Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากที่ประเทศไทยถูกสหรัฐอเมริกาจัดอันดับปัญหาการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ 3 (Tier 3) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ก็ทำให้เกิดการตื่นตัวจากทุกภาคส่วนในสังคมไทยในการหาทางยกระดับปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้พ้นจากระดับ 3 ให้ได้โดยเร็ว

ในส่วนปัญหาเด็กขอทานนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลปัญหาดังกล่าวนี้ โดยตลอดปี 2558 ทางกระทรวงฯ ได้ดำเนินการจัดระเบียบคนขอทานทั่วประเทศทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่งสามารถช่วยเหลือขอทานทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้มากกว่า 1,000 รายเลยทีเดียว และทำให้สามารถลดจำนวนขอทานตามข้างถนนได้พอสมควร โดยหากดูจากสถิติการรับแจ้งเบาะแสการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ตลอดปี 2558 นั้น มีจำนวนการรับแจ้งเบาะแสอยู่ที่ประมาณ 300 ราย ซึ่งลดลงจากปี 2557 ที่มีจำนวนการรับแจ้งเบาะแสรวมทั้งสิ้น 404 ราย นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นว่าการจัดระเบียบคนขอทานทั่วประเทศนั้นช่วยให้เกิดการลดจำนวนคนขอทานตามข้างถนนได้ในระดับหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตามจำนวนของขอทานที่ลดลงนั้นอาจไม่ได้เป็นการลดจำนวนลงอย่างยั่งยืนนัก เนื่องจากการจัดระเบียบในแต่ละครั้งที่ผ่านมา มักมีกลุ่มขอทานที่มาจากประเทศกัมพูชาลักลอบกลับเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อมาทำการขอทานซ้ำอยู่เสมอ นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา 2 ประการ คือ 1. มาตรการในการป้องกันตามแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชายังคงมีช่องว่างที่ทำให้สามารถลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยได้อย่างไม่ยากนัก และ 2.การส่งกลับขอทานไปยังประเทศต้นทางนั้น ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการส่งกลับแบบมีคุณภาพ เพราะไม่มีการทำงานร่วมกับประเทศต้นทางอย่างต่อเนื่องว่าจะมีแนวทางในการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมหรือหารือถึงแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของขอทานให้ดีขึ้นได้ จากเหตุผล 2 ประการนี้จึงเป็นผลให้กลุ่มขอทานที่ถูกส่งกลับประเทศต้นทางมีโอกาสที่จะกลับเข้าสู่วงจรการขอทานซ้ำอีก

ดังนั้นการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศไทยและกัมพูชา เพื่อหามาตรการในการป้องกันตามแนวชายแดนและการหาทางพัฒนาคุณภาพชีวิตของขอทานข้ามชาติให้สามารถเลิกพฤติกรรมนี้ได้ก็ยังคงต้องหาทางเดินหน้าในการเจรจาหารือร่วมกันต่อไปในอนาคต

ในส่วนของขอทานที่เป็นคนไทยนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ออกนโยบายในการส่งเสริมทักษะการใช้ชีวิตเบื้องต้นภายใต้โครงการ “ธัญบุรีโมเดล” ซึ่งเป็นโครงการที่นำกลุ่มคนขอทานที่ได้รับการช่วยเหลือมาทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ โดยหากขอทานรายใดสามารถพัฒนาทักษะตนเองได้มากพอสมควรแล้วก็จะมีการส่งไปยังนิคมสร้างตนเองต่อไป

หากมองถึงหลักการของโครงการ “ธัญบุรีโมเดล” แล้ว ก็ถือเป็นโครงการที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว แต่ในทางความเป็นจริงแล้ว ผลที่ได้กลับไม่สามารถทำให้กลุ่มขอทาน “อาชีพ” เลิกพฤติกรรมการขอทานได้แต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่าขอทานส่วนใหญ่นั้นเมื่อได้รับความช่วยเหลือออกจากข้างถนนแล้ว มักมีความประสงค์ที่จะกลับสู่ภูมิลำเนาของตนเองให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้กลับมาทำการขอทานซ้ำอีกครั้ง มากกว่าที่จะไปประกอบอาชีพที่สุจริตอื่นๆ โดยเหตุผลก็เป็นเพราะว่ารายได้จากการขอทานในแต่ละวันมีมูลค่าสูงกว่าการประกอบอาชีพที่สุจริตนั่นเอง

นี่คือข้อเท็จจริงที่ทางกระทรวงฯ คงต้องนำมาขบคิดต่อไปว่าจะทำให้อย่างไรให้กลุ่มขอทาน “อาชีพ” เหล่านี้เลิกพฤติกรรมการมาเร่ขอทานตามข้างถนนและหันมาประกอบอาชีพสุจริตอย่างจริงจัง

