Skip to main content
sharethis



ในเพจเฟซบุค “นิติม่อน”ที่มียอดคนกดไลค์วันนี้อยู่แค่พันเศษ คงไม่เพียงพอจะทำให้รู้จักนิติม่อนได้  บางคนอาจส่ายหัวว่านิติม่อนมันเป็นใครทำไมจะต้องไปรู้จักด้วย 

แต่ย้อนกลับไปเดือนเศษๆ ที่มีปรากฏการณ์ป่วนวัฒนธรรม (culture jamming) ครั้งใหญ่ด้วยการใส่หน้ากากรูปใบหน้าสมยศ  พฤกษาเกษมสุข  ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา  ในสถานที่ต่างๆ โดยเริ่มก่อหวอดด้วยการ “บูมบัณฑิตใหม่” ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ส่งผ่านสู่การเคลื่อนไหวของนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์  ถ้าบอกว่านิติม่อนมีส่วนสำคัญอยู่เบื้องหลังการป่วนเช่นนั้น  และเคยผลิตผลงานทั้งที่ได้เรื่องและไม่ได้เรื่องอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายชิ้น  จะอยากรู้จักตัวตนของนิติม่อนกันหรือยัง

ในบรรยากาศที่งานรณรงค์เคลื่อนไหวประเด็นสังคมการเมืองกระจุกศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  นักศึกษาศิลปะสื่อ 4-5 คนที่มีฐานกำลังหลักอยู่ในเชียงใหม่รวมตัวกันเพื่อจะสร้างกิจกรรมที่แหวกขนบเดิมๆ เราได้พูดคุยกับสมาชิกหลัก 4 คนที่ยืนยันว่าการเปิดเผยใบหน้าชื่อเสียงเป็นสิ่งไม่จำเป็น  ไม่ใช่ด้วยกลัวจะถูกคุกคาม  แต่เพราะว่างานของพวกเขาคืองานกลุ่มที่มุ่งเป้าที่ผลักประเด็นปัญหาสังคมมากกว่า  ไม่ได้หวังเครดิตสำหรับสมาชิก 

การสนทนานี้กินเวลากว่าสามชั่วโมง  ผู้สัมภาษณ์ได้เอาวงเล็บ “(หัวเราะ)” ออกทั้งหมด  เนื่องจากหากต้องกำกับเสียงหัวเราะไว้อาจจะต้องเพิ่มความยาวให้กับบทสัมภาษณ์นี้โดยไม่จำเป็น

 

-งานป่วนหน้ากากสมยศที่เหมือนว่าติดเชื้อไปไกลนี่  นิติม่อนมองยังไง

 งานหน้ากากสมยศตั้งใจจะให้เป็น viral (แพร่กระจายเหมือนติดเชื้อไวรัส) แต่ไม่สำเร็จ  ไม่ใช่ทุกโปรเจคท์ที่เราอยากให้เป็นไวรัล  อันนี้เป็นโปรเจคท์ที่ต้องการ awareness (ความตื่นตัว) จริงๆ  แต่ไม่ใช่แค่ให้จดจำได้  ต้องให้ทุกคนเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมสมยศถึงมาอยู่ในพื้นที่นั้นนี้  เหมือนที่อ.นิธิเขียนไว้ในมติชนสุดสัปดาห์อย่างกับอ่านทะลุลงไปถึงงานได้ว่า  การที่สมยศปรากฏในงานรับปริญญามันหมายถึงอะไร  ซึ่งจริงๆ ถ้ามีคนไปทำต่อ  เช่นไปใส่หน้าศาล  หรือในพื้นที่ที่สมยศไม่น่าไปได้  แค่ไปยืนเฉยๆ ก็สร้างความขัดแย้งแล้ว  ทำให้พื้นที่ที่อยู่ในระเบียบสังคมปกติมันถูกเบนความหมายอยู่แล้ว  เลยต้องการทำให้เป็นไวรัล 

ลองเทียบระหว่างหน้ากากกายฟอล์คกับแพลงกิ้ง  แพลงกิ้งใครๆ ก็ทำได้  ทำที่ไหนก็ได้ขอให้แปลก  จริงๆ เราอยากให้สมยศไปในทิศทาง อย่างนั้น  สมยศไปอยู่ตรงนั้นได้ไงวะ  แต่กลายเป็นว่าคนเห็นหน้ากากแล้วกลับไปคิดถึงหน้ากากกายฟอล์ค  ความเป็นหน้ากากมันกลับไปชนกับวัฒนธรรมหน้ากาก V for Vendetta  ซึ่งถูกเอาไปใช้โดยหมอตุลย์  ใช้ไปเรื่อยเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ ปลดปล่อยจากเผด็จการ ... นายทุนวอลลสตรีทเผด็จการ นายทุนรัฐสภาก็เผด็จการ  เล่นกันจนไม่มีความหมายไปเรียบร้อยแล้วในสังคมไทย  แพลงกิ้งกำกับด้วยความสนุก  แต่หน้ากากสมยศมันไม่ใช่อะไรก็ได้  เวลาเราเห็นหน้ากากสมยศถูกใช้เพียงแค่ดึงดูดความสนใจ  หรือกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้และเสรีภาพ  เราก็รู้สึกว่ามันกำลังเริ่มทำลายความหมายของตัวคุณสมยศเอง  มันกระทบทั้งในแง่การรณรงค์ และในแง่สิทธิของตัวเจ้าของใบหน้าในฐานะที่เป็นคนที่มีชีวิตจริงๆ ด้วย  พอเป็นหน้ากากสมยศแล้วเราคุมความหมายมันไม่ได้  มันกระจาย

