Skip to main content
sharethis

 'หมอตุลย์' นำเสื้อหลากสียื่น 3 หมื่นรายชื่อคัดค้านแก้รธน.- ม.112

23 ก.พ. 55 - เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่อาคารรัฐสภา นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดินหรือกลุ่มเสื้อหลากสี พร้อมประชาชนกว่า 20 คน เดินทางมายื่นหนังสือพร้อมทั้งรายชื่อประชาชน จำนวน 30,000 รายชื่อต่อสภาฯ เพื่อคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ไม่ให้พิจารณารับรองข้อเสนอดังกล่าวจากคณะนิติราษฎร์หรือกลุ่มใดก็ตาม โดยมีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ เดินทางมารับหนังสือ

นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้เสนอให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ให้มีการลดโทษจำคุก แยกออกจากหมวดความมั่นคงของชาติ และให้สำนักราชเลขาธิการเท่านั้นเป็นผู้ฟ้องคดีแทนประชาชนทั่วไป โดยอ้างว่าเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์มากขึ้น และเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์นั้น ทางเครือข่ายเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุผล ไม่ตรงตามสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน 

แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสีชี้ว่า หากมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ตามที่เสนอมา จะทำให้มีการหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์มากขึ้นและรุนแรงขึ้น แม้จะมีบทลงโทษจำคุก 3 – 15 ปี ก็ยังมีผู้หมิ่นและใส่ร้ายพระองค์ท่านอย่างรุนแรงอยู่แล้ว อันเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และสะเทือนใจพสกนิกรผู้จงรักภักดีทั่วประเทศ การอ้างว่าการใช้ ม.112 กลั่นแกล้งใส่ร้ายฟ้องร้องผู้บริสุทธิ์ให้ได้รับโทษ เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะผู้ที่ถูกดำนินคดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ล้วนแต่จงใจทำผิดซ้ำซาก และเป็นกลุ่มบุคคลที่เจตนาล้มล้างสถาบันกษัตริย์

ด้านนายเจริญ กล่าวว่า ในฐานะที่รับผิดชอบการบรรจุวาระการประชุม ขณะนี้ยังไม่มีใครเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายดังกล่าว มีเพียงการเสนอขอแก้ ม.291 เท่านั้น ดังนั้นหากมี ส.ส.หรือประชาชนขอยื่นเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายดังกล่าว ตนจะได้นำเอกสารและรายชื่อที่เครือข่ายฯ เสนอมา ส่งให้ ส.ส.เพื่อเป็นข้อมูลประการพิจารณาต่อไป  ส่วนจะมีความเห็นเป็นอย่างไรนั้นขอให้เป็นดุลยพินิจของทางสภาฯ

(ข่าวสด, 23-2-2555)

กลุ่มเสื้อหลากสีนัดรวมตัวอนุสาวรีย์ชัยฯ 25 ก.พ.ค้านแก้ ม.291-ม.112

23 ก.พ. 55 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเสื้อหลากสีที่เดินมารวมตัวชุมนุมคัดค้านการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 บริเวณรัฐสภา ได้ยุติการชุมนุมและแยกย้ายกลับบ้านแล้ว โดยนายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่ม ประกาศนัดหมายให้ผู้ชุมนุมไปรวมตัวกันอีกครั้ง ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ ตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป เพื่อแสดงพลังคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ส่วนกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ด้านหน้าอาคารรัฐสภา ยังเปิดเพลงเต้นรำสนุกสนาน บางส่วนทยอยกลับและรับประทานอาหารกลางวัน พร้อมทั้งจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มกำลังดูแลกลุ่มคนเสื้อแดง เน้นไม่ให้กีดขวางช่องทางจราจร

(มติชนออนไลน์, 23-2-2555)

“เฉลิม” ยัน กลางสภาแก้รธน.ไม่แตะสถาบัน- ไม่เกี่ยวแก้ 112 ลั่นเดินหน้าดัน พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสภา เอา “แม้ว”กลับบ้าน

23 ก.พ. 55 - ที่รัฐสภา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทน ครม. ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ครม.เสนอได้กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ส.ส.ร.2 ประเภท คือ 1.มาจากการเลือกตั้งในจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และ 2.มาจากรัฐสภาคัดเลือกจากบุคคลหลายสาขาอาชีพ 22 คน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นใหม่ให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ ยิ่งขึ้น ทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุมัติรัฐธรรมนูญโดยการออกเสียง ประชามติได้ โดยยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า บรรยากาศตอนนี้เกิดความสับสนโดยมีหลายคนแสดงความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ การรื้อโครงสร้างประเทศ และรอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในที่นี้ในนามรัฐบาลขอยืนยันจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป และการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไปยกโทษยกความผิดให้ใครไม่ได้ทั้งนั้น ไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษให้ใคร เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลได้ทำตามที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 23 ส.ค.2554ว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 1 ปี ซึ่งตอนนี้ถึงเวลาแล้วเท่านั้นเอง

"รัฐบาลชุดนี้จงรักภักดี 100 %ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า แต่เรามีมารยาทไม่เคยกล่าวหาใครว่าไม่จงรักภักดี เพราะทราบดีว่าทุกคนเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นล้นพ้น บางคนบอกว่าเราต้องการให้เกิดปัญหา อยากถามว่ามีรัฐบาลไหนบ้างอยากให้เกิดปัญหา เพราะเรามีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น ฝนไม่ตก แดดไม่ออกอย่าเพิ่งกางร่มเพราะยังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นส.ส.ร. และผู้ที่พยายามนำเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มารวมกับการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นพวกปัญญาทึบ " ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว และว่า หลังจากนี้จะเสนอพ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาทางให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาในประเทศให้ได้ ส่วนจะเข้ามาได้หรือไม่นั้นต้องดูบริบททางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทย  ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า  รัฐธรรมนูญ 2550 มีบทบัญญัติหลายประการไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมืองทำให้ระบบพรรคกรเมืองอ่อนแอ เกิดความไม่มั่นคงต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการได้มาซึ่งองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย และการได้มาซึ่งบุคคลองค์กรอิสระต่างๆขาดการเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน และขัดต่อหลักความเป็นประชาธิปไตย ไม่มีระบบการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเสียต่อระบบอำนวยความยุติธรรมกับประชาชน เปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติเป็น 2 มาตรฐาน และมีการใช้ดุลพินิจที่เกินขอบเขต จึงสมควรที่จะจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตย โดยกำหนดให้มีส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละ 1คน และ จากการคัดเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา 22 คน

(เดลินิวส์, 23-2-2555)

ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน ‘อากง’ 

23 ก.พ.55 - นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ อากง ผู้ต้องโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แจ้งว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ให้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายอำพล ซึ่งครั้งนี้นับเป็นการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเป็นครั้งที่ 2 ในชั้นศาลอุทธรณ์ หลังยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นแล้วหลายครั้ง โดยในครั้งนี้ใช้ตำแหน่งของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวม 7 คน

ทนายความระบุอีกว่า คาดว่าทีมทนายความจะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลฎีกาในสัปดาห์หน้า ขณะที่นักกิจกรรม ประชาชนที่สนใจและร่วมติดตามผลการประกันที่บริเวณศาลอาญาต่างแสดงความผิด หวังต่อคำสั่งศาลอุทธรณ์ในครั้งนี้

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ระบุเหตุผลในการยกคำร้องว่า

"พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีกับพยานหลักฐานที่ศาล ชั้นต้นได้พิจารณาแล้วนับว่าร้ายแรง ประกอบกับข้อที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยังไม่มีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หากให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี และที่จำเลยอ้างเหตุความเจ็บป่วยไม่ปรากฏว่าถึงขนาดจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต ได้ ทั้งทางราชการก็มีโรงพยาบาลที่จะรองรับให้การรักษาจำเลยได้อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องและแจ้งเหตุการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยและผู้ขอประกัน ทราบโดยเร็ว"

(ประชาไท, 23-2-2555)

อัยการขยายอุทธรณ์รอบ 3 คดี ‘โจ กอร์ดอน’

23 ก.พ.55 - อานนท์ นำภา ทนายความของนายเลอพงษ์ (ขอสงวนนามสกุล) หรือ โจ กอร์ดอน ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานภาพ สัญชาติไทย-อเมริกัน ผู้แปลหนังสือ The King Never Smiles แจ้งว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นขอขยายเวลาอุทธรณ์ต่อศาลเป็นครั้งที่ 3  (ครั้งละ 30 วัน) มีกำหนดถึงวันที่ 8 มี.ค.นี้ หลังโจ กอร์ดอน รับสารภาพและศาลตัดสินลงโทษเมื่อวันที่ 8 พ.ย.54 ให้จำคุก 5 ปี สารภาพลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง 2 ปี 6 เดือน ส่งผลให้คดีของโจ กอร์ดอน ยังไม่ถึงที่สุด จำเลยยังคงต้องอยู่ในเรือนจำโดยที่ยังไม่สามารถทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ได้ ทั้งนี้ ทนายระบุด้วยว่าอัยการสามารถขอขยายเวลาอุทธรณ์ไปได้เรื่อยๆ ไม่มีกำหนด

ขณะที่ผู้ใกล้ชิดจำเลยกล่าวว่า จำเลยรู้สึกถูกกลั่นแกล้งให้ต้องจำคุกยาวนานโดยไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เพราะคดีไม่ถึงที่สุดเสียทีทั้งที่ได้รับสารภาพไปแล้ว อย่างไรก็ตาม สถานทูตสหรัฐอเมริกาก็ยังเข้าเยี่ยมจำเลยและติดตามเรื่องนี้อยู่อย่างใกล้ ชิด

(ประชาไท, 23-2-2555)

บ้านสมเด็จโพลล์เผยคนกรุงฯ 53.4% คิดว่าไม่มีความจำเป็นแก้ ม.112 

24 ก.พ. 55 - อาจารย์สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำสาขาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นกับเกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวนทั้ง สิ้น 1,352 คน เก็บข้อมูลในวันที่ 22 - 23 กุมภาพันธ์ 2555 

อาจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานโครงการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวต่อว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ต้องการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นปัญหาต่างๆ และแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพราะทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ไม่เพียงต้องการสะท้อนความคิด เห็นของประชาชน แต่ต้องการให้ปัญหาได้ถูกนำไปแก้ไขเพื่อเสริมสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็ง

ประเด็นที่น่าสนใจจากการสำรวจโครงการสำรวจความคิดเห็นกับเกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร 

1. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าไม่มีความจำเป็นในการแก้ไขประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 ร้อยละ 53.4  ไม่แน่ใจร้อยละ 30.5  และ เห็นว่ามีความจำเป็น ร้อยละ 16.1  

2. ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112  ร้อยละ 46.0 ไม่แน่ใจร้อยละ 33.8  และ เห็นด้วย ร้อยละ 20.2  

3. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าประชาชนจะไม่ได้รับประโยชน์ในการแก้ไขประมวล กฏหมายอาญามาตรา 112 ร้อยละ 43.8  ไม่แน่ใจร้อยละ 30.6 และ คิดว่าประชาชนได้รับประโยชน์ในการแก้ไขประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112  ร้อยละ 25.6  

4. ประชาชนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าการแก้ไขประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 จะทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ร้อยละ  47.2 ไม่แน่ใจร้อยละ 31.4 และคิดว่าการแก้ไขประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 จะทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ร้อยละ 21.4     

5. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่านักการเมืองจะได้รับประโยชน์จากการแก้ไขประมวล กฏหมายอาญามาตรา 112 ร้อยละ 49.0 รองลงมาคือประชาชน ร้อยละ 21.8 และไม่แน่ใจว่าผู้ใดจะได้รับประโยชน์ ร้อยละ 29.2

โดยผลการสำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ โครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร โดยละเอียดมีดังต่อไปนี้ 

(ประชาไท, 24-2-2555)

มท.1 ระบุไม่มีกลุ่มล้มสถาบันเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด

24 ก.พ. 55 - เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่าที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.00 น. นายยงยุทธ  วิชัยดิษฐ  รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวว่ามีการกลุ่มล้มล้างสถาบันเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่าง จังหวัดหลายแห่ง เช่น ที่ จ.อุดรธานี ว่า  ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่าไม่มีเลย  กระทรวงมหาดไทยมีเครือข่ายทุกหย่อมหญ้าระดับตำบล และตนก็เพิ่งเดินทางกลับจากไปประชุมครม.สัญจรที่จ.อุดรธานี  และขณะนี้ก็ยังไม่มีใครมายื่นเรื่องขอให้ตรวจสอบ  คน 63 ล้านคนถ้าจะมีคนบ้าๆ บอๆ  ไม่สบาย ไม่สมประกอบสักคนหนึ่งออกมาพูด แล้วก็ขยายกันต่อ ยืนยันว่าไม่มี  ขอให้เลิกคิดเลิกถามได้เลยเพราะเรื่องความไม่จงรักภักดี ไม่มีอยู่ในศีรษะของคนปกติหรอก แต่คนไม่ปกติเราก็ไม่ทราบ   เพราะมันเป็นตัวตน อยู่ในสายเลือดของคนไทย  ตนในฐานะ รมว.มหาดไทย เคยเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย เคยเป็น ผวจ.มาก่อน บอกได้เลยว่าเรื่องนี้ไม่มี  เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยมีทุกหย่อมหญ้าตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน  เรามีข้อมูลทุกตารางนิ้วของประเทศไทย ไม่เคยได้ยินข่าวพวกนี้  ก็อย่าได้พยายามสร้างกระแสความขัดแย้ง สร้างความคิดนี้ขึ้นมาเพราะมันไม่มี ตนตอบได้ชัดเจนและไม่ลังเล ยืนยันแทนพี่น้องประชาชนได้ทั่วประเทศ   ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ตรวจเช็คอยู่แล้ว ถามไปก็ไม่มี ตนออกไปต่างจังหวัดเยอะก็ไม่เคยมีใครมาให้ข้อมูลเรื่องนี้เลย มีแต่ความจงรักภักดี ซึ่งก็ทราบข่าวดีมาว่าพระองค์ทรงมีพลานามัยแข็งแรงขึ้นเป็นข่าวดีของพสกนิกร

เมื่อถามว่า ตั้งแต่ช่วงที่บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายในปี 2552-2553 ที่ผ่านมามีการสอดโคลนกันไปมาว่าบา'กลุ่มจะล้มล้างสถาบัน นายยงยุทธ กล่าวว่า  แล้วมีหรือไม่  ดูจากการที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี มางานรักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ มารับหรือไม่  ถ้านายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีก็ต้องมายืนรับเหมือนกัน นี่ระดับประธานองคมนตรีทุกคนก็เคารพ สำหรับสถาบันที่สูงส่งกว่านั้นยิ่งไม่มีปัญหา  ทั้งนายขวัญชัย ไพรพนา นพ.เหวง โตจิราการ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช.ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันหมดแล้วว่า เรื่องพวกนี้ไม่มี

เมื่อถามว่า  มองว่าบางกลุ่มชูประเด็นนี้ขึ้นมาไปโยงกับการต่อต้านการที่รัฐบาลเดินหน้า แก้รัฐธรรมนูญ โดยพรรคประชาธิปัตย์โจมตีว่าจะไปแก้ไขโยงหมวดพระมหากษัตริย์หรือไม่  รองนายกฯ กล่าวว่า  "ก็ลองไปแตะดูเถอะ เขาจะพูดก็พูดไป แต่เราก็ยืนยันว่าเราไม่แตะ ใครก็ตามที่ลองไปแตะดู จะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ และผมคิดว่าคนที่มาแตะไม่มีด้วย ยืนยันว่าไม่มี แต่ก็พยายามที่จะพูดใส่ร้ายป้ายสีกันมา มีมาตั้งแต่อดีต ในยุคปัจจุบันนี้คนเข้าใจเท่าเทียมกันหมด การสื่อสารเร็วจี๋ ประเด็นพวกนี้สื่อเองไม่ต้องมาถามพรรคเพื่อไทย และไม่ต้องไปถามใครที่เป็นคนไทยว่ามีความคิดเรื่องนี้อย่างไร เสียเวลา คุยเรื่องอื่นดีกว่า  เพราะไม่มีอยู่ในความคิด"  นายยงยุทธ กล่าวว่า

รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นว่าประเด็นเรื่องนี้จะไม่มีผลเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คอยดูแล้วกัน ถ้าดูจากผลคะแนนเสียงในสภาฯจากการโหวตลงมติเลือนหรือไม่เลื่อนการพิจารณา ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผลออกมา 341 เสียง ต่อ  180 ให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าเราต้องการระบอบการปกครองอย่างนี้ก็ต้องเคารพประชาชน  โดยผ่านทางเสียงของผู้แทนประชาชนในรัฐสภา เมื่อตอนที่มีการรัฐประหาร ทำไมบางฝ่ายเงียบกริบ แต่พอพรรคเพื่อไทยหาเสียงและแจ้งว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญ เราก็ทำตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ทำตามนโยบาย มันจะเอาตรงไหนมาเกี่ยวว่าจะมาช่วยคนๆ เดียว  จะไปลดพระราชอำนาจหรือไปแตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์หรือจะไปเกี่ยวกับประมวล กฎหมายอาญา ม. 112

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองบทบาทนายคณิต ณ นคร  ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายอย่างไรที่ออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขอให้รอร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนก่อน นายยงยุทธ กล่าวว่า  ไม่อยากวิจารณ์ท่านอื่น    คิดว่าการทำอะไรของใครก็ตามเมื่ออ้าปากพูดขึ้นมาเราก็จะทราบว่าท่านนั้นพูด มีวาระซ่อนเร้นหรือพูดเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติประชาชน พออ้าปากพูดสื่อก็แทบจะจับได้ว่าพูดเพื่อให้เกิดปัญหา  ความแตกแยกหรือพูดเพื่อให้เกิดความปรองดอง สังคมเกิดความสงบสุขก็จะจับคำพูดได้ทันที  เมื่อถามว่า มองว่าแม้จะมีกระแสต่อต้านขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ล่าช้า แต่ด้วยเสียงในสภาฯรัฐบาลจะผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญไปได้ตลอดรอดฝั่ง นายยงยุทธ กล่าวว่า  จะเป็นไปได้หรือไม่อยู่ที่สิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติประชาชน และ ต้องไว้วางใจตัวแทนของราษฎรที่เขาได้เลือกตั้งมา ถ้าเราไว้ใจระบอบประชาธิปไตยก็ต้องไว้ใจประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ด้วย ถ้าเราฟังเสียงประชาชนเหมือนประเทศที่เขาเจริญแล้วทุกอย่างก็จะจบ  แต่ที่ทุกอย่างไม่จบเพราะไม่ฟังเสียงประชาชน แต่ไปฟังเสียงผู้มีอำนาจบางคนบางกลุ่ม และจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ปัญหาถึงได้ขึ้นจนทุกวันนี้ แต่ถ้าเรามีจิตใจเชื่อมั่นและเคารพการตัดสินใจของประชาชน เคารพผลของการเลือกตั้ง และเคารพมติของผู้แทนประชาชนเรื่องทุกเรื่องก็จะจบ เหมือนในประเทศใหญ่ ๆ ประเทศอื่น ความเห็นที่แตกต่างกันก็มีเยอะแต่จะมาจบลงที่เสียงของประชาชน และเสียงตัวแทนประชาชน

เมื่อถามว่า เสียงของรัฐบางในสภาฯคงไม่มีปัญหา แต่ก็มีเสียงกลุ่มต่อต้านที่เคลื่อนไหวต่อต้านทุกสัปดาห์ นายยงยุทธ กล่าวว่า  เสียงในสภาฯมาจากไหน  แต่งตั้งโดยคนหนึ่งคนใดหรือไม่  หรือแต่งตั้งโดยคนทีเปลี่ยนแปลงโดยใช้กำลังหรือเปล่า หรือเสียงในสภาฯเป็นเสียงที่ประชาชนเขชาเลือกตั้งมาโดยยุติธรรมและเสรี สื่อทุกคนเป็นพยานได้ว่าการเลือกตั้งครั้งหลังสุดที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือก ตั้งมาอย่างถล่มทลายไม่มีการใช้เงิน ซื้อเสียง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็ต้องเคารพเสียงของประชาชนในสภาฯ

(แนวหน้า, 24-2-2555)

หมอตุลย์ชุมนุมอนุสาวรีย์ชัยฯ ต้านแก้ รธน. - ม.112

25 ก.พ. 55 - เครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดินหรือกลุ่มเสื้อหลากสี ได้ชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านการตั้ง สสร. ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ทั้งฉบับ เนื่องจากทางกลุ่มเชื่อว่าเป็นการแก้ไขเพื่อช่วยเหลือคนๆ เดียว โดยทางกลุ่มเริ่มชุมนุมตั้งแต่เวลา 16.00 น. ถึง 18.00 น. ก่อนเดินทางกลับ และได้หมายนัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิทุกวันเสาร์ เพื่อดูท่าทีว่าคณะกรรมาธิการร่วมแก้มาตรา 291 จะแปรญัตติออกมาเป็นอย่างไร

และนอกจากการนัดชุมนุมทุกวันเสาร์แล้ว ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 2 มี.ค. กลุ่มเสื้อหลากสี และภาคีเครือข่าย 13 องค์กร อาทิ กลุ่มสยามสามัคคี และนักวิชาการ จะไปร่วมจัดเสวนาเรื่องนี้กันที่เวทีลีลาศสวนลุมพินี

(ประชาไท, 26-2-2555)

'ครก.112'ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อโบนันซ่า 

25 ก.พ. 55 - ที่โบนันซ่า รีสอร์ตเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราช สีมา สถานที่จัดงานชุมนุมใหญ่ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ภายใต้ชื่อ "คอนเสิร์ตหยุดรัฐ ประหาร เปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ"

