Skip to main content
sharethis

ALRC เผยรายงาน "การคุกคามที่เพิ่มขึ้นต่อเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทย"

16 ก.พ. 55 - ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre: ALRC) ได้เผยแพร่รายงาน "ประเทศไทย: การคุกคามที่เพิ่มขึ้นต่อเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทย" ระบุมีการคุกคามที่เพิ่มขึ้นและเข้มงวดของรัฐในหลายด้านต่อเสรีภาพทางการ เมืองในประเทศไทย โดยการคุกคามดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเฉพาะต่อผู้แสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์ วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

(ประชาไท, 16-2-2555)

 

ไท-ผุสดี อดอาหารครบ 112 ชม.แล้ว-นักกิจกรรมอดต่อยอด เรียกร้องสิทธิประกันตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด

16 ก.พ. 55 - เวลา 9.00 น. ที่หน้าศาลอาญา รัชดา นายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข และนางผุสดี งามขำ ที่ทำการอดอาหารมาตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.55 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการได้รับการประกันตัวของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประกาศยุติการอดอาการเนื่องจากครบ 112 ชม.แล้ว โดยจากนั้น นายปณิธานพร้อมทนายของนายสมยศได้เข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์การประกันตัวต่อศาล อุทธรณ์ ซึ่งจะทราบผลอีกประมาณ 3 วันหลังจากนี้

ในขณะที่องค์กรนักกิจกรรมประกาศอดอาหารต่อ ยกระดับเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมให้สิทธิการประกันตัวนักโทษการเมือง ทั้งหมด ย้ำสังคมต้องตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในการประกันตัวไม่ว่าเสื้อสีใดหรือ ไม่มีสี

นายฤทธิพงษ์ มหาเพชร นักกิจกรรมผู้ร่วมอดอาหารต่อกล่าวว่า “ใจจริงๆ อดเพื่ออาจารย์สุรชัย (ด่านวัฒนานุสรณ์) ไท ทำเพื่อพ่อเพื่อสมยศ ผมอดเพื่ออาจารย์สุรชัยก็เหมือนพ่อคนหนึ่งทางการเมือง คนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน แต่ว่าตอนนี้มีหลายองค์กรเข้ามาร่วมด้วยแล้วก็มันจะยิ่งใหญ่ขึ้นแล้วก็จะ เป็นการปล่อนักโทษการเมือง แต่ว่าใจผมในเบื้องต้นตอนแรกที่เข้ามาอยากให้ย้ายอาจารย์สุรชัย จากเรือนจำกลางกรุงเทพมาที่ (โรงเรียนพลตำรวจ) บางเขน พอหลายองค์กรร่วมน่าจะเป็นภาพใหญ่ขึ้นเป็น “สิทธิการประกันตัว”

ความสำคัญของสิทธิการประกันตัวนั้น ฤทธิพงษ์ มหาเพชร มองว่า “มันเป็นการเสนอความคิดเห็น มันไม่ใช่อาชญากรตรงไหน ในความคิดผม พูดผิดในแง่ของบุคคลอื่นเท่านั้นเอง แล้วก็คดีนี้มันโดนเหมือนหนักหนาสาหัส เหมือนไปฆ่าใคร 10 – 20 ปี แล้วตอนนี้หลายๆ คนไม่ว่าจะเป็น อากง อาจารย์สุรชัย ซึ่งตอนนี้ก็ป่วย ป่วยมาก แม้แต่คนที่ยังเป็นหนุ่มก็ลำบาก มันหนักไปหรือเปล่าในความคิดของผม มันน่าจะมีสิทธิประกันตัวก่อนในขั้นพื้นฐาน ในความเป็นมนุษย์ก่อน แล้วก็เรื่องคดีก็ว่ากันอีกทีว่ามันถูกต้องไหมที่ต้องติดกันนานขนาดนี้”

ส่วนระยะเวลาการอดอาหารนั้น ฤทธิพงษ์ ได้ชี้แจงว่า “ตอนแรกว่าจะไม่มีกำหนดอดไปเรื่อยๆ เพื่อได้สิทธิประกันตัวของนักโทษ แต่อยากให้ถึงวันที่ 22 (ก.พ.) ก่อน (รวม 7 วัน หรือ 168 ชม.) เพราะเป็นวันครบรอบ 1 ปีของ การที่อาจารย์สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ถูกจับกุมคุมขัง โดยผมได้อดมาตั้งแต่เมื่อวาน (15 ก.พ.) และมั่นใจว่าสามารถอดไหว”

“อยากให้มองความเป็นมนุษย์ก่อนที่จะไปมองความเป็นตัวบทกฎหมาย เพราะว่าคนบางคนอย่างอาจารย์สุรชัย ที่ป่วยหนัก แล้วก็ไปติดกุมคุมขังตอนอายุมากแบบนี้ แล้วต้องติดในระยะเวลานานมันใช่หรือเปล่า ขอความเป็นคนก่อนนะครับ เรื่องกฎหมายค่อยว่ากันอีกที มันถูกต้องหรือไม่ โดยที่แกไม่ได้เป็นอาชญากรอะไรเลย แกเสนอความคิดเห็นเท่านั้นเอง” ฤทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

นายนพเก้า คงสุวรรณ นักกิจกรรมจากกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวถึงการอดข้าวต่อจาก ปณิธาน หรือ ไท พฤกษาเกษมสุข ว่า “อยากอดเพื่ออิสรภาพของนักโทษการเมืองทุกคน ไม่ว่าคดี 112 คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์หรือว่าคดีอะไรก็แล้วแต่ แล้วก็อยากอดเพื่ออิสรภาพของนักโทษการเมืองทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์สุรชัย อากง หรือว่าใครก็แล้วแต่ที่เป็นนักโทษการเมือง”