ในส่วนที่น่าชื่นชมกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คือ เริ่มมีการตรวจ DNA เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างผู้ใหญ่ที่พาเด็กมาทำการขอทานบ้างแล้ว โดยในปัจจุบันนี้มีสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดนนทบุรี ที่ใช้มาตรการตรวจ DNA ผู้ใหญ่ที่มาขอทานกับเด็กในทุกราย ซึ่งถือเป็นประโยชน์ในด้านที่ว่าสามารถป้องกันการแอบอ้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และเด็กที่มาขอทานได้อย่างชัดเจนที่สุดและคาดว่าในอนาคตน่าจะมีการนำกระบวนการตรวจ DNA นี้มาใช้ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งตามจังหวัดต่างๆ ต่อไป

นอกจากนโยบายการจัดระเบียบคนขอทานแล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังได้เข้ามามีบทบาทในการรณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมต่อสังคมเกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กขอทานอย่างถูกวิธี ภายใต้สโลแกน “ให้ทานอย่างถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน” อีกด้วย โดยในส่วนของกิจกรรมรณรงค์นั้นก็ยังถือว่าไม่ค่อยมีรูปธรรมที่พอจะจับต้องได้มากนัก เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งหากทางกระทรวงฯ จะทำการรณรงค์ให้คนในสังคมได้เข้าใจถึงสภาพปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทาน ควรมีการจัดทำสื่อรณรงค์ในเชิงของการให้ความรู้กับคนในสังคมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการให้เงินกับเด็กขอทานและแนะนำให้ผู้ที่พบเห็นเด็กขอทานแจ้งเบาะแสมายังศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมต่อสังคมในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานในประเทศไทยด้วยกัน

       และในปี 2558 นี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังได้มีการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2484 ด้วยเหตุผลเพราะกฎหมายฉบับนี้ได้มีการบังคับใช้มานานและบทบัญญัติต่างๆ ไม่สอดคล้องต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน รวมถึงไม่มีบทกำหนดโทษต่อผู้ที่มาทำการขอทานอย่างชัดเจน เพียงแต่ระบุให้ส่งเข้ารับการสงเคราะห์เท่านั้น อีกทั้งการมาแสดงดนตรีหรือความสามารถต่างๆ ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่ใช่ขอทานอีกด้วย จากเหตุต่างๆ เหล่านี้จึงได้มีการเสนอให้ปรับแก้กฎหมายฉบับดังกล่าว

โดยเนื้อหาหลักๆ ที่มีการปรับแก้เพิ่มเติมมีดังนี้ 1. การระบุโทษของผู้ที่มาทำการขอทานว่าจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 2. การแสดงดนตรีหรือความสามารถต่างๆ ไม่ถือเป็นการขอทาน แต่จำต้องขออนุญาตต่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก่อน ซึ่งหากทำการแสดงโดยไม่ขออนุญาตจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ หากขออนุญาตแต่มิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือระเบียบข้อบังคับก็จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

3. หากเป็นลักษณะการบังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน ยุยง ส่งเสริม ให้ผู้อื่นมาทำการขอทานก็จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 30,000 บาท และ 4. ถ้าการกระทำตามข้อ 3 เป็นการกระทำต่อเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือหญิงมีครรภ์หรือกระทำโดยพนักงานเจ้าหน้าที่เองก็จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 50,000 บาท เป็นต้น

โดยในส่วนของร่างพระราชบัญญัติควบคุมการขอทานฉบับใหม่นี้คาดว่าน่าจะมีการบังคับใช้จริงได้ภายในปี 2559

และนอกจากนี้ในปี 2558 ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขอทานและคนไร้ที่พึ่ง (ศปข.) และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งอีกหลายแห่งในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อดำเนินบทบาทในการช่วยเหลือขอทานและคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละศูนย์ฯ ด้วย ซึ่งทางโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา เห็นว่าการจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวเพิ่มเติมขึ้นมานั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการช่วยเหลือเด็กขอทานเพราะทำให้เกิดความชัดเจนในการประสานงานหรือดำเนินการส่งต่อเด็กไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

แต่อย่างไรก็ตามศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในบางจังหวัด เจ้าหน้าที่อาจจะยังขาดประสบการณ์ในการทำงานด้านการช่วยเหลือเด็กขอทานหรือคนไร้ที่พึ่งไปบ้าง ซึ่งอาจต้องมีการถอดบทเรียนหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเรื่องขอทานและคนไร้ที่พึ่ง เพื่อให้สามารถนำความรู้ดังกล่าวไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของสภาพการณ์ในแต่ละพื้นที่ต่อไป