 คือเล่นให้มันให้สนุกต้องเข้าใจเกมก่อน  แต่เหมือนเขาสร้างเกมขึ้นมาใหม่เลย  เหมือนความหมายมันไปสู่เรื่องอื่นๆ  เอ็นจีโอ  แอ๊คทิวิสต์ไทยชอบเอาหลายๆ ประเด็นตบรวบเข้ามาเป็นเรื่องเดียว เช่น พอพูดถึงสมยศปุ๊บต้องพูดเรื่อง freedom (เสรีภาพ) จน  simplify (ลดทอนให้ง่าย) ให้กลายเป็นเรื่อง universal  (สากล) ไปหมด  ทุกเรื่องขอให้เป็นเรื่องเสรีภาพเราจะเอาหน้ากากสมยศไปใส่หมด จริงๆ แล้ว  โจทย์หน้ากากสมยศมาจากการที่เขาไปขัดแย้งกับระเบียบสังคม  เหมือนแพลงกิ้งที่เข้าไปขัดแย้งกับระเบียบของพื้นที่ต่างๆ  แต่พอถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพแล้วมันกว้างเกินไป ผลที่ได้คือสมยศจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ  แล้วสมยศได้อะไรล่ะ  ก็ยังถูกขังเหมือนเดิม  โจทย์หลักตอนนี้คือ  เราต้องทำให้ทุกคนที่ถูกขังอยู่ในคุกออกมาไม่ใช่หรือ  ไม่ใช่แค่ให้คนสำเหนียกถึงเสรีภาพอย่างเดียว

ส่วนแผ่นพับหน้ากากจังหวะมันเสีย  ถ้าเป็นหนึ่งหรือสองวันที่สมยศเพิ่งโดนตัดสินที่ข่าวยังรันอยู่เราว่าผลจะอีกแบบ  แต่อันนี้สะดุดไป  แต่ถ้ามีเรื่องสมยศอีกทีก็ยังกลับไปใช้ได้อีก  ตอนทำคู่มือก็กังวลอีกขั้นหนึ่งว่าจะทำให้คนไม่กล้าเล่น  เหมือนกับเราแสดงความเป็นเจ้าของ  วางกรอบตายตัวเกินไป  จนอาจเกิดความรู้สึกว่า  เฮ้ย ต้องขอเขาก่อนไหม  โปรเจคท์หน้ากากเราไม่ได้เอาหน้ากากไปใส่หน้าเขา  แต่เขาจะต้องเป็นฝ่ายเลือกเอง  ไวรัลเราต้องทำให้เขารู้สึกว่ามันเป็นของที่เขาเล่นได้

ตอนแรกเราอยากได้แฮนด์บิลแบบวิธีการกู้ภัยที่อยู่บนเครื่องบิน  ให้คนทั่วไปเห็นแล้วตื่นตัวตื่นเต้น  อยากให้ทุกคนใช้เป็นคู่มือประกอบการใช้ชีวิตบนความเสี่ยง  ความมากขึ้นกว่าปกติด้านใดด้านหนึ่งของตัวสื่อมันช่วยให้เตะตามากกว่าสื่อที่แค่พยายามวางสารให้เป็นรูปเป็นร่างเฉยๆ  เหมือนอย่างตอนหน้ากากสมยศที่ถ่ายเป็นแฟชั่น  ทำให้กลายเป็นไอแพด  แล้วถ่ายให้ลุคออกมาเหมือน Cheeze Magazine หรืออะไรอย่างเงี้ย  มันเนียนกว่า  มันแทรกซึมไปได้กับคนทั่วไป  ให้มันดูแบบว่าออกห่างจากเซนส์ของความเป็นแอ๊คทิวิสต์ปกติทั่วไปที่ต้องจริงจัง  แบบสีแดงสีดำเยอะๆ  มีเชือก  มีโซ่  มีเลือด


 “ Jailbreak SOM-YOT 1.1.2” 

คัลเจอร์ของไอโฟนไอแพดเป็นชีวิตป๊อปๆ  โจทย์คือ Somyot Is Everywhere  ที่ปกติเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีรูปสมยศไปอยู่  ไม่ต้องไปง้างก็ได้  แค่ไปป่วนก็พอ  แค่ไปถ่ายเขาก็ถามแล้วว่า  นี่ใครอ่ะ  อ่อ ญาติฮะ  เพื่อนมนุษย์ทุกคนเป็นญาติกันฮะ  เราพยายามจะมีท่าทีเป็นมิตรอยู่แล้ว  มากมาก  ม่อนม่อนๆ