“ในเบื้องต้นกะของผมไว้ถึงพรุ่งนี้ 9 โมงเช้า ส่วนถ้าจะต่อพรุ่งนี้ถึงวันอาทิตย์ ผมมีภารกิจจึงไม่สามารถอดต่อได้ อาจจะยกยอดไปอดต่อในวันจันทร์ถึงวันพุธก็ต้องประเมินอีกที วันนี้สลับเวลามาร่วมอดข้าวกับคุณฤทธิพงษ์ มหาเพชร สิทธิการประกันตัวไม่ว่าใครก็แล้วแต่ มันเหมือนโอกาสให้เขาได้ออกมาพิสูจน์ เพราะว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามกฎหมายแล้ว ถ้าเกิดคดียังไม่ถึงที่สุด ให้ถือว่าคนๆ นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ จนปัจจุบันนี้คดียังไม่สิ้นสุด คนเหล่านั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์ต้องมีสิทธิในการประกันตัวเพื่อออกมาพิสูจน์ ตัวเองในกระบวนการยุติธรรมรวบรวมข้อมูลหลักฐานมาสู้กันในชั้นศาล ซึ่งรวมถึงคนที่มีความคิดทางการเมืองสีอื่นด้วย ถ้าสีอื่นโดนกระทำเช่นนั้นเราก็ต้องสนับสนุนเขาให้มีสิทธิในการพิสูจน์ตัว เองในชั้นศาลไม่ใช่ถูกขังอยู่อย่างนี้” นพเก้า คงสุวรรณ กล่าว

โดยก่อนหน้านั้น จิตรา คชเดช ในนามตัวแทนนักกิจกรรมทางสังคม แถลงข่าวเพื่อเรียกร้องให้ศาลพิจารณาสิทธิในการประกันตัวของนักโทษทางการ เมืองทั้งหมด รวมทั้งเรียกร้องให้สังคมให้ความสำคัญกับสิทธิการประกันตัวด้วย โดยมีเนื้อความตามแถลงการณ์ด้านล่างนี้

สิทธิการได้รับการประกันตัว คือสิทธิมนุษยชน และหลักประกันความยุติธรรม 

เมื่อไร้สิทธิดังกล่าวเท่ากับไร้มนุษยธรรมและความยุติธรรมตั้งแต่ต้น

"ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าจับกุมผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว"

สืบเนื่องจากการอดอาหารจำนวน 112 ชั่วโมงของปณิธาน พฤกษาเกษมสุข และผุสดี งามขำ เพื่อเรียกร้องสิทธิในการได้รับการประกันตัวของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน และบรรณาธิการนิตยสารเรดพาวเวอร์ ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถูกควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างที่รอดำเนินคดี โดยไม่เคยได้รับการประกันตัวตั้งแต่ปลายเมษายน ปี 2554

นอกจากนายสมยศแล้ว ยังมีผู้ต้องหาและนักโทษทางการเมืองและความมั่นคงอีกจำนวนมากไม่ได้สิทธิใน การได้รับการประกันตัวในระหว่างการสู้คดี ทั้งๆ ที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนก็ระบุไว้ว่า “บุคคลที่ถูกกล่าวหาด้วยความผิดทางอาญ มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะจะมีการพิสูจน์ว่า มีความผิดตามกฎหมาย ในการพิจารณาโดยเปิดเผย ณ ที่ซึ่งตนได้รับหลักประกันทั้งหมดที่จำเป็นในการต่อสู้คดี” เช่นเดียวกันกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 39 ที่ว่า ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อ บุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ และมาตรา 40 เองในเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น แต่สิทธิเหล่านี้กลับถูกละเลยและลดทอนโดยข้ออ้างเพียงการเกรงว่าจะหลบหนี การเข้าไปยุ่งกับพยานหลักฐานหรือการเป็นคดีที่กระทบกระเทือนจิตใจต่อคนจำนวน มาก การไม่ให้สิทธิประกันตัวเป็นเข้าข่ายการทรมาน และเป็นการลงโทษล่วงหน้าซึ่งยังไม่ได้กระทำความผิด

โดยนอกจากปณิธาน พฤกษาเกษมสุข และผุสดี งามขำ ที่ได้มีการอดอาหารครบ 112 ชม. เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ไปแล้ว ยังมีนายฤทธิพงษ์ มหาเพชร ที่เริ่มอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวนายนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ อีกเป็นเวลา 1 วันแล้วนั้น เราขอสนับสนุนความเสียสละของบุคคลดังกล่าวและขอเรียกร้องต่อกระบวนการ ยุติธรรมและสังคม ให้คำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและหลักประกันความยุติธรรมนี้ว่า

1. ขอให้กระบวนการยุติธรรมให้สิทธิการประกันตัวแก่ผู้ต้องหาทางการเมืองทั้งหมด ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนและเป็นหลักประกันความยุติธรรมที่เขาเหล่านั้นพึงได้ รับ

2. ขอให้สังคมตระหนักถึงหลักประกันความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในเรื่องสิทธิ การได้รับการประกันตัวดังกล่าว และแสดงออก รวมทั้งสนับสนุนการเรียกร้องในสิทธิเหล่านี้

เพื่อมนุษยธรรมและหลักประกันความยุติธรรม

16 กุมภาพันธ์ 2555

กลุ่มเพื่อนักโทษการเมืองไทย, องค์กรสร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ, 

สมัชชาสังคมก้าวหน้า, กลุ่มประกายไฟ, เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย, 

กลุ่มเสรีปัญญาชน, สำนักงานกฎหมายราษฎรประสงค์, กลุ่มเสรีภาพนอกบ้าน 

และกลุ่มแนวร่วมยุโรป SM เยอรมัน

(ประชาไท, 16-2-2555)

 

พัลลภ ค้านแก้รธน.มาตรา 112 เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติ

16 ก.พ. 55 - พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำงานของกองทัพร่วมกับรัฐบาล ว่าสามารถทำงานได้โดยไม่มีปัญหาอะไรเพราะกองทัพต้องทำงานตามนโยบายของรัฐบาล อยู่แล้ว และมั่นใจว่าจะไม่เกิดการรัฐประหารเพราะสถานการณ์ในขณะนี้ไม่มีเงื่อนไข ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การทุจริตคอร์รัปชั่น และความแตกแยกของคนในชาติ ซึ่งเคยเป็นเหตุผลในการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา ส่วนความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นส่วนตัวไม่เห็นด้วย และเมื่อทุกฝ่ายไม่เห็นด้วยก็ควรยุติเรื่องนี้ 

