Skip to main content
sharethis

ประธานสหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยง เผยขณะนี้ “โฉนดชุมชน” อยู่ในกระบวนการโอนที่จากกรมธนารักษ์มาเป็นของสหกรณ์ฯ ก่อนนายกฯ ลงพื้นที่ ต.คลองโยง จ.นครปฐม มอบโฉนดชุมชน ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ พร้อมเตรียมปรับวิถีการผลิต-บริโภคให้ชุมชนอยู่ได้อย่างมั่นคง

 
วานนี้ (21 ม.ค.54) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) กล่าวในการสัมมนาเรื่อง “โฉนดชุมชน: ก้าวแรกสู่การแก้ปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืน” ว่า ตามแผนงานโฉนดชุมชนเมื่อทำงานไประยะหนึ่งพบว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และเกี่ยวข้องกับที่ดินที่หลายกระทรวงดูแลอยู่ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) อนุมัติโฉนดชุมชนแปลงใด ก็ให้ส่งเรื่องกลับไปยังกระทรวงนั้น เพื่อที่จะอนุญาตให้คณะกรรมการ ปจช.เอาไปจัดโฉนดชุมชุนตามหมายเฉพาะของกระทรวงนั้นๆ 
 
นายสาทิตย์ กล่าด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการโฉนดชุมชน มีชุมชนเสนอขอรับโฉนดทั้งสิ้น 121 ชุมชน จากนำร่องเริ่มต้นที่ 88 ชุมชน โดยรัฐอนุมัติไปแล้ว 35 แปลง และในจำนวนนี้มีหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อนุมัติมาแล้ว 11 แปลง ซึ่งในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ นายกรัฐมนตรี จะมอบโฉนดชุมชนใบแรกให้กับชาวชุมชนคลองโยง ต.คลองโยง จ.นครปฐม และจะเร่งเดินหน้าแจกโฉนดชุมนุมให้ครบถ้วนโดยเร็ว
 
ด้านนายบุญลือ เจริญมีประธานสหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยง กล่าวว่า การทำโฉนดชุมชนสอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านในการที่จะคงรักษาพื้นที่เกษตรกรรมไว้ให้ลูกหลาน ไม่ให้มีการขายพื้นที่ อีกทั้งกรอบของกฎหมายที่บังคับใช้ก็ไม่ได้แตกต่างหรือขัดแย้งกับกฎระเบียนของสหกรณ์ฯ ที่มีอยู่เดิม จึงพร้อมปฏิบัติตาม แต่ที่ผ่านมากระบวนการจัดทำโฉนดชุมชนในพื้นที่ล่าช้า เพราะติดขัดเรื่องข้อกฎหมายและการรวบรวมเอกสารหลักฐานจากกรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ และกรมธนารักษ์
 
นายบุญลือ กล่าวถึงกระบวนการการทำโฉนดชุมชนในพื้นที่ว่า ก่อนวันที่ 11 ก.พ.นี้ ที่จะมีการรับมอบโฉนดชุมชน สหกรณ์ฯ ต้องนำเงินที่ได้จากรัฐบาลไปจ่ายค่าส่วนต่างราว 2 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ในการเช่าซื้อที่ดิน เนื้อที่ 1,803 ไร่เศษ ตั้งแต่ปี 2519 ตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จากจำนวนเต็ม 6.9 ล้านบาท ซึ่งชาวบ้านได้จ่ายไปแล้ว 5.7 ล้านบาท เพื่อรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากกรมธนารักษ์มาเป็นของสหกรณ์ฯ ในฐานะเจ้าของ เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ฯ เป็นผู้ใช้ประโยชน์ จากนั้นก็จะมอบให้สำนักนายกฯ เพื่อจัดทำโฉนดชุมชนโดยรัฐนำมามอบให้ชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง
 
นายบุญลือ กล่าวด้วยว่า ภายหลังรับมอบโฉนดชุมชน สิ่งที่คนในชุมชนต้องทำร่วมกันคือการปรับปรุงเกี่ยวกับการทำกิน โดยจะมีการร่วมพูดคุยกันให้มากขึ้นเรื่องวิถีเกษตรแนวทางใหม่ และการไม่ใช้สารเคมีในการทำการเกษตร รวมทั้งปรับปรุงให้เกิดการบริโภคผลผลิตที่ผลิตได้จากในชุมชน เพราะต้องยอมรับว่าพื้นที่ครองโยงเป็นพื้นที่เกษตรในตัวเมือง ต่อไปข้างหน้าอาจมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมจากมลพิษ ปัญหารอบด้านที่รุกเข้ามา ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องต่อสู้ร่วมกันต่อไปเพื่อความมั่นคงในการอยู่อาศัยในพื้นที่ 
 
