Skip to main content
sharethis

สธ.จัดโครงการ “เข้าพรรษาลดอ้วน สร้างบุญ” ตั้งเป้าผู้สมัครทั่ว ปท.10 ล้านคน

กระทรวงสาธารณสุขเผย คนไทยเป็นโรคอ้วน 17 ล้านคน ติดอันดับ 5 ของเอเชียแปซิฟิค จัดโครงการ “เข้าพรรษาลดอ้วน สร้างบุญ” ตั้งกองทุน 1 ล้านบาทเชิญชวนคนอ้วน สละไขมัน และโหวตแบ่งปันเงินกองทุนไปทำบุญกับมูลนิธิ วัดหรือศาสนาอื่นๆ เริ่มโครงการ 1 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป คาดมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทั่วประเทศ ประมาณ 10 ล้านคน และลดน้ำหนักส่วนเกินตลอด 3 เดือนได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ตัน


ที่มาและอ่านเพิ่มเติม (ซึ่งดิฉันขอแนะนำให้อ่านเผื่อจะช่วยกันทำความเข้าใจ) ที่: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/29513

เฮ้ย...เอาจริงเหรอ (วะ)
ดิฉันขยี้ตาแล้ว ขยี้ตาอีก แถมตบหน้าตัวเอง (เบาๆ ด้วย SK II หวังจะเป็นอย่างคุณสู่ขวัญในหนังเรื่องรัก 7 ปี ดี 7 หน) ว่าตัวเองไม่ได้ฝันไป หลังจากได้อ่านข่าวชิ้นนี้ ที่จริงข่าวชิ้นนี้น่าจะไปอยู่เซ็กชั่นเก็บตกข่าวฮาๆ รอบโลกมากกว่าจะเป็นข่าวเพื่อสุขภาพนะ

ไม่จำเป็นต้องสติปัญญาดี หรือฉลาดล้ำ ก็พอจะมองออกว่าแคมเปญ “เข้าพรรษาลดอ้วน สร้างบุญ” นั้นมันแปลกๆ ทะแม่งๆ อยู่ คนสติปัญญาปานกลางอย่างดิฉันอ่านแล้วยังงงว่า “ลดความอ้วน แล้วมันได้บุญยังไงวะ ?”

คาดว่ากระทรวงสาธารณสุขคงได้ไอเดียมาจากแคมเปญ “งดเหล้า เข้าพรรษา” อันโด่งดังและใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์มหาศาล ซึ่งมาพร้อมกับคำถามมากมาย โดยเฉพาะอคติที่แฝงอยู่ในโฆษณาประชาสัมพันธ์ดังกล่าว แต่ถึงอย่างไรหากเรามองภายใต้โลกทรรศน์ของชาวพุทธ ก็คงพอจะเห็นถึง ‘ตรรกะ’ บางอย่างภายใต้แคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษาได้ว่า การดื่มแอลกอฮอล์เป็นข้อห้ามหนึ่งในศีลห้าของศาสนาพุทธ และหากเราสามารถปฏิบัติได้ (ในช่วงเข้าพรรษา) ก็คงถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง แต่เมื่อหันกลับมามองแคมเปญใหม่ล่าสุด “เข้าพรรษาลดอ้วน สร้างบุญ” เรากลับต้องเกาหัวแกรกๆ ว่า มันเชื่อมโยงกันตรงไหนอย่างไร เอ๊ะ! หรือว่าเราโง่คิดไม่ได้อย่างกระทรวงสาธารณสุขกันแน่วะ

