Skip to main content
sharethis

ศาลอาญากำหนดสืบพยานคดีปีนรั้วรัฐสภาเหตุจำเลย 10 คน ร่วมกับประชาชนคัดค้าน สนช ที่ออกกฎหมายกระทบสิทธิประชาชน ผลพวงการรัฐประหารปี 2549

21 มกราคม 2556 รายงานข่าวจากนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า ศาลอาญากำหนดสืบพยานคดีหมายเลขดำที่ อ. 4383/2553 ระหว่าง พนักงานอัยการโจทก์ นายจอน อึ้งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน  เป็นจำเลยกรณีปีนรั้วรัฐสภาเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่กระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน นัดพิจารณาวันที่ 22 มกราคม 2556 เวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก  

ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย รวม  27 นัด  เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม  ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2556[1]  โดยการสืบพยานโจทก์นัดแรก  โจทก์จะนำพยานที่ดำรงตำแหน่งรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในวันเกิดเหตุ เข้าเบิกความต่อศาล  ส่วนการสืบพยานของจำเลยจะมีการนำนักวิชาการจากหลายสถาบันมาให้ข้อมูลหลักการใช้สิทธิของประชาชาชนในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ  โดยจะให้ความเห็นเรื่องความชอบธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการปฏิบัติหน้าที่ช่วงก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550
 
คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งมีการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553  ในการดำเนินกระบวนพิจารณา มีการโต้แย้งกันในศาลระหว่างจำเลย ทนายความจำเลย กับพนักงานอัยการและศาล ซึ่งเป็นกลไกในกระบวนการยุติธรรมอย่างเข้มข้น  จนเป็นที่สนใจติดตามจากกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน และผู้สนใจเข้ารับฟังการพิจารณาคดี ทั้งในและต่างประเทศ  ซึ่งในการพิจารณาคดีในครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการพิจารณาและสังเกตการณ์คดีจำนวนมาก   เพราะเห็นความสำคัญของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามมาตรา 63  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  ที่บัญญัติคุ้มครองไว้  อีกทั้งยังเป็นการใช้สิทธิพลเมืองในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ  ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ระหว่างจำเลยที่อ้างว่า การกระทำของตนและประชาชนได้กระทำไปด้วยความสุจริตและยึดมั่นต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย  และห่วงใยในผลที่จะเกิดขึ้นกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการพิจารณากฎหมายของ สนช.  กับข้อกล่าวหาของโจทก์ที่อ้างว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการยุยงให้ประชาชนล้มล้างกฎหมายบ้านเมือง  บุกรุก  ก่อให้เกิดความวุ่นวาย  อันเป็นการกระทำที่กฎหมายบ้านเมืองกำหนดว่าเป็นความผิดนั้น  ศาลซึ่งเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการยุติธรรม จะพิจารณาชั่งนำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายอย่างไร  และจะใช้เหตุผลและหลักคิดในการปรับบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญในการทำคำพิพากษาแสดงผลการตัดสินออกมาในลักษณะใด      
 
ทั้งนี้รายละเอียดข้อมูลคดีติดตามย้อนหลังได้ที่  http://www.naksit.org/2012-02-03-08-40-11/2012-02-03-09-22-49/45-2012-02-23-09-24-40/231--10-.html
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net