ดีเดย์ 8 เมษาบวชป่ารอบบ้านพักศาลภาค 5 - ชูริบบิ้นเขียวปกป้องป่าดอยสุเทพ

ภาคีเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพแสดงความผิดหวังที่ผู้แทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่มาพบเจรจาที่ มทบ.33 ค่ายกาวิละ - พร้อมค้านการเดินหน้าโครงการบ้านพักแล้วปลูกต้นไม้แซม เพราะพืชต่างถิ่นจะทำระบบนิเวศน์ดอยสุเทพเพี้ยน ย้ำจุดยืนเดิมทุบ-รื้อทิ้ง ขณะเดียวกันนัดหมาย 8 เม.ย. เคลื่อนขบวน-บวชป่ารอบโครงการบ้านพักศาล ขณะที่ในโลกออนไลน์ เจ้าของร้านนอร์ทเกทชวนประชาชนผูกริบบิ้นหรือสัญลักษณ์สีเขียว สื่อความหมายปกป้องผืนป่าดอยสุเทพ

เครือข่ายขอคืนพื้นป่าดอยสุเทพ จัดกิจกรรมแสดงเชิงสัญลักษณ์ บริเวณประตูท่าแพ เมื่อ 2 เม.ย. 61 รณรงค์เชิญชวนภาคประชาชนชาวเชียงใหม่ ผูกริบบิ้นสีเขียวและติดสติกเกอร์ เรียกร้องให้รื้อโครงการบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 (ที่มา: คำศรีดา แป้นไทย/เพจขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ)

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ แถลงข่าวหลังไม่ได้พบกับตัวแทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่หน้า มทบ.33 ค่ายกาวิละ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 61 (ที่มา: เพจขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ)

ด้านหน้าของโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ภาพถ่ายเมื่อ 5 มีนาคม 2561 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดยเครือข่ายนักข่าวพลเมือง จ.เชียงใหม่)

กรณีภาคประชาชนหลายฝ่ายใน จ.เชียงใหม่ ในนามภาคีเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งคัดค้านโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณเชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดเอียงในเขตกันชนไฟป่า และมีการทักท้วงอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2558

โดยเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา สื่อมวลชนต่างรายงานว่า ตัวแทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้นัดเจรจากับตัวแทนภาคประชาชนในวันจันทร์ที่ 2 เม.ย. 2561 เวลา 13.30 น. ที่มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ อย่างไรก็ตามปรากฏว่าตัวแทนศาลไม่ได้มาพบกับประชาชน โดยระบุว่าไม่ทราบเรื่องนัดหมาย

ทั้งนี้เมื่อถึงกำหนดนัดหมายภาคีเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกว่า 50 คน ประกอบด้วยธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่าย, พิมสุชา สมมิตรวสุ ตัวแทนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมู่บ้าน (ทสม.) คำศรีดา แป้นไทย ชมรมเฮาฮักเจียงใหม่, ชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ดร.จอห์นนพดล วศินสุนทร ฝ่ายประสานงานด้านกฎหมายของเครือข่าย ฯลฯ ได้รวมตัวชูป้ายคัดค้านโครงการก่อสร้างที่หน้าค่ายกาวิละ รวมทั้งแถลงข่าวยืนยันเจตนารมณ์ให้มีการคืนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ

ในการแถลงข่าว (ชมคลิปแถลงข่าวที่นี่) ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวว่ารู้สึกเสียใจนึกว่าจะได้พูดคุยกับตัวแทนศาล แต่เมื่อที่ผ่านมามีนายทหารผู้ช่วยของ พล.ต.สาธิต ศรีสุวรรณ ผบ.มทบ.33 โทรศัพท์มาแจ้งว่าทางศาลขอยกเลิกโดยไม่มีเหตุผล ในเมื่อไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนรับรู้

ขอยืนยันว่าคนเชียงใหม่ค้านโครงการนี้ตั้งแต่วันแรกที่มีการเอารถขุดตักไปถางดอยตั้งแต่ปี 2558 เขาในฐานะชมรมร่มบินเชียงใหม่เห็นตั้งแต่วันแรก มีการทำหนังสือถึงอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย คัดค้านตลอดผ่านสื่อ CM108 สื่อท้องถิ่น เว็บไซต์พันทิพ พอปี 2559 พอกระแสรุนแรง ศาลท่านก็แถลงข่าวว่าท่านถูกกฎหมาย และขู่จะเอาผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็สร้างไปเรื่อยๆ จนเกิดทัศนะอุจาดปรากฏแก่สายตาชาวเชียงใหม่

ด้านคำศรีดา แป้นไทย ชมรมเฮาฮักเจียงใหม่ แถลงว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวจะสร้างความเสื่อมศรัทธาให้เกิดในหมู่ประชาชน ชาวเชียงใหม่ไม่ยอมแน่นอน ขอเรียกร้องให้คืนพื้นที่

ขณะที่ชัชชาลย์ ทองดีเลิศ กล่าวว่า ดอยสุเทพเป็นพื้นที่ศักดิสิทธิ์เป็นจิตวิญญาณและหัวใจของคนเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นพื้นที่ๆ ไปสร้างไม่เหมาะสม มีที่ราชพัสดุที่อื่นเยอะแยะ ทำไมไม่ไปที่อื่น นอกจากนี้ยังมีการทำลายและตัดต้นไม้ จากสีเขียวกลายเป็นพื้นที่สีน้ำตาล กลายเป็นทัศนะอุจาด นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นป่าต้นน้ำ เป็นแหล่งน้ำของห้วยแม่จอก และแหล่งอื่นๆ รวมทั้งห้วยแม่หยวกด้วย นอกจากนี้จะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตามมาทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม เกิดผลกระทบกับคนเชียงใหม่ในอนาคต

