'สมานฉันท์แรงงานไทย' ถกด่วน! โต้กระแสต้านค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมศุภชัยศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนมักกะสัน กรุงเทพฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เชิญคณะทำงานปฏิรูปค่าจ้างซึ่งประกอบด้วยผู้นำแรงงานและนักวิชาการด้านแรงงาน ร่วมประชุมเพื่อหารือและกำหนดท่าทีต่อกระแสต่อต้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของบรรดานักธุรกิจอุตสาหกรรม โดยนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.กล่าวว่า ภายหลังพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจนสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้นั้น นโยบายหาเสียงในเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศที่ได้คะแนนเสียงอย่างเป็นกอบเป็นกำจากผู้ใช้แรงงานกำลังถูกต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายนายจ้างและสภาอุตสาหกรรมรวมทั้งนักวิชาการบางส่วน จนทำให้ขณะนี้เสียงจากแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเริ่มโอนอ่อนไปตามกระแสกดดัน ซึ่งที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นคัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างมาพิจารณาร่วมกันอย่างละเอียดแล้วเห็นว่า การคัดค้านตั้งอยู่บนพื้นฐานการกลัวเสียผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มมากกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และประเทศชาติโดยรวม เช่น อ้างเกิดผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) เป็นเรื่องเหมารวมเอาเองว่าจะได้รับผลกระทบทั้งหมดจนล้มละลาย ทั้งที่ความจริงลูกจ้างในกลุ่ม SMEs ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำกับกลุ่มนี้ ตัวเลขผลประกอบการก็ไม่ได้ถูกหยิบยกมาอ้างอิงอย่างชัดเจนในการคัดค้าน และกลับมีหลายฝ่ายที่เห็นว่าการเพิ่มค่าจ้างจะเป็นผลดีให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อปรับตัวไปสู่แนวอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ทำให้ขายสินค้าหรือบริการได้ราคาสูงขึ้นโดยไม่ต้องแข่งกันเรื่องค่าจ้างต่ำอีกต่อไป ปรับค่าจ้างเป็น 300 บาทมากเกินไปหรือไม่ ข้อเท็จจริงคือในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อมาก ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานที่แม้จะทำงานมานาน 10 – 20 ปี มีทั้งฝีมือและประสบการณ์ที่สร้างผลผลิตได้มากกว่าก็ยังได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำหรือสูงกว่าเพียงเล็กน้อย ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอและดำรงชีพอย่างยากลำบาก มีหนี้สินรุงรัง ขณะที่ผู้ประกอบการขยายโรงงานเร่งเพิ่มผลผลิตจนแรงงานต้องทำงานล่วงเวลา (โอที) หามรุ่งหามค่ำ แต่ไม่เคยแสดงผลประกอบการว่ากำไรหรือขาดทุนอย่างไรให้ชัดเจน ช่องว่างทางรายได้และทรัยพ์สินที่ห่างกันมากในสังคมไทยก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำจนนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงทางสังคม การปรับเพิ่มค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวันจึงเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง แต่กลไกไตรภาคีที่มักถูกครอบงำโดยฝ่ายรัฐและนายทุนคงไม่อาจตอบโจทย์นี้ได้ จึงเป็นความชอบธรรมของรัฐบาลที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้นที่จะดำเนินการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศตามที่หาเสียงไว้ จะเกิดการว่างงาน การย้ายฐานการผลิต และการทะลักของแรงงานข้ามชาติ เป็นเรื่องที่ฝ่ายนายจ้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใช้โหมประโคมมาตลอดเวลามีการเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างและสวัสดิการจากผู้ใช้แรงงาน ทั้งที่ความจริงในปัจจุบัน สังคมไทยกำลังพูดกันถึงการยกระดับไปสู่ประเทศที่ผลิตสินค้าราคาสูง ส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าราคาถูกใช้แรงงานราคาถูกนั้นชัดเจนว่าแข่งกับอีกหลายประเทศที่ค่าจ้างแรงงานถูกกว่าไม่ได้แล้ว ถึงแม้จะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างก็เตรียมหาลู่ทางย้ายฐานการผลิตกันอยู่แล้ว ส่วนถ้าจะใช้แรงงานข้ามชาติ นายจ้างที่ประกอบการอย่างถูกกฎหมายก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้อย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย แต่หากจะใช้แรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมายก็อาจเกิดผลกระทบทางด้านสังคมตามมามากมาย ซึ่งที่ผ่านมาก็ตกเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่ต้องไปดูแลแก้ปัญหา โดยที่นักธุรกิจผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้แรงงานข้ามชาติไม่เคยแสดงท่าทีว่าจะรับผิดชอบอย่างไร ค่าแรงขั้นต่ำ มิติทางสังคม คสรท.พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เรื่องของการเมืองหรือเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ควรพูดถึงในมิติทางสังคมด้วย จึงเห็นว่าจะต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมด้วยเหตุด้วยผลบนหลักวิชาการอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสับสนจากการรับข้อมูลจากฝ่ายคัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงกำหนดจัดเวทีสัมมนาวิชาการหัวข้อ “300 บาท ชะตากรรมใคร? รัฐบาล นายจ้าง หรือลูกจ้าง” ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ คสรท.ได้มีการประสานพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลไว้แล้วเพื่อจะไปยื่นข้อเสนอ 9 ข้อของ คสรท.ในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2554 เวลา 09.00 น.ที่พรรคเพื่อไทย เพื่อให้มีการพิจารณาบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ตามที่ตัวแทนของพรรคเพื่อไทยได้มารับปากและลงนามให้สัตยาบันไว้กับผู้ใช้แรงงานในงานเวทีสมัชชาแรงงานเรื่อง “จุดยืนและข้อเสนอต่อนโยบายด้านแรงงานของพรรคการเมือง” ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ กทม.เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท