Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถ้าหากจะมีสถาบันใดในสังคมที่เป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสถาบันสุดท้ายที่ผู้คนนึกถึงเมื่อพูดถึงประชาธิปไตยแล้วนั่นคือมหาวิทยาลัย

ในอดีต ขบวนการนักศึกษา กลไกสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วโลกฟูมฟักอุดมการณ์ประชาธิปไตยจากในห้องเรียน เช่นในทศวรรษ 1950s ขบวนการนักศึกษาในสหรัฐอเมริกากลายเป็นกำลังสำคัญในการเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้กับคนผิวสี รวมทั้งสิทธิสตรีและสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ขณะที่การรณรงค์ต่อต้านสงครามก่อตัวขึ้นจากภายในรั้วมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ส่วนในมหาวิทยาลัยไทย ปีกเสรีนิยมของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยก็เกิดขึ้น (และถูกทำลาย) ภายในมหาวิทยาลัย เช่น ธรรมศาสตร์

แต่การสุดสิ้นของสงครามเย็นและระบอบสังคมนิยมในรัสเซีย รวมถึงการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจในระดับโลกนับจากปลายทศวรรษ 1970s ทำให้บทบาทของมหาวิทยาลัยในสังคมตะวันตกเปลี่ยนแปลงไปมาก การปฏิรูปนโยบายสาธารณะที่นำโดยสหรัฐฯและอังกฤษ ที่มุ่งลดบทบาทของรัฐในฐานะผู้จัดหาบริการสาธารณะเช่น การศึกษาขั้นสูงทำให้มหาวิทยาลัยลดความเป็นสถาบันสาธารณะลงไปตามลำดับ ความสำคัญของมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันหลักที่บ่มเพาะอุดมการณ์ด้านสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตยจึงเกือบสูญหายไป มหาวิทยาลัยแทบกลายเป็นเพียงโรงงานป้อนวัตถุดิบให้กับระบบตลาด

นักวิชาการในตะวันตกเรียกแนวคิดเบื้องหลังการปฏิรูปนโยบายสาธารณะที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวว่า “เสรีนิยมใหม่”

ในบทความวิชาการ “การทำให้การศึกษาเป็นเสรีนิยมใหม่และมีลักษณะของระบบการจัดการ ในอังกฤษและเวลส์ กรณีการปรับโครงสร้างการศึกษาใหม่ (Neoliberalization and managerialization of ‘education’ in England and Wales - a case for reconstructing education)” ที่เผยแพร่ในวารสารนโยบายสาธารณะด้านการศึกษาเชิงวิพากษ์ (Journal of Critical Education Policy Studies) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอังกฤษ 3 แห่งร่วมกันวิจัยพบว่าการปฏิรูปการศึกษาในอังกฤษโดยการแปรรูปให้เป็นเอกชนและแข่งขันกันแบบระบบตลาดตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980sเปลี่ยนโฉมหน้าของสังคมอังกฤษ ในแง่ที่เปลี่ยนอัตลักษณ์ของคนจากพลเมือง (citizenship) ในระบบการเมืองประชาธิปไตยไปเป็นผู้บริโภคแทน

การเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากนี้เกิดจากการปฏิรูปการศึกษาบนฐานความเชื่อว่าตลาดมีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรเหนือกว่ากลไกอื่น (เช่นรัฐและชุมชน) และการบริหารจัดการแบบมืออาชีพในระบบตลาดให้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีที่สุด

ในบริบทของสหรัฐฯ โซเฟีย แมคเคลนเนน (Sophia McClennen) ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาระหว่างประเทศของPenn State Universityสรุปในบทความที่ชื่อ “เสรีนิยมใหม่และวิกฤตของการอุทิศทางปัญญา (Neoliberalism and the Crisis of Intellectual Engagement)” ว่าการลดบทบาทปัญญาชนของอาจารย์มหาวิทยาลัยในอเมริกาส่วนสำคัญเกิดจากการรุกคืบของอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ ที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าการศึกษาระดับสูงนั้นต้องตัดขาดจากการเมือง (de-politicization) หรือง่ายๆ คือ “เป็นกลางและไม่เลือกข้างทางการเมือง”