ส่วนเหตุระเบิด 3 จุดในกรุงเทพมหานคร ว่า คงไม่ใช่ความพกพร่องด้านการข่าวเพราะเป็นการก่อเหตุเล็กๆ ที่สามารถเล็ดลอดได้ และสามารถวางใจได้เพราะทางตำรวจได้ดูแลสถานการณ์อยู่ ทั้งนี้จะต้องมีการเข้มงวดตรวจสอบการเดินทางเข้าออกประเทศมากขึ้น

(ฐานเศรษฐกิจ, 16-2-2555)

 

หมอตุลย์ที่ FCCT แจงทำไมห้ามแก้ ม. 112

16 ก.พ. 55 - นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแกนนำเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน หรือกลุ่มเสื้อหลากสี ได้รับเชิญเป็นวิทยากรอภิปราย ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยหรือ FCCT ซึ่งบรรยายในหัวข้อ “The Case for 112” โดยมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศสนใจถามคำถามในประเด็นดังกล่าวจำนวนมาก โดย นพ.ตุลย์ใช้เวลาอภิปรายและตอบคำถามผู้สื่อข่าวราว 2 ชั่วโมงเศษ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (13 ก.พ.) FCCT ได้เชิญ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์มาอภิปรายเช่นกัน

ในการอภิปราย นพ.ตุลย์ เสนอว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากเกรงว่าหากมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ แล้ว อาจทำให้การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มีสูงขึ้นมากกว่าเดิม จึงมีข้อเสนอว่า ควรเปิดให้มีการจัดเวทีระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 ในเชิงวิชาการและสันติ พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการสั่งฟ้อง ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย นอกจากนี้ เขากล่าวว่า ควรมีการนิยามข้อบังคับกฎหมายดังกล่าวให้ชัดเจนมากกว่าเดิมด้วย

แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี อธิบายว่า การหมิ่นสถาบันฯ ในระยะหลังๆ ได้เพิ่มขึ้นสูงมาก เนื่องมาจากความไม่หวังดีของกลุ่มคนเสื้อแดงที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ นักการเมืองโดยเฉพาะอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงประเทศและเข้าแทรกแซงกระบวนการต่างๆ ของไทย ทั้งตุลาการ ศาล และสถาบัน ทำให้ประชาชนที่อยู่ในชนบทและขาดการศึกษาตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง

นพ. ตุลย์ กล่าวว่า กลุ่มที่รณรงค์แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่น นิติราษฎร์ กลุ่ม ครก. 112 หรือกลุ่มที่รณรงค์เพื่อความตื่นรู้ ที่มุ่งจัดเวทีให้ความรู้ความเข้าใจในจังหวัดต่างๆ นั้น แท้จริงแล้วมีเบื้องหลัง และอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในแง่มุมต่างๆ และอาจส่งผลเสียตามมาต่อประเทศไทยได้ เขาจึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนิติราษฎร์

ทั้งนี้ เขาระบุว่า เขาเองยินดีที่จะร่วมเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนและถกเถียงกับกลุ่มที่เสนอให้แก้ไข ม. 112 เช่น นิติราษฎร์ ตราบใดที่การพูดคุยนั้นเป็นอย่างสันติและเชิงวิชาการ อย่างไรก็ตาม นพ.ตุลย์กล่าวว่า ไม่ต้องการที่จะร่วมพูดคุยในประเด็นดังกล่าวออกอากาศทางโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นเรื่องอ่อนไหวและอาจถูกกลุ่มผู้ไม่หวังดีเอาไปโจมตีได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่ฝ่ายเสนอให้แก้ม. 112 ชี้ว่าจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อเป็นการรักษาสถาบันฯ นพ.ตุลย์ตอบว่า นั่นเป็นเพียงการกล่าวอ้างและ “โฆษณาชวนเชื่อ” เท่านั้น เพราะตนเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับการรักษาสถาบันแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น นอกจากนี้ยังชี้ว่า กลุ่มนิติราษฎร์เป็นเพียงกลุ่มทางวิชาการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการโฆษณาชวน เชื่อ และไม่ได้ศึกษาข้อกฎหมายอย่างรอบด้าน

“ปกติแล้ว ถ้าอาชญากรรมนั้นมีเพิ่มสูงขึ้น การลงโทษก็ต้องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยเพื่อที่จะหยุดยั้งมัน หากแต่ข้อเสนอจากดุษฎีบัณฑิตทางด้านกฎหมายอย่างวรเจตน์ ที่บอกว่า ต้องลดบทลงโทษ เพื่อที่จะให้คดีหมิ่นฯ ลดน้อยลงนั่น ผมจินตนาการไม่ออกเลย ยังไงผมก็ไม่เห็นด้วย ผมเองเป็นหมอ และหากว่าผมมีไข้หรือเจ็บป่วย ผมก็ต้องใส่ยาที่แรงขึ้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหยุดให้ยาหรือให้น้อยลง” นพ. ตุลย์กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้ความคิดเห็นว่า หากยังมีการพยายามปิดกั้นพื้นที่ในการถกเถียงเรื่องสถาบันฯ ในสังคมไทย โดยอ้างว่ากลัวความวุ่นวาย อาจจะเป็นอันตรายมากขึ้นในระยะยาวได้ นพ.ตุลย์ชี้ว่า สังคมไทยยังไม่พร้อมในการถกเถียงทางวิชาการที่สันติ เนื่องจากคนไทยยังขาดการศึกษาอยู่มาก

นอกจากนี้ นพ.ตุลย์ยังเชื่อว่า กรณีการตัดสินจำคุกอากง 20 ปี และโจ กอร์ดอน เป็นการจัดฉากขึ้น เพื่อให้กลุ่มที่ต้องการแก้ไข ม. 112 ใช้เป็นข้ออ้าง และเป็นแผนการของทักษิณ ชินวัตร

ในช่วงท้าย นิรมล โฆษ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ของสิงคโปร์ตั้งข้อสังเกตว่า นพ.ตุลย์มักใช้คำว่า “ชาวไทย” “คนไทย” บ่อยครั้ง จึงอยากทราบว่า นพ.ตุลย์หมายถึงใครบ้าง เพราะคนอย่าง นพ.ตุลย์และคนเสื้อแดง ก็เป็นผลผลิตจากสังคมเดียวกัน

แกนนำเสื้อหลากสีจึงได้ตอบว่า เราทั้งหมดเป็นคนไทยด้วยกัน บ้างเป็นอิสระ บ้างตกอยู่ในพันธนาการของนักการเมืองที่ต้องการอำนาจ ตอนนี้นักการเมืองทุกคนต้องสังกัดพรรคการเมือง นี่ต่างจากประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ

“สภาพจริงๆ ตอนนี้เหมือนเกษตรพันธะสัญญา หัวหน้าหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อย่าง “หัวคะแนน” ผมไม่แน่ใจภาษาอังกฤษเรียกอะไร คือคนที่ได้รับเงินแล้วเอาไปจ่ายเพื่อให้ประชาชนที่ยากจนมาสนับสนุน ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ พวกเขาก็จะเลือกตามหัวคะแนน ดังนั้นพวกเขาไม่ใช่เสรีชน เขาเป็นคนไทย เป็นคนไทยที่ยากจน ครอบครัวของผมก็เหมือนคนเหล่านี้ ปู่ย่าตายายผมเป็นชาวนา แต่พวกเขาสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ พวกเขาไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงต่างจากประเทศอื่น”

ผมเสียใจ ผมรู้ และผมเกลียดสถานการณ์เช่นนี้มาก ผมอยากให้ทุกคนเป็นอิสระเหมือนอย่างผม หาเลี้ยงตัวเองได้ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น นี่เป็นธรรมชาติของผมเลยนะ ถ้าพวกเขาเป็นเสรีชนและพวกเขาเสนอแบบนี้ (เสนอแก้ไข ม.112) ผมเห็นด้วยกับเขาเลย ถ้าข้อเสนอบางอย่างไม่ทำให้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะอันตราย ผมเห็นด้วยกับพวกเขา แต่ตอนนี้เหมือนสถานการณ์ถูกชักใยโดยนักธุรกิจ นักการเมือง นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเลย ถ้าคุณพิจารณาดีๆ นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเลย ตอนนี้เป็นเผด็จการโดยทหาร เผด็จการโดยนักการเมือง พวกเขาโหวตทุกเรื่องเพื่อเปลี่ยนทุกเรื่องในสภา และเราก็จับตาพวกเขา เฝ้าดูว่าพวกเขากำลังทำอะไรในสภา และผมกลัวว่าในอนาคตอันใกล้ประเทศจะตกอยู่ในภาวะล้มละลายเหมือนที่เกิดขึ้น กับบางประเทศ ผมไม่พูดชื่อประเทศนะ ก็ประเทศอย่างที่พวกคุณรู้

“พวกเขาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างโดยใช้อำนาจที่ได้มาจากคนจน 15 ล้านคะแนน แล้วพวกเขาบอกว่าชนะเลือกตั้ง เขาสามารถจะทำได้ทุกเรื่อง นี่คือประชาธิปไตยหรือ?” นพ.ตุลย์กล่าว

(ประชาไท, 17-2-2555)

 

ฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์ สัมภาษณ์เรื่อง ม.112 

17 ก.พ. 55 - ไทยรัฐออนไลน์สัมภาษณ์ จุลจักร จักรพงษ์ นักดนตรี นักวิพากษ์ ราชนิกุลหนุ่ม ในกรณี ม.112 เขากล่าวว่าว่า ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกอยากจะลุกขึ้นมาต่อต้านอะไรเหมือนกับรัฐบาลตอนนั้น เนื่องจากเขามาจากการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วยก็คือ การแตะต้องระบบกษัตริย์ เนื่องจากวัฒนธรรมเมืองไทย ผูกพันกับระบบนี้มานาน ซึ่งก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงในเร็วๆ นี้ ที่สำคัญยังมีปัญหาเร่งด่วนอีกมากมายที่ต้องแก้ไขแต่ถูกละเลย

“ผมว่าเรื่องแก้ ม.112 ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ม.112 เป็นเรื่องของกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องพระมหากษัตริย์ เราต้องแยกแยะ หลายคนเอาหลายเรื่องมาปนกัน “คนเสื้อแดงไม่ได้แปลว่าคุณไม่รักในหลวง คนเสื้อเหลืองก็ไม่ได้แปลว่าเป็นตัวแทนในหลวง” หลายคนอาจออกตัวแรงไปนิดหนึ่ง หรืออย่างเรื่องกลุ่มนิติราษฎ์ที่ออกมาจัดระเบียบสถาบัน (สถาบันศาล และกองทัพ) แต่ถูกคนห้ามพูด จริงๆผมรู้สึกว่าเขามีสิทธิ์ที่จะพูดนะ “แม้ผมจะไม่เห็นด้วยทุกอย่าง” แม้ผมเองจะไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำมันเป็นประโยชน์ต่อเขาหรือใคร แต่เขามีสิทธิ์จะพูด จะแสดงออก ถึงแม้ว่าเราจะมองว่าสิ่งที่เขาพูด มันบ้าแค่ไหนก็ตาม”

ทั้งนี้ นักวิพากษ์ และนักเคลื่อนไหวการเมืองยังฝากไปถึงนักการเมืองไทยที่จ้องจะแก้ระบบนั่น แก้ระบบนี่ โดยไม่เคยสำรวจตัวเองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายในบ้านเมือง วันนี้นักการเมืองไทยทั้งระบบต้องทบทวนตัวเองจริงๆ ว่าพวกคุณแค่ 25 % คือรากเหง้าปัญหาของคนทั้งประเทศ ซึ่งแทนที่นักการเมืองถูกเลือกเข้ามารับใช้ประชาชน แต่นี่ผิดวัตถุประสงค์เล่นการเมืองเพื่อไปสู่เส้นทางสู่ความร่ำรวย และสร้างอิทธิพลให้กับตัวเองและพวกพ้อง 

“สมมติถ้าฝากอะไรไปถึงอดีตผู้นำได้ ผมอยากจะบอกว่า คุณอย่าเอาประเทศไทยเป็นตัวประกัน คุณเป็นนักการเมืองที่เก่งที่สุดที่ประเทศไทยเคยมี แต่ไม่ใช่ว่าคุณเป็นนักการเมืองคนเดียวที่จัดการประเทศนี้ได้ บางคนเรียกร้องให้เขากลับมา ผมกลัวว่าเขาคนเดียวจะไม่พอแล้ว ตอนนี้มันไปไกลกว่าจุดนั้นแล้ว  วันนี้คนก็ยังเชียร์เขาก็เยอะ ก็ว่ากันไปตามความกฎหมายและความถูกต้อง” 

