Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

วันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันที่ทางราชการไทยกำหนดให้เป็นวันรัฐธรรมนูญ และปีนี้ครบรอบ 80 ปี ภายหลังการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475
 
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการบริหารปกครองประเทศ เป็นกติกาสูงสุดในสังคม ซึ่งได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของอำนาจกลุ่ม สถาบันต่างๆ  บอกถึงระบอบการปกครองของประเทศนั้น ว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่ไหน รวมทั้งสะท้อนถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่ามีมากน้อยอย่างไร เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นเผด็จการอำนาจนิยม โดยดูที่เนื้อหาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิเพียงรูปแบบเท่านั้น
 
ความขัดแย้งทางการเมืองยุคปัจจุบันระหว่างฝ่ายอำมาตยาธิปไตยกับฝ่ายประชาธิปไตย มีประเด็นหัวใจสำคัญมากอยู่ที่รัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งเป็นผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แม้ว่าประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารประเทศ แต่ผู้บริหารประเทศมีข้อจำกัดในการใช้อำนาจ หรือบางครั้งอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเหนืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
 
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายประชาธิปไตย ได้เดินหมากทางการเมืองเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ผ่านกระบวนการรัฐสภายื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่ 291 เพื่อนำสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ต่อไป จนถึงวาระการพิจารณาที่ 2 แต่ถูกฝ่ายอำมาตยาธิปไตยได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยมิบังอาจเดินหน้าลงมติวาระ 3 โดยทันที
 
จนทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยหลายส่วน ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของรัฐสภาโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยว่าเกรงกลัวอำนาจนอกระบบมากกว่าดำเนินตามนโยบายดั่งที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชนช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา
 
ณ ขณะนี้ ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้มีแนวทางจะเดินหน้าลงมติวาระที่ 3 เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50      
 
ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่แน่นอนว่าจะยืนยันแนวทางนี้หรือไม่   หรือจะเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา ท่ามกลางการคัดค้านของพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม 40 ส.ว. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักวิชาการบางส่วน เช่น ธีรยุทธ บุญมี เป็นต้น   
 
นอกจากนี้แล้วยังมีสื่อมวลชนบางองค์กร เช่น เครือข่ายเนชั่น ผู้จัดการ ไทยโพสต์ ฯลฯ รวมทั้งสถาบันกลุ่มอนุรักษ์นิยมต่างๆ  ซึ่งล้วนเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหารของ คมช.และได้ประโยชน์จากการรัฐประหารของคมช.ทั้งสิ้น
 
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 มิใช่เป็นการแก้ไขเพียงเพื่อคนๆเดียว อย่างที่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยกล่าวหา แต่หากปรารถนาให้สังคมไทยมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เช่นอารยประเทศทั่วโลก จึงเป็นการแก้ไขเพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่ เนื่องเพราะความหมายของประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
 
หนทางข้างหน้า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 จึงต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเหมือนเช่นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ปี 40 ภายหลังเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่ขับไล่อำนาจกองทัพเมื่อเดือนพฤษภา 2535 และครั้งนี้ควรก้าวหน้ากว่าด้วย โดยเฉพาะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด ส่วนนักวิชาการ นักกฎมาย ซึ่งมีความจำเป็นในการเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นเล่ม ก็เป็นเพียงนักเทคนิคมีหน้าที่บริกรจัดทำรัฐธรรมนูญจากเสียงประชาชน หากพวกเขาไม่สมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเอง หรือไม่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ก็ไม่ควรเป็นอภิสิทธิ์ชนแต่อย่างใด
 
แน่นอนว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่นี้ คงมีหลายประเด็นที่ประชาชนมีความคิดเห็นแตกต่างกัน เช่น บทบาทของกระบวนการยุติธรรม ภาระกิจของพรรคการเมือง หน้าที่ขององคมนตรี อำนาจที่มาขององค์กรอิสระ สมาชิกวุฒิสภาควรมีหรือไม่ ? ควรมาอย่างไร ?  ฯลฯ ซึ่งคงมีการณรงค์ถกเถียงกันขนาดใหญ่ของกลุ่มต่างๆ เพื่อเสนอความคิดเห็นไปยังประชาชนเจ้าของประเทศ  
 
แต่หากว่า เมื่อหาจุดลงตัวไม่ได้ก็ต้องทำประชามติเป็นรายประเด็นขึ้น โดยหลักการประชาธิปไตยต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่ ฟังเสียงส่วนน้อย 
 
ถึงเวลา รัฐสภาจึงต้องเดินหน้าลงมติวาระ 3 สร้างกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรนูญฉบับใหม่
 
สำหรับฝ่ายประชาธิปไตย ต้องแก้ไขให้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยหมดไปเสียที เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net