รายงาน: ขอทานกำลังจะหายไปจากริมถนน? ด้วย พ.ร.บ.ควบคุมขอทานฉบับใหม่

รู้หรือไม่ว่า อีกไม่นานนับจากนี้ท้องถนนในประเทศไทย (อาจ) จะปราศจาก “ขอทาน” แบบที่เราเห็นจนชินตา ทั้งคนแก่ เด็กเล็ก คนพิการ เพราะพ.ร.บ.ควบคุมการขอทานฉบับล่าสุดซึ่งเพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกำลังจะบังคับใช้ในอีกไม่กี่เดือน จะ “นำขอทานออกจากถนน” ตามแนวทางที่ไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ว่า  ‘ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีขอทาน’ โดยพม.จะเน้นการทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ขอทานได้พัฒนาศักยภาพ ประกอบอาชีพได้ และได้รับการยอมรับในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม

แต่ปัญหาขอทานอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่ และจะถูกแก้ไขตามแนวทางที่กำหนดไว้ในกฎหมายใหม่หรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องที่น่าถกเถียงและจับตา

ภาพรวมขอทานในประเทศไทย

ปัจจุบันประเทศไทยมีขอทานประมาณ 4,000 - 6,000 คน โดยข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พบว่ามีขอทานทั้งสิ้น 3,221 คน (ณ วันที่ 12 พ.ย.2558)  ส่วนข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างมูลนิธิกระจกเงานั้นระบุตัวเลขไว้สูงถึงกว่า 6,000 คน

ปัญหาของการขอทานเกี่ยวเนื่องอย่างมีนัยยะสำคัญต่อปัญหาการค้ามนุษย์ จึงทำให้ 2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาจัดอันดับปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยให้อยู่ในระดับเทียร์ 3 หรือประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับเลวร้ายที่สุด โดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาการค้าแรงงานประมง การค้าประเวณี และส่วนหนึ่งมาจากรายงานที่ระบุว่าประเทศไทยยังมีเด็กที่ถูกบังคับให้ขอทาน

เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาระบุว่า เด็กขอทานนั้นเป็นเด็กกัมพูชาถึงร้อยละ 80 และมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 500 คนในกรุงเทพ และอาจมากกว่า 1,000 คนเมื่อรวมกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นในต่างจังหวัด ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่ถูกจับและส่งกลับประเทศ แต่ด้วยกระบวนการค้ามนุษย์ที่ถูกทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน บวกกับการขาดโอกาสในชีวิตของเด็กและครอบครัว ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือก และต้องกลับเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์นี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

กระจกเงาระบุด้วยว่าปัจจุบันลักษณะของการขอทานเปลี่ยนแปลงไปมาก มีลักษณะเป็นกลุ่มเป็นแก๊งมากขึ้น ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ ทำให้ปัญหาบางส่วนพัฒนาเข้าสู่การค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในกรณีเด็กขอทาน แม้ปัญหานี้จะไม่รุนแรงเท่ากับการค้ามนุษย์แบบอื่น เช่น การค้าแรงงานประมง หรือการค้าประเวณี แต่ปัญหาการบังคับขอทานในเด็กก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับเลวร้ายที่สุด

ยกตัวอย่าง ภาพหญิงอุ้มเด็กซึ่งพบเห็นได้บ่อย หลายครั้งคนมักคิดว่าเด็กเหล่านี้ไม่น่าจะมีความสัมพันธ์อะไรกับผู้หญิงที่อุ้ม แต่กระจกเงายืนยันว่า จริงๆ แล้วกลับพบว่าโดยส่วนมากผู้หญิงและเด็กมีความสัมพันธ์ในเชิงแม่ลูก จึงอาจบอกได้ว่า ไม่ใช่เด็กเท่านั้นที่ตกอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ แต่เขาทั้งคู่อาจจะอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์เช่นเดียวกัน

การเดินทางของกฎหมายควบคุมขอทาน

กฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2484  ยังคงมีช่องว่างที่สำคัญ เนื่องจากไม่มีบทลงโทษผู้นำพาและเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ทั้งหลาย รวมถึงผู้ทำการขอทาน กฎหมายที่บัญญัติมาแล้ว 75 ปีฉบับนี้จึงไม่สามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้

