Skip to main content
sharethis

3 สิงหาคม 2554 เด็กหญิงศิรินทิพย์ สำอาง หรือน้องพอมแพม อายุ 3 ขวบ ถูกหญิงลึกลับ ลักพาตัวไปจากบริเวณห้องเช่าย่านเคหะบางพลี จนถึงวันนี้ล่วงเลยมาแล้ว 1 สัปดาห์เต็มยังไม่สามารถติดตามตัวน้องพอมแพม กลับคืนสู่อ้อมอกของผู้เป็นแม่ได้ จากสถิติของศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา มีเด็กถูกลักพาตัวไปไม่น้อยกว่า 50 ราย โดยในจำนวนนี้มีเด็กอีกประมาณ 20 รายที่ยังตามตัวไม่พบ และดูเหมือนว่าการติดตามหาเด็กที่ถูกลักพาตัว จะกลายเป็นเรื่องห่างไกลจากบทบาทของผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายออกไปทุกที มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเรื่องการรับแจ้งเหตุและติดตามคนหายมาเกือบ 10 ปี ขอสะท้อนและวิพากษ์กระบวนการของรัฐกับการรับมือเหตุลักพาตัวเด็กอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแปลง อันอาจนำมาสู่แนวทางที่ควรจะเป็นในอนาคต ปัญหาเรื่องดุลพินิจ-หายไม่ถึง 24 ชั่วโมง นาทีแรกที่ครอบครัวเด็กหาย สงสัยว่าลูกจะถูกลักพาตัว นอกจากการออกติดตามด้วยตัวเองตามสถานที่ต่างๆ แล้ว ทุกครอบครัวยังนึกถึงตำรวจเป็นหน่วยงานแรกๆ ในการทเข้าไปขอความช่วยเหลือ ด้วยหวังว่าวิชาชีพตำรวจที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายจะออกสืบสวนติดตามเด็กหายได้ตามกระบวนการที่มีอย่างฉับไวและมีประสิทธิภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหตุลักพาตัวเด็ก มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาเย็นหรือเวลาค่ำ ดังนั้น กว่าครอบครัวเด็กจะออกติดตามหาด้วยตัวเอง จนแน่ใจว่าไม่พบตัวลูกแน่นอนแล้วถึงจะไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเป็นลำดับต่อไป เวลาก็อาจจะล่วงเลยไปถึงช่วงดึกดื่นแล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าในช่วงเวลากลางคืน บนสถานีตำรวจจะมีเจ้าหน้าที่อยู่เวรเพียงไม่กี่คน ที่สำคัญเกือบทุกครอบครัว มักพบประสบการณ์ในการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจแบบเดียวกันว่า “หายไม่ถึง 24 ชั่วโมง ยังแจ้งความไม่ได้” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กรอบระยะเวลาในการรับแจ้งความคนหาย ไม่มีกฎหมายระบุไว้ชัดเจน การอ้างว่าต้องหายออกจากบ้านไปครบ 24 ชั่วโมงก่อน ถึงจะแจ้งความคนหายได้ จึงเป็นเพียงการใช้ดุลพินิจเท่านั้น ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งว่า กรณีเด็กเล็กซึ่งไม่มีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง และหายตัวไปในลักษณะเข้าข่ายถูกลักพาตัว เหตุใดตำรวจในหลายกรณีจึงใช้ดุลพินิจว่าเด็กจะต้องหายไปครบ 24 ชั่วโมงก่อน จึงจะรับแจ้งความ ซึ่งหากมองอย่างตรงไปตรงมา ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ว่า ทำไมสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กที่น่าจะถูกลักพาตัว จึงไม่ได้รับการคุ้มครองโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญซึ่งอยู่ในวงการบังคับใช้กฎหมายท่านหนึ่ง ได้เคยให้ความเห็นว่า การใช้ดุลพินิจปฏิเสธการรับแจ้งความในลักษณะนี้ ในวงการผู้บังคับใช้กฎหมาย เรียกว่า “เป่าคดี” คือ ปิดเรื่องตั้งแต่ยังไม่ได้รับเรื่อง หรือผลักเรื่องให้ออกจากช่วงเวลาเวรประจำวันของตัวเองไปเสียก่อน ปัญหาเรื่องกรอบเวลาในการรับแจ้งความคนหาย จึงไม่ควรถูกยึดติดอย่างเคร่งครัดในกรณีเด็กเล็กหาย หรือเป็นกรณีที่น่าจะเข้าข่ายถูกลักพาตัว