ฮิวโก้บอกและย้ำเสียงเข้มว่า พูดแบบนี้โปรดอย่าเหมารวมว่าตนอยู่เสื้อสีไหน เพราะวันนี้ตนเองไม่มีสีใดๆ แค่เป็นคนที่หวังดีต่อประเทศไทยเหมือนกับประชาชนทั่วไปเท่านั้นเอง

(ไทยรัฐออนไลน์, 17-2-2555)

 

“คนรักในหลวง”บุกยื่นหนังสือผู้ว่าฯพิษณุโลก-มทภ.3 ต้านแก้ ม.112

17 ก.พ. 55 - ชมรมคนรักในหลวงจังหวัดพิษณุโลกประมาณ 200 คน นำโดยนางจุฑาทิพย์ สิทธิวงศ์ ประธานชมรมฯ พร้อมใจกันสวมเสื้อสีชมพู เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอปกป้องสถาบันและคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อนายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เพื่อส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงเจตจำนงไม่เห็นด้วยกับกลุ่มบุคคลที่มีการเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไข กฎหมายมาตราดังกล่าวอยู่ในขณะนี้

สำหรับหนังสือดังกล่าว มีเนื้อหาระบุว่า มีบุคคลบางกลุ่มได้สร้างความแตกแยกให้กับประชาชนในประเทศ โดยพยายามดำเนินการขอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นการบั่นทอนพระราชอำนาจประมุขของชาติ ชมรมฯไม่เห็นด้วย และขอคัดค้านการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวทุกกรณี รวมทั้งขอแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ ที่จะขอปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ด้วยชีวิต

พร้อมกันนี้ชมรมคนรักในหลวงจังหวัดพิษณุโลก ได้ยื่นหนังสืออีกฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาและข้อความเดียวกันถึง พล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3 ผ่านทาง พล.ต.บรรยงค์ สิรสุนทร รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-2-2555)

 

ผลโหวต MThai SMS ระบุ ปชช. 53.68% ไม่กังวลว่าความเห็นต่างกรณี ม.112 จะบานปลาย

17 ก.พ. 55 – จากการที่ MThai SMSโพล สำรวจความคิดเห็นผ่านมือถือในประเด็น “คุณกังวลว่าความเห็นต่างกรณี ม.112 จะบานปลายหรือไม่”

ผลสรุปว่า ประชาชน 53.68% ไม่กังวลว่าความเห็นต่างกรณี ม.112 จะบานปลาย ขณะที่อีก 46.32 % กังวลว่าความเห็นต่างกรณี ม.112 จะบานปลาย

ทั้งนี้ โพลดังกล่าวมีสมาชิกร่วมแสดงความเห็นผ่านทางโทรศัพท์มือถือทั้งสิ้น 257เบอร์ เริ่มสำรวจความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 21ม.ค. – 17 ก.พ. 2555

(MThai, 17-2-2555)

 

บ้านโป่งฮือต้าน ครก.112 แจ้งความคนแจกใบปลิวอาจเข้าข่ายผิด ม.112

18 ก.พ. 55 - นายบริบูรณ์ เกียงวรางกูร พร้อมด้วยชาวบ้านกว่า 20 คน เดินทางเข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.นที จันทร์จิรานุวัฒน์ พนักงานสอบสวน สภ.บ้านโป่ง ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เดินแจกใบปลิว ซึ่งมีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน

ทั้งนี้ ชาวบ้านใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้ออกมาเดินขบวน พร้อมกับยื่นหนังสือต่อ นายสมบูรณ์ ศิริเวช นายอำเภอบ้านโป่ง ขอ ให้ใช้อำนาจหยุดกลุ่มนิติราษฎร์ ที่มีการจัด เสวนาในหัวข้อ "วิพากษ์นิติราษฎร์ 4 ประ เด็นร้อน จริงหรือเท็จ" โดยคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112  ในวันที่ 18 ก.พ. ภายในโรงแรมไทยนำโฮเต็ล พร้อมกับแจกใบปลิวให้ประชาชนออกมาร่วมกันต่อต้านกลุ่มนิติราษฎร์

ด้าน พ.ต.ท.นทีรับปากว่าเบื้องต้นจะรับแจ้งความและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายเรียกมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

(ไทยโพสต์, 19-2-2555)

 

สู้เพื่อสามีและลูก "เมีย"อากง และ"แม่"สุรภักดิ์ อดอาหารเรียกร้องสิทธิ์ประกันตัว ลุ้นผล 20 ก.พ. นี้

19 ก.พ. 55 - นางอุ๊  ตั้งนพกุล  อายุ 61 ปี ภรรยานายอำพล  ตั้งนพกุล จำเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อดอาหารวิงวอนขอสิทธิในการประกันตัวสามี   ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กทม. ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เป็นเวลา 1 วัน โดยในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ นี้ จะมีการยื่นประกันตัวสามีต่อไป 

นางอุ๊  กล่าวว่า   เหตุที่เลือกวิธีการอดอาหาร เพื่อขอเรียกร้องสิทธินี้  ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก นายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข  บุตรชาย นายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข   จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ที่ได้ออกมาอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิขอประกันตัว ไปก่อนหน้านี้แล้ว 

หากในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ สามียังไม่ได้รับการประกันตัว นางอุ๊ กล่าวว่า "ก็ยังงงๆ อยู่ ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไง แต่ถ้าจะทำ ก็จะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย"

นอกจากนี้ นางอุ๊ ยังได้พูดถึงสามีอีกว่า จนถึงขณะนี้ไม่ได้ตรวจเช็คสุขภาพ  ไม่มีสัญญาณแสดงออกว่า สุขภาพดีขึ้นหรือเลวลง จึงรู้สึกเป็นห่วงมาก 