อาจารย์แมคเคลนเนนตั้งข้อสังเกตว่าภายหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน วงการวิชาการในสหรัฐฯ มัวแต่ตั้งคำถามเรื่องเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงความคิดเห็นในห้องเรียนจนหลงลืมประเด็นที่สำคัญอย่างเช่น การลดการอุดหนุนการศึกษาโดยรัฐ หนี้ด้านการศึกษาของนักศึกษาและการทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยกลายเป็นเพียง “แรงงานภาคการศึกษา” ที่สำคัญ ต้องโทษความสำเร็จของฝ่ายขวาที่ทำให้สังคมเชื่อว่าระบบการศึกษาขั้นสูงควรจะเป็นเสมือนสินค้าเอกชน แทนที่จะเป็นสินค้าสาธารณะเช่นในอดีต

ในบทความดังกล่าว แมคเคลนเนนกล่าวว่า หากเราต้องการทำความเข้าใจการครอบงำเชิงอุดมการณ์หรือวัฒนธรรมของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ก็ให้ศึกษางานเขียนของนักวิชาการด้านการศึกษาและวัฒนธรรมคนสำคัญของสหรัฐฯ อย่างเฮนรี จิรูส์ (Henry Giroux) ที่ศึกษาผลกระทบของเสรีนิยมใหม่ต่อการศึกษาและมหาวิทยาลัยในอเมริกาอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ ในหนังสือ “ความน่าสะพรึงกลัวของเสรีนิยมใหม่ (The Terror of Neoliberalism)” ที่อธิบายว่าเสรีนิยมใหม่ทำลายประชาธิปไตยอย่างไรศาสตราจารย์จิรูส์กล่าวว่าอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่ทำให้ยากที่เราจะ (1) จินตนาการว่าปัจเจกและสังคมมีความสามารถในการรื้อฟื้นประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาได้อย่างไร หรือ (2) ยากที่จะเข้าใจเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมืองที่จำเป็นสำหรับการรักษาปริมณฑลสาธารณะในสเกลของโลก (global public sphere) ให้ดำรงอยู่ ในประเด็นหลังนี้ เขาได้เน้นถึงความสำคัญขององค์ประกอบสำคัญ 3 ประการได้แก่ สถาบัน พื้นที่และสินค้าสาธารณะในฐานะพื้นฐานสำหรับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย

คำว่า “สาธารณะ” ในที่นี้ ไม่ได้มีความหมายเพียวผิวเผินว่ารัฐเป็นเจ้าของอย่างที่เข้าใจกันทั่วไป แต่หมายถึงสมบัติของทุกคน ไม่มีใคร (แม้กระทั่งรัฐ) สามารถอ้างสิทธิเหนือผู้อื่นและกีดกันผู้อื่นออกจากการใช้ประโยชน์ได้ ผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จึงสามารถเข้าถึงได้หากต้องการที่สำคัญ ยังมีนัยว่าไม่เสียค่าใช้จ่ายเพราะเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดหาให้

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยในปัจจุบันกลับพัฒนาไปในทิศทางขององค์กรธุรกิจมากขึ้น เริ่มขยายสาขาและพัฒนาภาพลักษณ์หรือความถนัดเฉพาะด้านเพื่อหาตลาดและกลุ่มเป้าหมายของตนเอง ส่วนโครงสร้างภายในก็เน้นการบริหารจัดการที่มุ่งผลผลิตคือเป้าหมายตัวชี้วัด มากกว่าจะมุ่งให้บริการสาธารณะหรือตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนโดยรอบ ประการสำคัญมหาวิทยาลัยแทบไม่ต่างจากบริษัท เมื่อผู้บริหารเริ่มนำรูปแบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เช่น สัญญาจ้างชั่วคราวมาใช้เพื่อช่วยลดต้นทุนและกดดันให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ในแง่หนึ่ง เราจึงกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยกลายเป็นภาพสะท้อนของความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับทุนในเศรษฐกิจจริงเพราะความสัมพันธ์ภายในองค์กร รวมถึงทำเลที่ตั้งของมหาวิทยาลัยล้วนถูกกำหนดโดยความต้องการของทุนที่จะเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่ให้กำไรสูงสุด 

หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกาในปี 2007 และวิกฤตในยูโรโซนที่เรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนเริ่มมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างโครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว ระบบการเมืองที่เป็นอิสระจากการตรวจสอบและปัญหาในสถาบันการศึกษาแจ่มชัดขึ้น และนี่คือเหตุผลเบื้องหลังที่มหาวิทยาลัยในตะวันตกกลับมาเป็น “พื้นที่แห่งความขัดแย้งและต่อสู้ดื้นรน (space of contest and struggle)” อีกครั้ง

 

 

ที่มา: คอลัมน์ ทัศนะวิจารณ์ กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net