Skip to main content
sharethis

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ออกแถลงการณ์กรณี ‘รายการตอบโจทย์’ ชื่นชมผู้บริหารฯ ตัดสินใจให้รายการแพร่ภาพ แนะทำหน้าที่สื่อสาธารณะรับใช้คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ส่วนผู้ประสานงานฯ ชี้รายการฯ-พิธีกร กล้าเปิดพื้นที่การถกเถียงประเด็นสถาบันฯ ต่อสาธารณะ

วันนี้ (20 มี.ค.56) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ออกแถลงการณ์ ‘ประเทศไทยประชาธิปไตย สื่อสารอย่างเสรี เสรีวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์’ กรณีที่มีการชะลอการออกอากาศ และต่อมามีการออกอากาศของรายการตอบโจทย์ ชุด “สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ตอนที่ 5 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (TPBS) ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์ ทั้งช่วงระหว่างการชะลอการออกอากาศ และหลังการออกอากาศ
 
แถลงการณ์ ระบุว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความเติบโตของกระบวนการทางสังคม ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ และการทำหน้าที่ของคณะผู้บริหารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการแสดงความรับผิดชอบร่วม ตามความคิดเชื่อ ความเข้าใจ และบทบาทหน้าที่ของแต่ละส่วนของโครงสร้างทางสังคมอย่างเต็มที่ อันเป็นความงอกงามของสังคมประชาธิปไตยของประเทศไทย
 
ทั้งยังระบุด้วยว่า ขปส.ในฐานะขบวนการภาคประชาสังคมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสังคม มีข้อเสนอต่อ ส.ส.ท. ดังนี้ 1.ต้องทำหน้าที่ในการเป็นสื่อสาธารณะ ที่ตอบสนองและรับใช้คนทุกกลุ่มในสังคมอย่างเท่าเทียม 2.ต้องมีความกล้าที่จะนำเสนอปัญหาของสังคมอย่างอิสระ รอบด้าน เพื่อผลประโยชน์ของคนทุกส่วนในสังคม 3.ผู้บริหาร ส.ส.ท.ต้องมีความกล้า ความเป็นกลาง และความเป็นอิสระ จากทุน และกลุ่มการเมือง ซึ่งต้องมีความหนักแน่นและมั่นคง
 
และ 4.สังคมไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีสื่อสาธารณะ ซึ่ง ส.ส.ท.ทำหน้าที่นี้ดีอยู่แล้ว และควรทำให้ดีมากกว่านี้ นอกจากนี้ ขปส.ยังระบุจะทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ส.ส.ท.เพื่อให้เป็นสื่อสาธารณะที่รับใช้ประชาชนและสังคมไทย ขณะเดียวกันก็ชื่นชมผู้บริหาร ส.ส.ท.ต่อการตัดสินใจในครั้งนี้
 
ไพจิต ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กล่าวว่าแถลงการณ์ในครั้งนี้ ขปส.ไม่ได้มองที่ตัวผู้บริหาร แต่มองในองค์รวมที่สังคมต้องมีสื่อสาธารณะเพื่อเปิดพื้นที่ในการถกเถียงเรื่องสถาบันฯ ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้นกับรายการตอบโจทย์นี้มีการรับฟังความคิดเห็น กลไกของสื่อสาธารณะทั้งในส่วนผู้บริหาร และสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการรวมตัดสินใจให้รายการกลับมาฉายได้ ถือเป็นการทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี
 
ส่วนการที่ ขปส.ให้ความสนใจกับกรณีรายการตอบโจทย์นั้น ไพจิต กล่าวว่า ขปส.ติดตามข้อถกเถียงสาธารณะในหลายๆ เรื่อง และประเด็นเรื่องสถาบันนั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์โดยมีความไม่ถูกต้องอยู่ ดังนั้น การนำมาออกอากาศต่อสาธารณะถือเป็นการเปิดพื้นที่ เพื่อให้เกิดการรับรู้ข้อมูลและนำไปสู่การถกเถียงได้ นอกจากนั้น ขปส.ไม่ได้ติดตามเฉพาะในสื่อโทรทัศน์ แต่ในส่วนบทบาทของภาคประชาชนก็มีการร่วมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง การดึงประเด็นสถาบันออกมาเปิดในสาธารณะถือเป็นความกล้าที่จะเปิดเผย
 
ภาคประชาชนมีความสนใจประเด็นการวิจารณ์รัฐบาล สถาบันฯ กฎหมายมาตรา 112 และข้อถกเถียงสาธารณะต่างๆ โดยมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ส่วนการออกแถลงการณ์หรือมีท่าทีอะไรนั้นต้องมีมติที่เป็นเอกฉันท์
 
สำหรับรายการตอบโจทย์ ไพจิตกล่าวว่า ตัวรายการนั้นทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี และควรมีรายการอย่างนี้ในสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ส่วนภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พิธีกรรายการตอบโจทย์นั้นชื่นชมเป็นการส่วนตัว ในฐานะคนที่ตั้งใจจริงที่จะเปิดพื้นที่การถกเถียงต่อสาธารณะ ตั้งแต่ได้เดินทางไปสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ดูไบ (รายการตอบโจทย์ ปี 2554) จนต้องหยุดจัดรายการไปช่วงหนึ่ง ซึ่งตนเองอยากให้มีสื่ออย่างนี้ต่อไป
 
ไพจิต ให้ข้อมูลต่อมาถึงการเคลื่อนไหวต่อไปของ ขปส.ภายหลังกรณีดังกล่าวว่า ขปส.ได้มีการตั้งทีมติดตามการทำงานของสื่อสาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องหลักการความโปร่งใส ตรงไปตรงมา รวมทั้งติดตามในส่วนองค์รวมของรายการต่างๆ ว่าตอบสนองรับใช้ประชาชนและสังคมจริงหรือไม่ ซึ่งเมื่อมีการแสดงท่าทีตรงนี้ในแถลงการณ์แล้วก็ต้องติดตามผลกันต่อไป
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสทำหน้าที่ได้ดีในการนำเสนอปัญหาของภาคประชาชน และมีช่องทางของนักข่าวพลเมืองที่นำเสนอปัญหาจากในพื้นที่ด้วย
 
อนึ่ง ขปส.หรือ พีมูฟ ประกอบไปด้วย เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 
 
รายละเอียดแถลงการณ์ดังกล่าว มีดังนี้
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net