ทั้งนี้มีกลุ่มคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) เดินทางมาตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีคนเสื้อแดงนำหลักฐานมาร่วมลงชื่อกันเป็นจำนวนมาก 

(ข่าวสด, 26-2-2555)

‘ฮิวแมนไรท์ วอทช์’ กังวลกรณีนักโทษคดีหมิ่นไม่ได้สิทธิประกันตัว

25 ก.พ. 55 - องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ “ฮิวแมนไรท์ วอทช์” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกรณีที่ผู้ต้องหาในคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกปฏิเสธสิทธิการประกันตัวอย่างต่อเนื่อง โดยฮิวแมนไรท์ วอทช์ชี้ว่า การที่ศาลไทยไม่อนุญาตให้นักโทษในคดีดังกล่าวประกันตัว เป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง ซึ่งเป็นเสมือนการลงโทษที่ไม่มีเหตุผลเหมาะสมรองรับ

ในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า จากจำนวน 12 คดีที่อัยการสั่งฟ้องผู้สนับสนุน นปช. ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ยังไม่มีกรณีใดเลยที่ได้รับการประกันตัว ซึ่งตรงข้ามกับในกรณีของสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งถูกฟ้องเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 53 และได้รับการประกันตัวแล้วในวันเดียวกัน

ฮิวแมนไรท์ วอทช์กล่าวถึงคดีผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสามกรณีที่ถูกปฏิเสธการขอ ประกันตัวมาแล้วอย่างน้อยคนละ 5 ครั้ง ได้แก่ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ โจ กอร์ดอน และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งในกรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ฮิวแมนไรท์ วอทช์ชี้ว่า การที่เขาถูกปฏิเสธการประกันตัวมาถึง 7 ครั้งและถูกส่งไปรับฟังการพิจารณาคดีใน 4 จังหวัด คือ สระแก้ว เพชบูรณ์ นครสวรรค์และสงขลา อาจเป็นการกลั่นแกล้งผู้ต้องหา และชี้ว่า อาจเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นตั้งแต่แรก เนื่องจากพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ

“ปัญหาความไม่ยุติธรรมของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกทำให้เห็นชัดเจนขึ้นโดยการปฏิเสธสิทธิประกันตัว [แก่ผู้ต้องหา] และการคุมขังที่กินเวลานานก่อนการไต่สวนคดี” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์ วอทช์กล่าว

ทั้งนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 54 โดยคำฟ้องระบุว่าเขากระทำผิดตามม. 112 จากการเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ ซึ่งถูกมองว่าเผยแพร่เนื้อหาที่หมิ่นเบื้องสูง เขาถูกปฏิเสธการขอประกันตัวมาแล้ว 7 ครั้งโดยศาลให้เหตุผลว่าข้อหาที่ถูกกล่าวโทษมีอัตราสูง กระทบต่อศีลธรรมอันดีงามของประชาชน หากปล่อยตัวชั่วคราวอาจจะหลบหนี เช่นเดียวกันกับกรณีของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, โจ กอร์ดอน และ “อากง” หรืออำพล นักโทษคดีหมิ่นฯ ผู้ถูกตัดสินจำคุกด้วยม. 112 จำนวน 20 ปี ซึ่งล่าสุดถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวเช่นเดียวกัน

อนึ่ง ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและ สิทธิทางการเมืองแห่งสหประชาชาติ ซึ่งระบุว่า “มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดี ในขั้นตอนอื่นของกระบวนพิจารณา และจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษา เมื่อถึงวาระนั้น" 

(ประชาไท, 26-2-2555)

สมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวน เห็นว่าควรแก้ ม.112

27 ก.พ. 55 - “มติชนทีวี” เผยแพร่บทสัมภาษณ์ “สมชัย จึงประเสริฐ” กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวน อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โดยสมชัยระบุว่าคิดว่าหลายปีที่ผ่านมานั้น มันมีปัญหานี้ เราน่าจะแก้ไขปรับปรุงได้ ปรับปรุงไม่ได้หมายความว่าจะให้ยกเลิก หรือเลิกคุ้มครอง แต่เป็นการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งไปดึงสถาบันฯ เพื่อมาทำลายคนอื่น ตรงนี้ต้องแก้ไขปรับปรุง

(มติชน, 27-2-2555)

'เจ๋ง ดอกจิก' ขึ้นศาลปฏิเสธปราศรัยหมิ่นสถาบัน 

27 ก.พ. 55 - ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ฟ้องนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ผู้ช่วยเลขานุการ รมช.มหาดไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีเมื่อวันที่ 29 มี.ค.53 จำเลยขึ้นปราศรัยที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน ด้วยถ้อยคำหมิ่นเบื้องสูง โดยจำเลยแถลงต่อศาลขอให้การปฏิเสธ พร้อมนำพยานเข้าสืบจำนวน 20 ปาก ฝ่ายอัยการโจทก์แถลงขอนำพยานเข้าสืบจำนวน 16 ปาก ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 30-31 ต.ค.55 และสืบพยานจำเลยวันที่ 27-28 พ.ย.55 และวันที่ 11–12 ธ.ค.55.

