Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีต สสร.รัฐธรรมนูญ 2540 และ ส.ว. จากการเลือกตั้งสมัยแรก ตอบคำถาม 15 ประเด็นที่ ศ. ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ตั้งคำถามต่อนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ที่ออกมาเสนอให้ลบล้างผลพวงแห่งการรัฐประหาร 19 กันยายน2549 โดยเขาโพสต์ข้อความดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งประชาไทขออนุญาตนำเผยแพร่อีกครั้ง และเพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่าน ประชาไทได้นำคำถามของ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีคนปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเรียบเรียงในลักษณะ ถาม-ตอบ ดังนี้ 1เราสามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ เช่นการยกเลิก รธน. 2549 ตอบ นิติราษฎร์ไม่ได้เสนอให้ยกเลิกรธน. 2549 แต่ให้ถือว่าการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ทำรัฐประหารตามมาตรา 37 ไม่เกิดผลตามกฎหมาย 2.ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมาแต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่ ตอบ ตามป.วิอาญา การสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีผลทำให้การฟ้องคดีของอัยการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ซึ่งโดยหลักการพิจารณาคดีก็ต้องถือว่าไม่ชอบทั้งหมด แต่ศาลไทยบอกไม่เป็นไร หากพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดจริง ก็ลงโทษจำเลยได้ ซึ่งก็เหมือนกับการยอมรับว่าการรัฐประหาร(การกระทำความผิดฐานกบฎ)เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหากทำสำเร็จนั้นเอง 3.ถ้ามีคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วง คมช.ไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการใหม่ คนอีกกลุ่มเห็นว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น ศาลตัดสินผิดโดยสิ้นเชิง คนกลุ่มหลังจะขอให้ยกเลิกรธน. 2540 ตั้งศาลรธน.ใหม่ แล้วพิพากษาคดีซุกหุ้นใหม่ จะได้หรือไม่ ตอบ ศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดีซุกหุ้นของทักษิณ เกิดจากรธน. 2540 ที่มิได้มีที่มาจาการรัฐประหารเหมือน รธน.2550 หากมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าศาลตัดสินผิดก็น่าจะมีการออกกฎหมายมาให้รื้อฟื้นคดีใหม่ได้ โดยไม่ต้องยก เลิกรธน. 2540 ซึ่งมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำผิดกฎหมายฐานกบฎ (การทำรัฐประหาร) 4.ประชาชนจะลงมติแก้รธน.ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ ตอบ เป็นคำถามประเด็นเดียวกันกับคำถามที่ 1 คำตอบก็คือไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่เป็นการยกเลิกเพิกถอนผลของการกระทำที่เกิดจากรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงของการรัฐประหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 5.รธน.2550 ได้รับการลงประชามติโดยประชาชน ในทางกฎหมายเราจะพูดได้หรือไม่ว่า ประชาชนลงมติโดยไม่ถูกต้อง หรือรธน. 2550 ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน? ตอบ พูดได้ เพราะมีการหลอกลวงขู่เข็ญบังคับให้ประชาชนลงมติ จึงเป็นการลงประชามติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 6.ตั้งโดยคมช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตั้งโดย คมช. ใช่หรือไม่ ตอบ คตส.ตั้งโดย คมช.แน่นอน ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองก็เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่ง คมช.เป็นผู้ให้กำเนิดเช่นกัน ดังนั้น เมื่อการกระทำรัฐประหารของคมช.เป็นการกระทำที่ละเมิดบทบัญญัติมาตรา 63 แห่งรธน. 2540 และเป็นความผิดฐานกบฎตามป.อาญามาตรา 113 ทั้งคตส.และศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองจึงเป็นองค์กรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยกันทั้งคู่ 7.การดำเนินการตามแนวคิดของนิติราษฎร์ ไม่มีผลทางกฎหมายต่อนายกทักษิณเลยใช่หรือไม่ ตอบ ตามที่นิติราษฎร์แถลง มีผลโดยตรงแน่นอน คือต้องพิจารณาคดีใหม่โดยกระบวนการยุึติธรรม ที่ชอบด้ยหลักนิติธรรม ถ้ากระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหาก็ต้องถูกลงโทษ 8.มาตรา 112 ขัดแย้งกับ รธน .จริงหรือ และขัดกับรธน. 2550 ที่จะถูกยกเลิกใช่หรือไม่ ตอบ ป.อาญา ม.112 เท่าที่มีการตีความและใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีผลขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนซึ้งเป็นสิทธิขั้นมูลฐานตามรธน.ของประชาชนโดยสิ้นเชิง แต่อาจไม่ขัดแย้งกับรธน.2550 เพราะเจตนารมณ์ของผู้ร่าง (สสร. 2550) ไม่ถือว่าขัดแย้งอยู่แล้ว 9.ประเทศทั้งหลายในโลกรวมทั้งเยอรมัน เขาไม่คุ้มครองประมุขของประเทศเป็นพิเศษแตกต่างไปจากประชาชนใช่หรือไม่ ตอบ ทุกประเทศมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของประเทศ แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเช่นเยอรมัน อังกฤษ อเมริกา เขาถือว่าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามหลักนิติธรรม ประมุขของประเทศจึงอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ หากมีการกระทำใด ๆที่มีผลต่อการเมืองการปกครองของประเทศไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม 10.ถ้ามีคนไปโต้แย้งนิติราษฎร์ในที่สาธารณะเขาจะไม่ถูกขว้างปาและโห่ฮาเหมือนกับหมอตุลย์ใช่หรือไม่ ตอบ หากท่านคิดจะไปโต้แย้งกับนิติราษฎร์ ท่านอธิการก็จัดเวทีที่ธรรมศาสตร์สิครับ ผมเชื่อว่าไม่มีใครกล้าโห่ฮาท่านแน่นอน 11.ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาศ สฤษฏ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกทักษิณ ตอบ การประกาศให้ผลของการรัฐประหาร ไม่เป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำผิดฐานกบฎ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้ประชาชนลงประชามติตามที่นิติราษฎร์เสนอ เป็นการยกเลิกการนิรโทษกรรมที่กำหนดไว้ใน รธน. 2550 ไม่ใช่ยกเลิกกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว ส่วนที่ถามว่าทำไมไม่ยกเลิกผลของการกระทำรัฐประหารของสุจินดา ถนอม สฤษดิ์ จอมพล ป. ปรีดี แล้วเอาตัวคนเหล่านี้มาลงโทษฐานกบฎด้วย เห็นด้วยว่าสมควรทำในสิ่งที่ยังพอกระทำได้ เช่นการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำรัฐประหารเหล่านั้น (โดยเฉพาะผู้ที่ถูกลงโทษโดยไม่ผ่านการพิจารณาคดีตามกระบวนการยุติธรรม) แต่การนำตัวผู้กระทำรัฐประหารมาลงโทษคงกระทำไม่ได้แล้วเพราะผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ตายไปแล้ว ที่ยังเหลืออยู่คดีก็ขาดอายุความหมดแล้ว 12.ความเห็นของนักกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกับนิติราษฎร์แต่ดีกว่านิติราษฎร์ รัฐบาลนี้จะรับไปใช่หรือไม่ ตอบ ช่วยเสนอให้หน่อยว่าความเห็นของท่านที่ดีกว่าของนิติราษฎร์ คือ อย่างไร ถ้าดีกว่าจริงจะขอสนับสนุนเต็มที่เลย ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายด้วยกัน 13.ศาลรธน. ช่วยนายกทักษิณคดีซุกหุ้นถือว่าใช้ได้ แต่ไม่ช่วยคดียึดทรัพย์ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นตุลาการภิวัตน์ใช่หรือไม่ ตอบ ตุลาการภิวัตน์ คือตุลาการที่ยอมตนเป็นเครื่องมือและอาวุธให้แก่ผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ใช้เพื่อประหัตประหารและทำลายล้างศัตรูของตน ตุลาการศาลทั้งในคดีซุกหุ้นและคดียึดทรัพย์ทักษิณ จึงเป็นตุลาการภิวัฒน์ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าในคดีซุกหุ้นตุลาการภิวัตน์เป็นฝ่ายแพ้ 14.บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรธน. 2550 แย่กว่า รธน. 2540, 2475 ที่นิติราษฎร์จะนำมาใช้ใช่หรือไม่ ตอบ บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพตามรธน.2550 และฉบับอื่นทุกฉบับไม่มีความหมายอะไรเลย ไม่มีฉบับใดดีกว่ากัน เพราะตราบใดที่ตุลาการไทยยังยอมรับว่ารัฏฐาธิปัตย์คือผู้ที่ได้อำนาจอธิปไตยมาโดยรถถังและปืนและอำนาจอธิปไตยไม่ใช่อำนาจของประชาชน 15.คมช. เลว สสร.ที่มาจาก คมช.ก็เลว รธน.2550 ที่มาจาก สสร.ก็เลว แต่รัฐบาลที่มาจาก รธน. เลว เป็นรัฐบาลดีใช่หรือไม่สสร.ที่มาจากรัฐบาลชุดนี้ และที่ อ.วรเจตน์จะเข้าร่วม ก็เป็นสสร.ที่ดีใช่หรือไม่” ตอบ ไม่ใช่เรื่องใครดีใครเลว แต่เป็นเรื่องของหลักการในทางนิติศาสตร์ ที่จะต้องมีการยืนยันว่าระหว่างอำนาจรัฐกับเสรีภาพของประชาชนและระหว่างระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตย นักกฎหมายควรจะยืนอยู่ข้างใดมากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net