Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การกดราคาค่าจ้างแรงงานเพื่อทำกำไรเพิ่มโดยอ้างความสามารถในการแข่งขันจึงเป็นเพียงหน้ากากคลุมเจตนาเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ ส่วนการกล่าวโทษค่าแรงที่เพิ่มขึ้นว่าเป็นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจโดยไม่มีความเป็นจริงพื้นฐานใด ๆ รองรับ


“การส่งออกที่ติดลบนั้น สะสมมาแล้ว 4 ปี ทั้งมาจากนโยบายค่าแรง 300 บาทของรัฐบาลที่แล้ว ทำให้สูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน”

ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ
“หม่อมอุ๋ยฟุ้งทำเศรษฐกิจโต 5% หลังแก้ 3 ฐาน,” เดลินิวส์, 4 มิ.ย. 2558 เข้าถึงเมื่อ 6 มิ.ย. 2558 


จากที่รองนายกฯ กล่าวมามีคำถามควรถาม 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรกเป็นคำถามพื้นฐานว่า จริงหรือไม่ที่การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทำให้การส่งออกติดลบ ถ้าข้อความนี้เป็นจริงน่าจะหมายความว่าสินค้าส่งออกสำคัญของไทยใช้ปริมาณแรงงานมากและมีค่าแรงเป็นต้นทุนสำคัญ

ข้อมูลพื้นฐานสืบค้นได้จากเวปไซต์กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าสินค้าส่งออกสำคัญของไทย 10 อันดับแรกระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ปี 2558 คือ หนึ่ง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สอง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สาม อัญมณีและเครื่องประดับ สี่ เม็ดพลาสติก ห้า น้ำมันสำเร็จรูป หก แผงวงจรไฟฟ้า เจ็ด ผลิตภัณฑ์ยาง แปด เคมีภัณฑ์ เก้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล สบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (http://www2.ops3.moc.go.th/)

ในขณะที่รายงานการวิจัยเรื่อง “ข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตหลังปรับค่าแรงขั้นต่ำ” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เสนอผลการวิจัยในปี พ.ศ. 2556 ให้ข้อมูลว่าภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากที่สุดคือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเนื่องจากมีการปรับขึ้นค่าแรงเพิ่มเกือบ 50% โดยประมาณ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนค่าแรงของธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนั้นคิดเป็น 10% ของโครงสร้างต้นทุนและกำไรต่อยอดขายเท่านั้น ส่วนภาคการผลิตสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น ยานยนต์ เหล็กกล้า ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีการปรับเพิ่มของค่าแรงโดยเฉลี่ยประมาณ 15% และต้นทุนค่าแรงนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยของต้นทุนทั้งหมด เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์นั้นมีสัดส่วนต้นทุนค่าแรงประมาณ 1-2% ของต้นทุนทั้งหมดเท่านั้น

ถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะมีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ก็ตาม สถิติการส่งออกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของไทยที่จัดทำโดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยรายงานว่ามูลค่าการส่งออกรวมของสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี พ.ศ. 2556 (ม.ค.-ส.ค) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.31 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2555 

นอกจากนี้ ปริมาณแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ คิดเป็นร้อยละ 45 ของปริมาณแรงงานทั้งหมดในขณะที่มีแรงงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเพียง 14% (เดือนเด่น นิคมบริรักษ์, “แนวทางการหนีกับดักรายได้ปานกลางกับการปฏิรูปภาคบริการไทย,” เสวนาสาธารณะ จัดโดยทีดีอาร์ไอ 25 มกราคม พ.ศ. 2556)

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ใช้ปริมาณแรงงานมากไม่ใช่อุตสาหกรรมผลิตสินค้าส่งออกสำคัญของไทย และสัดส่วนปริมาณแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนั้นน้อยกว่าปริมาณแรงงานในภาคอื่น ๆ มาก ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของค่าแรงจึงไม่น่าจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกโดยรวมของไทยและไม่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับปริมาณการส่งออกที่ลดลง

ประเด็นที่สอง ถ้าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แล้วจริงหรือไม่ที่ค่าแรงแพงทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และทำไมประเทศไทยต้องขูดรีดแรงงานเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน?

ค่าแรงเป็นต้นทุนหนึ่งในการผลิตสินค้า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าความสามารถในการแข่งขันขึ้นอยู่กับต้นทุนค่าแรงเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างง่าย ๆ ดังภาพด้านล่างนี้ (ภาพถ่ายและนำมาประกอบกัน ณ เดือนพฤษภาคม 2558)


 

อาหารในภาพเป็นอาหารของร้านอาหารยี่ห้อเดียวกัน ด้านขวาบนเป็นราคาอาหารของร้านสาขาในญี่ปุ่น ด้านขวาล่างเป็นของสาขาในประเทศไทย รูปอาหารเป็นอาหารชนิดเดียวกัน ขนาดเดียวกัน ราคาของสาขาในญี่ปุ่นคือ ถ้วยละ 380 เยน คิดเป็นเงินไทย ณ ปัจจุบันคือ 103 บาท (100 เยน = 27.10 บาท) ในขณะที่ราคาของสาขาในประเทศไทยถ้วยละ 115 บาท เท่ากับว่าราคาอาหารชนิดเดียวกัน ของร้านยี่ห้อเดียวกัน ร้านสาขาในญี่ปุ่นกลับขายถูกกว่าร้านสาขาในไทย