หลายปีที่ผ่านมามีความพยามที่จะยกร่างกฎหมายขอทานฉบับใหม่มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2551 คือ ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.... โดยสาระสำคัญของร่างฉบับดังกล่าวกำหนดว่า ผู้ที่จะเป็นขอทานต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อออกใบอนุญาตขอทาน และกำหนดให้ผู้ที่เป็นขอทานต้องเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพที่ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติ หรือเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีคนอุปการะเลี้ยงดู หรือเป็นผู้ที่ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยวิธีอื่นได้  การกำหนดเช่นนี้ส่งผลให้กลุ่มคนพิการออกมาคัดค้านเป็นการใหญ่ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการนำเอาความพิการมาเป็นสาเหตุแห่งการขอทาน ท้ายที่สุดร่างนี้ก็ตกไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ต่อมาหลังการรัฐประหาร 2557 ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการขอทานฉบับใหม่ถูกผลักดันอีกครั้ง และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านร่างกฎหมายนี้เมื่อ 4 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา และจะบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน หลังจากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา


ภาพจากเพจมูลนิธิกระจกเงา

‘ห้ามบุคคลใดเป็นขอทาน’ และโทษทัณฑ์ของผู้ฝ่าฝืน

พ.ร.บ.ควบคุมการขอทานฉบับใหม่ มีเนื้อหาหลักว่า ‘ห้ามไม่ให้บุคคลใดทำการขอทาน’ โดยมีการระบุนิยามของคำว่าขอทานไว้ชัดเจนว่า การขอทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยวาจา ข้อความ หรือแสดงกิริยาอาการใด ด้วยวิธีการใดโดยไม่ได้ตอบแทนด้วยการกระทำ หรือทรัพย์สินใด รวมทั้งการกระทำเพื่อให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและมอบทรัพย์สินให้ โดยไม่มีการตอบแทนด้วยการทำงานหรือด้วยทรัพย์สิน ถือเป็นการขอทานทั้งสิ้น

นอกจากนั้นยังเคลียร์พื้นที่ท้องถนน โดยกำหนดห้ามไม่ให้มีวณิพก หรือ ‘ผู้แสดงความสามารถ’ และหากบุคคลใดต้องการที่จะแสดงความสามารถ ต้องไปขึ้นทะเบียนเพื่อทำการตรวจสอบคุณสมบัติต่อไป

เดิมทีในกฎหมายขอทาน 2484 การขอทานนั้นไม่เป็นความผิด เว้นแต่ขัดขืนหรือหลบหนีจากสถานสงเคราะห์ หรือที่อื่นใด จะมีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ กำหนดบทลงโทษทันทีสำหรับผู้ที่ทำการขอทาน โดยปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุก 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และสำหรับผู้แสวงหาประโยชน์จากการขอทาน จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งยังมีบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด โดยจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ไม่ใช่ขอทานทุกคนที่จะมีกำลังจ่ายเงินค่าปรับส่วนนี้ ขอทานเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาวะยากจน และไม่มีอาชีพ จึงไม่น่าจะมีกำลังทรัพย์เพื่อจ่ายค่าปรับดังกล่าว ซึ่งในกรณีเช่นนี้พ.ร.บ.ก็ได้กำหนดไว้ว่า บุคคลเหล่านั้นต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ และหากเข้าข่ายเป็นบุคคลยากลำบาก ซึ่งได้แก่คนไทยพิการ ชรา หรือไร้อาชีพ ฯลฯ ก็มีสิทธิได้รับยกเว้นโทษตามมาตรา 16 แต่จะถูกส่งต่อไปยังบ้านพักพิงต่อไป

นที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชนกล่าวว่า แม้ชื่อของพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นเรื่องของการควบคุม รวมทั้งมีบทลงโทษที่ชัดเจน แต่เน้นใช้เฉพาะในกลุ่มที่กระทำผิดกฎหมายเท่านั้น โดยทั่วไปแล้วการบังคับใช้จะมุ่งไปในเรื่องของการคุ้มครองเสียมากกว่า โดยหากพบว่าขอทานคนนั้นๆ เข้าข่ายในกรณีการค้ามนุษย์ ก็จะถูกส่งต่อไปยังพ.ร.บ. ปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือหากเป็นคู่แม่-ลูก ก็ต้องใช้กระบวนการตามพ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ในขณะเดียวกันหากเป็นกลุ่มคนต่างด้าว ก็จะเน้นเรื่องการตรวจสอบ และผลักดันกลับประเทศต้นทางโดยผ่าน พ.ร.บ.ควบคุมการเข้าเมือง หรือหากเป็นคนไทยที่ไม่ได้มีลักษณะจำเพาะตามข้างต้น ก็จำเป็นจะต้องตรวจสอบปัญหาอื่นที่มี เช่น มีความจำเป็นต้องเลี้ยงครอบครัว เป็นคนไร้บ้าน ฯลฯ เพื่อประสานงานให้กรมต่างๆ ที่มีหน้าที่โดยตรงเข้าไปคุ้มครองต่อตาม พ.ร.บ. คนไรที่พึ่ง ปี 2557

