Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

น่าชื่นชมความกล้าหาญ และความวิริยะอุตสาหะของนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชาที่ลุกขึ้นมารวมตัวต่อสู้เมื่อประมาณกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่หน้าทำเนียบรัฐบาลด้วยการอดอาหารประท้วงความอยุติธรรมที่ถูกตัดสิทธิทางการศึกษาซึ่งเยาวชนไทยทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน 

การต่อสู้นี้สะท้อนให้เห็นความทุกข์จากการศึกษาไทยของทุกครอบครัวที่มีบุตรหลานต้องแบกรับกันอยู่นั่นคือ การเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาระดับต่างๆ ถูกครอบงำโดยระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาที่กระทรวงศึกษาธิการมีส่วนอย่างสำคัญในการบริหารการศึกษาจนก่อให้เกิดขึ้นปรากฏเป็นรูปธรรมของแป๊ะเจี๊ยะ และโอเน็ต ยังผลให้ผู้ปกครองต้องดิ้นรนอย่างแสนสาหัสเพื่อลูกหลานของตนจนเกิดคำถามต่อกระทรวงศึกษาธิการว่า ทำไมไม่ดูแลให้ประชาชนได้รับสิทธิในการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม

 

ทุกข์จากแป๊ะเจี๊ยะกับสิทธิทางการศึกษา

แป๊ะเจี๊ยะเป็นเงินให้เปล่าที่ผู้ปกครองจ่ายให้กับผู้บริหารของสถานศึกษาที่ตนประสงค์นำบุตรหลานของตนเข้าศึกษาต่อเพื่อเป็นหลักประกันสำคัญที่นอกเหนือจากการรับเข้าเรียนต่อสถานศึกษาตามปกติ ที่สำคัญราคาที่จ่ายนั้นเป็นราคาผูกขาดของโรงเรียนจำนวนน้อยที่ได้รับความเชื่อถือว่ามี “คุณภาพ” แต่มีที่นั่งให้นักเรียนเข้าเรียนจำกัดและน้อยกว่าความต้องการของผู้ปกครองอย่างมาก จึงเกิดการยินยอม และแย่งกันจ่ายเพื่อซื้อการศึกษาที่มี “คุณภาพ” ให้บุตรหลานของตน โดยที่“คุณภาพ”นั้นคือ การเน้นเรียนวิชาความรู้เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย และเข้าเรียนในคณะที่ช่วยให้มีการงานและฐานะที่ดีซึ่งกลายเป็นค่านิยมหลักของผู้ปกครองไปแล้ว  

การที่แป๊ะเจี๊ยะยังคงดำรงอยู่โดยทั่วไป ย่อมสะท้อนว่าการศึกษาไทยส่วนใหญ่ยังคงด้อยคุณภาพไม่สามารถเอื้อให้เด็กไทยได้สิทธิทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน แป๊ะเจี๊ยะจึงเป็นเครื่องประจานความล้มเหลวของกระทรวงศึกษาธิการในการบริหารการศึกษาของชาติตามเป้าหมายในพรบ.การศึกษาแห่งชาติที่ระบุในมาตรา ๑๐ ว่า การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คือหน่วยงานบริหารการศึกษาของชาติโดยตรงที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าว ทว่ามาตรการแก้ไขปัญหาที่สพฐ.ใช้นั้น คือ การออกกฎระเบียบการรับนักเรียนในสังกัดที่เปิดช่องให้สถานศึกษารับนักเรียนทั่วไปได้ไม่เกินร้อยละ ๒๐ ของจำนวนนักเรียน สิ่งนี้ส่งผลกระทบด้านลบตามมาอย่างสำคัญคือ

ประการแรก ผู้บริหารโรงเรียนที่ฉวยโอกาสใช้ช่องทางนี้แย่งกันคัดเลือกนักเรียนมีคุณภาพให้เข้ามาสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนและตนเองมากยิ่งขึ้น

