Skip to main content
sharethis

 

ที่ประชุมสภาฯ ล่มครั้งที่ 4 หลังพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะวาระที่ 2 เสร็จสิ้น ประธาน กดปุ่มเรียก ส.ส. มาลงมติวาระ 3 แต่เหลือ ส.ส. 231 คน ไม่ครบองค์ประชุม
 
         
วันที่ 21 เม.ย.54 เมื่อเวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้วต่อเป็นวันที่ 2 โดยนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มอบให้นายกว้าง รอบคอบ เป็น ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน มาแทน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ที่ลาออกไป ได้ลุกขึ้นปฏิญาณตนก่อนทำหน้าที่ และพูดกระเซ้าว่า ขอต้อนรับสมาชิกใหม่ แต่คงอยู่ได้ไม่นานเดี๋ยวก็ยุบสภาแล้ว
 
จากนั้นจึงได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ต่อในมาตรา 8 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้น ประกอบด้วย สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระรัชทายาท รวมถึงสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การชุมนุมที่ได้รับอนุญาตต้องมีระยะห่างจากสถานที่ดังกล่าวไม่น้อยกว่า 10 เมตร
 
ซึ่ง ส.ส.ส่วนใหญ่ได้อภิปรายแสดงความเป็นห่วงเรื่องกำหนดระยะห่างระหว่างการชุมนุมกับสถานที่สำคัญอาจเกิดข้อจำกัดในการชุมนุม และการดูแลความปลอดภัย โดยมีผู้เสนอให้กำหนดความชัดเจนเรื่องระยะห่าง รวมถึงการกำหนดสถานที่สำคัญควรกำหนดให้ชัดเจนว่าห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด ไม่ควรเปิดโอกาสให้มีการขออนุญาตเพราะสถานที่ที่กำหนดไว้ล้วนเป็นสถานที่สำคัญ อย่างไรก็ดีหลังการอภิปรายสมาชิกบางส่วนต้องการให้กรรมาธิการแปรญัตติปรับปรุงถ้อยคำให้ชัดเจน ขณะที่กรรมาธิการยืนยันตามที่พิจารณาเสร็จแล้วทำให้ประธานสั่งพักการประชุม 3 นาทีเพื่อให้สมาชิกและกรรมาธิการไปตกลงกันให้ได้ข้อสรุป
 
หลังพักการประชุมนายนิพนธ์ บุญญามณี กรรมาธิการ เสนอว่าควรแก้ไขว่า "การชุมนุมสาธารณะห้ามจัดการชุมนุมในสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และที่พำนักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมถึงสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ โดยการชุมนุมจะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ดังต่อไปนี้ รัฐสภา สถานที่ราชการ ศาล ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานทูต สถานกงสุล ที่ทำการองค์กรระหว่างประเทศ" โดยที่ประชุมพอใจกับการปรับปรุงถ้อยคำจึงผ่านการพิจารณาในมาตรา 8
 
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรียงรายมาตรา โดยมีมาตราที่สำคัญ ซึ่ง ส.ส.ให้ความสนใจในการอภิปรายเป็นจำนวนมาก อาทิ มาตรา 19 การชุมนุมต้องเลิกชุมนุมตามกำหนดเวลาที่แจ้งไว้ โดยกรรมาธิการเพิ่มเติมว่าภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หากผู้ชุมนุมประสงค์จะจัดให้มีการชุมนุมต่อไป ให้แจ้งขอขยายระยะเวลาการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง โดยกรรมาธิการแจ้งกับที่ประชุมว่าจุดมุ่งหมายของการบัญญัติมาตรานี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบกำหนดเวลาการเลิกชุมนุม อย่างไรก็ดีสมาชิกบางส่วนเห็นว่าการต้องแจ้งเพื่อชุมนุมต่อทำให้เกิดความลำบากกับผู้ชุมนุม บางกรณีผู้ชุมนุมมีความเดือดร้อนด้านต่างๆ และยังไม่ได้รับการแก้ไขการจะต้องแจ้งเพิ่มเวลาชุมนุมทำได้ลำบาก อย่างไรก็ดีที่ประชุมยืนยันตามที่กรรมาธิการเพิ่มเติม
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แก้ไขถ้อยคำในมาตรา 22 ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้เดียวที่สามารถแต่งตั้งเจ้าพนักงานรับผิดชอบดูแลการชุมนุม กรณีหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมและผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานี ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งนี้เดิมร่างกฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีและ ผบ.ตร.เป็นผู้แต่งตั้งเจ้าพนักงานแต่ที่ประชุมเห็นว่าหน้าที่ดูแลการชุมนุมควรเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลมากกว่าฝ่ายบริหาร
 
มาตรา 24 กรณีการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือผู้จัดการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้เจ้าพนักงานประกาศให้ยกเลิกการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตามเจ้าพนักงานต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเลิกการชุมนุม ในระหว่างรอคำสั่งศาลให้เจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการที่จำเป็นตามแผนหรือแนวทางการควบคุมที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยกำหนดแผนหรือแนวทางการควบคุมให้เจ้าพนักงานเลี่ยงการใช้กำลัง หรือไม่สามารถเลี่ยงได้ให้ใช้กำลังหรือเครื่องมือควบคุมฝูงชนเพียงเท่าที่จำเป็น โดยนายบรรพต ต้นธีรวงศ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้ขอเพิ่มเติมข้อสังเกตว่า ขณะที่รอคำสั่งศาลขอให้เจ้าพนักงานและผู้จัดการชุมนุมใช้วิธีประนีประนอมโดยหากสามารถตกลงกันได้ให้นำเสนอข้อตกลงต่อศาลเพื่อพิจารณา ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากรับข้อเสนอดังกล่าวไว้แนบท้ายร่างกฎหมาย
 
ภายหลังจากการพิจารณาเรียงมาตรา ในวาระ 2 เสร็จสิ้นทั้ง 39 มาตรา นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานที่ประชุม กดออดเรียก ส.ส.มาแสดงตน ก่อนจะลงมติในวาระ 3 ปรากฏว่ากดออดนานถึง 10 นาทีก็ยังไม่ครบ ระหว่างนั้นส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างเรียกร้องให้นายสามารถรอ ส.ส.ที่กำลังเดินทางจากห้องประชุมคณะกรรมาธิการฯก่อน ซึ่งนายสามารถได้กดออดรออีกสักพัก แต่ในที่สุดเมื่อนับองค์ประชุมปรากฏว่ามี ส.ส.อยู่เพียง 231 คน ไม่ครบองค์ประชุมที่จำนวน 237 คน จากทั้งหมด 474 คน นายสามารถจึงสั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 13.45 น.
 
 

  

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net