Skip to main content
sharethis

รมช.เกษตรฯ เผยระงับส่งออกพืชผัก 5 กลุ่มรวม 16 อย่าง ไปยุโรป ตั้งแต่ กะเพรา โหระพา พริกขี้หนู มะเขือ ฯลฯ ยันมะระ โดยไทยออกมาตรการระงับเอง ก่อนที่สหภาพยุโรปหรือ “อียู” จะออกกฎห้ามนำเข้าผักผลไม้จากไทย หลังเมื่อปีที่แล้วอียูออกรายงานพบศัตรูพืชติดปนกับพืชผักไทยที่นำเข้า โดยกระทรวงเกษตรฯ ยันจะลงโทษอย่างหนักหากมีการลักลอบส่งออก เชื่ออีก 3-6 เดือนจะกลับสู่ภาวะปกติ

เว็บไซต์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงถึงปัญหาสุขอนามัยพืชสินค้าผักสดส่งออกไปสหภาพยุโรป และการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาว่า จากกรณีที่สหภาพยุโรปตรวจพบศัตรูพืชกักกันติดไปกับสินค้าพืชผักส่งออกจาก ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยศัตรูพืชที่ตรวจพบ ได้แก่ แมลงหวี่ขาว หนอนชอนใบ เพลี้ยไฟ และแมลงวันผลไม้ ซึ่งทั้งหมดเป็นศัตรูพืชกักกันของสหภาพยุโรปที่ห้ามติดไปกับสินค้า นอกจากนี้ยังพบว่ามีการลักลอบส่งออกสินค้าที่ไม่แจ้งและไม่ผ่านการตรวจสอบ ของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชฝ่ายไทย ไม่มีใบรับรองสุขอนามัยพืชแนบไปกับสินค้าตามข้อตกลงระหว่างประเทศ

นายศุภชัย แถลงว่า ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระบบการผลิต การควบคุม การตรวจสอบรับรองเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง จากสาเหตุดังกล่าวสหภาพยุโรปได้มีหนังสือแจ้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง การตัดสินใจออกมาตรการระงับนำเข้าพืชผักไทยที่พบปัญหาศัตรูพืชติดไปมาก จากสาเหตุดังกล่าวสหภาพยุโรปได้มีหนังสือแจ้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง การตัดสินใจออกมาตรการระงับนำเข้าพืชผักไทยที่พบปัญหาศัตรูพืชติดไปมาก ได้แก่ พืชสกุล Ocimum spp. (เช่น กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า) พืชสกุล Capsicum spp. (เช่น พริกหยวก พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู) พืช Solanum melongena (เช่น มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือเหลือง มะเขือขาว มะเขือขื่น) พืช Momordica charantia (เช่น มะระจีน มะระขี้นก) พืช Eryngium foetidum (เช่น ผักชีฝรั่ง)

โดยกรมวิชาการเกษตรได้เจรจาขอผ่อนผันโดยประเทศไทยจะหยุดส่งออกสินค้าพืชผัก ชนิดดังกล่าวเป็นการชั่วคราว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป ทั้งนี้จะออกประกาศเพื่อชะลอการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชผักทั้ง 5 กลุ่มที่จะส่งออกไปยังสหภาพยุโรป เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามรุนแรงถึงระดับสหภาพยุโรปออกกฎหมายห้ามนำเข้าจากไทย ซึ่งอาจกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าเกษตรไทยโดยรวมได้

นายศุภชัย กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรได้ประชุมหารือกับตัวแทนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 กรมวิชาการเกษตรได้เดินทางไปเจรจากับหน่วยงาน Health and Consumer (DG-SANCO) สหภาพยุโรป เพื่อขอผ่อนผันมาตรการห้ามนำเข้าพืชผักไทย ผลการเจรจาสรุปได้ว่า สหภาพยุโรปไม่สามารถผ่อนผันการห้ามนำเข้า แต่ไม่ขัดข้องหากประเทศไทยจะขอหยุดการส่งออกสินค้าชั่วคราวจนกว่าจะสามารถ ปรับปรุงแก้ไขปัญหา โดยขอให้มีหนังสือเป็นทางการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งเรื่องการขอระงับการส่งออกชั่วคราวถึง Commissioner, Health and Consumer Policy ภายในเดือนมกราคม 2554

ทั้งนี้ หากประเทศไทยไม่ระงับการส่งออกพืชผักสด 5 กลุ่มดังกล่าว สหภาพยุโรปก็จะดำเนินการตามกระบวนการออกกฎหมายห้ามนำเข้าผักไทย ซึ่งจะต้องมีการตีพิมพ์และประกาศแจ้งต่อสาธารณะ ส่งผลต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของสินค้าจากประเทศไทย และส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขา พืชสากล (International Plant Protection Convention; IPPC) ซึ่งแต่ละประเทศมีหน้าที่ในการป้องกันตรวจสอบไม่ให้ศัตรูพืชกักกันติดไปกับ สินค้าส่งออกหรือเข้ามาในประเทศของตน สหภาพยุโรปอาศัยการควบคุมรับรองของประเทศผู้ส่งออกเป็นสำคัญไม่สามารถขอยก เว้นไม่ดำเนินการมาตรการเป็นรายกรณี