-นิติม่อนเริ่มต้นอย่างไร  อะไรเป็นแรงบันดาลใจ  รวมกลุ่มได้อย่างไร

ตอนแรกเป็นกลุ่มกินเหล้าฮะ  เริ่มต้นจากวันที่อากงโดนจับเข้าคุกก็รู้สึกว่าอยากจะทำอะไรสักอย่าง  ตอนนั้นกระแสน้ำท่วมมันแรงจนกลบข่าวอื่นหมด  แต่พอมีคนทำสื่อคลิปวิดีโอ ชุด “รู้สู้ฟลัด”  (https://www.youtube.com/watch?v=b8zAAEDGQPM) เราเบื่อการประชาสัมพันธ์แบบเอ็นจีโอหัวโบราณอยู่แล้ว  เลยรู้สึกอยากทำสื่อแบบนี้บ้าง  ให้เข้าถึงคนได้เยอะๆ  ตอนแรกก็นึกว่ารวมกันแล้วจะทำอะไรแบบป๊อปๆ ได้  แต่พอมาอยู่ด้วยกันแล้วแม่งโคตรไม่ป๊อปเลย  ถ้าในแง่ป๊อปคัลเจอร์นี่พวกเราป๊อปนะ  หมายถึงโดยรสนิยมโดยอะไรอย่างนี้  แต่ในแง่การทำงานเราไม่ป๊อปเลยสักอย่าง  มันไม่ productive (มีผลผลิต) แบบป๊อป  เป็นอินดี้ของอินดี้อีกที  ม่อนม่อนๆ


-นิติม่อนเป็นตัวอะไรกันแน่

ชื่อนี้อยู่ดีๆ ก็โพล่งขึ้นมา  ช่วงแรกๆ ไม่ได้มีคอนเสปท์กันมาก่อน  สมมติเกิดเป็นคนก็อยากให้เป็นคนที่กวนตีนนิดๆ แต่พูดจาสุภาพ  เวลามีใครมาถามว่าตกลงนิติม่อนเป็นกลุ่มหรือเป็นอะไร  ก็หลวมๆ  มีคนอยู่ประมาณสี่ห้าคน  ในแต่ละงานก็จะมีกำลังเสริมอยู่  outsource (ใช้คนนอก) ไง  นิติม่อนเลยเหมือนเป็น topic (หัวข้อ) มากกว่า  คือเป็นหัวข้อที่พวกเราต้องการชนประเด็นนี้ๆ  แล้วพวกเราเองก็ทำกันหลายโปรเจคท์ไง  เวลาจะคุยก็เริ่มต้นแบบว่า...เอ่อ..โปรเจคท์ม่อนละกัน  บางโปรเจคท์ก็มีคนถอนตัวบ้าง  แต่ไม่รู้สึกว่าหดเลย  คิดว่าเท่าเดิม  คือต่อให้มันถอนตัวเราก็จะให้มันทำอยู่ดี..  ม่อนม่อนๆ

จริงๆ ท่าทีแบบนิติม่อนก็ใหม่กับพวกเราทุกคนเหมือนกัน  คือเราพยายามจะเรียนรู้  เหมือนสร้าง identity (อัตลักษณ์) ใหม่  คล้ายๆ จะเป็น parody  (ภาพล้อ) เล่นกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในสังคม  เราไม่ได้คิดว่าจะทำรูปแบบอะไรที่มันชัดๆ แต่คิดให้เคลียร์ก่อนว่าเรื่องนี้ปัญหาจริงๆ อยู่ไหนกันแน่  ถ้าแทงจุดนี้จะแทงยังไงดี  ผลที่สุดคือเราพยายามทำให้ใกล้ชิดสังคมทั่วไปที่ไม่ใช่แค่กลุ่มนักเคลื่อนไหวปกติทั้งหลาย  เพราะนักเคลื่อนไหวเขารู้อยู่แล้วว่าเขาทำอะไรกันอยู่  แต่ว่าทำยังไงให้คนนอกเหนือจากนั้นได้รู้สึก  ได้เห็น  ต้องกับรสนิยมของเขา  เราก็เลยหยิบเอาของที่ใกล้ชิดชีวิตของเขา  แล้วก็ใส่คอนเทนท์ใหม่ๆ ที่เราต้องการสื่อสารเข้าไป  บางทีเลยออกไปในทิศทางที่ค่อนข้างล้อเลียนเสียดสี  เป็นการฉุดให้คิด  ทิศทางก็คล้ายๆ กับเพจที่ชอบล้อเลียนนู่นนี่นั่นทั้งหลาย  แต่เราทำให้เนื้อหามันจริงจังมากขึ้น

อยากให้รู้สึกว่า “อุ้ย น่ารักจังเลย ขอแชร์นะคะ” พอแชร์ไป อ้าว เหี้ยพวกนี้มัน... เสื้อแดงนี่  .. กูไม่ได้เป็นเสื้อแดงนะฮะ  ม่อนม่อนๆ


- นิติม่อนเป็นคาแรกเตอร์ที่ดึงเอานิติราษฎร์มารวมร่างกับโดเรม่อนหรือเปล่า

เปล่าเลย  เป็นเรื่องของเสียงพูดน่ะ  ช่วงนั้นมันเริ่มมีนิติราษฎร์  บางคนยังว่าเป็นดิจิม่อนเลย  อยู่ดีๆ เราก็พูดขึ้นมาว่า “นิติม่อนว่ะ” แล้วก็แถไปเรื่อย  เอาโดเรม่อนมาใช้ในงานหน้ากากสมยศก็เหมือนกับแถหน้างานน่ะ

