญพันธ์ วิศวกรฝ่ายปฏิบัติการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ช่วงวันที่ต้องจับตาคือวันที่ 5 เมษายน เพราะจะมีกำลังสำรองไฟฟ้าต่ำสุดเพียง 700 เมกกะวัตต์ หากเกิดเหตุขัดข้องในโรงผลิตกระแสไฟฟ้าโรงใดโรงหนึ่ง จะทำให้เสียการควบคุมในการจ่ายไฟฟ้า จึงมีการเตรียมไฟฟ้าสำรองซื้อจากประเทศมาเลเซีย และจากโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศเพิ่มอีกวันละกว่า 310 เมกกะวัตต์
 
แต่หลังจากวันที่ 5 เมษายนกำลังไฟฟ้าสำรองในประเทศจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับปกติในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ส่วนภาคอีสานไม่น่ามีปัญหาไฟฟ้าดับ เพราะมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่ง และยังมีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวเข้ามาสำรองจำนวนมาก จึงคาดว่าจะไม่เกิดไฟฟ้าดับในช่วงวันเวลาดังกล่าว
 
สำหรับปัญหาว่าทำไมประเทศไทยต้องใช้ก๊าซใช้พลังไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 68 ทั้งที่อดีตตั้งเป้าใช้ไม่เกินร้อยละ 50 ของกำลังผลิตทั้งหมด เพราะพลังงานบางชนิดประชาชนยังไม่ยอมรับ ส่วนการไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงามลม ปัจจุบันยังมีต้นทุนสูง ไม่สามารถนำมาใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่อนาคต กฟผ.มีนโยบายจะใช้พลังงานก๊าซไม่เกินร้อยละ 45 ของกำลังการผลิตทั้งหมด โดยหาพลังงานชนิดอื่นมาทดแทน สำหรับปัจจุบัน กฟผ.มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 33,000 เมกกะวัตต์ต่อวัน
 
ขณะที่นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.อุบลราชธานี กล่าวว่าการที่รัฐบาลออกมาเตือนประชาชน เพราะต้องการให้เตรียมตัวและประหยัดการใช้ไฟฟ้า แต่ขณะนี้ทราบว่ามีกำลังสำรองไฟฟ้าเพียงพอ จึงไม่น่ามีปัญหาไฟฟ้าดับในช่วงวันดังกล่าว รวมทั้งรัฐบาลไม่มีจุดประสงค์จุดประกายวิกฤตไฟฟ้าเดือนเมษายนใช้เป็นเงื่อนไขอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่
 
สำหรับกรณีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีโครงการมาสร้างที่จังหวัดอุบลราชธานีและอีก 4 แห่งในประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีความเป็นไปได้ เพราะประชาชนไม่ยอมรับ
 
ขณะที่ ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระกล่าวถึงปัญหาการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย อดีตการนำพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมมาใช้มีต้นทุนที่แพงจริง แต่ปัจจุบันพลังงานทั้งสองชนิดถูกลงเรื่อยๆ โดยยกตัวอย่างเช่นเดียวกับการซื้อโทรศัพท์มือถือในอดีตมีราคาถึงเครื่องละ 2-3 แสนบาท แต่ปัจจุบันมีราคาไม่กี่พันบาท และพลังงานทั้งสองชนิดเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด สามารถใช้ไปได้ตราบที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่
 
"ประการสำคัญคือ พลังงานทั้งสองชนิดโกงไม่ได้ ไม่เหมือนพลังงานนิวเคลียร์ ที่โกงได้จากโครงสร้างที่มีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท และอนาคตจะเป็นพลังงานที่แพงขึ้นไปเรื่อยๆ"
 
ส่วนพลังงานก๊าซ พลังถ่านหิน ไม่เชื่อเป็นพลังงานสะอาด เพราะนำซากฟอสซิลขึ้นมาใช้ ย่อมมีผลต่อมลภาวะของโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่พลังงานลมและแสงอาทิตย์เป็นพลังานธรรมชาติ และประเทศไทยเหมาะที่ใช้ เพราะในบางพื้นที่ร้อนเป็นบ้า ส่วนชายทะเลก็ลมแรง ปัจจุบันมีคนในเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี มีรายได้เดือนละ 5,000 บาท จากการนำพลังงานลมมาใช้ผลิตไฟฟ้า
 
ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงศา จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่า เรื่องที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าวไฟฟ้าดับในเดือนเมษายนมองได้หลายมุม เพราะความจริงการปิดหลุมก๊าซซ่อมแซมของแหล่งก๊าซยานาดา และเยตากุน รัฐบาลพม่าแจ้งให้ไทยทราบมาตั้งหลายปีแล้ว และจำนวนพลังงานที่หายไปก็มากเกินความจริง จึงสงสัยมีการนำตัวเลขก๊าซจากท่อส่งไทย-มาเลเซียที่รั่วเมื่อปลายปีมาบวกรวมเข้าไปให้ดูน่ากลัว  ประการสำคัญคือ แหล่งก๊าซทั้งยานาดาและเยตากุนในพม่า มี ปตท.สผ.ซึ่งเป็นบริษัทลูกเป็นผู้ผลิตและส่งขายให้บริษัท ปตท.ใหญ่ที่เป็นบริษัทแม่ ก่อนนำมาขายให้ กฟผ. ประเด็นนี้ ความจริงไทยจึงไม่ต้องไปคุยกับพม่าเรื่องวันเวลาในการปิดหลุมซ่อมแซม เพราะก๊าซทั้งหมดเป็นของ ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของไทย
 
"วิกฤตไฟฟ้าตามที่รัฐบาลบอก จะเป็นเรื่องดราม่าหรือเรื่องจริง แค่นี้ก็สามารถพิสูจน์เรื่องทั้งหมดที่กระทรวงพลังงานพยายามประโคมข่าวให้ดูใหญ่โตแล้ว" นักวิชาการรายนี้ ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันคนไทยตกเป็นเหยื่อของธุรกิจพลังงานที่นำโดย ปตท.มีการถ่ายเทพลังงาน เพื่อทำกำไร รัฐบาลจึงต้องมีความชัดเจนเรื่องการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ ไม่ให้ตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน ไม่ใช่แค่มาณรงค์ให้ชาวบ้านปิดไฟ
 
รัฐต้องจัดการเรื่องการจัดซื้อพลังงานไม่ให้มีการคอรับชั่น หรือโก่งราคาซื้อขายพลังงาน เพราะท่อก๊าซที่ศาลตัดสินให้กลับคืนเป็นของประชาชน แต่รัฐยังปล่อยให้เอกชนไปค้ากำไรอยู่ในปัจจุบัน
 
ด้านประชาชนที่เข้ารับฟังได้เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลความจริงทั้งหมดในเรื่องพลังที่มีอยู่ในประเทศ และให้นำพลังงานทั้งก๊าซและน้ำมันกลับมาเป็นของประชาชน ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มทุนธุรกิจเป็นผูกขาด เพราะเริ่มส่งผลกระทบกับประชาชนที่เป็นผู้บริโภคมาหลายปีและนับวันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net