นายศุภชัย แถลงต่อว่า ทั้งนี้ การระงับการส่งออกโดยฝ่ายไทยเป็นผลดีในการขอยกเลิกมาตรการ เนื่องจากขั้นตอนการเสนอขอยกเลิกสามารถทำได้เร็วกว่าการที่สหภาพยุโรปออก เป็นกฎหมายห้ามการนำเข้าผักสดจากไทย เมื่อประเทศไทยแจ้งการระงับการส่งออก และปรับปรุงแก้ไขระบบการผลิตและการควบคุมรับรองแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถแจ้งหน่วยงานรับผิดชอบของสหภาพยุโรปให้มาตรวจ ประเมิน และหากพบว่าสอดคล้องกับกฎระเบียบก็ขอยกเลิกการระงับการส่งออกได้ โดยสามารถเสนอให้มีการพิจารณาผ่อนผันเป็นราย ผู้ส่งออกที่สามารถผลิตและควบคุมได้ตามมาตรฐาน ทั้งนี้ ไทยต้องให้ความสำคัญกับพืชอื่นๆ ที่จะส่งออกไปสหภาพยุโรปว่า จะต้องไม่มีศัตรูพืชติดไปกับสินค้า และไม่ลักลอบส่งออกสินค้าต้องห้าม หรือส่งออกสินค้าโดยไม่ผ่านการตรวจสอบหรือไม่มีใบรับรองสุขอนามัยพืชแนบไป ด้วย เรื่องสำคัญอย่างยิ่ง คือ ต้องไม่มีการส่งออกสินค้าผัก 5 กลุ่มระหว่างการระงับการส่งออก รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสารตกค้างและการปนเปื้อนเชื้อ จุลินทรีย์ของสินค้าผักผลไม้ ควบคู่ไปด้วย

โดยในเรื่องนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำหนังสือแจ้งนายกรัฐมนตรีเพื่อรับทราบปัญหาดังกล่าว และได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เข้าใจเรื่องมาตรการ ต่างๆที่กระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการ ทั้งนี้ หากไทยไม่มีการระงับการส่งออกหรือมีมาตรการอย่างเข้มงวดในการตรวจสอบพืชดัง กล่าวแล้วก็จะมีผลกระทบกับพืชอื่นๆ ของไทยที่จะส่งออกไปอียูด้วย

สำหรับมาตรการการแก้ไขปัญหา กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมาอาทิ มาตรการตรวจสอบศัตรูพืช การออกใบรับรองสุขอนามัยพืช การให้ความรู้ด้านศัตรูพืช กับผู้ประกอบการและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ยังมีมาตรการระบบการตรวจรับรองและติดตามการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อ บังคับด้านพืช รวมถึงการอบรมชี้แจงเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความรู้ในขั้นตอนปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ด่านกักพืช ที่ท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ

อย่างไรก็ตาม ทางกรมวิชาการเกษตรได้พยายามเจรจาต่อรองกับทางสหภาพยุโรปเพื่อขอผ่อนผันการ ส่งออก ในกรณีที่สินค้าของบริษัทหรือผู้ประกอบการรายใดที่มีผลงานดีมาตลอดและไม่มี การพบปัญหาศัตรูพืช ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปในวันนี้ อย่างไรก็ดี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างเร่งด่วน

โดยก่อนวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะทำหนังสือถึงสหภาพยุโรปพร้อมกับแนบมาตรการต่างๆที่ประเทศไทยได้ดำเนินการ ไปให้ทางสหภาพยุโรปได้รับทราบ โดยวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการตรวจสอบระบบและมาตรฐานการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งหากบริษัทใดหรือผู้ประกอบการใดได้เข้าสู่มาตรฐานแล้วจะประสานงานทาง สหภาพ ยุโรปเพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบและประมาณตามเกณฑ์ของการส่งออกต่อไป คาดว่าประมาณ 3- 6 เดือนทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ปรกติ ในส่วนของบทลงโทษและมาตรการของกรมวิชาการเกษตรกรณีเมื่อมีการตรวจพบศัตรูพืช ในพืชผักของไทยที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปที่ผ่านมา ได้มีการแจ้งเตือนในรอบแรก หากตรวจพบในรอบที่ 2 จะระงับการส่งออก และเมื่อมีประกาศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 แล้ว จะมีมาตรการลงโทษอย่าเข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่ปรับและทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจะดำเนินการจากเบาไปหาหนัก โดยเฉพาะหากพบมีการลักลอบส่งออก

 

ที่มาของข่าว: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ http://www.moac.go.th/ewt_news.php?nid=4950

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net