Skip to main content
sharethis

เอ็นจีโอด้านแรงงานเตือนนโยบายโครงการกู้เงินไปทำงานต่างประเทศของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แค่โยกหนี้นอกระบบเข้าระบบเท่านั้น จี้กระทรวงฯ เร่งตรวจสอบกวาดล้างธุรกิจบริษัทและนายหน้าเถื่อน เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความเข้าใจในพื้นที่

16 พ.ค. 55 – จากกรณีที่นางดุษฎี อัมรานุรักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้ สปส.เตรียมจัดทำโครงการเงินกู้เพื่อไปทำงานต่างประเทศ แก้ปัญหาแรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รูปแบบของโครงการเป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สปส. กรมการจัดหางาน (กกจ.) และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ โดย สปส.จะนำเงินกองทุนประกันสังคมไปฝากไว้ในธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ธนาคารปล่อยกู้ให้แรงงานไทยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ กกจ.จะทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกแรงงานไทยที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (17 พ.ค.) สปส.จะเชิญตัวแทนธนาคารทุกแห่งเข้าร่วมหารือกับ สปส.และ กกจ.ที่สำนักงานประกันสังคม เพื่อกำหนดรายละเอียดในการจัดทำโครงการ เช่น จำนวนแรงงานที่จะไปทำงาน คุณสมบัติแรงงานที่จะปล่อยกู้ หลักเกณฑ์การปล่อยกู้ และอัตราดอกเบี้ย คาดว่ารายละเอียดต่างๆจะชัดเจนหลังการประชุมวันพรุ่งนี้ โดยหลังได้ข้อสรุปจะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อขอความเห็นชอบการดำเนินโครงการและอนุมัติวงเงินปล่อยกู้ต่อไป

ด้าน น.ส. พัชณีย์ คำหนัก ผู้ประสานงานโครงการและนักวิจัยของโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC) กล่าวถึงกรณีนี้ว่าว่าวิธีการปล่อยกู้ของสำนักงานประกันสังคม เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน เพราะการให้กู้ยืมไม่ใช่คำตอบที่จะแก้โจทก์ปัญหาการหลอกลวงคนงานไทยไปทำงานต่างประเทศให้จ่ายค่าบริการ ค่าหัวแพงๆ เกินที่กฎหมายกำหนด  ถึงกู้เงินมาได้ก็ยังถูกหลอกให้จ่ายค่าหัวแพงอยู่ดี มันเป็นแค่การเอาหนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบเท่านั้น เพื่อไม่ให้เสียดอกเบี้ยมากขึ้น ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ก็ยังรับประกันไม่ได้อีกว่า แรงงานทุกคนจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขของ สปส.ให้กู้ยืมเงินได้อย่างทั่วถึง

พัชณีย์เห็นว่าวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกทาง คือ เจ้าหน้าที่กรมจัดหางานของกระทรวงแรงงานต้องเข้าไปตรวจสอบบริษัทจัดหางาน นายหน้า หรือ สาย ว่าเถื่อนหรือไม่ และป้องกันการเข้าไปหลอกลวงประชาชน โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หาทางป้องกันปัญหา ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านระแวดระวัง อย่าหลงเชื่อสายที่ไม่จดทะเบียน รวมถึงประกาศว่ามีตำแหน่งงานจริง  อย่างกรณีการโฆษณาว่ามีตำแหน่งงานที่ประเทศออสเตรเลีย แล้วเริ่มมีสายออกมารับสมัครงาน แต่ปรากฏว่า ทางกระทรวงแรงงานยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการไปทำงานที่ประเทศออสเตรเลียแต่อย่างใด  เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำงานเชิงรุกให้ทันกับธุรกิจเอกชนที่กำลังแซงหน้า ออกหาเหยื่อ

ส่วนเรื่องหลักประกัน หาก สปส.มีความจริงใจ ต้องให้แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศได้เข้าถึงสิทธิในกองทุนประกันสังคม ไม่ใช่มีทัศนะแบบทุนคิดแต่เรื่องกู้ยืมเงิน ให้คนงานเป็นหนี้ตลอด  คนงานไทยที่ทำงานก่อสร้าง ทำงานบ้าน เป็นช่างฝีมือ ก็เป็นแรงงานในระบบที่ควรมีสิทธิเข้าถึงกองทุนนี้ได้  เพื่อว่าเวลามีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วย เสียชีวิตในเวลาทำงาน หรือกลับมาแล้วตกงาน ก็สามารถใช้สิทธิของประกันสังคม  ซึ่งสิทธินี้คนงานไทยไปทำงานต่างประเทศยังขาดอยู่มาก หลายคนต้องมาใช้ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี  อีกทั้งนายทุนจัดหางานขาดความรับผิดชอบในการดูแลสวัสดิการ แม้บอกว่า คนงานจะต้องทำประกันชีวิต แต่คนงานไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เลยจากประกันชีวิตที่ตัวเองทำไว้

ท้ายสุดพัชณีย์ฝากไว้ว่า หน้าที่บทบาทตรงๆ ของ สปส. คือหาทางให้คนงานไทยได้รับสิทธิและสวัสดิการนี้อย่างถ้วนหน้ามากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net