Skip to main content
sharethis

วันนี้ (15 มี.ค.55) นางสาวชันษา สุพรรณเมือง ทีมเลขาทนายจำเลย คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจอน อึ๊งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน กรณีเหตุการณ์ในปี 2550 ที่ผู้ชุมนุมนับพันคัดค้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร่งผ่านกฎหมายสำคัญก่อนหมดวาระ โดยมีการปีนรั้วเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา เผยว่า ศาลได้ยกเลิกนัดสืบพยานที่เหลืออีก 12 วัน ไปสืบต่อในช่วงวันที่ 15 ม.ค.-15 มี.ค.56

นางสาวชันษา กล่าวว่า ในวันนี้อัยการได้ขอเลื่อนสืบพยานโจทก์ 2 ปาก จากกำหนดนัดสืบพยานโจทก์เดิมเหลืออีก 1 วันคือวันพรุ่งนี้ออกไป และแถลงว่าติดใจสืบพยานเพิ่มเติมอีกรวมเป็น 38 ปาก โดยที่โจทก์ไม่สามารถติดตามตัวพยานทั้งหมดให้ทันตามกำหนดนัดได้ จึงขอยกเลิกวันนัดสืบพยานโจทก์และวันนัดสืบพยานจำเลย และขอนัดวันสืบพยานโจทก์และสืบพยานจำเลยใหม่

ขณะที่ทนายจำเลยคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้คดีล่าช้า เนื่องจากจำเลยมีหลายคนการกำหนดวันนัดให้ตรงกันนั้นทำได้ยาก อีกทั้งหมายเรียกพยานใหม่สามารถกำหนดล่วงหน้าได้ใน 3 วัน ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องยกเลิกนัด

อย่างไรก็ตาม ศาลให้ยกเลิกนัดสืบพยานที่เหลือโดยบันทึกเหตุผลระบุว่า อัยการยื่นขอสืบพยานเพิ่มเติม และทนายจำเลยใช้เวลาซักค้านยาวนานกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้กระบวนการเกิดความล่าช้า

นางสาวชันษา ให้ข้อมูลด้วยว่า ที่ผ่านมา คดีดังกล่าวมีการนัดสืบพยานโจทก์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ก.พ.55 เป็นต้นมา โดยสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 21 ปาก และตามกำหนดจะมีการนัดสืบพยานจำเลยปากแรก คือนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จำเลยที่หนึ่ง ในวันที่ 20 มี.ค.นี้ จากที่มีการนัดสืบพยานจำเลยทั้งหมด 42 ปาก

คดีดังกล่าว ศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 เป็นคดีดำที่ อ.4383/2553 ฟ้องร้องว่าผู้ชุมนุมละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (กระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน) มาตรา 215 (มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง) มาตรา 362 (เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น) มาตรา 364 (เข้าไปในเคหะสถานโดยไม่มีเหตุอันควรและไล่ไม่ยอมออก) มาตรา 365 (ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้ายในการกระทำตามมาตรา 362, 364)

จำเลยในคดีได้แก่ นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และเคยได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายพิชิต ไชยมงคล นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท นายนัสเซอร์ ยีหมะ นายอำนาจ พละมี นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมด้านสื่อ ปัจจุบันเป็นหนึ่งใน กสทช.

อนึ่ง การเคลื่อนไหวคัดค้านการเร่งผ่านกฎหมายของ สนช.ระบุเหตุผลว่า สนช.ซึ่งเป็นสภาที่ถูกแต่งตั้งขึ้นหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 ไม่สมควรและไม่มีความชอบธรรมเร่งผลักดันกฎหมายใดๆ อีกทั้งช่วงการชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ราวสองสัปดาห์ และได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดการเลือกตั้งแล้ว นอกจากนั้นเนื้อหากฎหมายยังขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย

ตัวอย่างกฎหมายที่ผู้ชุมนุมคัดค้าน ได้แก่ ร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ร่างกฎหมายป่าชุมชน ร่างกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ ร่างกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ และร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net