คนที่ทำงานเกี่ยวกับขอทาน ผู้ยากไร้ คนไร้บ้าน ฯลฯ ต่างเห็นคุณประโยชน์และข้อดีของกฎหมายนี้ โดยเห็นตรงกันว่า ลักษณะการบังคับใช้จะเริ่มจากการใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทานเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นด่านแรกในการนำคนออกจากท้องถนน โดยอาศัยความร่วมมือของ พม.และเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่หากพบว่าบุคคลนั้นมีความผิดใดเพิ่มเติมนอกเหนือจากการขอทานก็จะจัดการเพิ่มความผิดตามสำนวนคดีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยเฉพาะในกรณีการค้ามนุษย์ ซึ่งมีพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์รองรับ ก็จะช่วยให้บทลงโทษนั้นเพิ่มขึ้น และรัดกุมมากกว่าเดิม


ภาพจากเพจมูลนิธิกระจกเงา

‘วณิพก’ ต้องผ่านออดิชั่นและขึ้นทะเบียน

นอกจากลักษณะของ พ.ร.บ.นี้ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นด่านแรกเพื่อนำคนออกจากท้องถนนแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงคำที่ใช้เรียกขอทานและวณิพก โดยใช้คำว่า ‘นักแสดง’ และ ‘ผู้แสดงความสามารถ’ แทนคำว่าวณิพก  และ ‘ผู้ทำการขอทาน’แทนคำว่าขอทาน

‘นักแสดง’ หรือ ‘ผู้แสดงความสามารถ’ ดังกล่าว อาจจะต้องไปขึ้นทะเบียนที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ศาลากลาง หรือ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) ในแต่ละจังหวัด เพื่อตรวจสอบและประกาศพื้นที่ในการแสดงความสามารถ อีกทั้งมีตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ร่วม ‘ออดิชั่น’ ตรวจสอบคุณสมบัติด้วย

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความแน่ชัดในเรื่องของสถานที่ขึ้นทะเบียน คุณสมบัติ ระยะเวลาในการเล่น ฯลฯ หรือหากขึ้นทะเบียนแล้ว สามารถแสดงได้กี่ครั้งภายในระยะเวลาเท่าไร รวมทั้งยังไม่มีการประกาศเขตพื้นที่ที่สามารถทำการแสดงได้ให้ชัดเจน

วิธนะพัฒน์  รัตนาวลีพงษ์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน จากมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ถึงแม้การแยกวณิพกออกจากขอทานจะเป็นเรื่องที่ดี และวณิพกส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการแยกประเภทดังกล่าวในทางหลักการ แต่ด้วยมาตรการที่ยังไม่มีความแน่นอนจึงทำให้วณิพกหลายคนไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียน และคิดว่านี่คือการจำกัดเสรีภาพทางการแสดงของพวกเขา นอกจากนั้นวณิพกจำนวนมากยังมองว่า การขึ้นทะเบียนกับภาครัฐจะเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น การเก็บเงินใต้โต๊ะ พร้อมตั้งคำถามว่าการแสดงลักษณะนี้เป็นการเดินสาย ทำไมจึงต้องกำหนดกฎเกณฑ์

วิธนะพัฒน์  กล่าวว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ได้ยินเสียงคัดค้านจากกลุ่มวณิพกมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องความยุ่งยากของกระบวนการขั้นตอน รวมถึงความกังวลว่า หากมีการจำกัดเขตพื้นที่ในการแสดงจะทำให้เสน่ห์ของการเป็นนักแสดงเปิดหมวกนั้นหายไป หลังจากมีเสียงคัดค้านก็ไม่ได้มีการระบุหลักเกณฑ์อะไรเพิ่มเติมให้ชัดเจนในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา ให้ความเห็นไว้ 2 ส่วน หนึ่งคือข้อดีของการมีร่างพ.ร.บ.นี้จะทำให้นายหน้า หรือบุคคลใดไม่สามารถบังคับผู้อื่นเพื่อทำการแสดงได้ คนที่มาแสดงจะถูกสกรีนมาในระดับหนึ่งว่าคุณเป็นคนที่มีความสามารถ สอง เขามีข้อกังวลว่าจะเกิดการต่อต้านจากวณิพกอย่างรุนแรง เนื่องจากยังไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องกฎเกณฑ์ ทำให้วณิพกที่ส่วนมากมีลักษณะเดินสายไปหลายที่ใน 1 วันเกิดข้อสงสัยว่าการขออนุญาต 1 ครั้งจะสามารถเล่นได้กี่ครั้ง กี่พื้นที่ ถ้าหากวันหนึ่งไป 3 ที่จะต้องขออนุญาตทั้ง 3 ที่เลยหรือไม่

นอกจากจะกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ข้างต้นแล้ว เขายังเห็นว่าควรกำหนดอายุของผู้ที่ทำการแสดงอีกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบังคับเด็กมาเป็นวณิพกในอนาคต

แยกขอทานแท้-ขอทานเทียม ?