(ไทยรัฐ, 27-2-2555)

พิพากษาจำคุก 7 ปีครึ่ง “สุรชัย แซ่ด่าน” ยังเหลืออีก 2 คดี

28 ก.พ.55 - ที่ห้องพิจารณาคดี  801 ศาลอาญา รัชดา เวลา 10.45 น. ผู้พิพากษา นำโดยนายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ พร้อมองค์คณะนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการฟ้องนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) อายุ 69 ปี กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ใน 3 คดี  ซึ่งเป็นการปราศรัยใน 3 จุด ได้แก่ อิมพีเรียล ลาดพร้าว, อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และ จ.อุดรธานี  ซึ่งนายสุรชัยได้ร้องขอต่อศาลให้พิจารณาพร้อมกันทั้งหมดและได้รับสารภาพใน ทุกคดีแล้ว ทั้งนี้ ในวันนี้มีผู้เข้าฟังผลการตัดสินจนเต็มห้องพิจารณาคดี

ศาลได้อ่านคำพิพากษาแต่ละคดีโดยไม่ได้อ่านทวนเนื้อหาที่โจทก์ฟ้อง ระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับการสืบเสาะแล้วเห็นว่าแม้จะกระทำความผิด ขณะอายุ 68 ปี แต่จำเลยมีบทบาททางการเมืองมายาวนาน และจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เคยเป็นสมาชิก อบจ.นครศรีธรรมธรรม เป็นผู้มีวุฒิภาวะ อีกทั้งช่วงเกิดเหตุสังคมกำลังมีความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวยิ่งทวีความขัดแย้งให้มากขึ้น และเป็นการให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์

ศาลพิพากษา ลงโทษจำคุกจำเลยใน 3 คดี คดีละ 5 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือคดีละ 2 ปี 6 เดือน  ศาลระบุอีกว่า เนื่องจากจำเลยเคยต้องโทษมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่หลาบจำ ไม่สมควรรอการลงโทษ คงเหลือโทษจำคุกทั้งสิ้น  7 ปี 6 เดือน

“ผมมีประสบการณ์การเมืองมา 40 ปี ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้จะไม่พูดได้อย่างไร และเราก็เลี่ยงที่สุดแล้ว คดีทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจากการพูดที่ผมได้เลี่ยงที่สุดแล้ว จะให้ทำอย่างไร” นายสุรชัยให้สัมภาษณ์พร้อมระบุด้วยว่าผลการตัดสินในวันนี้ก็ถือว่าศาลเมตตา

นายคารม พลพรกลาง ทนายความจำเลย กล่าวว่า หากอัยการไม่อุทธรณ์ก็ถือว่า 3 คดีนี้จบ แต่ยังเหลือคดีของ สน.วังทองหลางอีกที่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน หากส่งฟ้องเมื่อไรนายสรุชัยก็เตรียมจะรับสารภาพ ส่วนอีกคดีคือ คดีของ สน.ชนะสงคราม ซึ่งจำเลยตัดสินใจสู้คดี เพราะเห็นว่ามีการตีความความผิด เกินเลยไปจากความเป็นจริง และจะมีการสืบพยานกันในวันที่ 5-8, 12-15 มิ.ย.55

ทั้งนี้ นายสุรชัยถูกจับกุมเมื่อกลางดึกวันที่ 22 ก.พ.54 และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพจนวันพิพากษา โดยทนายได้ยื่นประกันตัวหลายครั้งแต่ศาลปฏิเสธ ขณะที่นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยานายสุรชัยเคยให้สัมภาษณ์ว่านายสุรชัยมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เป็นโรคประจำตัว ทั้งความดัน  เบาหวาน เส้นเลือดหัวใจอุดตัน และต่อมลูกหมากอักเสบ จึงตั้งใจจะรับสารภาพเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ

(ประชาไท, 28-2-2555)

"ยิ่งลักษณ์"ระบุแก้ รธน.ไม่แตะหมวดกษัตริย์ ส่วนหมวดอื่นขึ้นอยู่กับ ส.ส.ร.- ปัดพูดปมยุบองค์กรอิสระ

29 ก.พ. 55 - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ความเห็นส่วนตัวในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ควรจะแก้ไขทั้งฉบับ และควรต้องคงไว้ในหมวดของสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนในเรื่องอื่นๆ นั้นต้องอยู่ที่กระบวนการของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะทำหน้าที่พิจารณา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อกรณีการยกเลิกองค์กรอิสระ แต่รับทราบว่าพรรคเพื่อไทยได้มีมติในการรณรงค์ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน หมวดของสถาบันพระมหากษัตริย์

ส่วนที่จะมีการเพิ่มจำนวน ส.ส.ร.เป็น 150 คน หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คงต้องเป็นหน้าที่ของสภาที่จะพิจารณา

สำหรับการเรียกประชุม ครม.ชุดเล็กเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมานั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นการเชิญรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจมารับทราบ และเห็นชอบต่อ พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับที่ผ่านการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เพื่อเตรียมจะนำเข้าเสนอให้สภาพิจารณาในการประชุมช่วงบ่ายวันนี้

(มติชนออนไลน์, 29-2-2555)

'วรเจตน์' แกนนำนิติราษฎร์ถูกคนร้ายต่อยที่ มธ.