แม้มาตรการต่างๆ ของทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในปี 2558 จะมีความก้าวหน้าไปพอสมควร แต่ก็มีข้อติติงจากคนในสังคมบ้างเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินการถ่ายโอนการให้บริการสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ มาให้บริการ ณ จุดเดียวที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กรุงเทพมหานคร ซึ่งจากมาตรการนี้ทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อพลเมืองดีที่ต้องการแจ้งเบาะแสหรือประสบปัญหาสังคมในด้านต่างๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะจะต้องรอการประสานงานจากส่วนกลางไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อีกทอดหนึ่ง จึงทำให้เกิดความซับซ้อนในการแจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือนั่นเอง

ซึ่งในกรณีนี้อาจจำเป็นที่ทางกระทรวงฯ จะได้ทำการถอดบทเรียนหรือสอบถามผู้ใช้บริการเบอร์สายด่วน1300ว่ามีข้อดีและข้อด้อยประการใดบ้าง เพื่อหาทางปรับปรุงระบบการรับแจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือต่างๆที่แจ้งมายังศูนย์ช่วยเหลือสังคมให้มีความสะดวก รวดเร็วและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการให้ได้มากที่สุด

สำหรับการคาดการณ์ต่อปัญหาเด็กขอทานในปี 2559 นั้น โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานของภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมีการยกระดับการทำงานให้เพิ่มขึ้นจากนโยบายการจัดระเบียบขอทานที่ทำมาอย่างต่อเนื่องในปี 2558 มิเช่นนั้นจะไม่สามารถลดจำนวนเด็กขอทานตามข้างถนนได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งอาจต้องมีการขยายผลหรือออกนโยบายในการมุ่งดำเนินคดีกับกลุ่มขบวนการลักลอบพาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเด็กขอทานตามข้างถนน อีกทั้งยังต้องหาแนวทางที่จะหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศกัมพูชาที่พลเมืองของประเทศดังกล่าวมักลักลอบเข้ามาทำการขอทานในประเทศไทยอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดการทำงานในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ร่วมกันระหว่างประเทศต้นทางและปลายทาง       

อีกทั้งในเรื่องของการรณรงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมต่อสังคมเกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กขอทานอย่างถูกวิธี ต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้กับคนในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรณรงค์ไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วย เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าปัญหาเด็กขอทานในประเทศไทยนั้นมีบางส่วนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ จึงควรดำเนินการรณรงค์ครอบคลุมไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นหนึ่งที่ต้องถกเถียงหรือหารือร่วมกันกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่าในกรณีที่พ่อ – แม่มีพฤติกรรมในการบังคับ ขู่เข็ญลูกให้มาทำการขอทานนั้นจะถือว่ามีความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 หรือไม่ เพราะในปัจจุบันก็มีเด็กขอทานจำนวนไม่น้อยที่ถูกพ่อ – แม่นำมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบการขอทาน แต่เจ้าหน้าที่รัฐมักใช้วิธีการตักเตือนหรือภาคทัณฑ์ครอบครัวไว้มากกว่าที่จะดำเนินคดีในความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยอาจมองว่าเป็นกรณีความผิดที่ไม่ร้ายแรงเทียบเท่าการบังคับใช้แรงงานหรือการค้าประเวณี  (ในกรณีพ่อ – แม่บังคับลูกให้ค้าประเวณีนั้นมีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีกับพ่อ – แม่ในความผิดฐานค้ามนุษย์) จึงควรมีการหารือร่วมกันเพื่อตีความข้อกฎหมายในส่วนนี้ให้มีความชัดเจนขึ้น

และสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ กลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วงจรการขอทานที่มาจากชุมชนแออัดต่างๆ ซึ่งมีการกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ทางภาครัฐควรเข้าไปหาแนวทางป้องกันโดยการส่งเสริมอาชีพหรือสวัสดิการให้เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้นเพื่อจะได้มิต้องมาทำการขอทานอยู่ข้างถนน

ท้ายสุดนี้โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา หวังว่าในปี 2559 หน่วยงานภาครัฐจะยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังต่อไปเฉกเช่นเดียวกับปี 2558 และทำให้ปัญหาเด็กขอทานในประเทศไทยทุเลาเบาบางลงจนหมดไปในอนาคต เพราะถึงอย่างไร “เด็ก” ไม่ควรต้องมานั่งขอทานอยู่ข้างถนนไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม.....

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net