Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากเป็นผู้ติดตามข่าวน้ำท่วม เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม วันนี้ผมเริ่มใกล้เข้าสู่ฐานะ “ผู้ประสบภัยน้ำท่วม” เนื่องจากบ้านผมอยู่ในพื้นที่แขวงสีกัน เขตดอนเมือง บ้านอยู่ห่างจากคลองเปรมประชากรประมาณ 100 เมตร เป็นพื้นที่เสี่ยงถูกน้ำท่วม หลังจากเก็บข้าวของชั้นล่างขึ้นที่สูงตามคำประกาศเตือนของผู้ว่ากทม. และ ศปภ. ผมมีคำถามมากมายที่เกิดขึ้น และคิดว่าชาวกรุงเทพฯ และประชาชนในทุกจังหวัดก็คงมีคำถามคล้ายๆ กัน ที่อยากให้ ศปภ. , ผู้ว่ากทม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยแถลง ช่วยตอบ ด้วยครับ คำถามก่อนน้ำท่วม 1. ถ้าน้ำทะลักมาจริงๆ ผมจะได้รับการเตือนภัยหรือไม่ จากช่องทางไหน (ทีวี , SMS, รถกระจายข่าวของสำนักงานเขต, จุดพลุ ฯลฯ) เพราะเมื่อดูข่าวพื้นที่ถูกน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร บางบัวทอง ฯลฯ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมให้ข้อมูลเหมือนกันว่า ก่อนที่น้ำจะทะลักไหลเข้ามาท่วมบ้าน ไม่มีการแจ้งเตือนให้รู้ตัวเลย 2. เวลาแจ้งเตือนให้ยกของขึ้นที่สูง หรือขึ้นชั้นสอง หลายบ้านคงเจอปัญหาคล้ายๆ กันว่าไม่สามารถยกของที่อยู่ชั้นหนึ่งขึ้นไปชั้นสองได้หมด ก็ต้องพยายามยกขึ้นที่สูง แต่ยกไปก็สงสัยไปว่า ต้องยกของสูงเท่าใดถึงจะปลอดภัย 1 เมตร หรือ 1.5 เมตร หรือ 2 เมตร เอาของขึ้นโต๊ะกินข้าวจะพ้นน้ำหรือไม่ ช่วยคาดการณ์ระดับได้มั๊ยครับ คนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่จะได้ยกของได้ถูก หรือลงทุนซื้อที่วางของได้ถูกต้อง 3. หากมีการแจ้งให้อพยพ ผมอยากรู้ว่าผมควรใช้เส้นทางไหนในการเดินทาง ควรไปโดยวิธีใด รถส่วนตัว รถของสำนักงานเขต รถของทหาร และจะให้ขึ้นรถได้ที่ไหน 4. หากต้องไปอยู่ศูนย์พักพิง ช่วยบอกข้อมูลด้วยครับว่าผมควรเตรียมตัว เตรียมของ ไปอยู่นานประมาณกี่วัน จะได้เตรียมตัว เตรียมใจได้ถูก 5. ผมอยากรู้ก่อนการอพยพจากบ้านว่า เมื่อน้ำท่วมบ้านผมแล้ว น้ำจะท่วมอยู่สักกี่วัน หรือกี่เดือน จะได้เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ไปได้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะไปอยู่บ้านญาติ หรือไปอยู่ศูนย์พักพิง และจะได้รู้ว่าผมควรวางแผนการใช้ชีวิตอย่างไรในช่วงน้ำท่วม ทั้งเรื่องไปทำงาน ลูกไปเรียน การกลับมาดูบ้านเป็นระยะ ฯลฯ คำถามหลังน้ำท่วม 6. ผมคิดว่าผู้ที่ถูกน้ำท่วมต่างมีความเครียดนานับประการ เพื่อลดความเครียดให้แก่ประชาชน ผมอยากให้รัฐบาลช่วยทำการบ้าน (มีหน่วยงานภาครัฐจำนวนมากที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำโดยตรง พอที่จะมีเวลาช่วยคิดเรื่องนี้ได้) เพื่อช่วยบอกข่าวดีบ้างว่า รัฐบาลจะมีนโยบายและมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังน้ำท่วมอย่างไร เช่น เรื่องการซ่อมแซมบ้าน คนที่ทำงานในโรงงานซึ่งยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ ข้าวและผลผลิตทางการเกษตรที่ถูกน้ำท่วม ฯลฯ 