Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บรรยากาศเลือกตั้งเริ่มขึ้นแล้ว พลเมืองไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งส่วนหนึ่งอาจกำลังงงๆ งงว่าเราควรใช้สิทธิ์เลือกผู้สมัคร สส. ที่อาจไม่ชนะการเลือกตั้ง หรือเราควรใช้สิทธิเลือกผู้สมัครที่หลังชนะเลือกตั้งแล้วเขาก็ไม่เห็นหัวเราอีกเลย หรือว่าควรโหวตโน อย่างที่มีการรณรงค์ สภาพงงๆ เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทย ในสังคมต้นแบบประชาธิปไตย เช่น อังกฤษ พลเมืองอังกฤษก็เคยตกอยู่สภาพงงๆ เช่นนี้มาก่อนเหมือนกัน ถึงแม้อาจมีผู้คิดว่าคุณภาพของผู้สมัคร สส. ของเขาอาจดีกว่าของเรา(??) แต่ฝ่ายผู้มีสิทธิออกเสียงก็มีความไม่แน่ใจว่าตนควรทำหรืออยากทำอะไรที่เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกผู้แทนประชาชนเข้าไปเป็นปากเสียงให้ตนอยู่ดี เราอาจลองดูว่า ประชาธิปไตยอังกฤษที่ผ่านการเลือกตั้งมีลักษณะอะไรบ้างที่คล้ายบ้านเรา? คนอังกฤษผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาอย่างไร? เควิน เจฟฟรีส์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยพลีมัธ ระบุว่าคนอังกฤษก็เบื่อการมาเลือกตั้งเหมือนกัน เมื่อปี 2004 มีผู้มาใช้สิทธิแค่สี่ในสิบคน ที่มาน้อยก็เพราะเบื่อนักการเมือง ของบ้านเราเมื่อปี 2006 มีคนไม่มาเลือกตั้งถึง 12 ล้านคน จากผู้มีสิทธิออกเสียง 47 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนได้ว่ามีผู้มาใช้สิทธิเจ็ดในสิบคน ยังถือว่ามากกว่าของอังกฤษ ทำไมคนอังกฤษจึงเบื่อนักการเมืองและเบื่อการเลือกตั้ง? ที่เบื่อเป็นเพราะผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งส่วนหนึ่งไม่แน่ใจว่าพรรคการเมืองที่เสนอตัวเข้ามานั้นไว้ใจได้หรือไม่? รัฐบาลทำเพื่อใคร? เมื่อมีการสุ่มความเห็นโดยถามว่า รัฐบาลทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศหรือของพรรคการเมือง? (โพลเมืองไทยน่าจะถามแบบนี้บ้าง) ยี่สิบห้าปีก่อนมีชาวอังกฤษที่ตอบว่า รัฐบาลทำเพื่อประเทศมากกว่าถึง 39% ปัจจุบันเหลือเพียง 16% ที่คิดเช่นนั้น แปลว่ามีคนเพียงหนึ่งในหกที่เชื่อว่ารัฐบาลทำเพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ สำหรับบ้านเราการสุ่มความเห็นอาจต้องถามถึงสองระดับว่า รัฐบาลทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศหรือของพรรคการเมือง? และนักการเมืองทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือของตนเอง? สื่อกับการเมือง นักการเมืองอังกฤษบ่นว่าสื่อทำให้พวกเขากลายเป็นคนขี้โกหกคนขี้โกงในสายตาของประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ การที่คนมาเลือกตั้งน้อยจึงเป็นผลมาจากการนำเสนอข้อมูลด้านลบของสื่อนี่เอง (ตามความเห็นของนักการเมือง) สื่อแฉโพยข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมนักการเมืองและรัฐบาล เช่นเรื่องการผันเงินอย่างหนักหน่วง ความล้มเหลวทางการข่าว การขึ้นค่าเล่าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การยอมตามอเมริกาในสงครามอิรัก ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนที่รับรู้ข้อมูลเกิดความรู้สึกว่านักการเมืองหมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศ แล้วเกิดความไม่แยแสต่อการเลือกตั้ง ไม่อยากแม้แต่จะเดินออกจากบ้านมาสักสิบเมตรให้ถึงคูหาเลือกตั้งแล้วหยิบดินสอมากาบัตรเมื่อสิบปีที่แล้ว ร้อนถึงสื่อต้องออกมาพิจารณาบทบาทของตัวเอง สถานีบีบีซีวิเคราะห์รายการวิพากษ์การเมืองของสถานีและพบว่าคนไม่ค่อยสนใจชมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ชอบดูรายการโชว์มากกว่ารายการการเมือง ไม่น่าจะเป็นความผิดของสื่อที่ขุดคุ้ยข้อมูลของนักการเมืองจนประชาชนไม่มาออกเสียงเลือกตั้ง แม้สื่อจะให้ภาพลบเกี่ยวกับการเมือง แต่ก็ทำให้ผู้บริโภคสื่อมีข้อมูลทางการเมืองมากขึ้นด้วยในระยะยาว อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางกลุ่มก็วิพากษ์ว่า สื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์ในอังกฤษมีแนวโน้มจะทำให้การเมืองเป็นเรื่องตื่นเต้น หวือหวา เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไร้สาระ หรือเป็นเรื่องไม่มีความหมาย จำนวนช่องที่เพิ่มมากขึ้นทำให้การโต้ตอบทางความคิดเห็นระหว่างกลุ่มที่เกี่ยวข้องและแตกต่างกันบนพื้นที่สาธารณะกลับลดลง การเมืองกลายเป็นเกม ไม่ใช่เรื่องซีเรียส ผู้ชมโทรทัศน์บางคนก็งง บางคนก็เบื่อ หรือกลายเป็นเย้ยหยันไปเลยก็มี ผู้ชมจำนวนไม่น้อยคิดว่านักการเมืองไร้น้ำยาหรือโกงกิน หรือทั้งสองอย่าง จากการวิเคราะห์สื่ออังกฤษ นักวิจัยสรุปว่า ต้องแยกระหว่างสื่อแบบแทบลอยด์กับสื่อน้ำดี ประชาชนกลุ่มต่างกันก็บริโภคสื่อต่างกันตามความต้องการของเขา ผู้อ่านสื่อน้ำดี (ซึ่งมีประมาณหนึ่งในสิบของผู้ใหญ่) ได้รู้ข้อมูลทางการเมืองมากกว่าผู้อ่านสื่อประโคมข่าว แต่คนอ่านสื่อประโคมข่าวมีมากถึงห้าในสิบคน อย่างไรก็ตามคนอ่านสื่อประโคมข่าวซึ่งไม่ได้รับความรู้ทางการเมืองก็ไม่ได้เป็นผู้ที่เบื่อหน่ายทางการเมืองเช่นกัน ผู้ชมรายการโทรทัศน์ เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ การวิจัยพบว่าผู้ชมรายการที่ดูโทรทัศน์มาก ไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจทางการเมืองสูงขึ้น จำนวนช่องโทรทัศน์ที่ผุดเป็นดอกเห็ดและมีแฟนคลับติดตามกันอย่างเหนียวแน่นของไทยก็อาจเข้าข่ายเดียวกันนี้ กล่าวคือ ถึงดูมากก็ไม่ได้ทำให้ระดับความเข้าใจทางการเมืองสูงขึ้น อาจเป็นเพราะรับรู้ข้อมูลข้างเดียวและข้อมูลที่ได้เป็นความตอกย้ำความเข้าใจเดิม (ที่อาจผิด) ให้ผลิตซ้ำต่อไปโดยไม่มีการยกระดับความเข้าใจก็ได้ ที่ประเทศอังกฤษหลังภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า Black Wednesday 1997 ประชาชนตั้งคำถามว่า นักการเมืองและสื่อพูดความจริงหรือเปล่า ได้มีการสอบถามความเห็นคนทั่วๆ ไปว่า คนกลุ่มไหนพูดความจริง ในระหว่าง หมอ ครูบาอาจารย์ ผู้พิพากษา ตำรวจ ข้าราชการ สื่อ นักการเมือง และรัฐมนตรี ผลการสอบถามคนอังกฤษคิดว่า หมอกับครู พูดความจริงมากที่สุด (86-89%) ที่เหลือลดหลั่นลงมา นักการเมืองได้ต่ำสุด (17 %) สื่อได้ (18%) และรัฐมนตรีได้ (20%) ความเห็นนี้สะท้อนความคิดที่คนมีต่อนักการเมือง สื่อ และรัฐมนตรีได้แจ่มแจ้งดี รัฐบาลพยายามกระตุ้นให้คนมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหานอนหลับทับสิทธิ เช่น ให้โหวตทางอินเตอร์เน็ทและทางไปรษณีย์ได้ แต่ก็ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ สื่อ เช่น หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน จึงวิพากษ์รัฐบาลว่า ทำให้การโหวตง่ายขึ้นแต่ไม่ได้ทำให้การโหวตมีคุณค่ามากขึ้น การไม่มาออกเสียงของคนจำนวนมากนั่นแหละคือการตัดสินของเขา บทวิพากษ์นี้ฟังดูคล้ายๆ โนโหวตของพันธมิตรอยู่เหมือนกันนะ วิธีที่พรรคการเมืองอังกฤษใช้เพื่อโจมตีพรรคฝ่ายตรงกันข้ามดูจะน่ารักกว่าของเมืองไทย ตอนที่ โทนี่ แบลร์ หาเสียงเลือกตั้ง พรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นคู่ต่อสู้จ้างชายร่างสูงใหญ่มาใส่ชุดไก่ยักษ์ แล้วให้วิ่งกระพือปีกอยู่ข้างหลังแบลร์ ฝ่ายหนังสือพิมพ์เดลี่มิเรอร์ ซึ่งน่าจะเป็นฝ่ายหนุนพรรคแรงงานของแบลร์ก็ไปจ้างชายอีกคนมาใส่ชุดสุนัขจิ้กจอกวิ่งไล่กัดไก่อีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฏ ก็ได้มีคนแต่งตัวเป็นแรดสองตัวออกมาร่วมวงกับไก่และสุนัขจิ้งจอก ไม่มีใครอ้างตัวว่าเป็นเจ้าของแรด สัตว์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเมืองอังกฤษดูจะดุร้ายน้อยกว่าและสุภาพกว่าสัตว์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเมืองไทย อย่างน้อยก็เห็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเป็นคนเหมือนกัน ในเรื่องนี้การเมืองไทยมีความรุนแรงมากกว่าทั้งโดยวาจาและโดยสัญลักษณ์ รวมทั้งโดยการกระทำด้วย ถ้าไม่เห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นคนแล้วจะยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยด้วยกันไหวไหมเนี่ย คุณโตมร ศุขปรีชา ก็ได้ตั้งคำถามนี้ไว้ในบทความเนชั่นสุดสัปดาห์เมื่อเร็วๆ นี้ ใครที่หาเสียงแบบรุนแรง น่าจะฉุกคิดว่าเมื่อสาดโคลนกันจนเน่าถึงที่สุดแล้ว ประชาชนอาจเบือนหน้าหนีด้วยความสะอิดสะเอียนแล้วไม่เลือกใครทั้งนั้น เจฟฟรีส์ระบุว่า ความเบื่อนักการเมืองและการเลือกตั้ง เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองค่าย คือพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยม ในอดีตผู้มีสิทธิออกเสียงในช่วงทศวรรษ 1960 เคยคิดว่าสองพรรคนี้ต่างกันมาก (48%) แต่พอถึงปี 2001 ประชาชนกับเห็นว่าสองพรรคนี้ไม่มีอะไรแตกต่างกันมาก (44%) พูดได้ว่าไม่มีใครดีกว่ากัน คนรุ่นใหม่เป็นความสนใจของการเมืองในทุกประเทศ อังกฤษพยายามเรียกร้องความสนใจทางการเมืองจากคนกลุ่มนี้ แต่ได้รับผลกลับมาเป็นความไม่แยแสต่อการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ไม่สมัครเป็นสมาชิก กระทรวงศึกษาอังกฤษต้องลุกขึ้นบรรจุวิชาหน้าที่พลเมืองเข้าไปในหลักสูตรระดับมัธยม เพื่อสอนหน้าที่พลเมืองและประชาธิปไตยในโรงเรียน ให้เยาวชนมีความตื่นตัวในความรับผิดชอบต่อโรงเรียนและชุมชนตลอดจนส่วนรวม พลเมืองวิพากษ์ ใครๆ ก็อยากได้พลเมืองที่มีวิจารณญาณ รู้จักวิพากษ์ เท่าทันนักการเมือง ใช้สิทธิของตนอย่างเต็มภาคภูมิ พลเมืองวิพากษ์น่าจะเป็นคนที่รู้จักมองย้อนกลับไปในอดีต และมีความเข้าใจทางการเมืองว่า ใครเคยทำอะไรไว้บ้าง ได้เคยเกิดอะไรขึ้นบ้าง พลเมืองที่เรียนรู้ที่จะคิดว่าเราควรป้องกันไม่ให้ข้อผิดพลาดในอดีตเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากนั้นยังรู้วิธีที่จะตรวจสอบนักการเมือง เข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมืองภาคประชาชนด้วยความสมัครใจด้วยตนเอง ไม่ใช่มวลชนจัดตั้ง ไม่รับลดแลกแจกแถมหรือของฟรี ไม่พอใจนโยบายประชานิยมหรือประชาภิวัฒน์อย่างง่ายๆ แต่ตั้งคำถามกลับไปว่า “แล้วเราต้องสูญเสียอะไรบ้าง?” นายกหญิงดีไหม? เมื่อ มาร์กาเร็ต แท็ตเชอร์ จากพรรคอนุรักษ์นิยมเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทศวรรษ 1970 อังกฤษกำลังสะบักสะบอมจากระบบสวัสดิการของพรรคแรงงานที่ถูกเศรษฐกิจโลกบีบคั้นจน “ไปต่อไม่ได้” คนอังกฤษจึงหันไปเทคะแนนให้พรรคการเมืองที่ประกาศว่าจะยกเลิกรัฐสวัสดิการ แท็ตเชอร์เสนอนโยบายเสรีนิยมใหม่ ซึ่งก็คือการกลับมาของทุนนิยมในรูปแบบของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและความสำคัญของภาคเอกชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดสวัสดิการด้านบำนาญ ลดอำนาจสถานภาพแรงงาน รื้อฟื้นค่านิยมจักรวรรดิอังกฤษ ประกาศต่อต้านแรงงานต่างชาติ ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นอนุรักษ์นิยม หลังจากการบริหารประเทศอยู่ถึงสิบเอ็ดปี คนอังกฤษก็ได้บทเรียนว่า รัฐเสรีนิยมใหม่ทำให้เขาต้องปากกัดตีนถีบเพียงใด คนที่ไม่ชอบนายกหญิงคนนี้ยืนยันว่า เธอทำให้คนอังกฤษแตกแยกกัน ภาวะว่างงานสูงอย่างไม่น่าเชื่อ เศรษฐกิจบูมแบบจอมปลอมโดยอาศัยการให้สินเชื่อและการปล่อยกู้ สิทธิแรงงานถูกทำลาย การเรียกเก็บภาษีชุมชน จนผู้คนทนกันไม่ได้พากันออกมาประท้วง ช่องว่างคนรวย-คนจนขยายกว้างขึ้นกว่าเดิม คนไร้บ้านเพิ่มขึ้น ความยึดเหนี่ยวในสังคมถูกทำลายลงด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว ฝ่ายคนที่ชอบก็บอกว่า แท็ตเชอร์ช่วยกอบกู้อังกฤษมาจากความตกต่ำ เศรษฐกิจดีขึ้นทำให้มาตรฐานการครองชีพสูงขึ้น จัดการปัญหาการประท้วงของกรรมกรเหมืองแร่และสหภาพแรงงานได้เด็ดขาด พัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันสมัยโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จัดการกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น จะเห็นได้ว่ามีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจในนายกรัฐมนตรีหญิงคนนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เธอเป็นนายกฯหญิงที่มีนโยบายเหมือนผู้ชาย (ในการตัดสินใจและการกระทำ) เช่นการทำสงครามโฟล์คแลนด์กับอาเจนติน่า จึงมีคนขนานนามเธอว่าเป็น หญิงเหล็ก คู่หูของเธอที่อเมริกาชื่อ โรนัลด์ รีแกน ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมานายกหญิงไม่ได้มีแต่ที่อังกฤษ ในเอเชียเองเราก็มีทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีหญิง ที่อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย ฟิลิปปินส์ ถ้าดูตัวอย่างจากผู้นำเหล่านี้รวมทั้งของอังกฤษ เธอเหล่านี้ไม่ได้ถูกเลือกมาเพียงเพราะเป็นผู้หญิง แต่เป็นเพราะความสามารถและความเป็นหญิงเหล็กไม่มากก็น้อย การจะขายความเป็นผู้หญิงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งคงไม่เพียงพอ ดูแต่ฮิลลารี่ คลินตัน ผู้หญิงเหล็กอีกคนหนึ่งยังต้องเปิดทางให้ผู้ชายผิวสีชื่อ โอบามา ในยุคสมัยที่พหุวัฒนธรรมสำคัญกว่าเพศภาวะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net