29 ก.พ. 55 - นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์  ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า โดนชกจริงๆ โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงบ่ายๆ  ที่ตนเข้าไปจอดรถในลานจอดรถ และมีชายแปลกหน้าสองคนเข้ามาทำร้ายจากด้านหลัง แต่ตนไม่ได้มองว่าใครเป็นคนทำ

อาจารย์อีกคนที่เห็นเหตุการณ์บอกว่า เป็นบุคคลจากภายนอก ขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามา ทำร้าย และขี่มอเตอร์ไซค์หลบหนีไป ซึ่งขณะนี้ตนตรวจร่างกายอยู่ที่โรงพยาบาลธนบุรี 

เมื่อถามว่ากรณีดังกล่าว ต้องออกแถลงการณ์อะไรหรือไม่  นายวรเจตน์กล่าวว่า  "คงไม่ต้องถึงขนาดออกแถลงการณ์เพราะมันชัดเจนออยู่แล้วว่าผมถูกทำร้าย"

ขณะที่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าทราบเรื่องแล้วและกำลังส่งรองอธิการบดีมาติดต่อประสานงาน

นายธีระ  สุธีวรางกูร อาจารย์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล ถึงเหตุการณ์ที่มีผู้ทำร้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ว่าเหตุการณ์เกิดที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลาประมาณบ่ายสามโมงเศษ  ข้อเท็จจริงจากการให้ปากคำ นั้น นายวรเจตน์ ขับรถมาทำงานตามปกติ ระหว่างการจอดรถมีคนร้ายสองคน ซึ่งเจ้าหน้าที่คณะระบุว่ามาซุ่มดูแต่เช้าก็เข้ามาทำร้ายร่างกาย โดยชกจนนายวรเจตน์ล้มลงและได้รับบาดเจ็บ ขณะนี้นายวรเจตน์ไปที่ โรงพยาบาลธนบุรี แต่ยังไม่ได้แจ้งความ เสร็จแล้วจะกลับมาที่คณะและจะไปแจ้งความ ซึ่งเมื่อกิดเหตุ คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของคณะ  เจ้าหน้าที่ ก็มาสอบถามข้อเท็จจริง ว่าจะให้ปากคำอย่างไร 

นายธีระกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่านายวรเจตน์จำหน้าผู้ก่อเหตุได้หรือไม่  แต่เจ้าหน้าที่คณะจำได้ แม้บ้านบอกว่าสองคนนี้มาตั้งแต่เช้า และบอกว่าเป็นกลุ่มคนที่มาเผาหุ่น นายวรเจตน์ ที่คณะนิติศาสตร์เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ทางคณะจะตรวจสอบกล้องวงจรปิดมาว่าผู้ร้ายเป็นใคร  ทั้งนี้เวลาที่เกิดเหตุเป็นช่วงฉุกละหุก ขณะที่ลานจอดรถค่อนข้างกว้าง ใช้เวลาไม่มาก เมือทำร้ายแล้วคนร้ายก็นั้่งมอเตอร์ไซค์ซ้อนท้ายหนีไป

เมื่อถามว่านายวรเจตน์บาดเจ็บแค่ไหน นายธีระกล่าวว่า  นายวรเจตน์มีอาการบวมที่ใบหน้า แว่นแตก แต่จะมากน้อยขน่าดไหนไม่ทราบ ต้องรอดู นายวรเจตน์พูดอีกครั้ง

(กรุงเทพธุรกิจ, 29-2-2555)

วรเจตน์ยันไม่ยุติบทบาททางวิชาการ นครบาลจัดกำลังคุ้มครอง-นครบาลระบุจับคนร้ายได้แน่ -จัดกำลังดูแล

29 ก.พ. 55 - เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิตาสตร์ มธ. หนึ่งในนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ แถลงข่าวกรณีถูกทำรายร่างกายที่คณะพร้อมกับพล.ต.ต. วิชัย สังขประไพ ผู้บังคับการกองบัญชาการตำรวจนครบาล

โดยนายวรเจตน์เล่าเหตุการณ์ว่าขับนถเข้ามราที่คณะประมาณบ่ายสามโมง โดยช่วงเช้าไปบรรยายที่จุฬา และแวะไปหาหมอที่ร.พ.หัวเฉียว แล้วเข้ามาที่คณะ เมื่อขับรถเข้ามาจอด เก็บของลงจากรถ เจออาจารย์อีกท่านที่จอดรถข้างหลังก็หันไปคุยระหว่างนั้นมีคนเดินเข้ามาข้าง หลัง ก็รู้สึกว่าโดนของกระแทกที่กกหูด้านขวาหลายครั้ง อาจารย์ท่านนั้นจึงมากันคนที่เข้ามาชกเขาออกไป ระหว่างนั้นแว่นตกลงพื้นไปจึงมองอะไรไม่ถนัด แต่ก็มีชายอีกคนหนึ่งวิ่งมาชกเขาอีกหลายครั้ง แล้วขับมอเตอร์ไซค์ออกไป โดยวรเจตน์กล่าวว่าได้ยินว่าชายที่เข้ามาทำร้ายร่างกายของ มารอเขาตั้งแต่เช้า และมีคนได้ยินชายคนดังกล่าวพูดอีกด้วยว่าให้รอดูจากกล่องวงจรปิด

วรเจตน์สันนิษฐานว่าสาเหตุนั้นมีเพียงเรื่องเดียว ซึ่งก๋น่าจะเกี่ยวกับการบทบาททางวิชาการในนามกลุ่มนิติราษฎรฺ เพราะชีวิตไม่มีเรื่องขัดแย้งอย่างอื่น และกิจกรรมทางวิชาการที่ทำไปอาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับบางกลุ่ม เพราะก่อนหน้านี้มีไปรษณียบัตรเขียนจดหมายมาด่าทอ อีกทั้งแม่บ้านของคณะก็เคยบอกว่ามีคนมาถามหาเขาในช่วงที่มีการเผาหุ่นเขาที่ หน้ามหาวิทยาลัย แต่ไม่เคยมีการคุกคามซึ่งหน้า