ส่วนกรณีการจำกัดเวลาการทำโฉนดชุมชนไว้ที่ 30 ปี ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงความไม่ยังยืนในหลายพื้นที่ นายบุญลือกล่าวว่า สำหรับที่คลองโยงไม่เป็นปัญหา เพราะกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสหกรณ์ฯ ซึ่งถือเป็นเอกชนโดยตรง ทั้งนี้ จากเดิมที่ชาวบ้านต่อสู้ให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของแต่ละคนเนื่องจากได้ทำการเช่าซื้อกันมา แต่ตกลงที่จะมาทำโฉนดชุมชนร่วมกันในตอนนี้ หายต่อไปอีก 30 ปี หมดเงื่อนไขของการทำโฉนดชุมชน ที่ดินของสหกรณ์ฯ ก็อาจไม่ต้องเข้าร่วมทำโฉนดชุมชน แต่ไปจัดการในรูปแบบอื่นๆ ก็ได้ ซึ่งการกำหนดระยะเวลาตรงนี้อาจไม่ใช่ปัญหาของทุกพื้นที่
 
นายบุญลือ กล่าวถึงข้อเสนอด้วยว่า รัฐบาลควรทำความเข้าใจเรื่องโฉนดชุมชนให้กับชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ รวมไปถึงข้าราชการระดับท้องถิ่น เนื่องจากตอนนี้ยังมีความเข้าใจที่ว่าการจัดทำโฉนดชุมชนคือการมีโฉนด 2 ใบ ทับซ้อนในที่ดินผืนเดียวกัน ซึ่งความจริงนั้นโฉนดชุมชนเป็นกฎระเบียบข้อบังคับของชุมชน ไม่ใช่โฉนดกรรมสิทธิ์ที่รัฐจะมาออกให้ซ้ำซ้อน พร้อมยอมรับว่าก่อนหน้านี้เขาและชาวบ้านหลายๆ คนก็เคยมีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ ซึ่งตรงนี้มีผลทำให้การจัดทำโฉนดชุมชนในหลายพื้นที่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาเรื่องที่ดินของสหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยง สืบเนื่องจาก กรณีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการโครงการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง โดยนำเงินทุนช่วยเหลือเกษตรกรไปจัดซื้อที่ดิน เพื่อนำมาให้เกษตรกรสมาชิกได้เช่าซื้อที่ดิน แต่เนื่องพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพที่ราชพัสดุตามกฎหมาย ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2544 ระบุให้กระทรวงการคลังถือเป็นแนวปฏิบัติว่าที่ดินราชพัสดุไม่ควรโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่สหกรณ์นิคมหรือองค์กรอื่นใด ควรดำเนินการจัดทำสัญญาเช่า ทำให้ที่ดินดังกล่าวไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้ชาวบ้านแม้จะทำการเช่าซื้อก่อนหน้านี้มาหลายสิบปีได้
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมธนารักษ์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุ ต.คลองโยง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เนื้อที่ 1,803 ไร่เศษ ให้สหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง และที่ดินราชพัสดุ ต.ไร่อ้อย อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เนื้อที่ 1,090 ไร่เศษ ให้สหกรณ์การเช่าที่ดินพิชัยภูเบนทร์จำกัด เพื่อนำไปบริหารจัดการเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรสมาชิก ตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยงมีความประสงค์นำที่ดินดังกล่าวเข้าสู่โครงการโฉนดชุมชน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การจัดทำโฉนดชุมชนในพื้นที่คลองโยง กระทรวงการคลังถือเป็นหน่วยงานต้นสังกัดสุดท้ายที่จะตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานในพื้นที่ก่อนประสานกับคณะกรรมการ ปจช.ยินยอมให้ออกโฉนดชุมชนต่อไป ทั้งนี้ ที่ดินดังกล่าวเคยเป็นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ที่หน่วยงานต้นสังกัดยินดีจะมอบที่ดินนี้ให้เป็นของสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง จึงถือว่าไม่ใช่ที่ดินของรัฐ แต่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีข้อ 14 ได้เอื้ออำนวยให้ที่ดินอื่นที่ไม่ใช่ที่ดินของรัฐยังมีสิทธิจัดทำเป็นโฉนดชุมชนได้ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ปจช.
 
ทั้งนี้ โฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน มีสาระสำคัญคือ การออกหนังสืออนุญาตให้ชุมชนได้สิทธิในการใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐ ทั้งเรื่องการอยู่อาศัย และการทำเกษตรกรรม โดยชุมชนจะต้องร่วมกันบริหารจัดการที่ดิน และต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เพราะที่ดินเป็นของชุมชน ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์เป็นรายบุคคล และห้ามจำหน่าย หรือโอนให้บุคคลอื่น หากทำผิดเงื่อนไขรัฐมีสิทธิยึดคืนได้ทันที
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net