Skip to main content
sharethis

“ป้าย เพื่อนร่วมต่อสู้เพื่อสายน้ำ ต่อสู้เพื่อสายธารแห่งหมู่บ้าน ต่อสู้เพื่อคืนฤดูกาล ฤ ท่านตอบแทนโดยการจองจำ” นี่คือคำที่เพื่อนๆ มอบให้ ป้าย ไพจิตร ศิลารักษ์ ก่อนเวลาที่จะมาถึงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ “ผมไม่รู้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกา จะตัดสินออกมาอย่างไร ในวันที่ 24 มกราคม นี้ แต่สิ่งที่ต้องบอกเพื่อรับรู้ร่วมกันว่ายังมีคนจนอีกจำนวนมาก ที่กำลังถูกรัฐใช้กระบวนการยุติธรรมเล่นงานอยู่กว่า 3,800 คดี บทลงโทษที่มักเกิดขึ้นกับคนจนเหล่านี้ มันเป็นความยุติธรรมของใคร กระบวนการยุติธรรมใช้เพียงปรากฏการณ์และมองการเดินขบวนของประชาชน เท่านั้นหรือ ? ผมยืนยันว่าหากไม่มีการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2543 ของชาวบ้านราษีไศล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูเขื่อนราษีไศล และการเรียกร้องในครั้งนั้นก็เป็นเหตุที่นำมาสู่คดีนี้ ผมก็คงไม่ต้องตกเป็นนักโทษเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตรงกันข้ามเพราะมีการชุมนุมในครั้งนั้น ซึ่งนำไปสู่การเปิดประตูระบายน้ำ จึงทำให้ชาวบ้านจำนวนกว่า 70,000 ชีวิต สามารถประกอบอาชีพเดิมอยู่ในชุมชนเดิมได้อย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน” ป้ายบอกเล่าให้เราฟัง อาจเป็นคำบอกเล่าต่อกระบวนการต่อสู้ของป้าย ก่อนเดินเข้าสู่การจองจำหากสังคม หรือกระบวนการยุติธรรมมีมาตรการลงโทษคนที่ปกป้องวิถีชีวิตตนเอง “หากเวลาหมุนกลับได้ โดยไม่มีเขื่อนราษีไศล ชุมชนก็ไม่ต้องมีความขัดแย้ง ไม่มีความแตกแยก ครอบครัวจะอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก มีที่ดินทำกินอย่างพอเพียงกับสมาชิกในครอบครัว มีป่าบุ่ง – ป่าทามให้เลี้ยงวัว – ควาย มีปลาสดๆ จากแม่น้ำมูนกินอย่างเต็มอิ่ม และผู้คนมีรอยยิ้มให้กันจากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลา 19 ปี (เขื่อนราษีไศลสร้างเสร็จและเริ่มกักเก็บน้ำตั้งแต่ปี 2536 – 2555) ใครบ้างได้ทำนาปีละ 2 ครั้ง ใครบ้างได้งานทำ ใครบ้างที่ร่ำรวยเงินทอง สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นเลย เห็นมีแต่ความยากจน ปนความขัดแย้ง ชุมชนแตกแยก วิถีชีวิตล่มสลาย บ้านช่องเหลือแต่คนแก่กับเด็กอยู่เฝ้า คนหนุ่มสาว คนวัยทำงานอพยพไปรับจ้างขายแรงงานในต่างถิ่น เพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว” ป้าย ย้ำกับพวกเรา ในขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) บรรยากาศเวที 'คนดีติดคุก คนทุกข์นอนตะราง' เพื่อรอฟังคำตัดสินคดี ไพจิตร ศิลารักษ์ (คนถือไมโครโฟน) 23 มกราคม 2555 เวลา 17.00 น.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) ร่วมสร้างพลังในการส่งต่อคนหนึ่งคนขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมหน้าศาลศรีษะเกษ พี่น้องจะไปนอนรอให้กำลังใจและเปิดเวทีการเรียนรู้ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนหน้าศาลากลางศรีษะเกษ ในหัวข้อ “คนดีติดคุก คนทุกข์นอนตะราง” โดยจะมีผู้เข้าร่วมเสวนาที่มาจากทั่วประเทศ ทุกคนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น ทุกคนนั่งนับเวลารอ ไม่วันใดก็วันหนึ่งเขาและเธอเหล่านั้นอาจกลายเป็นนักโทษ ที่ถูกกักขังอิสรภาพ แต่ไม่อาจกักขังอุดมการณ์เขาและเธอเหล่านั้นได้ พี่วัยศรี เล่าว่า “ฉันถูกฟ้องข้อหาทำให้โลกร้อน ฉันไม่รู้จะเอาอะไรมาจ่ายให้เขา ฉันคงต้องล้มละลายแน่นอน ลูกฉันจะเอาอะไรไปเรียน ครอบครัวฉันจะอยู่อย่างไรให้รอดจากภาวะเช่นนี้” วิทยา อดีตนักโทษจากคดีบุรุกและทำให้เสียทรัพย์ “ที่ดินของปู่ ยกให้พ่อผม และตกทอดมาถึงผม มีใบจับจองเป็นของเรา วันดีคืนดีมีคนเอาไปออกเอกสารสิทธิ์ และแจ้งจับดำเนินคดีกับผม ผมติดคุกอยู่เป็นปี สุดท้ายได้พักโทษ และกระบวนการตรวจสอบยืนยันว่าเอกสารสิทธิ์ออกโดยมิชอบ DSI ก็ยืนยันเช่นนั้น ผมเลยต้องกลายเป็นนักโทษข้อหาบุกรุที่ดินตนเอง” วิทยาบอกเราในเครือข่ายฯ บุญมี เป็นผู้ถูกกล่าวหาอีกคนจากกรณีต่อสู้เพื่อปกป้องสายน้ำ ชีวิตของตนเองและชุมชนกรณีเขื่อนปากมูล แต่เขากลับกลายต้องถูกยัดเยียดข้อหา กบฏ เวทีจึงสะท้อนสังคมและกระบวนการยุติธรรมของไทย ตอบโจทย์การปรองดอง ของรัฐ และลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้ ฤา เช้าวันที่ 24 มกราคม 2555 เริ่ม 10.00 น. เปิดเวทีเรียนรู้ กรณีความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่เกิดขึ้นเพื่อตอกย้ำรัฐบาลที่กล่าวอ้างเรื่อง สองมาตรฐาน เรื่องความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย แต่แล้วไซร้กรณีที่จะยกขึ้นมาเพื่อให้สังคมสาธารณะได้เรียนรู้ร่วมกันให้ประจักษ์แก่สายตาเชิงประจัก ใน 4 กรณี กรณีชุมชนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคใต้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เอกชนฟ้องแย่งสิทธิในที่ดินกับ สปก.โดยที่มีชุมชนอยู่ในพื้นที่และสร้างบังเกอร์ ที่ใช้แนวป้องกันการสู้รบขึ้นในชุมชนเพราะเอกชนใช้อาวุธสงครามในการข่มขู่คุกคามชุมชน เพื่ออยู่รอดเขาอาจต้องสร้างหลุมหลบภัย เกษตรกรไทยภายใต้รัฐบาลคนจน กรณีคดีคนจนในสวนป่าคอนสาร กรณีที่ดินในภาคเหนือ กรณีการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบของจังหวัดอุบล “สังคมไทยควรเรียนรู้จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในพื้นที่ ที่ขาดการนำเสนอผ่านสื่อ ขาดการเชื่อมต่อทางการเมือง แต่ละกรณีผ่านกระบวนการเสนอการแก้ปัญหากับรัฐบาล ยังขาดการเหลียวแล” ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) เคลื่อนขยับ เจรจากับการเมืองมากว่า 5 เดือน ตั้งแต่เริ่ม หาเสียง ลงปฏิญญาร่วมกันว่าเมื่อท่านเยียบย่างขึ้นสู่อำนาจ ท่านจะเร่งแก้ปัญหาคนจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้หมดสิ้นไป “พวกเราเริ่มตั้งแต่รณรงค์ด้วยมอเตอร์ไซด์ จากภาคเหนือ และขบวนประชาชนจากทุกภาคในนาม Pmove ได้เคลื่อนเข้าเมืองหลวงและเจรจากับตัวแทนรัฐบาลในวันที่ท่านขึ้นรับตำแหน่งนายก และวันที่ 3 ตุลาคม 2554 เรามาทวงสัญญาอีกครั้งจากคนจนทั่วประเทศเพราะสาเหตุท่านไม่เหลียวแลคนจนเลย กว่า 5 พันคน แต่ได้แค่สัญญากลับมาอีกครั้ง สุดท้ายเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2555 เพราะเราประจักชัดว่าท่านไม่เหลียวชายตาหาคนจนตามที่ท่านกล่าวอ้างเลย เราเลยรุกคืบอีกครา ขบวนประชาชนทั่วประเทศหลั่งไหลไปเชียงใหม่ ครม.สัญจรคือเป้าหมาย ไม่มีสัญญาณอะไรจากรัฐบาล ที่เพียงแค่ข้อเสนอเพื่อให้ท่านมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการเพื่อแก้ปัญหาคนจน พลังคนจนจึงสำแดงโดยไม่จำเป็น กว่าสามสิบคนได้รับบาดเจ็บเพื่อแลกกับคำสั่ง” นี่หรือรัฐบาลเพื่อคนจน บ่าย13.00 น.ส่ง ป้าย นายไพจิตร ศิลารักษ์ ขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาล จังหวัดศรีษะเกษ เพื่อรับคำพิพากษาศาลฎีกา กักขัง หรือ ยกฟ้อง พร้อมน้อมรับคำพิพากษา คนจนจะอับจน หรือคนจนควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้แก่สังคมสาธารณะ จากการแก้ปัญหาของรัฐบาลและควรเป็นบทเรียนต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย สื่อมวลชนจะสื่อสารให้สังคมเข้าใจได้อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net