Skip to main content
sharethis

“ถ้าเป็นรุ่นเดี๋ยวนี้ ก็อาจจะไม่ได้สร้างเขื่อน อาจจะมีการเดินขบวนประท้วง แต่รุ่นนั้นคนเฒ่าสมัยก่อนนั้นเกิดความกลัว แต่รัฐบาลก็มาพูดว่าเราจะได้มีแสงสว่าง คนเฒ่าเมื่อก่อนก็เลยยอมเซ็น ลงชื่อลงนาม ก็เลยเกิดการสร้างเขื่อนขึ้นมา”

 


ผลกระทบหลังสร้างเขื่อน
เจอปัญหาเรื่องเวนคืน-การล่มสลายของชุมชน

พ่อหนานไล อุ่นใจ ได้บอกเล่าเหตุการณ์ช่วงปี 2506-2507 หลังจากมีการสร้างเขื่อนภูมิพล ว่าได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและวุ่นวายตามมาอย่างมากมาย

“แต่ก่อนการสร้างเขื่อน ก็มีคนมาพูดมาบอกกล่าวว่า วันหน้าเราจะมีไฟฟ้าใช้ บ้านเราจะมีความสุขสบาย และมีการจ่ายค่าชดเชยให้ ซึ่งคนเฒ่าเมื่อก่อนเล่าว่า ค่าบ้านเขาก็จะจ่ายให้เป็นเมตร โดยการวัดจากความสูงของบ้าน ส่วนที่ดินก็จะคิดเป็นไร่ ไร่ละ 4-5 ร้อยบาท หลังจากนั้นรัฐบาลก็จะเอาเงินมาจ่าย ก็เลยมีการโยกย้ายขึ้นมาอยู่ที่นี่ ณ ปัจจุบัน” พ่อหนานไล บอกเล่า

เช่นเดียวกับนายพรรณ์ ฮิกิ ชาวบ้านบ้านห้วยทราย หมู่ 4 บอกเล่าให้ฟังว่า“จากคำบอกเล่า เขาบอกว่าจะมีการเวนคืนที่ดิน ในราคาละ 400 บาทต่อหลังคา แล้วมีการจ่ายค่าเสียหายไร่นา ไร่ละ 400 บาท ทุกคนก็พากันหนีขึ้นมาอยู่บนพื้นที่ที่สูงกว่าพื้นที่น้ำท่วม”

“ที่จริงแล้ว เขาจะให้บ้านเราไปอยู่ที่โต้งทรายคราม แต่พวกเราไม่ไป เพราะถ้าไปก็ไม่มีที่ทำกิน ไร่นาก็ไม่มี โดยการโยกย้ายของทางรัฐบาลก็จะให้เฉพาะที่อยู่อาศัย แต่ที่ทำกินไม่ได้ อย่างแพะดินแดง ก็มาอยู่ด้วยกัน หลังคาชนกัน ก็อยู่กันไป วัดวาอารามของเรานั้นอยู่ที่วังลุง โต้งทรายคราม แต่เราไม่ไปกัน ที่บ้านเดิมเราเองมีการเซาะว่าหากินกันง่ายกว่า” พ่อหนานไล อุ่นใจ บอกเล่าให้เห็นภาพเหตุการณ์ในอดีต

โต้งทรายคราม หมายถึง โต้งเหนือ หรือทุ่งเหนือ ที่อยู่ในเขตพื้นที่ของอำเภอจอมทองและดอยหล่อในปัจจุบัน

โดยก่อนหน้านั้น ทางการอยากให้ชาวบ้ายอพยพย้ายไปอยู่ในพื้นที่จัดเตรียมไว้ให้ แต่ชาวบ้านเลือกที่จะย้ายขึ้นไปสู่ที่สูงไม่ใกล้ไม่ไกลจากพื้นที่ชุมชนเดิมของตน ทว่าหลังเกิดน้ำท่วม ก็มีหลายครอบครัว บางคนก็หนีน้ำไม่ทัน น้ำท่วม ขนของไม่ทันก็ขึ้นอยู่บนหลังคาก็มี

ชาวบ้านจากตำบลฮอด บอกเล่าให้ฟังอีกว่า หลังจากที่ต้องหนีน้ำท่วม อพยพไปอยู่ที่แห่งใหม่นั้น ได้มีการจัดการเรื่องค่าชดเชย ค่าเวนคืนด้วยวิธีการแปลกๆ แต่ก็เต็มไปด้วยปัญหานานาประการ

“เรื่องของค่าชดเชยของต้นไม้ มีการจ่ายค่าชดเชย เฉพาะต้นไม้ฉำฉาโดยการถากเอากาบไม้ไปแลกเอาเงิน โดยได้ต้นละ 2 บาท (1 กาบต่อ 1 ต้น) และจะดูว่าไม้แก่หรือว่าไม้หนุ่ม ถ้าเป็นไม้แก่ก็จะมีการชดเชยให้มากหน่อย แต่ถ้าเป็นไม่หนุ่มก็ไม่ชดเชยให้เลย”

“คนเฒ่าสมัยก่อนนั้นกลัว ใครมาบอกก็เชื่อ ก็ไปกัน คนที่มีเงินก็มาซื้อเอาไร่เอานาเราไปเสีย แต่เราได้มาก็กินก็จ่ายกันไปอย่างนั้น”

“ถ้าเป็นรุ่นเดี๋ยวนี้ ก็อาจจะไม่ได้สร้างเขื่อน จะมีการเดินขบวนประท้วง แต่รุ่นนั้นคนเฒ่าสมัยก่อนนั้นเกิดความกลัว แต่รัฐบาลก็มาพูดว่าเราจะได้มีแสงสว่าง คนเฒ่าเมื่อก่อนก็เลยยอมเซ็น ลงชื่อลงนาม ก็เลยเกิด การสร้างเขื่อนภูมิพลขึ้นมา”

“สมัยก่อนมีการต่อต้านเขื่อนภูมิพลเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีการให้อะไรกับฮอดเลย โดยการขอไปสองอย่าง คือท่าน้ำ แต่ก็ไม่มีการตั้งให้”

ประเด็นปัญหาที่ตามมาหลังจากนั้น ก็คือว่า น้ำท่วมทั่วทุกพื้นที่ แต่มีการเวนคืนเฉพาะในบางพื้นที่

“พื้นที่ที่น้ำท่วมขังมีทั้งพื้นที่ที่เวนคืนและพื้นที่ที่ไม่ถูกเวนคืน ในส่วนพื้นที่ของบ้านดงดำ จะมี 30 กว่าแปลง ที่ได้มีการเรียกร้องกับทางคณะรัฐมนตรี ส่วนที่ท่วมก็จะเกิดพิกัด 260 ที่หลวงฮอด 49 แปลง อีกพื้นที่ 19 แปลง รวมทั้งหมดก็ 98 แปลง แต่ถ้ารวมกับบ้านห้วยทราย บ้านวังลุง ก็มีทั้งหมด 100กว่าแปลง”

นั่นคือคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลฮอด


ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากต่อเนื่อง ส่งผลต่อวิถีชีวิตคนฮอดมายาวนาน
นอกจากประเด็นเรื่องปัญหาการเวนคืน ค่าชดเชยแล้ว ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ของฮอดก็เป็นปัญหาใหญ่ ที่กระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของคนตำบลฮอดเป็นอย่างมาก

มีการสำรวจของชุมชนในตำบลฮอด พบว่า หลังมีการสร้างเขื่อนภูมิพลได้เกิดน้ำท่วมมาอย่างต่อเนื่อง

ปีพ.ศ.2507 เกิดภาวะน้ำท่วม
ปีพ.ศ.2517-2518 เกิดภาวะน้ำท่วม
ปีพ.ศ.2538 เกิดภาวะน้ำท่วม
ปีพ.ศ.2545 เกิดภาวะน้ำท่วม
ปีพ.ศ.2549 เกิดภาวะน้ำท่วม
และปีพ.ศ.2554-2555 เกิดภาวะน้ำท่วม


นายจงกล โนจา
รองนายก อบต.ฮอด

นายจงกล โนจา รองนายก อบต.ฮอด บอกเล่าให้ฟังว่า ภาวะน้ำท่วม หรือการท่วมขังในพื้นที่ของฮอดนั้น จะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง เดือนมกราคม ก็ยังมีน้ำท่วมอยู่ แต่จะลดลงก็ประมาณ 6 เดือน และเป็นช่วงของเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็จะมีระยะห่างของการถูกน้ำท่วมประมาณ 4-5 ปี น้ำจะท่วมครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่สภาพอากาศและการกักเก็บน้ำในเขื่อนภูมิพลอีกส่วนหนึ่ง

“ซึ่งปีที่พูดมาข้างต้นนี้เป็นปีที่คนฮอดได้รับอุทกภัยจากน้ำเขื่อนภูมิพลที่ร้ายแรงที่สุด ช่วงระยะเวลาของน้ำท่วมก็จะอยู่ในช่วงระยะเวลา 3-6 เดือน แต่หนักสุดก็จะเป็น 6 เดือนของการท่วมขังของน้ำเขื่อน ก็ไม่สามารถทำนาได้”

ส่วนในช่วงที่น้ำลดน้ำแห้งนั้น ปกติน้ำจะลดลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม ของแต่ละปี
“แต่ถ้าไม่มีน้ำเขื่อน พื้นที่เกษตรของเราก็สามารถทำได้ตลอดทั้งปี”

“ในช่วงที่ยังไม่มีเขื่อนภูมิพล ไม่มีสิ่งที่กีดขวางทางน้ำ น้ำท่วมในช่วงสมัยก่อน แต่ไม่เกิดความเสียหาย คือท่วมเสร็จแล้วก็ไหลลงไปและน้ำเองก็แห้งเป็นปกติ และสมัยก่อนนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ ก็เล่าเรื่องของลำน้ำปิงว่ามีความลึกมาก อีกทั้งยังเป็นวัง และช่วงเวลาน้ำไหลหลาก น้ำก็จะไหลไม่ท่วมมากสักเท่าไหร่และมีการแห้งของน้ำอย่างรวดเร็ว แต่พอหลังจากมีการสร้างเขื่อนก็จะมีน้ำหนุนขึ้นมา เกิดการเอ่อของน้ำ ทำให้ดินทรายที่เป็นตะกอนนั้นไม่ได้ไหล ก็เกิดการมูนของหน้าดินในลำน้ำปิง จนทำให้เกิดการตื้นเขิน” ชาวบ้านจากชุมชนฮอด บอกเล่าให้ฟัง


เผยชาวบ้านประสบปัญหาขาดพื้นที่ทำกิน หลังเกิดเขื่อนภูมิพล
ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของชาวบ้านหลังน้ำท่วม

นายจงกล โนจา รองนายก อบต.ฮอด ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านในเขตพื้นที่ตำบลฮอด ยังบอกอีกว่า ปัญหาขาดพื้นที่ทำกิน ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของชาวบ้านหลังน้ำท่วม

“ในขณะพื้นที่ราบก็กลายเป็นเขตน้ำท่วม แต่ถ้าขึ้นเหนือจากเขตน้ำท่วมขึ้นมาก็จะเป็นเขตของป่าสงวนแห่งชาติ เลยจากป่าสงวนก็เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีการกันเขตเหล่านี้ไว้หมดแล้ว ดังนั้น พื้นที่ที่เป็นของชาวบ้านเองนั้นไม่มีเหลือแล้ว แต่ก็ต้องมีการอาศัยพื้นที่ที่เป็นของป่าไม้ ส่วนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเองก็จะอยู่ในพื้นที่ของเขตป่าสงวนทั้งหมด แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ ส่วนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธินั้นถูกเวนคืนไปก็เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่า และชาวบ้านมีการทำมาหากินอยู่มาก่อนแล้ว”

นั่นทำให้กลายเป็นปัญหาหนึ่งที่ทับซ้อนมาจนถึงทุกวันนี้

นายจงกล โนจา บอกอีกว่า “ตั้งแต่การประกาศเขต ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเป็นเขตอุทยาน เขตป่าสงวน ซึ่งเพิ่งมีการประกาศ ในส่วนของอุทยานแห่งชาติออบหลวง ก็มีการประกาศเมื่อปีพ.ศ. 2536 แต่ประเด็นก็คือ อุทยานแห่งชาติออบหลวงประกาศเป็นเขตของเขา ในขณะที่ชาวบ้านได้มีการทำมาหากินในพื้นที่นั้นมาก่อนแล้ว ก็ต้องถูกขับไล่ ซึ่งเรื่องนี้ ยังเป็นโจทย์ในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาอยู่มาทุกวันนี้”

นอกจากนั้น ยังอีกพื้นที่หนึ่ง คือพื้นที่ที่เกินระดับ 260 ของระดับน้ำทะเลที่เขื่อนกักเก็บ ซึ่งชาวบ้านนั้นก็ยังไม่ได้สิทธิในเรื่องของการครอบครอง การถือครองนั้นยังไม่มี ก็ยังอยู่ในเขตป่าสงวน ซึ่งไม่ได้อยู่พื้นที่ที่ชาวบ้านต้องใช้ประโยชน์เลยแม้แต่น้อย

“ทุกวันนี้ ถ้าเรามีการสู้ในแง่ของกฎหมาย เขาก็อ้างว่าเรานั้นเป็นผู้บุกรุก” นายจงกล โนจา ตัวแทนชาวบ้านในชุมชนตำบลฮอด บอกเล่าให้ฟังถึงปัญหาที่ชุมชนกำลังได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net