ทางด้าน  นายคาร์ล  แองเกอร์ วัย 43 ปี  นักข่าวอิสระ เวบไซต์ข่าวการเมืองไทยจากประเทศเยอรมนี หนึ่งในผู้ร่วมอดอาหารด้วย กล่าวว่า จุดประสงค์ที่มาร่วมอดอาหารเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และสิทธิมนุษชนในประเทศไทย ประชาธิปไตยในประเทศไทยมีปัญหามาก โดยหลักการแล้ว รัฐบาลถูกทหารสั่งไม่ได้  แต่ปัจจุบัน ดูเหมือนว่า ทหารสั่งรัฐบาล ซึ่งเป็นหลักที่ขัดอย่างยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่มีที่ไหนที่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่เป็นแบบนี้ ไม่มีที่ไหนในโลกที่ทหารจะออกมาสั่งว่า ต้องทำหรือไม่ทำอะไร   

นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยขณะนี้คือ เสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น  นี่เป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่มี ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย 

ส่วน นางแต้ม  ภูชัยแสง  วัย 78 ปี มารดาของนายสุรภักดิ์ ภูชัยแสง  จำเลยในคดีความผิดตาม ป.อาญา ม. 112 ที่ถูกจำคุกอยู่ในขณะนี้  กล่าวว่า ตนมีอาชีพทำไร่ ทำนา อยู่ที่จังหวัดบึงกาฬ  มาเยี่ยมลูกชายบ้างที่มีโอกาส    และมาร่วมอดอาหารเพื่อขอความเห็นใจ ในการประกันตัวลูกชายออกมา  

"อดแค่วันเดียว เพราะแก่แล้ว อดมากไม่ได้ พรุ่งนี้จะยื่นประกันตัวต่อศาลแล้ว แต่ศาลท่านว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่" นางแต้ม กล่าว

ในขณะที่ นายฤทธิพงษ์  มหาเพชร  วัย 37 ปี  ลูกศิษย์ของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือนายสุรชัย แซ่ด่าน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มาร่วมอดอาหารด้วยที่หน้าศาลอาญา  ถนนรัชดาภิเษก โดยเริ่มอดอาหารไปถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ กล่าวว่า ได้แรงบันดาลใจจากนายปณิธาน  ที่ทำเพื่อคุณพ่อของนายปณิธานเอง ตนเองจึงต้องการทำให้กับนายสุรชัยบ้าง เพื่อเป็นกำลังใจ

"แม้ผมอยากจะทำให้อาจารย์สุรชัย แต่อาจารย์คงอยากให้ผมทำเพื่อทุกคนมากกว่า  เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวผมมีเพื่อน มีน้อง มีใครมากมายที่ต้องโทษจำคุก คือผมอยากจะบอกกับสังคมว่า มีปัญหาในจุดนี้จริงๆ" นายฤทธิพงษ์ กล่าว 

ส่วน นายอภิวัฒน์  เกิดนอก วัย 31 ปี อดีตนักโทษคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อปี 2553 และถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปี ก็มาร่วมอดอาหารด้วย โดยจะอดไปจนถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เช่นกัน เพื่อต้องการให้ศาลเห็นใจนักโทษการเมือง และอนุญาตให้ประกันตัว 

"สำหรับผมแล้ว คิดว่านี่เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะเป็นวิธีที่สันติ" นายอภิวัฒน์ กล่าว

(มติชนออนไลน์, 19-2-2555)

 

หมอตุลย์ปลุกม็อบต้านแก้รธน. 23 ก.พ.หน้าสภา

20 ก.พ. 55 - นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มหลากสี กล่าวว่า กลุ่มเสื้อหลากสีขอนัดหมายประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้ง นี้ให้ออกมารวมตัวกันที่หน้าอาคารรัฐสภา ในวันที่ 23 ก.พ. เวลา 09.00 น. ซึ่งจะเป็นวันที่สภาจะพิจารณา เพื่อยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และเป็นการแสดงพลังว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ ของนักการเมืองบางกลุ่ม พร้อมกันนี้จะยื่นรายชื่อประชาชน 2.5 หมื่นรายชื่อต่อประธานสภา เพื่อคัดค้านการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย

(เนชั่นทันข่าว, 20-2-2555)

 

ภรรยา "อากง" และแม่นักโทษการเมืองอดอาหารครบ 24 ชม. เตรียมขอประกัน-เยี่ยมลูก

20 ก.พ. 55 - เวลา 8.00 น. นางรสมาลิน (สงวนนามสกุล) ภรรยานายอำพล หรือ "อากง" และนางแต้ม ภูชัยแสง อายุ 67 ปี มารดานายนายสุรภักดิ์  จำเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ยุติการอดอาหารหลังเพื่อเรียกร้องขอสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาความผิดอาญา ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หลังอดอาหารมาครบ 24 ชั่วโมง โดยนางแต้มได้เดินทางไปเยี่ยมนายสุรภักดิ์ บุตรชาย ส่วนนางรสมาลินเดินทางไปเตรียมตัวยื่นประกันอากงต่อไปในช่วง 13.00 น.

ในช่วงดึกวานนี้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยปฏิเสธให้นางรสมาลินและนางแต้มใช้ห้องน้ำของศาล อาญา โดยแจ้งว่าให้เดินไปใช้ห้องน้ำที่มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษมซึ่งมีระยะ ทางกว่า 500 เมตร ทำให้ผู้ร่วมอดอาหารและผู้มาให้กำลังใจต้องพาทั้งคู่เดินหาห้องน้ำกลางดึก เป็นเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง

(ประชาไท, 20-2-2555)

 

ทนายยื่นอุทธรณ์คดี "อากง" พร้อมขอประกันตัวใช้ตำแหน่ง 7 นักวิชาการ

20 ก.พ. 55 - ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เวลา 13.00 น. ทนายความจะยื่นอุทธรณ์ในคดีที่นายอำพล ต. หรือที่รู้จักในชื่อ "อากง" ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 20 ปี ในข้อหาส่งข้อความสั้น 4 ข้อความไปยังโทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