วิธนะพัฒน์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้พ.ร.บ.นี้น่าจะสามารถจัดการปัญหาของขอทานที่มีลักษณะค้ามนุษย์ หรือเป็นกลุ่ม-แก๊งค์ได้ แต่จะส่งผลกระทบต่อขอทานที่มีความยากจนจริงๆ หรือกลุ่มคนไร้บ้านที่ต้องขอทานเพื่อเลี้ยงชีพอย่างแน่นอน

'บุ่งเซง'ลุงขอทานพิการวัยเก๋าย่านท่าพระจันทร์ เล่าว่าก่อนนี้เขามีอาชีพขายล็อตเตอรี่แต่ก็ถูกขโมยไปจนหมด เมื่อไม่มีเงินและทางเลือกอื่นมากนักเขาจึงผันตัวเองสู่การเป็นขอทาน และมักโดนเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ไล่อยู่เสมอ ซ้ำมักถูกหาว่าแกล้งพิการ โกหก และใช้ความพิการเพื่อหารายได้ ก่อนหน้านี้เขาเคยโดนจับไปสถานสงเคราะห์เพื่อฝึกอาชีพ แต่ด้วยร่างกายที่ไม่เอื้อนักเนื่องจากเป็นโปลิโอ ขาทั้งสองข้างลีบเล็ก ลำพักจะใช้แขน จึงถูกพามาส่งที่เดิมหลังจากเข้าสถานสงเคราะห์ได้เพียงไม่กี่วัน

เมื่อเล่าถึงพ.ร.บ.การควบคุมขอทานที่กำลังจะบังคับใช้ ลุงก็สวนกลับทันที

"มันเป็นไปไม่ได้หรอกน้องเอ๊ย เพราะคนจนยังมีมากกว่าคนรวย ไม่มีใครยอมอด มันต้องสู้ทางใดทางหนึ่ง ถ้าน้องอดน้องจะสู้ไหม น้องก็สู้ อยากบอกเขาว่าถ้าพรุ่งนี้กูกินทรายได้ กูจะไม่ขอ ถ้าตราบใดกูยังกินดินกินทรายไม่ได้ กูก็ต้องขออยู่ดี ไม่มีใครยอมอดตาย" บุ่งเซงกล่าว

เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนอย่างวิธนะพัฒน์ ช่วยวิเคราะห์เพิ่มเติมถึงปัญหาที่ผ่านมาให้ฟังว่า เท่าที่ผ่านมาการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเองยังไม่มีความรัดกุมมากพอ จะเห็นได้ว่า ในพ.ร.บ.ขอทานทั้งสองฉบับ ได้ระบุบทบาทหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่แล้วในฐานะฝ่ายปกครอง แต่ก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะถูกมองว่าไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจที่ต้องมาวิ่งไล่จับขอทาน

ขณะที่ พม.มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกๆ กระบวนการทั้งในเรื่องการขอทานและการค้ามนุษย์ แต่กลับไม่มีอำนาจในการตัดสินใจจับกุมหรือให้ความช่วยเหลือ เช่น หากต้องการที่จะจับกุมนายหน้าหรือเข้าช่วยเหลือเด็กขอทานก็ยังต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประกบไปด้วยเสมอ เพื่อไปใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย

เช่นเดียวกับนทีที่เป็นห่วงในท่าทีของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า ยังคงขาดความเข้าใจและยังไม่ได้รับการปรับทัศนคติที่มีต่อกลุ่มคนประเภทต่างๆ โดยมองว่าทุกคนเป็นขอทานไปเสียหมด จึงอาจต้องจัดกระบวนการให้ความรู้ในเรื่องข้อแตกต่างของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คนไร้ที่พึ่ง และขอทาน ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