โจทย์ของนิติม่อนคือทำให้คนที่ไม่สนใจหันมาสนใจ  หันมาเข้าใจ  คือค่อยๆ ทำอ่ะ  คืออย่างที่เคยทำ (พูดถึงประสบการณ์ของสมาชิกคนหนึ่งที่เคยมีผลงาน “ปิดปากในโรงอาหารมหาวิทยาลัย” ช่วงพรก.ฉุกเฉินจนสื่อระดับ CNN เอาไปเผยแพร่ต่อ http://www.prachatai.com/english/node/1903) ไม่ใช่ว่าไม่มีคนสนใจ  จากปรากฏการณ์ที่อยู่ในบรรยากาศที่คนมันไม่กล้าพูด  แต่หลังจากนั้นถึงตอนนี้มันถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติไปหมด  แม้กระทั่งเรื่องที่ไม่ปกติก็สามารถทำให้ปกติ  เพราะทุกคนมันเหนื่อย  คนมันอยากจะอยู่อย่างปกติอยู่แล้ว  สิ่งที่เราต้องคิดมากคือ  เราไม่อยากไปรบกวนชีวิตความสุขสบายของท่านขนาดนั้น  แต่เราก็อยากจะกระตุ้นว่า  เมสเสจเหล่านี้มันยังมีตัวตนอยู่

อย่างน้อยเราตั้งเป้าให้คนขัดแย้งกับนิติราษฎร์น้อยลง  โจทย์แรกสุดที่โยนใส่เข้ามาคือ  ทำนิติราษฎร์ให้คนทั่วไปเข้าใจได้  ทำให้สิ่งที่นิติราษฎร์พูดเป็นสิ่งที่สังคมไม่รู้สึกว่าต้องป้ายสีแดงแล้วรังเกียจก่อน  ทำให้เป็นเรื่องของคนทั่วไป  เสรีภาพทางการแสดงออกเป็นเรื่องของทุกคน  ไม่ใช่แค่เรื่องของอากง  ม่อนม่อนๆ


-อะไรที่นิติม่อนถนัด

 เราไม่สามารถยืนยันว่าเราเป็น expert (ผู้เชี่ยวชาญ) จริงๆ ในด้านไหน  ทำ media (สื่อ) เราก็งูๆ ปลาๆ  แต่ละคนก็มีพื้นฐานทางด้านศิลปะกับสื่อพอสมควร  สื่อหลักที่เราเล่นก็คือ ออนไลน์ กับวิดีโอ  มีกราฟฟิคบ้าง  บางทีก็มีนักเขียนการ์ตูนอยู่ด้วย  เหมือนกับเรา improvise  (ด้นสด) มากๆ  แล้วเราก็เอาจากอิมโพรไวซ์มาวิเคราะห์กันดู  เหมือนเราเล่นเพลงมามั่วๆ แล้วก็ไปดูว่าตรงไหนเพราะ  ก็แกะตรงนั้นมา  เออตรงนี้มันเข้าท่า  ชอบอันนี้ฮะ  ม่อนม่อนๆ


-นิติม่อนทำงานอย่างไร  คิดอย่างไรกับการทำงานเป็นทีม

ที่ผ่านมาเคยทดลองมาเค้นกันว่าจะทำอะไรด้วยกัน  แล้วมันไม่ออกจริงๆ  เหมือนอย่างตอนอากงที่เราเริ่มต้นทำอนิเมชั่น  พยายามเขียนบท  หาทีมงาน  ประชุมแบบเป็นวาระ  คุยแตกประเด็น ฯลฯ  แต่ครั้งนั้นคือโปรเจคท์ที่ล้มเหลวที่สุด  ทำทีเซอร์เรื่องอากงออกมาแล้ว 1 ชิ้นโดยใช้รู้สู้ฟลัดเป็นโมเดล  แต่พอเริ่มเขียนบทก็พบว่า 112 มันซับซ้อนจนเราไม่สามารถทำให้ง่ายได้  เอาให้ครบประเด็นก็ยาก  แล้วเวลาทำก็ไม่พอ  ทุกคนมีงานอย่างอื่นด้วย  สุดท้ายจังหวะก็เสียไป  เราควานหาคนเยอะ  บางทีได้แต่คอนเนคชั่น  ไม่ได้งาน  ช่วงมนุษย์ล่องหนเราก็ต้องไปร่วมงานกับคนที่ไม่คุ้นเคยอีกเยอะเลย 


  “ตามรอยมนุษย์ล่องหน”

อย่างที่ว่าจริงๆ แล้วนิติม่อนเป็น topic ชนกับเรื่อง 112 ที่ไม่ได้อยู่แค่แง่กฎหมาย  มันอยู่ในหลายมิติของชีวิตเรา  ทั้งวัฒนธรรม  ชีวิตประจำวัน  ใครคิดอะไรได้ก่อนก็ชวน  เฮ้ย  จะเล่นยังไงดี  จะเอาไงกับมันดี  ด้วยวิธีอะไรดี  คิดอะไรได้ก็เริ่มเลย  ไม่ได้ชวนกันเป็นรูปธรรมนัก  เอางานเป็นที่ตั้งแล้วเอาคนใส่เข้าไปในแต่ละด้านให้งานสำเร็จขึ้นมาเป็นชิ้น  บางโปรเจคท์ไม่ได้คิดด้วยกัน  มีคนสตาร์ทเป็นเชื้อมาก่อน  แล้วค่อยๆ ขยาย  ช่วยกันปรับท่าทีแล้วขยายผลให้มันไปได้มากขึ้น กว้างขึ้น ไกลขึ้น เท่าที่ทำได้  อย่างตอนหน้ากากสมยศก็ถูก กลุ่มห้องเรียนประชาธิปไตย @Book Re:Public  (ปัจจุบันเป็นกลุ่ม “วันใหม่”) เรียกไปเป็นมือเป็นตีนให้เขา  แต่พอไปปุ๊บแล้วแบบ..  เฮ้ย  เล่นงี้ดิ่  เฮ้ย  ทำงั้นดิ่  เฮ้ยมันว่ะ  เอาอันนี้ดิ่ฮะ ฮาฮา  ไปขโมยเขานี่หว่า  แทนที่จะเป็นมือเป็นตีน  กลายเป็นขโมยเครดิตอีกตะหาก  นี่คือวิธีทำงานแบบนิติม่อน  ม่อนม่อนๆ

แล้วพอรวมกันแบบหลวมๆ  หน้าที่มันก็ปรับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ น่ะ  เพราะคนมันน้อยก็ต้องอย่างนี้แหละ  โยนๆ กัน .. เอ้ย ช่วยๆ กัน

สมาชิกบางคนอาจจะเคยทำงานโปรเจคท์เป็นทีมมาเยอะ  แต่คนอื่นไม่ค่อยไง  ระดับประสบการณ์เราว่ามันวัดจากจำนวนครั้งที่ทำไม่ได้  ที่สุดแล้วมันอยู่ที่ว่าแต่ละครั้งเราทุ่มเทตัวเองลงไปในงานขนาดไหน  บางคนมาทำงานเดียวแต่ก็เรียนรู้ทุกอย่างได้หมด  แต่ละคนอาจจะไม่เท่ากันในปริมาณงาน  แต่ว่าความสร้างสรรค์ก็มีพอๆ กันหมดนั่นแหละ  แต่ไม่ใช่แบบคิดปุ๊บ ทำปั๊บ วางตู้ม  สังคมรับรู้เลยทันทีไง  มันต้องมาถกกันอยู่ดี  แต่ละคนมีมุมมองไม่เหมือนกัน  มีความเข้าใจ  มีความเห็นที่น่าจะช่วยให้งานพวกเราดีขึ้นได้  ม่อนม่อนๆ


-การทำงานแต่ละครั้งทำให้ตกตะกอนด้วยวิธีอะไร

คุยกันในกรุปเฟซบุค  ส่วนมากเห็นจะด้วยกันอยู่แล้วในเรื่องคอนเทนท์  ถ้าเป็นเอกฉันท์  ทุกคนก็รันไปเลย  แต่ถ้าเกิดขัดกันจริงๆ ก็ใช้การโหวต  เป็นการโหวตว่าจะเอาแบบไหน  ไม่ใช่โหวตว่าจะทำหรือไม่ทำ  อาจมีล็อบบี้ในการโหวตอะไรอย่างนี้  บางทีเรื่องวิธีการ  เรื่องท่าทีที่จะพูด  รูปแบบต้องตอบคอนเทนท์นั้นได้  ถ้าเราไม่สามารถอธิบายได้ว่ารูปแบบที่แต่ละคนทำออกมามันตอบสนองคอนเทนท์ยังไงก็แปลว่างานชิ้นนั้นยังไม่เวิร์ค  ต้องมาช่วยกันดูว่าจะปรับยังไง  การออกแบบงานกิจกรรมมันมีคอนเสปท์อยู่ในตัวที่จะต้องส่งสารให้ถึงผู้รับ  แล้วพวกเรานี่แหละที่ทำตัวเป็นคนดูก่อนเสมอ  ถ้าเราเป็นคนดูแล้วรู้เรื่อง  เอ้อ  โอเค  เอ้อเฮ้ย อันนี้เวิร์คว่ะ มันว่ะ  ม่อนม่อนๆ


-วิธีการคุยเป็นแบบดีเบตหรือเปล่า

เราดีเบตกันเป็นปกติมาก  เจอกันเกือบทุกวัน  ก็เพราะงี้แหละ  เราถึงมีไอเดียฟาร์มเต็มไปหมด  ถ้าพูดว่าเป็นส่วนหนึ่งในลมหายใจจะเว่อร์ไปมั้ย  คือการทำงานแบบนี้มันต้องเป็นเพื่อนกัน  ทั้งการสนทนาจริงๆ และทั้งในออนไลน์  คือเรามีกรุปแชร์กันอยู่  จะทำอันนี้  เอากันป่ะ  แล้วก็ไม่ค่อยมาตอบ  กดไลค์กัน ฮาฮา ม่อนม่อนๆ

 

- ต้องคุยให้ขาดหรือเปล่า  อย่างแปดข้อสมศักดิ์  หรือว่าแนวครก.112  จุดยืนต้องเด็ดขาดไหม

ไม่นะ  แต่พวกเราเจอกันแล้วคุยกันตลอดเวลา  อัพเดทสถานการณ์กันอยู่เสมอ  แต่ถ้าให้ชนกับคนไม่เคยคิดเลย  ในเมื่อโปรเจคท์ปะทะเรื่อง 112 เราต้องปรับจากฐานสำนึกของเราเองก่อนว่าจะอยู่กับคนที่แตกต่างจากเรายังไง  ทำให้เราเริ่มประสานงาน  อดทนอดกลั้นกับคนที่คิดต่างจากเรา  เลยทำให้คนเหล่านั้นเริ่มจับมือแล้วก็ช่วยๆ กันทำ  สิ่งที่เราสะสมจากการที่เราได้คิดคุยกันตลอดเวลาทำให้เราเลือกใช้ได้ทันที  ลุยได้เลย  แต่จะลุยด้วยวิธีอะไรมันอีกเรื่องนึงเพราะบางทีก็คิดไม่ออก  ม่อนม่อนๆ


-แนวนิติม่อนเหมือนหรือต่างจากคนอื่นยังไง

เท่าที่เห็นในประเทศไทย  แอคทิวิสต์ทำงานกันไม่ค่อยสนุก  สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดจากกลุ่มอื่นที่เคลื่อนไหวเรื่องพวกนี้คือ  ไม่ค่อยหลากหลายทางรูปแบบ  เน้นสร้างการสะเทือนอารมณ์และ awareness (ความตื่นตัว) เป็นหลัก  แต่เราคิดว่าแค่นั้นมันไม่พอ  เราต้องการให้คนเข้าใจมากกว่านั้น  awareness มันสร้างแค่การจดจำ  แต่นิติม่อนต้องการสร้างให้คนเห็นความจริงว่า  มันต้องช่วยกันบอกต่อนะ  ช่วยกันทำต่อนะ  มาเลยดีกว่า  เรื่องแบบนี้คุณก็ทำได้  เราก็ทำได้  เน้นว่าไม่ใช่ทำเพื่อประกาศ  แต่ทำเพื่อให้คนอื่นเข้ามาจอยได้ด้วย  ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่ค่อยสำเร็จก็เหอะ  แต่ก็ค่อยๆ ทำไป  จากโปรเจคท์แรกมาถึงโปรเจคท์ปัจจุบันมันก็ค่อยๆ ถูกกระจายออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ  แรกๆ ก็เงียบเหมือนกัน  เงียบจนแสบแก้วหูเลย


คลิปวิดีโอ “เงียบจนแสบแก้วหู”

 มีงานของกลุ่มแสงสำนึกที่น่าสนใจอย่างโปรเจคท์ “แขวนเสรีภาพ” เราชอบมาก  แต่นอกจากนั้นแล้วยังค่อยไม่เห็นอะไร  อย่างการเขียนอ่านกวีเฉยๆ นี่มันก็จำกัดกลุ่ม  ตอบสนองเฉพาะคนบางกลุ่ม


กิจกรรมแขวนเสรีภาพของกลุ่มแสงสำนึก

นอกจากงานแอ๊คชั่นก็คือเป็นแล็บทดลองหาวิธีการใหม่ๆ  ทดลองตลอด  ทดลองแม้แต่การทำงานของทีมเราเอง  ถ้ามีคนอื่นเอาไปทำแล้วเวิร์คกว่าก็เอาไปเลย  ก็ไม่ได้ห้าม  อย่างน้อยในประเทศไทยก็ยังไม่มีแอ๊คชั่นแล็บ  ยังไม่มีใครเขียนรีพอร์ทอย่างจริงจัง  ถ้ามีเยอะกว่านี้อาจจะต้องเริ่มเขียนรีพอร์ทแล้ว  เราเก็บหมดทุกครั้งที่มีข่าวลงสื่อ


-นิติม่อนประเมินผลอย่างไร  อย่างงานป่วนวัฒนธรรม (culture jamming) นี่วัดผลยังไง

นี่แหละฮะปัญหา  คุยกันในแต่ละวันว่า เฮ้ย เวิร์คหรือไม่เวิร์คฮะ ทำไรใหม่ดีไหม หรือว่าจะขยายของเก่ายังไง  อาจวัดง่ายๆ จากฟีดแบคว่า คนโดนแจมรู้ตัวเป็นสัดส่วนเท่าไหร่  แต่ก็..แล้วรู้ได้ไง  วัดในแง่ปริมาณหรือคุณภาพ  สังคมขนาดใหญ่จะวัดยังไง  เชิงคุณภาพเราพอวัดได้  เช่นมีคนมาขอสัมภาษณ์  หรือถูกพูดถึงในว๊อยซ์ทีวี  หรือถูกเอาไปเขียนอธิบายต่อ  อย่าง อ.นิธิเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ก็ทำให้งานไม่ได้อยู่แค่ visual (ทางสายตา) อย่างเดียว  แต่ข้ามไปสู่เรื่องคอนเทนท์ได้ด้วย  ซึ่งเราถือว่าสำเร็จ  โจทย์ของไวรัลต้องส่งแพร่กระจายข้ามสื่อไปสู่สังคมวงกว้างด้วย  ไม่ใช่จบอยู่แค่สื่อที่เราทำในตอนต้น  แต่จะมันกว่านี้มากถ้ามันลงช่อง 3, 5, 7, 9 ได้  คงยากอ่ะนะ  ยังล็อบบี้สื่อไม่สำเร็จ

จริงๆ แล้วงานทางวัฒนธรรมมันไม่สามารถวัดเอาจากจำนวนคน  แต่เราดูรีแอ๊คชั่นได้  อย่างน้อยก็ดูที่แต่ละคนแชร์เขาแชร์ในทีท่าแบบไหน  ทีท่าเหล่านั้นมันสะท้อนว่าเขาคิดยังไง  แล้วเขาปรับระบบวิธีคิดยังไงบ้างกับสิ่งที่เขาเผชิญ  ตรงนั้นน่าประเมินกว่า  แต่บางโปรเจคท์การนับจำนวนก็ยังช่วยเหมือนกัน

ต้องคิดทั้งสองแบบ  เรื่องเชิงปริมาณเรายังไม่สำเร็จ  แต่เรื่องการเรียนรู้คิดว่าสื่อนิติม่อนเป็น slow knowledge  คือเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเพื่อนๆ  สร้างการเรียนรู้แบบช้าๆ ที่สำคัญกว่า fast knowledge ที่ฉาบฉวยแบบแชร์แล้วก็หายไป  เหมือนคือเราทำดีแต่ไม่ดังมันก็ยังอยู่อย่างนั้น  แต่ว่าสักวันต้องมีคนเห็น  เปลี่ยนแปลงคนได้จริงๆ ได้ไม่ถึงร้อยคน  แต่มันก็ยังเปลี่ยนแปลง  แล้วคิดดูว่าอีกสิบปีคนเหล่านี้จะไปทำงานอะไร  จะอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้  เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง  สิ่งที่เราง้างกับมันอยู่มันใหญ่และแข็งมาก  ไม่คิดว่าจะมีอะไรสักชิ้นหนึ่งที่ใส่เข้าไปแล้วได้ผลลัพธ์ที่ทำลายมันลงได้ในทีเดียวอยู่แล้ว  เหมือนปลูกต้นไม้  ปลูกไปเรื่อยๆ   เหมือนเราหาเพื่อนใหม่ไปเรื่อยๆ  อย่างน้อยได้มาหนึ่งคน  ก็ไม่รู้ว่าคนนี้จะไปทำอะไรต่อในอนาคต  และยังมีโอกาสที่จะเกิดคอนเวอร์เซชั่นได้อีก  แหม่ แม่งดูเป็นคนดีจังว่ะ ม่อนม่อนๆ


- คาดหวังกับความดังยังไง  การเรียกหาความนิยมคือเป้าหมายของเราหรือเปล่า

 ดังก็ดี  ไม่ดังก็มีเพื่อน  ดังนี่หมายถึงผลงานนะ  ไม่ได้เกี่ยวกับตัวเรา  เพราะว่าเราไม่มีตัวตนอยู่แล้ว  เราอยากให้งานดัง  ไม่ได้อยากให้ตัวเราดัง ม่อนม่อนๆ


-ความดังอย่างเซเล็บมีผลกับงานบ้างไหม

อย่างฝ่ามืออากงที่มันจุดติดกันได้ก็เพราะว่ามีเซเล็บนำ  อีกอย่างเอาเข้าจริงคือสมยศมี organizing force (พลังจัดตั้ง) น้อยกว่าอากงตรงที่ขาดความดราม่า  เราไม่ได้ต้องการใช้พลังเซเล็บ  แต่ถ้าเอาเซเล็บจริงๆ ตอนงานเงียบจนแสบแก้วหูแต่ละคนที่มาร่วมนี่ก็มีเซเล็บเหมือนกันนะ  ดึงคนทั่วๆ ไปให้มามีส่วนร่วม  เราเตรียมแพลทฟอร์มให้คนมามีส่วนร่วม  เตรียมอุปกรณ์ไว้ให้  ม่อนม่อนๆ


-นิติม่อนต้องรับความเสี่ยงอะไรบ้าง

 ยังไม่คิดว่าเราไปปะทะกับจุดเสี่ยงเท่าไหร่  ตามตัวบทกฎหมายเรายังไม่เคยเสี่ยงเลย  แต่ถ้าในแง่ที่กฎหมายไม่ทำงานตามตัวบทก็น่ากลัว  ทุกงานเรามีความกลัวเป็นปัจจัยรบกวนในการทำงาน  ความเป็นนิรนามบางอย่างมันช่วยพรางเราไว้ได้เหมือนกัน  งานมันไม่ดังไงฮะ  พวกเราเลยปลอดภัย  เป็นเซลฟ์เซนเซ่อร์อย่างหนึ่ง  แต่ละคนมันไม่เหมือนกันน่ะ  ตอนงานมนุษย์ล่องหน Emily (Emily Hong) กับ อ.เกี๊ยง (เกรียงศักดิ์  ธีระโกวิทขจร) เขาจะกังวลบางเรื่องที่เราไม่กังวล  แล้วเราก็ไปกังวลบางเรื่องที่เขาไม่กังวล  บางเรื่องไม่ต้องเคลื่อนไหวทางการเมืองชีวิตเราก็ต้องเจออยู่แล้ว  ม่อนม่อนๆ


