Skip to main content
sharethis

ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ระบุ อเมริกาควรใช้โอกาสเยือนไทยทำความรู้จักกลุ่มอำนาจใหม่ๆ ในการเมืองไทย และการเปลี่ยนจุดยืนต่อการเมืองไทยเสียใหม่ผ่านบทความ Obama's Chance to Shift the Thai Stance

ในบทความดังกล่าว ปวิน ระบุว่า การที่บารัค โอบามา ประเดิมการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองด้วยการเยือน กัมพูชา พม่าและไทย ในระหว่างวันที่ 17-20 พ.ย. นี้ ความสนใจของสหรัฐนั้นมุ่งไปที่การแสดงบทบาทในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกที่จัดขึ้นในพนมเปญ และเยือนพม่าเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐที่เยือนพม่าด้วย

ขณะที่การเยือนกรุงเทพฯ นั้นได้รับความสนใจจากทั้งทางวอชิงตันและสื่อระดับโลกน้อย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไทยและอเมริกามีความสัมพันธ์แนบแน่นมาเป็นเวลานาน ประเทศไทยเป็นประเทศพันธมิตรอันยาวนานที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา และได้รับสถานะเป็น “ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต้” (major non-NATO ally) เมื่อพ.ศ. 2547 ทั้งสองชาติมีการซ้อมรบร่วมกันในภารกิจ “คอบร้า โกลด์” มาอย่างยาวนาน ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งอย่างยิ่งของทั้งสองชาติอาจจะทำให้ไทยกลายเป็นของตายสำหรับสหรัฐ

ในขณะเดียวกัน สหรัฐก็เลือกที่จะเงียบเมื่อสถานการณ์ภายในประเทศไทยเข้าสู่ภาวะที่เกิดความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

“เหตุผลที่สหรัฐล้มเหลวในการส่งเสริมประชาธิปไตยในไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะความรับรู้เกี่ยวกับการต่อสู้ทางอำนาจในไทยนั้นยังคงติดอยู่ในโครงสร้างที่เก่า ล้าสมัย ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐนั้นถูกกำหนดและครอบงำโดยความร่วมมืออันทรงประสิทธิภาพระหว่างกองทัพและสถาบันกษัตริย และผลประโยชน์ของอเมริกาซึ่งดำรงอยู่โดยอาศัยความร่วมมือนี้ และผลก็คือ สหรัฐดูเหมือนจะแสดงออกในลักษณะสนับสนุนกลุ่มอำนาจเก่าในการใช้กำลังจัดการกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของขบวนการเสื้อแดงซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการว่า แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)” ปวินระบุในบทความพร้อมชี้ต่อไปว่า เฉพาะแค่ประเด็นผลประโยชน์ของสหรัฐนั้นก็คงไม่เพียงพอที่จะอธิบายการสนับสนุนกลุ่มอำนาจเก่าของไทย แต่จากที่ได้สัมภาษณ์นักการทูตทั้งไทยและสหรัฐจำนวนมาก เขาสรุปได้ว่า “ทัศนคติของสหรัฐนั้นมีพื้นฐานมาจากการที่แผนกการเมืองของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยขาดความเข้าใจและขาดความสนใจต่อพัฒนาการทางการเมืองไทย”

“การสิ้นสุดสงครามเย็นและการค่อยๆ คลายบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยในช่วงทศวรรษ 2530 และในช่วงรัฐบาลทักษิณระหว่างปี 2544-2549 ได้สร้างสุญญากาศด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศไทย สุญญากาศนี้เป็นตัวขัดขวางสหรัฐอเมริกาในการปรับเปลี่ยนนโยบายต่อประเทศไทย แม้ว่าบริบทการเมืองของไทยในประเทศและระหว่างประเทศจะได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ”

ปวินกล่าวว่า ทางการสหรัฐยังคงดำเนินความสัมพันธ์กับไทยบนพื้นฐานความรับรู้เดิมๆเกี่ยวกับประเทศไทย แม้ว่าในทางหนึ่งก็ไม่เคยหยุดที่จะสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตยไทยแบบดีแต่พูด (Lip Service)

นโยบายของอเมริกาในการปกป้องสถานภาพและเป็นประโยชน์กับกลุ่มเศรษฐีและชนชั้นนำที่มีอิทธิพลทางการเมืองทำให้มุมมองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเลือกในการดำเนินนโยบายของของสหรัฐคับแคบมาก และภาพลักษณ์ที่อเมริกามองผู้นำทางการเมืองของไทยทั้ง 2 ขั้วก็แตกต่างกัน คือสหรัฐมองว่ากลุ่มอำนาจเก่าเป็น “มิตรที่เชื่อถือได้” ขณะที่มองกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งเชื่อมโยงกับทักษิณ ชินวัตรว่าเป็น “ภัยคุกคาม” ของประชาธิปไตยตามจารีตเดิมของไทย

