Skip to main content
sharethis

กรณี พงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ให้ข่าววานนี้ (8 พ.ค.56) เรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 17,000 โรง วันนี้ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยและเครือข่ายองค์กรการศึกษา ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อแนวทางดังกล่าว โดยระบุว่า การยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในการแก้ปัญหาอันเกิดจากความล้มเหลวด้านการบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นกระทรวงที่ใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึงปีละ 4 แสนล้านบาท แต่ล้มเหลวในการดูแลพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพและทั่วถึง ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน ความไม่เป็นธรรมต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง ต่อเด็กในด้านการเรียนรู้ และต่อชุมชน นอกจากนี้ยังทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการบริหารจัดการศึกษาแบบรวมศูนย์ของรัฐด้วย

ทั้งนี้ แถลงการณ์ระบุด้วยว่า หากกระทรวงศึกษาธิการไม่พร้อมที่จะบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนชุมชนให้มีคุณภาพได้ ขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาแก่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการศึกษาแก่ลูกหลานของตนเองตรงตามบริบทแวดล้อม สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม รวมถึงขอคืนพื้นที่การศึกษาให้แก่ชุมชน โดยส่งเสริมและมอบให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลบริหารจัดการ ตามแนวทางการศึกษาของชุมชน และการศึกษาทางเลือกที่มีความหลากหลาย

โดยหากกระทรวงศึกษาธิการยังเดินหน้ายุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 17,000 โรง โดยไม่รับฟังแนวทางจากภาคประชาชนนั้น สภาการศึกษาทางเลือกจะประสานองค์กรด้านการศึกษาทั่วประเทศจัดรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการรวมศูนย์อำนาจการจัดการศึกษาดังกล่าว

 

 

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้

นับตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2554 สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย พร้อมด้วยเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) ทั่วประเทศ ได้คัดค้านต่อนโยบายดังกล่าวโดยมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งได้มีการยื่นจดหมายคัดค้านและเสนอแนวทางออกแก่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมานับตั้งแต่สมัยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล จนต่อมาได้เกิดแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์โรงเรียนขนาดเล็กร่วมกัน โดย ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แถลงผ่านสื่อมวลชนว่าจะร่วมมือกับสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กโดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนเพื่อตอบโจทย์เรื่องคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก

สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยได้ดำเนินการตามแนวทางความร่วมมือดังกล่าว มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายโรงเรียนชุมชนทั่วประเทศ พัฒนาจัดทำแผนทั้งในระดับพื้นที่ชุมชน พื้นที่จังหวัด และระดับชาติ จนเกิดเป็นแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการปฏิรูปการจัดการศึกษาแนวใหม่ ทั้งนี้แม้ต่อมาจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีทำให้มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่หลายครั้ง นับตั้งแต่ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช จนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา หากแต่สภาการศึกษาทางเลือกก็ยังคงเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง มีการยื่นจดหมายและเสนอแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กฯ แก่ สพฐ. มาโดยตลอด รวมทั้งได้เสนอขอให้เปลี่ยนจากการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมาเป็นการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นโรงเรียนชุมชน ที่ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมบริหารโรงเรียน มีหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ มีการระดมทรัพยากรจากทุกฝ่ายมาสนับสนุน ด้วยหวังว่าจะนำมาสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมตามแนวทางอันเป็นไปตามที่ สพฐ.เคยได้แถลงต่อสื่อมวลชนไว้

ระยะเวลา 2 ปีกว่าที่สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายโรงเรียนชุมชนทั่วประเทศ และองค์กรด้านการศึกษาหลายแห่งได้ระดมสรรพกำลัง ระดมความคิดเห็น และเผยแพร่ผลงานของการปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในระดับพื้นที่หลายแห่ง เช่น โรงเรียนบ้านกุดเสถียร จ.ยโสธร , โรงเรียนบ้านท่าสะท้อน จ.นครศรีธรรมราช , โรงเรียนบ้านดอนทราย จ.นครศรีธรรมราช , โรงเรียนบ้านมอวาคี และ โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดนอก จ.เชียงราย