ประการที่สอง ผู้บริหารโรงเรียนที่คิดทุจริตใช้ช่องทางนี้สร้างเงื่อนไขให้ได้มาซึ่งแป๊ะเจี๊ยะที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มพวกและโรงเรียน

ประการที่สาม ผู้บริหารโรงเรียนที่ไม่รับผิดชอบใช้ช่องทางนี้คัดทิ้งนักเรียนที่เติบโตมากับโรงเรียนออกไป ซึ่งเท่ากับไปลิดรอนสิทธิและโอกาสทางการศึกษาที่นักเรียนจะพึงได้จากผู้บริหารสถานศึกษา และคณะครูของพวกเขา นั่นคือ การไม่ทอดทิ้งนักเรียนของตน (No child left behind) 

ประการที่สี่ กระบวนการคัดเลือกรับนักเรียนนั้นเน้นที่การทดสอบความรู้ความจำเป็นสำคัญ   ทำให้เน้นคุณภาพของผู้เรียนแต่ความเก่งทางการจดจำเข้าใจในวิชา ละเลยกระบวนการเรียนรู้ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติ และการพัฒนาคุณภาพด้านความดี ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเยาวชนของสังคม 

แนวทางการรับนักเรียนของสพฐ.จึงเป็นการแก้ไขปลายเหตุคือปัญหาการคัดเลือกนักเรียนในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงเท่านั้น ที่สำคัญด้วยการทำเช่นนี้ สพฐ.ได้กระทำการที่ขัดกับเป้าหมายของการศึกษาชาติ

 

ทุกข์จากโอเน็ตกับการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา

โอเน็ตเป็นการทดสอบระดับชาติที่สำนักงานรับรองมาตรฐาน และประกันคุณภาพการศึกษา  (สมศ.)ใช้ประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาต่างๆโดยผ่านการวัดและประเมินผลกับนักเรียนในระดับชั้น ป.๖, ม.๓, และม.๖ เพื่อสพฐ.ได้นำผลการทดสอบมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการรับรู้คุณภาพของสถานศึกษา และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพต่อไป โดยการกำกับ ติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

ผลการทดสอบโอเน็ตในทุกวิชาของนักเรียนตกต่ำมาตลอด ๖ ปีที่ผ่านมาคือตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ – ๒๕๕๓ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริหารการศึกษาของชาติได้แก่ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารของสพฐ. และผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาล้มเหลวในการทำหน้าที่กำกับ ติดตาม และประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ที่น่าเศร้าคือ ความล้มเหลวดังกล่าวแทบมีผลน้อยมากต่อผู้บริหารการศึกษาของชาติเหล่านี้ นี่คือระบบการบริหารของข้าราชการที่ขาดความรับผิดชอบ (Accountability)

ที่น่าสลดหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ แทนที่พวกเขาจะหาทางออกให้เกิดการทำหน้าที่ที่ถูกที่ควรของพวกเขา สพฐ.กลับเตรียมออกมาตรการนำโอเน็ตมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจบการศึกษาของนักเรียนด้วยโดยมีแนวคิดเบื้องต้นว่าจะใช้ในสัดส่วนร้อยละ๒๐ ของผลการสอบของนักเรียนในปีนี้ และสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มจนเป็นร้อยละ๕๐ในช่วงต่อๆ ไป พวกเขาคิดวิธีบีบคั้นเอาผลที่นักเรียน และเชื่อว่าจะมีผลบีบคั้นให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาต้องตื่นตัวลุกขึ้นมาหาวิธีการพัฒนานักเรียนเพื่อให้จบการศึกษาด้วยดี วิธีบริหารเช่นนี้จะก่อผลกระทบทางลบซ้ำเติมความล้มเหลวให้แสนสาหัสยิ่งขึ้นคือ

ประการที่หนึ่ง การบีบคั้นเอาผลที่นักเรียนในขณะที่ผู้บริหารการศึกษาของชาติและสถานศึกษาต่างๆยังไม่ได้แก้ไขปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างได้ผล จะทำให้นักเรียนและผู้ปกครองต้องพึ่งการกวดวิชามากยิ่งๆ ขึ้น ธุรกิจนี้ยิ่งเติบใหญ่ขึ้น แต่สร้างภาระค่าใช้จ่าย และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของครอบครัวอย่างหนักหน่วง

ประการที่สอง การบีบคั้นเอาผลที่นักเรียน จะทำให้นักเรียนที่เบื่อหน่ายกับระบบการเรียนมุ่งเอาเกรดเอาคะแนน ท้อถอยและเลิกเรียนกลางคันเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนักเรียนจากครอบครัวยากจนทั้งในเมือง และชนบท เท่ากับบีบคั้นให้พวกเขาหมดสิทธิและโอกาสทางการศึกษาไปโดยปริยาย ชะตาชีวิตของพวกเขาจากนั้นย่อมมีโอกาสสุ่มเสี่ยง และกลายเป็นปัญหาของสังคม

ประการที่สาม วิธีการบริหารดังกล่าวยิ่งทำให้โรงเรียนมุ่งการเรียนวิชาเพื่อสอบเป็นใหญ่ และละเลยเป้าหมายการศึกษาด้านอื่นที่โรงเรียนต้องช่วยให้เยาวชนคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น สื่อสารเป็น ใช้ชีวิตเป็น ใช้เทคโนโลยีเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุขด้วยความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ความซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะ โดยขาดการพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ดีและหลากหลายเพื่อคุณภาพเหล่านี้

ประการที่สี่ ผู้บริหารและคณะครูที่ไม่รับผิดชอบอาจใช้ช่องโอกาสนี้ประกอบอาชีพกวดวิชามากยิ่งขึ้น หรือร่วมมือกับนักเรียนทุจริตในการสอบมากยิ่งขึ้น หรือเข้มงวดและเอารัดเอาเปรียบนักเรียนโดยใช้คะแนนโอเน็ตเป็นเครื่องต่อรองมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้บริหารการศึกษาของชาติยังขาดระบบติดตาม และประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องเอากับสถานศึกษาต่างๆจึงทำให้ความเลวร้ายเหล่านั้นงอกเงยขึ้น

การใช้โอเน็ตเป็นส่วนหนึ่งของการจบการศึกษาจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอีกเช่นกัน คือ บีบให้นักเรียนทำคะแนนโอเน็ตให้ดีขึ้น โดยโรงเรียน หรือกระทรวงศึกษาฯจะได้หน้าได้ตาว่า ได้พัฒนาคุณภาพการศึกษาแล้ว ทั้งที่มันเป็นคุณค่าเทียมที่ตั้งอยู่บนความทุกข์ยากของครอบครัว ที่สำคัญสพฐ.กำลังกระทำการที่ขัดต่อพรบ.การศึกษาของชาติ

 

ทางออก

เมื่อมาตรการที่สพฐ.ใช้อยู่และกำลังจะนำมาใช้นั้นก่อผลกระทบทางลบ และสร้างความเสียหายให้กับการศึกษาของชาติเช่นนั้น ทางออกอื่นที่ดีกว่า มีดังต่อไปนี้

๑.  ยกเลิกนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนในสังกัดสพฐ.ที่เปิดช่องให้รับนักเรียนทั่วไปร้อยละ๒๐

๒. ยุติการเตรียมนำผลการทดสอบโอเน็ตมาเป็นเกณฑ์การจบการศึกษาของนักเรียน แต่ให้ใช้โอเน็ตเป็นเกณฑ์ในการกำกับ ติดตาม และประเมินผลเพื่อการพัฒนาการทำงานของผู้บริหารและครูของโรงเรียนให้เกิดคุณภาพ 

๓. พัฒนาคุณภาพของโรงเรียน โดยผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนกำกับ ติดตาม และประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครู

๔. เพื่อให้ภารกิจข้อ๓บรรลุผล ผู้บริหารสถานศึกษาควรมีการกำกับ ติดตาม และประเมินผลอย่างต่อเนื่องโดยมีระบบนิเทศที่มีคุณภาพซึ่งประกอบด้วยวงจรการถอดบทเรียนการสอนร่วมกัน คือ การร่วมวางแผนการสอนของครู การร่วมสังเกตการณ์การทำงานของครูผู้สอนในชั้นเรียน และการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้สอนหลังจากสอนเสร็จ เพื่อช่วยกันหาทางพัฒนาคุณภาพของครูต่อไป

๕. เพื่อให้ภารกิจข้อ๔บรรลุผล ผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครูได้ร่วมกันพัฒนาระบบนิเทศนี้อย่างมีคุณภาพ โดยไม่นำเอาภาระงานอื่นๆทั้งของสำนักงานฯเอง และที่ได้รับจากกระทรวงไปให้พวกเขาทำจนครูขาดโอกาสสอนในชั้นเรียน และผู้บริหารสถานศึกษาขาดการทำหน้าที่บริหารวิชาการ

๖. เพื่อให้ภารกิจข้อ๕บรรลุผล ผู้บริหารของสพฐ.ควรส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนกำกับและติดตามให้ผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสามารถทำงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยไม่ผลักดันโครงการทั้งของสำนักงานฯเอง และทั้งที่เพื่อรับใช้นโยบายของนักการเมืองไปให้พวกเขาจนขาดโอกาสปฏิบัติงาน และขาดงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษาโดยตรง

๗. เพื่อให้ภารกิจข้อ๖บรรลุผล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการควรทุ่มเทการทำงานมุ่งที่การส่งเสริม สนับสนุน ตลอดจนกำกับและติดตามการทำงานของพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษาในภาพรวม โดยการออกกฎหมายที่สนับสนุนเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบ (Accountability) ของผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งระบบ 

ยกตัวอย่างที่น่าเรียนรู้ คือ กฎหมายการไม่มีนักเรียนถูกทอดทิ้ง (No Child Left Behind Act of 2001) ของสหรัฐอเมริกา สาระสำคัญของกฎหมาย คือ การใช้ผลการทดสอบระดับชาติเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพของครูและสถานศึกษาโดยมีมาตรการเป็นลำดับขั้น เช่น กรณีที่ผลการทดสอบตกต่ำเป็นปีที่สอง โรงเรียนต้องมีแผนดำเนินการปรับปรุงคุณภาพ และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ไปเรียนกับโรงเรียนที่สอนดีกว่าในเขตนั้น หากผลการทดสอบตกต่ำอีกเป็นปีที่สาม โรงเรียนต้องจัดให้มีการเรียนรู้ซ่อมเสริมให้กับนักเรียน กรณีผลการทดสอบยังตกต่ำอีกเป็นปีที่สี่ โรงเรียนอาจต้องเปลี่ยนทีมครู หรือปรับปรุงหลักสูตร ขั้นตอนเหล่านี้ยังเสริมด้วยการให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการติดตามอีกด้วย เป็นต้น 

ทางออกที่ดีที่สุดคือ การที่ประชาชนร่วมใจกันลุกขึ้นมาต่อสู้ทวงสิทธิทางการศึกษา เรียกร้องความเป็นธรรม และทำลายความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่ระบบราชการ และระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาสร้างให้เกิดขึ้น เพราะเราคือผู้เสียภาษีให้รัฐและข้าราชการนำไปพัฒนาประเทศให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงมีคุณภาพ เราคือผู้เลือกนักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศเพื่อความผาสุกของประชาชน การศึกษาเพื่อความดีงามและคุณภาพของลูกหลานเราไม่เคยได้มาโดยไม่ผ่านการต่อสู้.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net