จับแล้ว (ขอทาน) ไปไหนต่อ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการแก้ปัญหาหลังการจับกุม การส่งกลับภูมิลำเนาหรือประเทศต้นทางคงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เป็นจริงในทางปฏิบัตินัก เมื่อพบว่าที่ผ่านมาหน่วยงานของจังหวัดต้นทางก็ไม่สามารถให้การศึกษา ฝึกอาชีพ หรืออื่นๆ รวมทั้งไม่มีมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กกลับเข้าสู่กระบวนการซ้ำอีก  วิธนะพัฒน์ยกตัวอย่างกรณีของเด็กจังหวัดสุรินทร์ที่เข้ามาเป่าแคนเพื่อขอเงินนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ หน่วยงานของจังหวัดอ้างว่า การจัดการในส่วนนี้เป็นภาระงานของ พม.เท่านั้น เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้นในสภาวะของการเป็นขอทานโดยไร้การศึกษา ไร้การส่งเสริมอาชีพ พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกในชีวิตที่จะประกอบอาชีพอื่นๆ มากนัก นั่นส่งผลต่อเนื่องทำให้บางส่วนกลายเป็นขอทานผู้ใหญ่ แต่เพราะเมื่อพ้นวัยเด็ก เด็กเหล่านั้นก็จะหมดความน่าสงสาร คนมักจะไม่ให้เงินเพราะไม่เห็นถึงความน่าสงสารที่เคยมีจึงทำให้ช่องทางการหาเงินที่เคยทำได้นั้นหมดไป รูปแบบที่จากเดิมเคยเป็นเด็กขอทานจึงเปลี่ยนผันเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์อย่างเต็มรูปแบบ เป็นนายหน้าบ้าง เป็นคนคุมเด็กบ้าง หรือลักลอบพาคนเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อมาขอทานต่อไป

ดังนั้น การจัดการหลังจากการจับกุมและคัดแยกจึงเป็นประเด็นสำคัญยิ่งยวดที่จะชี้วัดความสำเร็จของการแก้ปัญหา

โครงการ ‘ธัญบุรีโมเดล’ เป็นโครงการนำร่องของสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่งทั่วประเทศที่ถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างการแก้ปัญหา ปรัชญาของที่นี่ระบุว่าเน้นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตใจ สังคม สุขภาพ และฝึกฝนอาชีพให้กับผู้รับบริการไม่ว่าจะเป็นคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง หรือขอทาน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม วิธนะพัฒน์เห็นว่า ธัญบุรีโมเดลยังไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องการสร้างอาชีพ เพราะโครงการนี้เน้นสอนทักษะการใช้ชีวิตผ่านการทำเกษตร ซึ่งหากมองในมุมของกลุ่มขอทานหรือคนไร้บ้านแล้ว จะพบว่าเมื่อจบโครงการพวกเขาย่อมไม่มีต้นทุน เช่น ทุนทรัพย์ ที่ดิน ฯลฯ มากพอในการสานต่องานด้านนี้ ที่สำคัญ ไม่มีหลักประกันความมั่นใจได้เลยว่า กลุ่มคนที่เข้ารับการฟื้นฟูหรือเข้าร่วมโครงการจะไม่กลับมาเป็นบุคคลเร่ร่อน ขอทาน หรือไร้อาชีพเช่นดังเดิม

เช่นเดียวกันกับในกรณีของคนพิการ คนป่วย คนชรา คนที่ตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก ฯลฯ หากไม่สามารถส่งไปฝึกอาชีพได้ พม.ก็จะดำเนินการเยี่ยมบ้านเพื่อมอบเงินสงเคราะห์และถุงยังชีพ วิธนะพัฒน์ให้ความเห็นว่า การสงเคราะห์แบบนี้จะไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน รัฐควรมองว่าทำอย่างไรการพัฒนาจึงจะยั่งยืน เช่น มีการจัดตั้งกองทุนส่วนกลางเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้กู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพตามความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นงานฝีมือ งานซ่อมบำรุง และอื่นๆ โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่งานด้านการเกษตรที่ต้องอาศัยพื้นที่ในการประกอบอาชีพ และหลังจากมีรายได้จึงส่งเงินกลับเข้ากองทุน เพื่อหมุนเวียนให้กับกลุ่มคนกลุ่มอื่นต่อไป

“ภาครัฐควรเร่งเข้าไปส่งเสริมสวัสดิการให้กับเขา โดยที่ไม่ต้องให้เขามาลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองโดยการมาขอทานจากผู้อื่น พื้นที่ข้างถนนไม่ควรมีขอทาน เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องทำงานในเชิงรุก ในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพ หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนจนมุม” เขากล่าว

การแก้ปัญหาการขอทานด้วยพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามความคืบหน้า ผลจากการบังคับใช้ และผลกระทบอย่างใกล้ชิดว่า การนำขอทานออกจากท้องถนนจะช่วยให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ที่เป็นปัญหาอยู่นั้นลดลงได้หรือไม่ และกระบวนการหลังจากกลุ่มคนเหล่านี้ไม่อยู่บนถนนแล้ว พวกเขาจะมีชีวิตอย่างไรต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท