Skip to main content
sharethis

(6 ก.ค.54) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะทีมเศรษฐกิจของพรรคและอดีตปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ของพรรคหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคเอกชนและนักวิชาการว่า เป็นนโยบายที่มุ่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อทำให้คนจนและระดับล่างของสังคมหรือรากหญ้าสามารถลืมตาอ้าปากได้ ยืนยันจะให้เท่ากันทุกจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของลูกจ้างที่เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 441 บาท ขณะที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ก็ระบุว่าค่าจ้างต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่สามารถเลี้ยงดูของแรงงานได้โดยรวมคู่สมรสและบุตร ดังนั้น แนวคิดพรรคจากนี้เมืองไทยจะไม่มีค่าแรงถูกอีกต่อไป โดยจะยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานและยุทธศาสตร์การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศในปี 2020 นายจารุพงศ์ กล่าวว่า ยืนยันจะไม่รื้อระบบไตรภาคีค่าจ้างถือว่าเป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว เพราะทุกฝ่ายมีส่วนร่วมแต่จะแก้กระบวนการสรรหาที่มาของตัวแทนไตรภาคีที่ยังมีปัญหาตัวแทนฝ่ายลูกจ้างไม่สามารถส่งตัวแทนที่แท้จริงเข้ามาเป็นคณะกรรมการได้ เพราะติดขัดเรื่องสหภาพแรงงานที่มีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนแรงงานทั้งประเทศ โดยจะเริ่มจากการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจให้มีเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท คาดจะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำจะเริ่มได้เมื่อได้ทำความเข้าใจกับภาคเอกชน รวมถึงหานโยบายสนับสนุนให้เอกชนมีกำลังในการขึ้นค่าจ้าง เช่น การลดภาษีนิติบุคคล ภาษีเครื่องจักร หาตลาดสินค้าส่งออกให้ คาดจะเริ่มได้ในเดือนมกราคม 2555 ส่วนกรณีหลายฝ่ายกังวลปัญหาค่าจ้าง จะส่งผลให้มีการย้ายฐานผลิตนั้น นายจารุพงศ์ กล่าวยืนยันว่าอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น หากจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิต ภาครัฐจะสนับสนุนให้เอกชนไปตั้งโรงงานในประเทศที่ค่าแรงถูกหรือตามแนวชายแดนแทน ที่มา: สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net