"คนเชียงใหม่ประสบกับปัญหาหมอกควันมากแล้ว เราต้องรักษาพื้นที่สีเขียว แต่ตอนนี้ สถาบันสูงสุด คือสถาบันตุลาการกลับเป็นตัวอย่างเสียเอง ซึ่งไม่เหมาะสม ไม่สมควร ควรใช้สามัญสำนึกง่ายๆ ทุบโครงการและกลับลงมา"

ส่วน ดร.จอห์นนพดล วศินสุนทร ที่ปรึกษากฎหมาย เครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ-ปุย ที่ปรึกษากฎหมายเครือข่ายฯ เตรียมรวบรวมรายชื่อถวายฎีกา รวมถึงการฟ้องร้องกับศาลปกครองให้มีการยุติการก่อสร้าง อีก

นอกจากนี้ยังเป็นห่วงวิธีปลูกต้นไม้ทดแทน เพราะพืชต่างถิ่นจะสร้างระบบนิเวศน์ที่ผิดเพี้ยน พืชพันธุ์ผิดแปลกจะทำลายทั้งดอยสุเทพ เสนอให้ทุบรื้อทิ้งและฟื้นฟูป่า โดยคนเชียงใหม่จะช่วยกันปลูกป่า

ทั้งนี้เครือข่ายยังได้นัดหมายกันในวันที่ 8 เม.ย. เวลา 08.00 น.นัดรวมตัวที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ถ.คันคลองชลประทาน จ.เชียงใหม่ ก่อนเคลื่อนขบวนด้วยวิธีเดินเท้า ขับรถจักรยาน และพาหนะอื่นๆ ไปอย่างสงบ เพื่อไปบวชป่ารอบๆ "หมู่บ้านป่าแหว่ง" หรือโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ พร้อมเยี่ยมชมโครงการ ทั้งนี้เครือข่ายได้ตะโกนคำขวัญ "ต้องรื้อ ต้องรื้อ ต้องรื้อ" เป็นระยะในช่วงอ่านแถลงการณ์

โดยหลังการแถลงข่าวเครือข่ายได้เดินทางไปที่หน้าศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อขอพูดคุยกับประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ด้วย อย่างไรก็ตามไม่มีการพบกันแต่อย่างใด นอกจากนี้เครือข่ายยังเดินทางไปแสดงสัญลักษณ์ที่ข่วงประตูท่าแพด้วย

อนึ่งในช่วงแถลงข่าวนั้น กฤตย์ เยี่ยมเมธากร อายุ 49 ปี และศรุต ศรีถาวร อายุ 44 แถลงด้วยว่าจะขอเป็นตัวแทนชาวเชียงใหม่เดินเท้าลงกรุงเทพมหานครเพื่อขอพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อยื่นหนังสือและเรียกร้องขอให้ใช้ มาตรา 44 ยกเลิกโครงการก่อสร้างดังกล่าว โดยจะเริ่มเดินจากจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเช้าตรู่วันที่ 4 เม.ย. จากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตั้งเป้าเดินเท้าวันละประมาณ 50 กม. จนกว่าจะถึงที่หมายปลายทาง

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ชี้แจงว่าโครงการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้งบประมาณค่อนข้างมาก โดยใกล้จะก่อสร้างแล้วเสร็จแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องเดินหน้าต่อไป

 

โลกโซเชียลชวนผูกริบบิ้นเขียว แสดงพลังปกป้องผืนป่าดอยสุเทพ

อนึ่งในโลกโซเชียล ภราดล พรอำนวย นักดนตรีและเจ้าของร้าน "North Gate" ซึ่งเคยรณรงค์ "มือเย็นเมืองเย็น" ปลูกต้นไม้รอบคูเมืองเชียงใหม่ และลงทุนเป่าแซกโซโฟนในคลองแม่ข่ารณรงค์ฟื้นฟูคลองแม่ข่านั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มี.ค. เขาได้โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนแสดงพลังบริสุทธิ์ ด้วยการใช้ผ้า ริบบิ้น โบว์ เชือก สีเขียว แสดงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วย

"วันนี้ ภาคประชาชน จ.เชียงใหม่เห็นร่วมกันว่า พวกเราน่าจะแสดงพลังอะไรสักอย่าง เพื่อส่งเสียงของพวกเรา ต่อการถามหาความชอบธรรมและความรับผิดชอบของ ‘ศาลอุทธรณ์ภาค 5’

โดยเราจะแสดงพลังผ่านสัญลักษณ์ 'สีเขียว' เพื่อสื่อถึงความผูกพันระหว่างคนเชียงใหม่กับป่าดอยสุเทพ และชาวเชียงใหม่พร้อมที่จะปกป้องป่าผืนนี้

ใครที่รู้สึกเหมือนกันและอยากเข้าร่วม... ลองหาเศษผ้าผืนเล็กๆ หรือผ้าพันคอ, ริบบิ้น, โบว์, เชือกสีเขียว นำมาผูกที่ข้อมือ ที่แฮนด์รถจักรยาน, มอเตอร์ไซค์, รถยนต์, ถ้าเป็นห้างร้านจะแขวนไว้ที่ประตู หรือหน้าร้านก็ได้ครับ

แน่นอนว่าเราจะสื่อสารอย่างสันติ เพราะเราเชื่อว่า นี่คือการแสดงพลังบริสุทธิ์ของภาคประชาชนที่มีความรับผิดชอบต่อบ้านของเราเอง อันเกิดจากจิตสำนึกของพวกเราเอง ที่ถูกปลุกฝังและส่งต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น" ตอนหนึ่งของสเตตัสระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท