Skip to main content
sharethis

บุญเลิศ คชายุทธเดช ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชนระบุ สื่อหลักถูกท้าทายโดยสื่อใหม่ ฟันธงที่ผ่านมาสื่อไม่คุมกันเอง และจะไม่มีใครควบคุมความเห็นในสื่อออนไลน์ได้ ด้านนักวิชาการวิทยาลัยนวัตกรรม มธ. เผยตัวเลขในอเมริกาชี้ คนเสพสื่อหลักลดลงหลังเข้าถึงสื่อใหม่

(25 พ.ย. 53) วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการเสวนาเรื่อง “นวัตกรรมการบริหารสื่อสมัยใหม่กับจริยธรรมทางสังคม” โดยมี ดร.วรัญญู สุจิรวรพันธ์พงศ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายบุญเลิศ คชายุทธเดช ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชน ร่วมเสวนา

ดร.วรัญญูกล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสารก้าวมาสู่การสื่อสารสองทางที่เรียกว่าเป็นเว็บแบบ 2.0 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Water Cooler Effect คือการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารแบบไม่เป็นทางการในโลกจริงนั้นหายไป เพราะว่า แต่ละคนไปใช้เวลาเสพสื่อที่ตัวเองอยากจะอ่าน อยากจะรู้อยากจะฟังมากกว่า

จากผลสำรวจข้อมูลในอเมริกา ในเดือนมีนาคมปีนี้ พบว่า หนังสือพิมพ์ในอเมริกายอดขายลดลง 9 เปอร์เซ็นต์เพราะคนไปอ่านบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

นอกจากนี้พบว่าคนอเมริกันดูฟรีทีวีน้อยลง รายการยอดฮิตในประเทศอเมริกาซึ่งมีเรตติ้งที่สูงมากแต่กลับมีผู้ชมลดลง แม้ว่าจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เพราะคนดูทีวีผ่านเคเบิลทีวี และอินเทอร์เน็ตเพื่อดูรายการตามที่ตัวเองชอบมากขึ้น

ดร.วรัญญูกล่าวต่อไปว่า ลักษณะของสื่อ 2.0 คือการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้งานด้วยกันมีอิทธิพลทางความคิดสูง 

สำหรับประเด็นทางจริยธรรมนั้น ดร.วรัญญูกล่าวว่ามีหลายประเด็นต้องพิจารณา ได้แก่ ประเด็นด้านจริยธรรม การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การแสดงความคิดเห็นน่าเชื่อถือได้แค่ไหน การเผยแพร่และการส่งต่อ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา และปัญหาที่พบล่าสุดคือการเอาเวลางานไปทำอย่างอื่น ในปี 2550 บริษัทในอังกฤษรวมกันสูญเสียประมาณวันละ 130 ล้านปอนด์ กับการเสพสื่อ Social Media ของพนักงาน

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชน กล่าวว่าคอมพิวเตอร์มาช่วยเพิ่มการใช้งานเพื่อสื่อสารของคนไทยมากเป็นลำดับ และความแตกแยกทางการเมืองไทยที่ผ่านมาก็ใช้พื้นที่ออนไลน์ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของฝั่งตน

ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชนกล่าวว่ามีเว็บไซต์เปรียบเหมือนมีหมอที่จะอธิบายวิธีวินิจฉัยโรค เป็นร้อยคนพันคน ซึ่งปกติอาจจะไม่สามารถไปหาหมอที่รู้ใจและอธิบายด้วยความเอาใจใส่ในสุขภาพ และไปหาหมอก็อาจจะวินิจฉัยคร่าวๆ รักษาไม่หายในบางโรค แต่ถ้าเข้าไปในเว็บไซต์ มีสารพัดข้อมูล ซึ่งน่าตื่นตาตื่นใจ สำหรับเว็บไซต์ที่น่าสนใจคือเว็บไซต์ที่ทำโดยสื่อกระแสหลัก เช่น มติชนออนไลน์  ข่าวสดออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์ ผู้จัดการออนไลน์ ฯลฯ เป็นเว็บไซต์ข่าวสาร สำหรับติดตามข่าวสารแทบจะตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม นายบุญเลิศเห็นว่าเว็บไซต์ออนไลน์ไม่สามารถควบคุมกันเองได้ในทางจริยธรรม เช่นเดียวกับหลักการควบคุมกันเองในสื่อหลักของไทยนั้นล้มลุกคลุกคลานและลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ไปถึงไหนพอๆ กับการเมือง