แคมเปญดังกล่าวมีองค์ประกอบที่ดูเหมือนจะเชื่อมโยงกันอยู่ 4 อย่างคือ

1. โรคอ้วน
2. บุญ (ภายใต้โลกทรรศน์แบบชาวพุทธ ?)
3. การบริจาค
4. เข้าพรรษา

หลังจากอ่านข่าวดังกล่าวซ้ำไปมาอยู่หลายรอบ ก็พอจะสรุปได้ว่า โรคอ้วนไม่ดี มาลดความอ้วนกันเถิด ด้วยการ
สมัครเข้าแคมเปญนี้ ซึ่งมีการบริจาค ซึ่งจะทำให้ได้บุญด้วย (บุญมาจากการบริจาค ไม่ใช่มาจากการลดความอ้วน แต่เป็นผลเกี่ยวเนื่องกัน)

อืมมม...พอถอดรหัสได้ดังนี้ ก็จะเห็นได้ว่า กระทรวงสาธารณสุขยังพอมีสติอยู่บ้าง เพราะจากข่าวสารที่เผยแพร่ หรือจากข้อความโปรโมทแคมเปญ “เข้าพรรษาลดอ้วน สร้างบุญ” นั้น อาจทำให้เราเข้าใจผิดได้ว่า หากลดความอ้วน (ในช่วงเข้าพรรษา) แล้วจะได้บุญ เพราะไม่เช่นนั้น คงเกิดปัญหาใหญ่ตามมา อาทิเช่น ลดความอ้วนได้ 5 กิโลจะได้บุญเท่าไหร่ ? เป็นต้น

ดิฉันเป็นคนมองโลกในแง่ดี จึงเห็นว่า เป็นการดีที่กระทรวงสาธารณสุขใส่ใจในปัญหาสุขภาพของชาวไทย โดยเฉพาะเรื่องโรคอ้วน (แม้จะแฝงไปด้วยอคติหลายอย่างก็ตาม เช่น เกิดจาก วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ แหมมมม...ทำอย่างกับคนยุคก่อนไม่อ้วนอย่างนั้นแหละ) จึงได้จัดแคมเปญนี้ขึ้นมา ผิดเสียว่า กระทรวงสาธารณสุขอาจจะไม่ได้จบมาร์เก็ตติ้งมาโดยตรง หรือว่ามีผู้มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนอยู่น้อยเกินไป หรือไม่อยู่ในตำแหน่งใหญ่โตพอที่จะท้วงติงอะไรได้ แคมเปญที่ปรากฏออกมาจึงดูพิกลพิการ ประหลาดล้ำนัก

ดังจะเห็นว่ามีการนำองค์ประกอบหลายๆ อย่างมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดเป็นแคมเปญ “เก๋ๆ” น่าสนใจนั้น มันต้องพิจารณาด้วยว่าตามตรรกะแล้ว มันเป็นเหตุเป็นผล (ภายใต้โลกทรรศน์หนึ่ง) ต่อกันและกันหรือไม่ เช่น จะรณรงค์ให้คนลดความอ้วนก็รณรงค์ไป ส่วนอยากจะให้คนได้บุญจากการบริจาคก็ทำแต่เรื่องขอรับบริจาคไป มันควรจะเป็นคนละส่วนหรือเปล่า แต่ถ้ามันต้องมาเชื่อมโยงกันมันต้องเป็นเหตุเป็นผลกัน (ภายใต้โลกทรรศน์หนึ่ง) โดยไม่อาจโต้แย้งได้หรือเปล่า เพราะหากพิจารณาดีๆ จะเห็นว่า คนอ้วนที่เข้าร่วมในแคมเปญนี้จะได้บุญจริงหรือเปล่า ก็อาจจต้องถกเถียงกันในขั้นพุทธปรัชญาขึ้นไปอีก