7. ตอนนี้ผมเริ่มคิดถึงการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด ผมอยากรู้ข้อมูลว่า ในปีหน้า หรือปีต่อๆ ไป มีโอกาสจะเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่แบบนี้มากน้อยเพียงใดในพื้นที่ต่างๆ จะได้ตัดสินใจลงทุนปรับปรุง ซ่อมแซม และป้องกันบ้านจากภัยน้ำท่วมได้อย่างเหมาะสม คำถามต่อการทำงานของ ศปภ. และ กทม. 8. การแถลงข่าว การให้ข้อมูลตามช่องทางการสื่อสารต่างๆ ของ ศปภ. และ กทม. ทำเป็น 2 เวอร์ชันได้มั๊ยครับ (1) เวอร์ชันแบบทั่วไปอย่างที่ทำอยู่ในเวลานี้ และ (2) เวอร์ชันแบบเทคนิค มีข้อมูลวิชาการเชิงลึก เพื่อให้ผู้ที่เข้าใจและสนใจข้อมูลเหล่านี้ จะได้เข้าใจเหตุผลที่ท่านใช้ประกอบการตัดสินใจมากขึ้น เช่น ทำไมเปิดหรือไม่เปิดประตูระบายน้ำ ทำไมผันน้ำไปทางนี้ ทำไมไม่เร่งผันน้ำลงทะเล ฯลฯ และจะได้ไม่เกิดปัญหาการวิจารณ์บางเรื่องออกไปอย่างเข้าใจผิด (ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในสังคมออนไลน์) สร้างความสับสนในสังคม รวมทั้งช่วยเพิ่มความเชื่อถือต่อการตัดสินใจและการดำเนินงานของ ศปภ. มากยิ่งขึ้น 9. ศปภ. ช่วยปรับปรุงเวปไซด์ของ ศปภ. ให้เป็นแหล่งรวมข้อมูลที่สำคัญๆ สำหรับการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมได้มั๊ยครับ และเป็นข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบเบื้องต้นแล้วว่าเชื่อถือได้ เช่น - แหล่งข้อมูลติดตามสถานการณ์น้ำท่วม - วิธีการป้องกันบ้านจากน้ำท่วมอย่างถูกต้อง เช่น การกั้นกระสอบทราย การก่ออิฐ ฯลฯ - การป้องกัน/ลดความเสียหายรถยนต์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้าจากน้ำท่วม (หากเคลื่อนย้ายหนีน้ำไม่ได้ ) - การใช้ชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยหากติดอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วม - การเตรียมข้อมูล การเตรียมตัวเพื่อติดต่อบริษัทประกันภัย ฯลฯ ผมประเมินว่า จากข้อมูลที่ ศปภ. และ กทม. มีอยู่ในเวลานี้ อาจไม่มีข้อมูลที่จะตอบได้อย่างชัดเจนในทุกคำถาม ผมอยากให้ช่วยบอกข้อมูลในลักษณะคาดการณ์ก็ได้ครับ มีแนวโน้ม/ความเสี่ยงมาก ปานกลาง หรือน้อย และในกรณีไม่มีข้อมูลก็โปรดแจ้งว่าไม่มีข้อมูลเพียงพอ ผมและประชาชนจะได้รู้ว่าควรตัดสินใจอย่างไร หรือ ควรจะหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไร และจะได้เป็นการเปิดขยายพื้นที่ให้นักวิชาการ องค์กรชุมชน ที่มีข้อมูลได้ช่วยส่งข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ ศปภ.และ กทม. หมายเหตุ (1) ผมอยากบอกว่า หากผมเป็นคนต่างจังหวัดที่น้ำกำลังท่วมอยู่ ผมคงรู้สึกน้อยใจเนื่องจากการแถลงข่าวของศปภ. มีแต่ข้อมูลเฉพาะคนกรุงเทพฯ เป็นหลัก คนต่างจังหวัดก็อยากรู้ว่า น้ำจะลดหรือยัง ใช้เวลานานเท่าใด รัฐบาลมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรต่อจากนี้ (2) ช่วยปรับปรุงบริการรับเรื่องแจ้งขอความช่วยเหลือจาก Hot Line ของรัฐบาลด้วยครับ เพิ่มคู่สายรับเรื่องขอความช่วยเหลือให้มากขึ้น เช่น เบอร์ 1111 โทรไม่เคยติด

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net