คดีดังกล่าวมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 เป็นเลขคดีแดงที่ อ.4726/2554 คำพิพากษาศาลชั้นต้นชี้ว่า ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ที่ได้จาก บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) และบริษัท ทรู มูฟ จำกัดนั้น มีความน่าเชื่อถือ เพราะหากจัดเก็บไม่ถูกต้องจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและอาจเสียประโยชน์ทาง ธุรกิจ และชี้ว่าประเด็นต่อสู้ของจำเลยที่ว่า เลขอีมี่เปลี่ยนแปลงได้ แต่จำเลยกลับไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ ศาลยังชี้ว่านายอำพลรับว่าใช้โทรศัพท์เครื่องนี้อยู่ผู้เดียว และเชื่อว่าผู้กระทำผิดใช้ซิมการ์ดสองเลขหมาย เลขหมายหนึ่งเป็นของนายอำพล อีกเลขหมายหนึ่งเป็นหมายเลขที่ปรากฏว่าส่งข้อความไปยังโทรศัพท์ของนายสม เกียรติ ทั้งนี้ ประวัติการใช้งานชี้ว่าซิมการ์ดทั้งสองถูกใช้งานเวลาใกล้เคียงกัน แต่ไม่เคยถูกใช้งานเวลาที่ซ้ำกัน ทั้งยังส่งจากย่านที่จำเลยพักอาศัย

นอกจากนี้ศาลยังระบุว่า แม้โจทก์ไม่สามารถสืบพยานให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความจริง แต่เพราะเป็นการยากที่จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจึงย่อมปกปิดการกระทำของตน การพิพากษาคดีจึงจำต้องอาศัยประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้ให้ เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน

สำหรับการยื่นอุทธรณ์ของทนายความจะย้ำประเด็นที่ว่า เพียงลำพังหมายเลขอีมี่ ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิดได้ เพราะสามารถแก้ไขได้ง่าย อีกทั้งจากพยานเอกสารของโจทก์ยังปรากฏชัดว่า ระบบการเก็บข้อมูลการส่งข้อความสั้นของบริษัทดีแทค ไม่สามารถตรวจสอบหมายเลขอีมี่ได้ ซึ่งมิได้เป็นไปตามที่พยานโจทก์มาเบิกความ และในชั้นอุทธรณ์นี้ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอสืบพยานเพิ่มเติม โดยอ้างความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านโทรศัพท์มือถือจากประเทศเยอรมนี

นอกจากนี้ กระบวนการสอบสวนยังมีข้อพิรุธ เพราะลำดับของวันที่ในเอกสารสลับกันไปมา ไม่เป็นไปตามขั้นตอนการสืบสวนดังที่เจ้าหน้าที่สืบสวนเบิกความไว้ จึงแสดงให้เห็นว่าเป็นการสืบสวนที่มุ่งเป้ามาที่ตัวจำเลย ไม่ได้สืบสวนจากพยานหลักฐานตามเหตุตามผล โจทก์จึงไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยได้อย่างแน่ชัดว่า จำเลยเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งตามหลักวิธีพิจารณาความอาญาต้องยกประโยชน์ความสงสัยให้จำเลย และขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ นายอำพลถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2553 และถูกคุมขัง 2 เดือนก่อนศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว แต่เมื่อนายอำพลไปรายงานตัวเพื่อรับทราบคำสั่งฟ้องของอัยการในวันที่ 18 มกราคม 2554 ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีก ด้วยเหตุที่ว่าเกรงจำเลยจะหลบหนี โดยในวันยื่นอุทธรณ์วันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ทนายความจะยื่นขอประกันตัวอีกครั้ง โดยมีนักวิชาการจำนวน 7 คนเป็นนายประกัน ประกอบด้วย ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานนท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น พร้อมกับเงินสดจำนวนหนึ่งจากกองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

(มติชนออนไลน์, 20-2-2555)

 

ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาต "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ได้รับสิทธิประกันตัว

20 ก.พ. 55 - เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ศาลอาญา  ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งให้ยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว ที่นายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข บุตรชายนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา เพื่อประชาธิปไตย และบรรณาธิการนิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112  ประมวลกฎหมายอาญา ยื่นคำร้องอุทธรณ์พร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 1.6 ล้านบาท 

โดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดที่ถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีกระทบต่อความรู้สึก และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน หากปล่อยชั่วคราวไปจำเลยอาจหลบหนี หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง

ด้านนายคารม พลพรกลาง ทนายความนายสมยศ กล่าวว่า  หลังจากนี้คงต้องใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212  โดยนำคำสั่งยกคำร้องของศาลอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อ ไปว่าการที่จำเลยไม่ได้รับการประกันตัวทั้งที่เคยยื่นขอปล่อยชั่วคราวมาแล้ว ถึง 6 ครั้ง เป็นการขัดต่อสิทธิจำเลยตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายปณิธาน บุตรชายนายสมยศ ได้อดอาหาร และโกนศีรษะประท้วง ที่บิดาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวบริเวณหน้าศาลอาญา จนครบกำหนด 112 ชั่วโมง เมื่อช่วงสายวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากนั้นก็ยื่นคำร้องอุทธรณ์ขอปล่อยชั่วคราวให้บิดา ที่สุดแล้วศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาต ทำให้นายสมยศยังคงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯต่อไป

(มติชนออนไลน์, 20-2-2555)

 

“กนก” ชี้การแก้ไข ม.112 ไม่เหลือเปอร์เซ็นต์เป็นไปได้แล้ว ซัดถ้านิติราษฎร์ยังดันทุรังอีก มีปัญหาแน่

22 ก.พ. 55 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์เผยแพร่บทสัมภาษณ์กนก รัตน์วงศ์สกุล  สอบถามถึงกรณีที่ก่อนหน้านี้ที่ “กนก” มีการเคลื่อนไหวร่วมกับศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแนวร่วมรวมพลังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้มีการนัดประชุมเพื่อกำหนดท่าทีในการต่อต้านกลุ่มนิติราษฎร์ ที่ออกมาเสนอขอแก้ไข ม.112 นั้น เจ้าตัวก็แจงว่า….