ส่วนรูปทางซ้ายมือเป็นรูปประการรับสมัครพนักงานทำงานพิเศษของร้านอาหารดังกล่าว มีค่าจ้าง 2 อัตราคือ ค่าจ้างสำหรับการทำงานระหว่าง 05.00-22.00 น. จะได้รับค่าจ้าง 230 บาท/ชม. (850 เยน/ชม.) และทำงานระหว่าง 22.00-05.00 น. จะได้รับค่าจ้าง 287 บาท/ชม. (1063 เยน/ชม. ทั้งนี้ร้านมีสวัสดิการต่าง ๆ ให้ด้วย เช่น ประกันสุขภาพ อุดหนุนค่าอาหารให้พนักงาน เป็นต้น

หมายความว่าราคาสินค้าชนิดเดียวกันในประเทศไทยขายแพงกว่าในญี่ปุ่นทั้งที่จ่ายราคาค่าแรงถูกกว่าถึงเกือบ 10 เท่า!!! (คิดจากอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงของนักเรียนนักศึกษา ชั่วโมงละ 30 บาทตามประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง ปี พ.ศ. 2553)

ข้อเท็จจริงข้างต้นทำให้ทราบว่าค่าจ้างแรงงานในอัตราสูงไม่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขัน ความพยายามที่จะแสวงหากำไรด้วยการพึ่งพิงค่าจ้างแรงงานต่ำ ๆ เพียงอย่างเดียวต่างหากที่เป็นสิ่งที่ลดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจอย่างแท้จริง การที่กำไรของพวกเขาได้มาจากส่วนต่างของสิ่งที่แรงงานผลิตกับค่าจ้างราคาต่ำที่พวกเขาจ่ายให้แรงงานและสามารถกระทำเช่นนี้ได้ตลอดมาโดยความร่วมมือของรัฐและประชาสังคม นักธุรกิจประเภทดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องมีความสามารถใด ๆ นอกจากการใช้กำลังและอิทธิพลขูดรีดประโยชน์จากแรงงาน ซึ่งกระทำได้ด้วยการสร้างเครือข่ายสายสัมพันธ์กับชนชั้นนำผู้กุมอำนาจรัฐและผู้มีอำนาจนำในสังคมกลายเป็นขบวนการคอร์รัปชั่นที่ถูกกฎหมายและทรงเกียรติ

สังคมที่ยินยอมให้ธุรกิจเช่นนี้ดำเนินต่อไปได้ย่อมยากที่จะเจริญก้าวหน้าเพราะผู้ประกอบการไม่มีแรงจูงใจในการ “เพิ่มประสิทธิภาพ” ของตนเองเพราะเคยชินกับการใช้กลไกปราบปรามและปลูกฝังอุดมการณ์ของรัฐสนับสนุนการกดค่าแรง

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เมื่อมีการถกเถียงเรื่องการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเด็นที่นำเสนอต่อสาธารณะมักจะเป็นเรื่องนโยบายรัฐที่เลือกช่วยเหลือภาคธุรกิจก่อนหรือเลือกสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนก่อนหรือไม่ก็เป็นประเด็นเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่รัฐปกป้องภาคธุรกิจมากจนบริษัทขาดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมซึ่งนำไปสู่ความไม่สามารถในการแข่งขันของบริษัทในตลาดโลก ดังนั้น แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นคือการลดการปกป้องภาคเอกชน ผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่ของทุน เป็นต้น แน่นอนว่ามาตรการจำนวนหนึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อสวัสดิการแรงงานของญี่ปุ่น แต่ไม่เคยมีการเรียกร้องให้ลดค่าจ้างแรงงานโดยตรง

อันที่จริงรัฐไทยอุดหนุนภาคธุรกิจมากและเป็นเวลายาวนานแล้ว ด้วยนโยบายและมาตรการที่หลากหลายโดยมีการกดราคาค่าแรงเป็นมาตรการหนึ่ง เป็นต้นว่า การให้สิทธิพิเศษด้านการค้าการลงทุน การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน สนับสนุนการสร้างทักษะให้แรงงานและควบคุมปริมาณแรงงานในประเทศให้เพียงพอกับความต้องการของภาคธุรกิจ รวมถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ทรัพยากรของประเทศเพื่อจัดหาพลังงานและการคมนาคมในราคาถูกให้บริษัทและโรงงาน แม้กระนั้นก็ตามก็ยังไม่เป็นที่พึงพอใจของนักธุรกิจ เมื่อธุรกิจที่มึเครือข่ายเข้มแข็งประกอบการไม่ได้ตามเป้าหมายก็จะใช้วิธีเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดเวลา บางครั้งข้อเรียกร้องเหล่านั้นปรากฎในรูปแบบของความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ บ่อยครั้งปรากฎในนามผลประโยชน์ของชาติ ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วข้อเรียกร้องเหล่านั้นล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจของพวกเขาโดยตรงทั้งสิ้น

การกดราคาค่าจ้างแรงงานเพื่อทำกำไรเพิ่มโดยอ้างความสามารถในการแข่งขันจึงเป็นเพียงหน้ากากคลุมเจตนาเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ ส่วนการกล่าวโทษค่าแรงที่เพิ่มขึ้นว่าเป็นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจโดยไม่มีความเป็นจริงพื้นฐานใด ๆ รองรับคงเป็นสิ่งสะท้อนว่าอุปสรรคที่แท้จริงต่อความอยู่ดีกินดีโดยทั่วหน้าของประชาชนในประเทศนั้น ๆ คือความสามารถและการดำรงอยู่ของผู้พูดมากกว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net