-ออนไลน์ ออฟไลน์  งานไหนที่เราถนัดกว่า

ควบคู่กันไปนะ  แล้วแต่ว่างานนั้นต้องการกลยุทธ์แบบไหน  อย่างไวรัลต้องการออนไลน์ก็ออนไลน์  อย่างงานศิลปะต้องการออฟไลน์ก็ออฟไลน์  คือเรายังไม่มีกลยุทธ์ที่ดีพอที่จะฉวยเอาไว้ใช้อย่างต่อเนื่อง

อย่าง “เงียบจนแสบแก้วหู” ออฟไลน์มันก็มันนะ  เอาขึ้นออนไลน์ในฐานะพื้นที่เผยแพร่เฉยๆ  แต่ตอน “มนุษย์ล่องหน” ก็เป็นออฟไลน์ตอบสนองโจทย์ในโลกศิลปะเป็นหลัก  รู้สึกว่าเราทำงานออนไลน์น้อยไปนะ  ปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์เรายังไม่เก่งพอ  แต่คาแรคเตอร์มันชัดจากตัวเพจ  หลังจากสองแคมเปญล่าสุด  แฟนๆ เราเข้ามากันบ่อยมาก

เรายังไม่สามารถผลักงานให้ไปหาคนได้มากนัก  แต่ในแวดวงคนทำงานศิลปะ  “มนุษย์ล่องหน” (https://www.facebook.com/unseenthai?ref=ts&fref=ts) ถือว่าคนกดไลค์เยอะนะในแง่ของการทำเพจ exhibition น่ะ เกือบพัน  ม่อนม่อนๆ


-คาดหวังกับโซเชียลมีเดียขนาดไหน

 คาดหวังฮะ  เพราะว่ามันฟรี  เป็นช่องทางที่น่าจะเข้าถึงกลุ่มคนใหม่ๆ ได้  ส่วนตัวอยากจะขยายไปทวิตเตอร์หรืออินสตาแกรมบ้าง  แต่เราก็ยังไม่แข็งแรงพอเหมือนเพจอื่นๆ เยอะแยะ  เรายังมีพลังไม่พอ  ไม่ต่อเนื่องด้วย  หมายถึงว่าเวลาจะเคลื่อนไหวทีก็ต้องรอประเด็นร้อน  ประเด็น 112 มันไม่มีอะไรที่ปรากฏในสังคมตลอดเวลา  แล้วเราก็ไม่สามารถเล่นไปเรื่อยได้  ม่อนม่อนๆ


-นิติม่อนมีแผนไตรมาสไหม

 ตอบสนองต่อสถานการณ์มากกว่า   แต่ปีนี้มีแผนทำหนังสืออยู่หนึ่งเล่ม  ม่อน ม่อนๆ


-อะไรคือพลังสำคัญของนิติม่อน

เนตเวิร์กกิ้ง คอนเนคชั่น  มีอยู่อย่างเดียวที่มีพลัง  คือถ้าเราไม่มีเพื่อนเราจบเลยในยุคสมัยนี้  การมีเพื่อนนี่สำคัญมาก  โจทย์ใหญ่ตอนนี้คือทำไงให้คนที่ไม่มีที่ยืนถูกกีดกันทางวัฒนธรรมจะมีพื้นที่อยู่กันได้คือ  ก็สร้างเครือข่ายสังคมขึ้นมา  อย่างน้อยเวลาคนเหล่านี้คิดอะไร หรือต้องการจะสื่อสารอะไร  ก็มีเพื่อนนั่งคุยกันได้  เพื่อนที่ร่วมทำงานกันได้  และมันค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นหลังจากที่เราทำงานจริง  ทำให้เราเจอคนใหม่ๆ เยอะมาก

สังคมมันปกติอยู่ได้เพราะคนกลุ่มใหญ่ถือชุดความหมายเดียวกัน  แต่คนที่อยู่ในความปกติแบบนั้นไม่ได้  มีชีวิตอยู่เกินกว่ากรอบความปกติแบบนั้น  เขาอยู่ตรงไหนในสังคมไทย  ตอนนี้คนเหล่านี้เริ่มเจอกันมากขึ้นและจับมือกัน  ทุกครั้งที่คนจับมือกันมันสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นเครือข่าย  และเครือข่ายเหล่านี้จะช่วยขยายความปกติ  ความเป็นระเบียบแบบนิ่งๆ แบบเดิมออกไป  ยังไงก็ต้องยืนยันสิ่งที่อยู่นอกเหนือความปกติเดิมให้ได้ก่อน  นี่คือสิ่งที่สังคมไทยต้องการ ..มั้ง ม่อนม่อนๆ


-นิติม่อนสีอะไร

นิติม่อนหลายสีมาก  นิติม่อนเป็นหลากสี  จริงๆ ดูโลโก้ก็จะเห็นชัดเจน  ดูดีๆ ช่องหนึ่งที่มันไม่มีสี  โปร่งแสง  ตอนนี้เราเปิดพาร์ท “นิติมี่” แล้ว  รู้จักนิติมี่หรือเปล่า  นิติมี่เป็นน้องสาวของนิติม่อน  นิติมี่สีเหลืองเลย ม่อนม่อนๆ

(ยังไม่จบนะ  โปรดติดตามตอนต่อไป...)

สัมภาษณ์วันที่ 7 มีนาคม 2556

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net