“แม้แต่ผมจะตายไป ก็คงจะตายด้วยตาไม่หลับกับการเมืองระบอบรัฐสภา ที่ไม่มีการถ่วงดุลของอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ และจะนอนตายตาไม่หลับ สื่อมวลชนกระแสหลัก หนังสือพิมพ์ ควบคุมกันเองโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อปี 2541 มีคนนอกเข้ามาเป็นกรรมการ เวลานี้ผ่านมา 12 ปี ในความรู้สึกของผมคุมกันเองไม่ได้เท่าที่ควร หรือพูดอย่างทุบโต๊ะ คือคุมกันไม่ได้ ไม่กล้าที่จะควบคุมตรวจสอบกันเองในเรื่องหลักๆ เรื่องใหญ่ๆ และบางเรื่องเถียงกันไม่จบไม่สิ้นว่าพฤติกรรมแบบนี้ของหนังสือพิมพ์ สิ่งที่เรียกว่าความดีงาม เหมาะควรของสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อสาธารณะมันอยู่ตรงไหน สื่อเลือกข้าง ก็อธิบายว่าไม่ทำหน้าที่เป็นกระจกต้องทำหน้าที่เป็นตะเกียงเพราะเวลานี้บ้านเมืองมืดมิด ต้องยืนอยู่ข้างความถูกต้องโดยเขากำหนดเองว่าความถูกต้องต้องเป็นอย่างนี้ ก็ไม่เห็นใครว่าอะไรนี่”

นายบุญเลิศกล่าวต่อไปว่าเวลานี้ มีสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ เมื่อไม่กี่เดือนมานี้คณะกรรมการสภาพวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยที่เลียนแบบมาจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ช่องเจ็ดไม่ได้เข้ามาร่วม และมีนักวิชาการข้างนอกเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ ประกาศข้องบังคับว่าด้วยการนำเสนอข่าวของวิทยุและโทรทัศน์เป็นข้อๆ ก็คุมกันเองไม่ได้

นายบุญเลิศกล่าวด้วยว่า ปัญหาในปัจจุบันเมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงเครื่องมือการสื่อสารได้เอง ก็อาจะมีปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย ซึ่งถูกใช้และตีความโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเขาเห็นว่าการตีความและบังคับใช้กฎหมายของรัฐนั้นก็เป็นปัญหาหนึ่งในวงจรความแตกแยกของสังคมไทย

“นักข่าวพลเมืองไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์สื่อสารมวลชนในการเขียนข่าว ก็ต้องย้อนกลับมาอีกว่ามนุษย์จำเป็นต้องเรียนด้วยหรือว่าต้องสื่อสารกันอย่างไร โลกนี้มีมานานทำไมอยู่กันมาได้ในการสื่อสารถึงกัน ทำไมต้องให้มาเรียนตอนนี้ นี่ก็เป็นประเด็นที่ต้องมาจับตาดูว่า สังคมไทยที่ไม่เหมือนบ้านอื่นเมืองอื่น การใช้สิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หากว่ามันล้ำเส้นเป็นการละเมิดบุคคลอื่น เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หมิ่นกษัตริย์ต่างประเทศ คนที่เข้าไปใช้งานถ้าไม่รู้ก็ซวย กับกฎหมายทีถูกตีความโดยเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งก็รู้อยู่แล้วว่าหวังพึ่งพาอาศัยและผดุงความยุติธรรมไม่ได้ จึงหาเส้นแบ่งลำบาก ตราบเท่าที่สังคมไทยยังอยู่ในหลุมดำวิกฤตการณ์ความขัดแย้งแตกแยกมาสี่ปีกว่าแล้ว แล้วก็ไม่รู้ว่าจะก้าวพ้นจากหลุมดำนำความปรองดองที่แท้จริง จะใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ไม่รู้ รู้แต่ว่าที่ผ่านมาเสียหายยับเยินไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว รัฐพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาด้วย คนที่เข้าไปสื่อสารและสื่อประเภทหนึ่งก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองด้วย จึงเกิดการปะปนมั่วไปหมด นี่เป็นสภาวการณ์ของมนุษย์ที่ต้องการสื่อสาร เราไปควบคุมกำกับไม่ได้”

นายบุญเลิศกล่าวด้วยว่า ในอนาคตภายใน 5-10 ปี สื่อกระแสหลักหรือสื่อดั้งเดิมจะอยู่แบบเดิมอีกต่อไปไม่ได้ เพราะทัศนคติเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว

“สื่อสมัยเก่า สื่อดั้งเดิมมีอิทธิพล มีบทบาทต่อสังคมอย่างมากและกำลังถูกท้าท้ายด้วยสื่อใหม่ และสื่อใหม่เป็นสิ่งที่ใครที่ว่าเก่งที่ว่าแน่ไม่สามารถจะมากำกับควบคุมอะไรได้เลย การออกกฎหมายก็ไม่สามารถจะมาควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ เพียงแต่ว่า แต่ละผู้แต่ละนาม จะใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตเรา สมองต้องได้รับสิ่งดีๆ จะทำอย่างไร เราไปหวังข้าราชการไม่ได้ นักการเมืองก็ไม่ได้ ครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้สอนสิ่งเหล่านี้”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net