เพราะจากแคมเปญจะเห็นได้ว่า คนอ้วนที่ลดได้ตามเกณฑ์เท่านั้น ถึงจะมีสิทธิในการโหวต (อันนี้อาจเป็นผลพวงมาจากการที่ท่านๆ ในกระทรวงดูเรียลิตี้โชว์มากเกินไป) ในการบอกว่าจะนำเงินไปบริจาคให้แก่ภาคส่วนใด ซึ่งเงินที่นำไปบริจาคก็เป็นเงินกองทุนและเงินบริจาคจากคนไม่อ้วนไม่ใช่หรือ ? อ้าว...แล้วไม่ใช่เงินตัวเองในการบริจาค (เพราะเงิน 1 ล้านนั่นก็ตั้งเป้าเพื่อจะบริจาคอยู่แล้วไม่ใช่หรือ เพียงแต่ยังไมได้ลงรายละเอียดว่าจะบริจาคให้แก่ภาคส่วนใด) แล้วจะได้ “บุญ” ได้อย่างไร หรือว่าการลดความอ้วน เพื่อจะได้มีสิทธิในการโหวตว่าจะนำไปบริจาคที่ไหน ก็ถือเป็น ‘ตัวการ’ ที่จะนำไปสู่การได้บุญ ก็ถือว่าได้บุญแล้ว (อันนี้คิดตามตรรกะพุทธบ้านๆ อย่างดิฉัน เช่น ดิฉันทำบุญ 20 บาท เพื่อนไม่ว่างฝากมาทำบุญอีก 20 บาท สรุปแล้ว ดิฉันได้บุญ 40 บาท หรือได้บุญแค่ 20 บาท แม้จะเป็นตัวการของจำนวนเงินทั้ง 40 บาทก็ตาม ?)
ส่วนเรื่องคำว่า “เข้าพรรษา” เข้าใจได้ว่าคงเป็นแค่ Timing ที่บังเอิญมีนัยยะเกี่ยวกันกับคำว่า “บุญ” ในทางพุทธศาสนาเท่านั้น

ดิฉันว่าปัญหานี้ ทั้งกรมพุทธศาสนา หรือมหาเถรสมาคม หรือสมาคมชาวพุทธ อะไรก็ตาม ควรจะต้องลงมาดูเป็นการด่วน ควรจะต้องมีการเปิดพิจารณาเรื่องการได้ “บุญ” ภายใต้แคมเปญนี้ว่า ตามกฎแห่งการได้บุญภายใต้โลกทรรศน์ของชาวพุทธนั้น คนอ้วนทั้งหลายที่มาร่วมแคมเปญนี้ถือว่าได้บุญจริงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าแคมเปญนี้หลอกลวงให้ลดคามอ้วนฟรีๆ โดยไมได้บุญเป็นการตอบแทนนะคะ (เพราะเงินมาจากกองทุน ไม่ใช่เงินของคนที่ลดความอ้วน เพียงแค่เข้ามาร่วมในการตัดสินใจโยกย้ายตัวเงิน จะถือว่าได้บุญหรือเปล่าล่ะ ?)

และหากจะคิดเหมารวมเสร็จสรรพตามตรรกะนั้นว่า ลดความอ้วนเพื่อได้สิทธิโหวตในการบริจาคถือเป็นการ “สร้างบุญ” ก็คงต้องมาพูดถึงเรื่องอคติในเรื่องความอ้วน ว่ามันเป็นบาปเชียวหรือ ? (ไล่ตามตรรกะนะคะ) หรือว่า คนอ้วน ในประเทศนี้ กระทรวงสาธารณสุขหมดปัญญา (หรือไม่มีปัญญา) เยียวยารักษาแล้ว กระทรวงที่ขึ้นชื่อว่าอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถเอามาปลอบ เอามาขู่คนอ้วนว่าจะเกิดโรคร้ายต่างๆ นานา และการลดความอ้วนนั้นจะช่วยให้มีสุขภาพชีวิตที่ดีได้ กลับหมดหนทาง หมดปัญญา หรือหมดมุกที่จะใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เหล่านั้น หรือการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มาเป็นเครื่องมือ ใช้ในการแก้ปัญหา(โรคอ้วน) แต่กลับหันมาพึ่งพุทธศาสตร์ ในเรื่อง “บุญ” แทน เพื่อเป็นการจูงใจให้คนอ้วนหันมาลดน้ำหนัก คิดไปคิดมา แคมเปญนี้น่าจะมาจากกรมพุทธศาสนามากกว่าจะมาจากกระทรวงสาธารณสุข เพราะแล้วดูอับอายขายขี้หน้าการเป็นกระทรวงสมัยใหม่ดูเป็นวิทยาศาสตร์หมด (เอ๊ะ! หรือว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมีแนวความคิดปลงตกในทางพุทธว่า ชาตินี้ไม่กลัวตายด้วยโรคอ้วนก็ไม่เป็นไร ทำบุญเยอะๆ แล้วกัน เผื่อชาติหน้าเกิดมาจะได้ไม่อ้วน!) นี่เท่ากับเป็นการดิสเครดิตความสามารถ ศักยภาพของกระทรวงตัวเองเลยนะคะเนี่ย!
เห็นไหมล่ะ ว่านี่ปัญหาระดับชาตินะจะบอกให้!