ต้องไม่มีกรอบเวลามาเป็นเงื่อนไข และต้องดำเนินการในลักษณะที่เรียกว่า “ทำทันที” ปัญหาเรื่องความชัดเจน-การประสานในหน่วยงาน หน่วยงานที่ครอบครัวจะเข้าไปขอความช่วยเหลือเป็นอันดับต้นๆ คือ หน่วยงานตำรวจ ปัญหาแรกในการติดต่อขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานนี้ก็คือ ประชาชนผู้เดือดร้อน ไม่อาจจำแนกได้ว่าตำรวจแต่ละคนทำหน้าที่ด้านใดบ้าง เมื่อครอบครัวเด็กประสบเหตุสำคัญเช่นนี้ จึงมักจะไปแจ้งความตามตู้ยามตำรวจ หรือหน่วยบริการย่อย ใกล้บ้านก่อน ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยลดขั้นตอนการประสานงานให้เร็วที่สุด และตำรวจไม่ว่าใครก็ตามที่รับเรื่อง ก็น่าจะช่วยประสานงานให้ตำรวจที่เกี่ยวเข้ามาดำเนินการต่อได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การไปแจ้งความตามตู้ยาม หรือหน่วยบริการย่อย มักจะไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมายเพราะไม่มีพนักงานสอบสวน และตำรวจที่ทำหน้าที่ในส่วนนั้น ก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจเท่าที่ควร ไม่มีการประสานงานตำรวจที่เกี่ยวข้องให้ ไม่มีแม้กระทั่งการแนะนำขั้นตอนการแจ้งความที่ถูกต้องให้กับครอบครัว หลายครอบครัวจึงเข้าใจไปเองว่า การแจ้งความกับตำรวจที่ตู้ยาม ตำรวจได้รับเรื่องและช่วยดำเนินการแล้ว ซึ่งตามจริงแล้ว เรื่องที่แจ้ง อาจไม่ได้ถูกดำเนินการใดๆ เลย นอกจากนี้ แม้ว่าหลายครอบครัวจะได้เดินทางไปแจ้งความคนหาย กับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจโดยตรงก็ตาม พบว่า หลายกรณี ตำรวจเพียงดำเนินการลงบันทึกประจำวันไว้เท่านั้น ไม่ได้มีกระบวนการอื่นๆ เพื่อการติดตามหาตัวเด็กที่ถูกลักพาตัว ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่า ฝ่ายสอบสวนกับฝ่ายสืบสวนของหลายสถานีตำรวจทำงานแบบไม่ประสานงานกัน จะเห็นได้จาก การที่พนักงานสอบสวน เมื่อรับแจ้งความเสร็จ จะให้ครอบครัวคนหาย ไปหาเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนเอง และครอบครัวคนหาย ก็ต้องเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำอีกรอบ ตอบคำถามเดิมๆ อีกรอบ ทั้งๆ ที่น่าจะมีการประสานข้อมูลกัน เพราะได้สอบถามหรือสอบปากคำไปแล้ว นอกจากนี้ในหลายกรณีผู้รับแจ้งเหตุ ก็มิได้ช่วยครอบครัวเด็ก ดำเนินการใดๆ เลย จนกระทั่งต้องมีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวในวงกว้าง ถึงจะได้เริ่มให้ความสนใจในการติดตามหา รัฐจึงเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ได้รับเรื่อง แต่กลับกลายเป็นหน่วยงานท้ายๆ ที่ขยับตัวในการดำเนินการอย่างช้าๆ ปัญหาเรื่องความเชี่ยวชาญ-ขาดการทำงานด้วยองค์ความรู้ เรามักจะได้ยินรัฐมนตรี หรือ นายตำรวจระดับสูงให้สัมภาษณ์ว่า การลักพาตัวเด็ก อาจเกิดขึ้นโดยแก๊งค์รถตู้ จับเด็กไปตัดแขนตัดขา เพื่อขอทานหรือค้าอวัยวะ ซึ่งโดยข้อเท็จจริง เด็กที่หายออกจากบ้านที่เข้าข่ายถูกลักพาตัวมากกว่า 50 รายที่เกิดขึ้น ไม่มีรายใดถูกลักพาตัวไปโดยแก๊งค์รถตู้สักรายเดียว การสร้างความเชื่อลักษณะนี้ต่อสังคม โดยใช้วาทกรรม “แก๊งรถตู้” นับว่าเป็นการสื่อสารต่อสังคมที่ขาดความรับผิดชอบและเป็นผลให้การสืบสวนติดตามเด็กถูกลักพาตัว มักพุ่งเป้าไปผิดทางด้วยความเชื่อและข้อมูลผิดๆ โครงสร้างของหน่วยงานรัฐ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไม่มีหน่วยงานที่ทำงานด้านการติดตามคนหายเป็นการเฉพาะ จึงไม่มีผู้เชี่ยวชาญและไม่มีการถอดบทเรียนความรู้ในแต่ละคดีที่เคยเกิดขึ้น ว่าแนวโน้มการลักพาตัวเด็กในประเทศไทยเป็นลักษณะอย่างไร การทำงานสืบสวนติดตามเด็กถูกลักพาตัว จึงออกในแนวลักษณะแบบมวยวัด คือ ไม่มีข้อมูล ไม่มีการวิเคราะห์กลุ่มผู้กระทำผิด ไม่มีสถิติเปรียบเทียบ และที่สำคัญไม่มีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบในการติดตามเด็กถูกลักพาตัว สถานการณ์ในตอนนี้ของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย จึงกลายเป็น ผู้เดินตามหลังสื่อมวลชนเมื่อมีการนำเสนอข่าวผ่านสาธารณะโดยตลอด แบบแผนในการติดตามเด็กถูกลักพาตัว เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้ทราบว่า จะต้องดำเนินการขั้นตอนใดก่อนหลัง การลักพาตัวหลายกรณี ผู้รับแจ้งเหตุ ไม่เคยลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ หรือ สอบปากคำพยานแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการติดตามตัวเด็ก การประสานหน่วยงานใกล้เคียงก็เป็นในลักษณะมือสมัครเล่น เช่น การส่งภาพถ่ายเด็กถูกลักพาตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ผ่านระบบโทรสาร ซึ่งแน่นอนว่า การส่งภาพถ่ายเด็กจากโทรสารซึ่งปลายทางจะได้ภาพถ่ายอันดำมืดจนแทบมองไม่เห็นภาพเด็กหาย จะนำไปเปรียบเทียบกับตัวเด็กที่ต้องสงสัยว่าจะถูกลักพาตัวมาได้อย่างไร กระบวนการแบบมือสมัครเล่นในลักษณะนี้ จึงอาจถูกมองว่า ทำเพื่อแค่ได้ทำเท่านั้น แต่ไม่เล็งถึงประสิทธิภาพและผลลัทธ์ของการกระทำที่จะเกิดขึ้น การขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับคดีการลักพาตัวเด็ก ทำให้ตำรวจมักสืบสวนไปผิดทางแบบสะเปะสะปะ เนื่องจากแผนประทุษกรรมเดิมของคดีที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย มักอยู่ในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งหากได้มีการถอดบทเรียนความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะทำให้แนวทางการสืบสวนชัดเจนขึ้น และคัดกรองเบาะแสที่ได้มาอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในหลายกรณี เมื่อสื่อมวลชนนำภาพเด็กถูกลักพาตัวไปเผยแพร่ จะมีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามาเป็นจำนวนมาก และหลายเบาะแสอาจไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง ซึ่งหากมีองค์ความรู้ในคดีลักษณะนี้ จะทำให้สามารถจำแนกเบาะแสเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งไปตรวจสอบเบาะแสที่น่าจะตรงเป้า มากกว่าการเหวี่ยงแห่ไปตรวจสอบทุกเบาะแส ซึ่งทำให้เสียงบประมาณ และสูญเสียกำลังใจไปมาก หากไปตรวจสอบแล้วไม่พบ การที่หน่วยงานรัฐ ไม่มีหน่วยงานเฉพาะในการทำงานเรื่องคนหาย ส่วนหนึ่งมองได้ว่า รัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวนี้เท่าที่ควร ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาซึ่งมีสถิติตัวเลขอย่างชัดเจนว่า มีแนวโน้มคนหายออกจากบ้านเพิ่มสูงขึ้นทุกปี การไม่มีความเชี่ยวชาญหรือหน่วยงานเฉพาะทางในการดูแลปัญหา จะทำให้รัฐเดินตามหลังปัญหา ไม่เท่าทันต่อการจัดการปัญหา อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ปัญหาเรื่องหน้าที่-ความรับผิดชอบ-จิตวิญญาณ เป็นที่ทราบกันโดนถ้วนหน้าว่า เมื่อใดก็ตาม ที่ประเด็นทางสังคมถูกหยิบยกนำเสนอผ่านการรายงานของสื่อมวลชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่ตามกฎหมายถึงจะดำเนินการอย่างเต็มที่ กระนั้นก็ตามเมื่อกระแสสังคมเงียบลง หน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายก็มักจะถอนตัวไปตามธรรมชาติ หรือลาจากการดำเนินการไปเสียดื้อๆ แม้ว่าจะยังแก้ไขปัญหาเหล่านั้นไม่แล้วเสร็จก็ตาม ตลอดจนการโยกย้ายเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบคดี ก็มีผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ปัญหาเรื่องการติดตามเด็กถูกลักพาตัวก็เช่นเดียวกัน ปัญหานี้ไม่ใช่เกิดเฉพาะตัวเด็กที่หายเท่านั้น แต่ปัญหาจะส่งผลต่อครอบครัวและชุมชนของเด็กด้วย พ่อแม่ของเด็กที่ถูกลักพาตัวส่วนใหญ่ เป็นผู้มีฐานะยากจน การตะเวนออกติดตามหาเด็กในสถานที่ต่างๆ จึงไม่สามารถทำได้ในวงกว้างนักเพราะไม่มีทุนทรัพย์ เกือบทุกครอบครัวไม่มีกำลังใจในการไปทำงาน เพราะมุ่งที่จะติดตามหาเด็กที่ถูกลักพาตัวให้เจอก่อน ซึ่งเป็นผลให้ครอบครัวขาดรายได้ในการเลี้ยงชีพไปด้วย กระบวนการช่วยเหลือโดยหน่วยงานรัฐ จึงต้องมองให้เห็นมิติเหล่านี้ของผู้ประสบเหตุ และเข้าให้การช่วยเหลือจุนเจือในสัดส่วนที่พอจะช่วยได้ ในกรณีน้องพอมแพมอายุ 3 ขวบที่ถูกลักพาตัวไปกว่าหนึ่งสัปดาห์ในจังหวัดสมุทรปราการ จนถึงป่านนี้ ก็ยังไม่มีหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เข้าไปดูแลเยียวยาแต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อปัญหา และความเอาใจใส่ ถึงแม้ว่าครอบครัวของเด็กจะไม่ได้ไปแจ้งหน่วยงานเหล่านี้ก็ตาม เพราะในเป็นความจริงแล้ว ครอบครัวเด็ก ไม่มีความสามารถในการติดต่อหรือทำความรู้จัก เพื่อแจ้งเหตุได้กับทุกหน่วยงานได้ทราบ ดังนั้น เมื่อปัญหาถูกสื่อสารผ่านสาธารณะแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งควรจะทราบว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร ควรจะได้เคลื่อนตัวออกจากหน่วยงาน เพื่อเยียวยาผู้ประสบเหตุอย่างเร่งด่วนและทันท่วงที ธรรมชาติของคดีลักพาตัวเด็กจำนวนมาก เมื่อสิ้นเบาะแสการสืบค้นแล้ว และยังไม่พบตัวเด็กที่หาย คดีจะถูกทิ้งไว้ และขาดความต่อเนื่องในการติดตามหาไปเอง เพราะไม่มีเจ้าภาพในการทำให้เรื่องนี้เป็นวาระของพื้นที่หรือของจังหวัดในการติดตามอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานเคยกล่าวถึง การติดตามตัวเด็กถูกลักพาตัว ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการเกิดเหตุมานานแล้วในทำนองว่า “ควรให้เป็นหน้าที่ของตำรวจในการติดตาม ไม่ควรเข้าไปยุ่งให้เปลืองตัว” ซึ่งวิธีคิดในการลักษณะแบบนี้ แสดงให้เห็นถึงสภาพการขาดจิตวิญญาณในการทำงานอย่างรุนแรง และแสดงถึงวุฒิภาวะในการแก้ไขปัญหาในฐานะผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย บทส่งท้าย ดูเหมือนว่ากระบวนการของรัฐในการรับมือเหตุลักพาตัวเด็กในประเทศไทย จะยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความสำเร็จพอสมควร ส่วนหนึ่งต้องแก้ที่คน ส่วนหนึ่งต้องมีวิสัยทัศน์ในการลงทุนขยายหน่วยงานเฉพาะทางเพื่อรองรับการจัดการปัญหาในอนาคต เร่งพัฒนาความเป็นมือสมัครเล่น ให้มีเกิดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจนกลายเป็นมืออาชีพ เชื่อแน่ว่าประชาชนทุกคน ยังให้กำลังใจและพร้อมสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานรับใช้สังคมเสมอ แค่มองมุมกลับอย่างง่ายๆ หากเด็กที่ถูกลักพาตัวเป็นลูกของท่านบ้าง ท่านจะทำอย่างไร – โปรดช่วยเหลือเด็กคนอื่นที่หายไป เสมือนหนึ่งเช่นเดียวกับวิธีการที่จะใช้ในการติดตามลูกของท่าน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net