“ตลอดเทอมแรกของรัฐบาลโอบามานั้นล้มเหลวหลายครั้งในความพยายามที่จะบาลานซ์ระหว่างการสนับสนุนกลุ่มชนชั้นนำเก่าและการพยายามแสดงความเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง”

ปวินระบุว่า การพยายามเข้ามาแทรกแซงแต่ล้มเหลวของนายเคิร์ท แคมป์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่พยายามจะเข้ามาพูดคุยกับผู้นำทั้งในฝั่งเสื้อแดงและตัวแทนของกลุ่มผู้นำไทยในช่วงต้นปี 2553 นั้นกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมระหว่างสองประเทศ นอกจากความพยายามของนายแคมป์เบลล์ที่ล้มเหลวแล้วนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มผู้นำเก่า ให้ส่งนายเกียรติ สิทธีอมร ไปยังวอชิงตันเพื่อต่อว่าการที่อเมริกาพยายามเข้ามาแทรกแซงในสถานการณ์ความขัดแย้ง

ทังนี้ความพยายามที่จะเข้าถึงคนเสื้อแดงก็ดูเหมือนจะทำให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้บรรลุเป้าหมายส่วนตัวมากกว่าการบรรลุเป้าหมายในระดับนโยบายของประเทศ ปวินระบุว่าในความเป็นจริงแล้วแท็กติกในการป้ายสีและสร้างภาพให้กับคนเสื้อแดงที่ท้าทายกลุ่มอำนาจเก่านั้นดำเนินอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของกลุ่มอำนาจเก่าและในส่วนของสหรัฐ และก็ยิ่งแย่หนักลงไปอีกเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์กล่าวหาว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายและเผาห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ

ในแง่นี้ การต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับเครือข่ายทักษิณไม่ได้จำกัดอยู่ในพรมแดนของประเทศไทย สหรัฐได้เข้ามาข้องเกี่ยวโดยตรงในเกมอำนาจ โชคร้ายที่ทักษิณไม่ใช่อองซาน ซูจีผู้ที่สามารถกำหนดนโยบายและมีอิทธิพลต่อสภาคองเกรสได้ด้วยการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ทักษิณมีปัญหามากเกินไป และเป็นภัยคุกคามต่อโครงสร้างอำนาจเก่า

ในบทความดังกล่าว ปวินเสนอว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์มีภารกิจใหญ่คือไม่เพียงแต่เปลี่ยนทัศนคติของสหรัฐที่มีต่อผู้นำเก่าตามจารีตของไทย แต่ต้องปรับเปลี่ยนทักษิณให้เป็นที่ยอมรับแก่รัฐบาลสหรัฐด้วย สำหรับขบวนการคนเสื้อแดงนั้น การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอาจจะยังได้รับความสนใจจากอเมริกันไม่มากเมื่อเทียบกับประเด็นระหว่างประเทศอื่นๆ หรือประเด็นในประเทศที่ท้าทายรัฐบาลโอบามาอยู่

นอกจากนี้ พฤติการณ์ที่อาจถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นการก่อการร้ายโดยคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งและข่าวลือเกี่ยวกับเครือข่าย “ใต้ดิน” และแผนล้มเจ้านั้นเป็นสิ่งที่สหรัฐคลางแคลงใจและทำให้สหรัฐยังคงพึงพอใจต่อกลุ่มอำนาจเก่ามากกว่า และในที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายกว่าสำหรับผู้กำหนดนโยบายในวอชิงตันที่จะทำความเข้าใจสถานการณ์ในไทยผ่านทัศนะอันคร่ำครึของตนเองและไม่ต้องไปสนใจกับปัจจัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

ปวินทิ้งท้ายในบทความของเขาว่า ในระหว่างการเยือนกรุงเทพฯ ประธานาธิบดีโอบามาควรจะใช้โอกาสนี้ในการทำความรู้จักกับกลุ่มพลังทางการเมืองที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ ในไทย และยังไม่สายเกินไปสำหรับสหรัฐในการยอมรับข้อเท็จจริงใหม่ๆ ของไทย ข้อเท็จจริงที่จะทำให้สหรัฐต้องการปรับเปลี่ยนสถานะของตัวเองมาเผชิญหน้าเพื่อนเก่าแก่ในกลุ่มอำนาจเก่าของไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net