อย่างไรก็ตามความหวังบนเส้นทางของกระบวนการดังกล่าวนี้กำลังพังทลายในพริบตา เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้ประกาศยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 17,000 โรง จากโรงเรียนทั้งหมด 30,000โรง โดยละเลยและไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพของเด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พ่อแม่อยากให้อยู่ใกล้บ้าน อยากให้อยู่ในชุมชน กับกลุ่มที่พ่อแม่ยากจนไม่สามารถส่งลูกไปที่อื่นได้ประกอบกับสามารถดูแลลูกได้สะดวกด้วย ดังนั้นการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจึงเป็นการสร้างความทุกข์ยากให้เกิดขึ้นกับพ่อแม่ผู้ปกครองมากกว่าจะเป็นการสร้างสุข

การยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จึงสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำ ดังนี้
1.ความไม่เป็นธรรมในการแก้ปัญหาอันเกิดจากความล้มเหลวด้านการบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึงปีละ 400,000,000,000 บาท แต่ล้มเหลวในการดูแลพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพและทั่วถึงตามความต้องการของประชาชน อีกทั้งเขตพื้นที่การศึกษายังปล่อยปละละเลยการบริหารโรงเรียนทำให้ครูมีจำนวนน้อยลงเพราะขอโยกย้าย ไปโรงเรียนใหญ่ในเมืองหรือขอเกษียณราชการล่วงหน้า และขาดการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการการศึกษาที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ และมองภาพการพัฒนาเชิงระบบ

2.ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน เพราะรัฐยังคงใช้วิธีคิดผูกขาดการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้กับกระทรวงฯ โดยเมื่อจัดไม่ได้ดีจนเกิดโรงเรียนเล็กมากมาย ก็ยุบทิ้งแล้วเอางบประมาณรายหัว อาคารสถานที่ อัตราจ้าง และผลประโยชน์อื่นๆของโรงเรียนเล็กที่ถูกยุบมาเป็นของโรงเรียนใหญ่ และเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งที่มีวิธีการจัดการศึกษาที่เป็นทางออกได้ คือ การจัดร่วมกับภาคประชาสังคม

3.ความไม่เป็นธรรมต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะการแก้ไขปัญหาด้วยการยุบควบรวมโรงเรียนเล็ก เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ และขาดความรับผิดชอบ โดยปัดภาระให้ประชาชนต้องย้ายลูกไปเรียนโรงเรียนที่ห่างไกลชุมชน และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้จะมีรถรับส่งดูแล แต่การเรียนไกลบ้านย่อมรวมถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ย่อมจะเกิดขึ้นตามมา

4.ความไม่เป็นธรรมต่อเด็กในด้านการเรียนรู้ เพราะรัฐยังคงเน้นการจัดการศึกษาโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เน้นการจดจำสาระวิชาเพื่อไปสอบแข่งขันศึกษาต่อ เพื่อผลิตแรงงานสนองความต้องการของอุตสาหกรรม ซึ่งล้มเหลวในการพัฒนาคุณภาพเด็กที่รอบด้าน และสอดคล้องกับการพัฒนาสังคมที่หลากหลายตามบริบท

5.ความไม่เป็นธรรมต่อชุมชน สิ่งที่สำคัญยิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการละเลยไม่พูดถึง คือ โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ ชุมชนมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง ทั้งบริจาคที่ดิน ชาวบ้านช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียน ช่วยทำนุบำรุงโรงเรียนทั้งแรงกายและแรงทรัพย์ การยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กโดยไม่ได้รับฟังเสียงสะท้อน คัดค้านจากเจ้าของพื้นที่ เจ้าของโรงเรียนตัวจริงอย่างชาวบ้าน ชุมชน จึงเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างเห็นได้ชัด

และ 6.ความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการบริหารจัดการศึกษาแบบรวมศูนย์ของรัฐ การจัดสรรงบประมาณตามขนาดของโรงเรียนหรือจัดสรรงบอุดหนุนตามรายหัว โรงเรียนใหญ่ได้รับงบประมาณเยอะกว่าโรงเรียนเล็ก วิธีการนี้กำลังถ่างให้เกิดความเหลื่อมล้ำ งบอุดหนุนที่ไม่เท่ากันย่อมนำมาสู่การพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนได้ไม่เท่ากัน ทั้งๆ ที่มีเงื่อนไข ข้อจำกัดเช่นนี้ แต่การประเมินคุณภาพการศึกษากลับใช้มาตรฐาน ไม้บรรทัดเดียวกันในการชี้วัดซึ่งไม่เป็นธรรม

ท่าทีและแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการในวันนี้ จึงเป็นการหักหาญ ทำลายหัวจิตหัวใจของพ่อแม่ หัวอกของชุมชนอย่างยิ่ง ซึ่งหากกระทรวงศึกษาธิการไม่พร้อมที่จะบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนชุมชนให้มีคุณภาพได้ สภาการศึกษาทางเลือกและเครือข่ายโรงเรียนชุมชน(โรงเรียนขนาดเล็ก) ทั่วประเทศ มีข้อเสนอดังนี้

1.กระทรวงศึกษาธิการต้องกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาแก่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการศึกษาแก่ลูกหลานของตนเองตรงตามบริบทแวดล้อม สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างมิติการศึกษาที่หลากหลายด้วยการดึงความรู้จากชุมชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของภาคการศึกษาในระบบผ่านการหนุนเสริมทั้งด้านงบประมาณและรับรองความรู้จากกระทรวงศึกษาธิการด้วยการให้สถานศึกษาทางเลือกและชุมชนคิดและจัดการได้ด้วยตนเอง

2.ขอคืนพื้นที่การศึกษาให้แก่ชุมชน ยกเลิกนโยบายการยุบ เลิกหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทพื้นที่ห่างไกลและที่อื่นๆ โดยเปลี่ยนเป็นส่งเสริมและมอบให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลบริหารจัดการ ตามแนวทางการศึกษาของชุมชน และการศึกษาทางเลือกที่มีความหลากหลาย โดยให้ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนในพื้นที่ร่วมกันบริหารจัดการโรงเรียนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ สภาการศึกษาทางเลือกได้ปรึกษาหารือกันแล้วว่า หากกระทรวงศึกษาธิการยังเดินหน้ายุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 17,000 โรง โดยไม่รับฟังแนวทางจากภาคประชาชนแล้วนั้น สภาการศึกษาทางเลือกจะประสานองค์กรด้านการศึกษาทั่วประเทศจัดรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการรวมศูนย์อำนาจการจัดการศึกษา ที่เป็นต้นตอสำคัญซึ่งทำให้เกิดวิกฤติทางการศึกษาในครั้งนี้และในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

“เด็กทุกคนต้องมีโอกาสทางการศึกษา ได้เลือก ได้คิด
และเรียนรู้ตามความถนัดในสิ่งที่ตนสนใจ ครอบครัว ชุมชนเป็น
ส่วนหนึ่งของการกระบวนการทางการศึกษา ร่วมกับโรงเรียน
เราจะไม่โยนภาระอันนี้ให้เป็นหน้าที่หลักของโรงเรียนเท่านั้น”

ด้วยความเชื่อมั่นในการมีส่วนร่วมของประชาชน
สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย
สมาคมบ้านเรียน
เครือข่ายโรงเรียนไทยไท
เครือข่ายการศึกษาทางภาคเหนือ
เครือข่ายการศึกษาทางภาคกลาง
เครือข่ายการศึกษาทางภาคอีสาน
เครือข่ายการศึกษาทางภาคใต้
เครือข่ายโรงเรียนชุมชน
เครือข่ายการศึกษาทางเลือกชนเผ่าพื้นเมือง

9 พฤษภาคม 2556

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net