“112 ก็จบไปแล้วครับ ตัวผมก็ไม่มีอะไรแล้ว สำหรับผม ผมถือว่าผมหยุดแล้ว เพราะผมดูแล้ว คือว่าก็ไม่มีใครที่จะไปร่วมนับ 2-3-4 กับการเปลี่ยนแปลงนั้น แม้กระทั่งรัฐบาลเองเขาก็บอกแล้ว เขาก็เปิดเผยชัดเจนว่าเขาไม่เอา สภาฯเขาก็บอกแล้วว่าส่งมาเขาก็ไม่เอา ก็จบแล้ว มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว”

“ถ้าจะมีเข้ามาอีกผมว่าไม่น่าจะมีโผล่มาแล้วล่ะ มันเหมือนว่าคุณหิวข้าวคุณอยากจะกินข้าว แต่ว่าร้านนี้มันปิดไปแล้ว จะบอกไม่ได้ฉันจะไปกิน ถามหน่อยว่าจะไปทำไมในเมื่อร้านเขาปิด ก็ไม่รู้จะทำเพื่ออะไร ผมว่าทั้งหมดอาจจะเป็นการหยั่งกระแสเท่านั้นเอง แต่ว่าความเป็นไปได้มันไม่เหลือเปอร์เซ็นต์เลย ถ้าออกมาก็มีปัญหาแน่นอน”

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22-2-2555)

 

"เมียสมยศ-ญาติสุรชัย แซ่ด่าน" ร้องกมธ.กฎหมายช่วยประกันตัวสู้คดี ม.112

22 ก.พ. 55 - ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และ สิทธิมนุษยชน (กมธ.)สภาผู้แทนราษฎร ที่มี .ต.อ.วิรุฬ  ฟื้นเสน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้พิจารณาศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการปฏิบัติต่อนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีดำหมายเลข 02936/2554 ทำให้ต้องทุกข์ทรมานและไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัวและกรณีความ ไม่เป็นธรรม และในคดีของนายสุรชัย (แซ่ด่าน) ด่านวัฒนานุสรณ์  โดยเชิญนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกมธ.การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร , นายวีระชัฎฐ์ จันทรสะอาด ญาติของนายสุรชัย และ นางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยานายสมยศ เข้าชี้แจง

นายสุนัย กล่าวว่า  2 คดีนี้ถือว่าเป็นคดีตัวอย่างจากหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางการ เมือง เพราะกระบวนการยุติธรรมมีแนวโน้มละเมิดหลัก ว่าด้วยอนุสัญญาการทรมานทั้งหมด เช่นกรณีนายสมยศ มีการเดินทางไปสอบพยานโจทย์ที่ จ.สงขลา โดยรถขนนักโทษ ห้ามเข้าห้องน้ำ  พอไปถึงพยานก็ไม่ได้มา และขณะนี้เรือนจำมีนักโทษอยู่แน่นมาก เยี่ยมก็ไม่ได้ โดยเฉพาะคดี มาตรา 112 ในต่างจังหวัด และการตีตรวนล่ามโซ่ ก็ไม่มีเชือกให้ เข้าใจว่าเป็นนักโทษแต่ก็เป็นมนุษย์  ตนจึงได้เสนอเรื่องรถติดแอร์  ส่วนเรื่องการประกันตัวก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ก็อยู่ที่อำนาจศาล เราไม่ก้าวก่าย  แต่คดีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับคดี อื่น อย่างเช่นคดีก่อการร้าย มีโทษหนักกว่า ยังอนุญาตให้มีการไต่สวน

ด้านนางสุกัญญา กล่าวว่า คดีของนายสมยศขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสืบพยานโจทย์ ซึ่งต้องเดินทางไปต่างจังหวัด โดยล่าสุดได้เดินทางไป จ.สงขลา ไปกลับกว่า 28 ชั่วโมง เดินทางรถกรงขัง เป็นความทุกข์ทรมาน ที่ได้รับ ซึ่งนายสมยศ ถูกดำเนินคดี 1 คดี ถูกจับกุมตั้งแต่ เม.ย.54 และได้ยื่นประกันตัวไปแล้วจำนวน 7 ครั้ง ล่าสุดคือวันที่ 16 ก.พ.ที่ศาลอุทธรณ์ แต่ก็ไม่เคยได้รับการประกันตัวตั้งแต่ชั้นสอบสวน

ขณะที่นายวีระชัฎฐ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่นายสุรชัยถูกจับกุม โดยถูกดำเนินคดีทั้งหมด 6 คดี ในมาตรา 112  แต่ได้ทำหนังสือร้องเรียนให้กรมราชทัณฑ์ ให้รวมคดี และอัยการได้รวมคดีให้ แต่ก็เหลืออีก 1 คดีที่ไม่ได้รวม และจะมีการตัดสินในวันที่ 28 ก.พ.โดยที่นายสุรชัย ไม่สู้คดี  แต่ก็ยังไม่ได้รับการประกันตัว   และตนอยากฝากไปยังกมธ.ว่า ขณะนี้มีผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการพิจาณารอการประกันตัวประมาณ 8 หมื่นคน และยังมีนักโทษที่อายุเกิน 70 ปี ที่จะได้รับการอภัยโทษ แต่ก็ยังพบอยู่ในคุกอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้กรรมาธิการฯ ได้แสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย  โดยเห็นว่า เรื่องสิทธิพื้นฐานของนักโทษ เรื่องรถติดแอร์ การตีตรวน ถือว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีการแก้ไข และปฏิบัติกับทุกคนไม่เฉพาะกรณีนี้  ส่วนเรื่องการประกันตัวถือว่าเป็นดุลพินิจของศาล  แต่แนวทางในการช่วยเหลือ ต้องมาช่วยกันคิดว่า  จะเสนอแนวทางอย่างไรที่จะไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล  เรื่องการช่วยเหลือกมธ.สามารถเป็นพี่เลี้ยงได้ โดยมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งทนายความ  ผู้รู้ด้านกฎหมาย หรือญาติ มาร่วมหารือ ว่าจะยื่นคำร้องในการประกันใหม่อย่างไร   และต้องมาดูกระบวนการยุติธรรมว่า นักโทษโดนกลั่นแกล้งหรือแทรกแซงหรือไม่  โดย ต้องศึกษาภาพรวมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและกระบวนการยุติธรรม

ด้านพล.ต.อ.วิรุฬ กล่าวว่า เราต้องศึกษาและดำเนินการในเรื่องนี้ หรือมีตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมา  เพื่อศึกษาระบบการประกันตัว ระบบการใช้เครื่องพันธนาการ ระบบการพิจารณาการประกันตัวระหว่างรอการพิจารณา  ให้เป็นไปตามหลักการ  สอดคล้องกับการปฏิบัติของโลก และสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ  และความเห็นในการศึกษา น่าจะนำเสนอกับกระบวนการบริหารของศาลได้ อาทิ สำนักงานศาลยุติธรรม

(ข่าวสด, 22-2-2555)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net