Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดเชียงรายจำหน่ายคดีชั่วคราว กรณีบริษัทเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,120,000 บาท จากชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ชี้ให้รอคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ คดีชาวบ้านยื่นฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

 
 
จากการที่บริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่น จ.เชียงราย เป็นจำเลยจำนวน 9 คน ฐานละเมิดเรียกค่าเสียหาย เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1160 / 2553 ศาลจังหวัดเชียงราย เรียกเงินกว่า 1,120,000 บาท จากเหตุที่ชาวบ้านไปชุมนุมคัดค้านไม่ให้มีการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่บ้านไตรแก้ว ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย
 
ต่อมาวันนี้ (21 พ.ค. 55) ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว โดยให้รอผลคำพิพากษาจากศาลปกครองเชียงใหม่ที่ชาวบ้านยื่นฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หากผลเป็นเช่นใดให้คู่ความขอยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาของศาลปกครองเป็นที่สุด
 
วานนี้ (21 พ.ค.55) เวลา 9.00 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 8 ศาลจังหวัดเชียงราย ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 1160 /2553 ที่บริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ยื่นฟ้องชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่นซึ่งรวมตัวชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เรียกค่าเสียหาย 1,120,000 บาท โดยเหตุดังกล่าวเกิดเมื่อกลางปี 2553 โดยในคำฟ้องระบุว่าการชุมนุมคัดค้านของกลุ่มชาวบ้านทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่ไม่สามารถก่อสร้างรั้วของโรงงานได้ตามเวลา จึงถูกผู้รับเหมาริบเงินมัดจำจำนวนกว่า 1,120,000 บาท และต่อมา กลุ่มชาวบ้านจำนวน 100 คนยื่นฟ้องคณะกรรมกำกับกิจการพลังงานต่อศาลปกครองเชียงใหม่เพื่อให้เพิกถอนใบอนุญาตฯ ที่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลจังหวัดเชียงรายมีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ จำนวนกว่า 50 คนได้ร่วมเดินทางมาฟังการสืบพยานพร้อมกับจำเลยทั้ง 9 คนด้วย ต่อมาเวลาประมาณ 10.30 ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ไว้ชั่วคราว โดยเห็นว่าประเด็นในคดีเรื่องโต้แย้งว่าการออกใบอนุญาตฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นเป็นประเด็นสำคัญที่จะชี้ขาดข้อพิพาทในคดีนี้ จึงสมควรรอฟังผลคำพิพากษาคดีของศาลปกครองเชียงใหม่ที่กลุ่มชาวบ้านฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวเสียก่อน และเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเป็นประการใด ให้โจทก์หรือจำเลยแถลงขอยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาของศาลปกครองเป็นที่สุด มิฉะนั้นถือว่าคู่ความไม่ติดใจดำเนินคดีนี้ ให้จำหน่ายออกจากสารบบความโดยเด็ดขาด
 
นายบุญซ่น วงค์คำลือ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์กล่าวให้ข้อมูลว่า กรณีการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลนี้ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่น จ.เชียงราย ได้คัดค้านมาตั้งแต่เมื่อปี 2552 เพราะเห็นว่าการเข้ามาของโรงงานจะส่งผลกระทบต่อวิถีเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านส่วนใหญ่ โดยตลอดเวลาได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานราชการให้ตรวจสอบความถูกต้องของการอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลมาโดยตลอด
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พ.ค.54 สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่นจำนวน 100 คนได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยชีวมวล ของบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 146 / 2554 และต่อเมื่อวันที่ 30 ส.ค.54 ศาลปกครองมีคำสั่งห้ามบริษัทก่อสร้างโรงงานไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ปัจจุบันบริษัทฯ จึงไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ได้
 
“วันนี้การที่ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวนั้น พวกเราถือว่าภารกิจการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตและทรัพยากรในท้องถิ่นยังไม่หมดลง เรายังคงจะร่วมกันเพื่อรักษาบ้านเกิดเราไว้ต่อไป แม้คำสั่งศาลเชียงรายจะเป็นผลดีกับเราบ้างก็ตาม แต่คำสั่งดังกล่าวหรือกระทั่งคำสั่งศาลปกครองก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้หากพวกเรานิ่งเฉยไม่ทำอะไรต่อ”  นายบุญซ่นกล่าว
 
นายพนม บุตะเขียว ทนายความเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า คดีนี้เหตุเกิดมาจากการใช้สิทธิชุมนุมของพี่น้องกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในคัดค้านโรงงานไฟฟ้าฯ ที่จะเข้ามาตั้งอยู่บริเวณชุมชนของตน เพื่อปกป้องวิถีชีวิตเกษตรกรรมอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนส่วนใหญ่รวมถึงผลกระทบที่อาจตามมา ทำให้ชาวบ้านถูกฟ้องร้องเป็นคดีนี้ โดยตลอดมากลุ่มชาวบ้านได้ใช้แนวทางการต่อสู้โดยอาศัยเรื่องสิทธิชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้เป็นฐานในการต่อสู้คดีมาโดยตลอด ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิชุมชนของประชาชนเป็นหลักในการทำงาน
 
“เราเห็นว่า การเข้ามาตั้งอยู่ในชุมชนของโรงงานไฟฟ้าฯ ประชาชนในพื้นที่อาจจะได้รับผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พวกเขาควรมีสิทธิในการตัดสินใจในการเข้ามาของโรงงานฯที่จะเข้ามาอยู่ในชุมชนของพวกเขาไม่น้อยกว่า 20 ปี จึงได้เข้ามาร่วมทำงานกับชาวบ้านกลุ่มอนุกรักษ์ฯ ในคดีนี้” นายพนมกล่าว
 
นายพนมกล่าวด้วยว่า การที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้เป็นการชั่วคราว ส่วนหนึ่งก็เป็นผลดีกับชาวบ้านที่ลดภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเดินทางมาศาลของชาวบ้านตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่าภารกิจของชาวบ้านในการรักษาบ้านเกิดของพวกเขายังไม่ได้หมดลง ประชาชนยังคงต้องติดตามและจับตาเรื่องราวเหล่านี้ต่อไป ทั้งนี้ยังมีคดีที่บริษัทฯ ฟ้องนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ ที่ส่งหนังสือขอให้ยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายปยังหน่วยงานราชการต่างๆ เป็นคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทอีก 1 คดีที่ศาลนี้ด้วย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net