อย่างไรก็ตาม นายวรเจตน์กล่าวว่า จะไม่ลดบทบาทตัวเองและจะทำงานวิชาการจะทำต่อไป เพราะเป็นการทำไปบนหลักการที่ถูกต้องวางอยู่บนเหตุผลและเสนอให้สาธารณะได้ ตรึกตรอง ถ้าไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยกควรโต้แย้งด้วยเหตุด้วยผล โดยเขากล่าวว่าข้อเสนอของเขาก็มีคนไม่เข้าใจ โดยยกตัวอย่างกรณีทีมีคนโฟนอินเข้าไปพูดคุยกับนายวีระ ธีรภัทรว่า อยากจะตัดคอกลุ่สนิติราษฎร์ทั้งๆ ที่ไม่เข้าว่าเขาเสนออะไร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้า นอกจากนี้เคยมีกรณีคนขับมอเตอร์ไซค์เข้าไปที่ มธ. ศูนย์ลำปางมาบอกนักศึกษาว่าฝากบอกนิติราษฎร์ว่ามาลำปางเมื่อไหร่จะไปยิง

เขากล่าวต่อไปด้วยว่าตัวเขาไม่มีมวลชน เพียงแค่ทำหน้าที่สอนหนังสือและแสดงความคิดต่อสังคม และเป็นเรื่องที่สังคมารับฟังแล้วก็ควรพิจารณาไตร่ครอง และที่ผ่านมาเขาก็ทำกิจกรรมทางวิชาการโดยบริสุทธิ์ใจไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ 

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นก็จะดำเนินการแจ้งความและให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีไปตามกระบวนการ

สำหรับอาการบาดเจ็บนั้น วรเจตน์ระบุว่า มีอาการบวม ฟกช้ำ และมีอาการปวดหู แต่ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ และมีเลือดกำเดาไหล มีแผลในจมูกนิดหน่อย

“สิ่งที่ผมทำผมทำในกรอบของวิชาการและเป็นการแสดงความเห็นต่อสาธารณะเราคง ปล่อยให้เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งชีวิตเราไม่ได้ ผมจะทำต่อไป เพราะผมทำในกรอบของกฎหมายทุกอย่าง อยู่ในกรอบของหลักการที่ถูกต้อง และผมก็ทำเท่าที่เวลาอำนวย ผมมีงานที่ต้องตรวจข้อสอบ สอนหนังสือ แต่เมื่อมีความเห็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะก็ทำ”

วรเจตน์กล่าวตอบผู้สื่อข่าวว่ากังวลถึงการตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากผู้สนับสนุนนิติราษฎร์หรือไม่ว่า

“ผมคิดว่าคนที่สนบัสนุนผมอย่างน้อยก็ต้องมีสติมีเหตุมีผล คงไม่ปล่อยให้เรื่องขัดแย้งบานปลายไป ที่น่าเศร้าคือผมเปิดใจพูด แต่หลายคนปิดหูไม่ฟัง และเกิดความไม่เข้าใจแบบนี้ คนที่ทำร้ายผมไม่รู้จักผม ไม่รู้จักอุปนิสัยกันมาก่อนแต่สามารถทำร้ายกันได้ ผมคิดว่ามันต้องมีเรื่องผิดปกติแน่ๆ ในการสื่อสารและเรียนสื่อมวลชนว่าหลายเรื่องเป็นประเด็นละเอียดอ่อนและขอให้ นำเสนอเป็นหลักเป็นการ

ด้านพล.ต.ต. วินัย สังข์ประไพ กล่าวว่าได้รับคำสั่งจากผบ.ตร. ให้มาดูแลเรื่องนี้ ขณะนี้รู้ตัวและกลุ่มคนร้ายแล้ว โดยมีพยานบุคคลและพยานทางวิทยาศาสตร์เรียบร้อยและกำลังสืบสวนจับกุมอยู่คง ใช้เวลาไม่นาน โดยคนร้ายทั้งหมดมี 2 คน และจากการสืบสวนกลุ่มนีเคยเข้ามาในธรรมศาสตร์ และปฏิเสธว่าไม่ใช่คนมีสี ในส่วนของความปลอดภัยของนายวรเจตน์นั้น ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลจะจัดกำลังดูแลให้

สำหรับฐานความผิดคือ ข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ

ด้านนายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดี มธ. กล่าวถึงการรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยว่า ที่ผ่านมาอธิการบดีก็มีการกำชับให้รักษาความปลอดภัยให้แน่นหนามากขึ้น จากเดิมที่ปล่อยให้ใครต่อใครเข้ามาในมหาวิทยาลัยได้อย่างเสรี โดยระบุว่า ที่ผ่านมามติของสภามหาวิทยาลัยไม่ได้ห้ามนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ทำ กิจกรรมทางวิชาการ แต่ก็พบว่า เป็นเรื่องยากในการดูแลควมปลอดภัยเมื่อมีการทำกิจกรรมเพราะรปภ. ก็มีอยู่จำนวนหนึ่งเท่านั้น

(ประชาไท, 29-2-2555)

8 องค์กรสิทธิไทย ประณามเหตุ 'วรเจตน์' ถูกทำร้าย ร้องรัฐต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน

29 ก.พ. 55 - องค์กรสิทธิมนุษยชนไทย 8 องค์กร ออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงในกรณีการทำร้ายร่างกายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ที่เกิดขึ้นเมื่อราวบ่าย วันนี้ และเรียกร้องให้รัฐรีบหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน พร้อมกับเรียกร้องให้สังคมอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายตาม หลักขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

องค์กรสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ประกอบด้วย เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(คนส.), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.), โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(Enlaw), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF), ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และศูนย์ข้อมูลชุมชน

(ประชาไท, 29-2-2555)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net