ที่จริงปัญหานี้ จะไม่เดือดร้อนถึงกรมพุทธศาสนา มหาเถรสมาคม หรือสมาคมชาวพุทธ อะไรเลย หากกระทรวงสาธารณสุขไม่ดัดจริต ทำเรื่องง่ายๆ ให้มันยุ่งยากซับซ้อน เพียงเพื่อจะทำให้แคมเปญ “ดูมีอะไร” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เก๋ๆ” เพียงแต่ตั้งใจทำอย่างตรงไปตรงมา เช่น หากอยากจะรณรงค์โรคอ้วน ก็จงทำไป ทำไปแบบง่ายๆ ทื่อๆ ก็ได้ไม่มีใครว่า หรือหากจะทำอย่างจริงจัง ก็ไปดูสิว่า โรคอ้วนเกิดจากพฤติกรรมของสังคมสมัยใหม่จริงไหม จะไปสร้างฟิตเนสชุมชน (แคมเปญเต้นแอโรบิคถือว่าประสบความสำเร็จมากนะ) สหกรณ์ผักราคาถูกเพื่อรณรงค์ให้คนกินผัก หรืออะไรก็ว่าไป ส่วนอยากจะให้มีการได้ทำบุญ (ไม่เฉพาะคนอ้วน) ก็ทำอีกแคมเปญไปสิ อาจจะนำเรื่องค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องแบกภาระมาเป็นตัวชูโรง ให้คนทั้งประเทศได้ร่วมทำบุญกับเรื่อง “โรคอ้วน” ก็ได้ (แต่ในเมื่อทางกระทรวงเองยังเห็นว่าโรคอ้วนเป็น “พฤติกรรม” ที่มีผลพวงมาจากภาวะสังคมสมัยใหม่ ใครล่ะ อยากจะไปช่วยเหลือผู้ที่มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง—จริงไหม กรุณาตรวจสอบอคติในเรื่องโรคอ้วนเสียก่อน) และหากอยากจะ เชื่อมสองประเด็นนี้เข้าด้วยกัน ก็ควรจะต้องตรวจสอบ “สติ” ตัวเองให้ดีก่อนว่า มีพอไหม จะเล่นประเด็นพุทธศาสนาก็จงเป็นชาวพุทธที่ดี อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า “จงมีสติ” ก่อนที่จะออกแคมเปญประหลาดๆ ออกมาดิสเครดิตตัวเอง (ทั้งในแง่สติปัญญาในการคิดแคมเปญ ความสับสนซับซ้อนของตรรกะของแคมเปญ และการดูถูกสติปัญทางด้านข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ตัวกระทรวงใช้เป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนประเด็นทางสุขภาพอยู่แล้วหันมาเล่นเรื่องบุญเรื่องกรรมแทน) และให้ชาวบ้านได้อ่านแล้วงง เกาหัวแกรกๆ และคิดว่า กูไม่น่าเสียภาษีให้มันไปเลย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net