Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกแย่จากอาการติดอินเทอร์เน็ตหรือเปล่า?

ผมมักรู้สึกผิดกับตัวเองที่สามารถนั่งอยู่กับอินเทอร์เน็ตได้ทั้งวันทั้งคืน ข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลกที่เราวิ่งเข้าหา “ตามอารมณ์อยาก” มันเหมือนสวนสนุกกว้างใหญ่ที่ไม่มีขอบเขต แต่หนังสือที่ซื้อมา “ตามอารมณ์อยาก” กลับถูกปล่อยให้นอนแห้งอยู่บนชั้น หนังสือเป็นคลังความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่ผมเองก็อยากจะสำรวจมันให้หมด แต่มันกลับทำได้ยาก บรรยากาศสถานที่ไม่เอื้ออำนวยก็ไม่อ่าน ผมมักพิศวาสมันแค่ตอนมันอยู่ในร้านหนังสือ

การรู้สึกตัวมากขึ้นเรื่อยๆว่าเป็นคนอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ยาวๆ นานๆ ไม่ค่อยได้ เกิดอาการหลับบ้าง ผ่านตาแต่ไม่เข้าหัวบ้าง มันทำให้รู้สึกแย่เมื่อนึกถึงความคิดที่ว่าการอ่านหนังสือ (ที่เป็นสิ่งพิมพ์) ดูเป็นพฤติกรรมที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ขณะที่การอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์กลับเป็นพฤติกรรมที่ไม่ค่อยมีใครประเมินคุณค่าให้มันมากนัก

สิ่งนี้ทำให้เกิดความสงสัยว่าการอ่านบนแผ่นกระดาษ กับการอ่านบนหน้าจอมันต่างกันด้วยหรือ ผมเคยอ่านความคิดเห็นจากที่ใดสักแห่ง ว่าการอ่านบนกระดาษมันทำให้เราจดจ่อและขบคิดกับมันมากกว่า ในขณะที่การอ่านตัวหนังสือไฟฟ้าบนหน้าจอมันจะเป็นการอ่านที่ใช้ความรวดเร็วกว่า ออกแนวกวาดๆ ข้อมูลไปเรื่อย ผมคิดว่าก็อาจจะถูก แต่ไม่เสมอไป

สิ่งหนึ่งที่ทำให้การอ่านบนอินเทอร์เน็ตดูน่าพิศวาสกว่าคือ ความคล่องตัวมากกว่าในการ “อ่าน” ที่มากกว่าบนสื่อสิ่งพิมพ์ คือพออ่านสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเกิดจุดประกายใคร่อยากรู้อีกเรื่อง สงสัยประเด็นใหม่ที่ต่อเนื่องกันไป search engine ก็หาคำตอบมาประเคนได้ทันทีทั้งภาพ เสียง ตัวหนังสือ

บนสื่อสิ่งพิมพ์ ผู้เขียนข้อมูลข่าวสารมักเป็นนักวิชาชีพ แต่ผู้เขียนข้อมูลข่าวสารที่ search engine ไปจับมาเวลาผมสงสัยอยากรู้อะไรนี้ มาจากทั้งผู้ที่เป็นสื่อมืออาชีพ และมือสมัครเล่นซึ่งแน่นอนว่ามหาศาลกว่ามาก

เป็นโลกที่ใครก็ได้สามารถเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสาร

ยุคที่ New media เติบโตทำให้การเป็น "ผู้ควบคุมข่าวสาร" กำลังค่อยๆ รั่วกระจายออกจากมือนักวิชาชีพ อำนาจข่าวสารไปอยู่ในมือของใครก็ได้ ขอเพียงมีเครื่องมือการกระจายข่าวสารอย่าง Social Network ที่ใครๆก็สามารถใช้ได้ไม่ว่าจะเป็น twitter facebook linkedIn แอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟน เว็บบอร์ด ฯลฯ

จรรยาบรรณสื่อจึงไม่ใช่สิ่งที่สงวนสำหรับวิชาชีพสื่ออีกต่อไป แต่ค่อยๆรั่วกระจายออกมามีอิทธิพลต่อทุกคนบนโลกออนไลน์เช่นกัน กลายเป็นจริยธรรมหรือทักษะการรับส่งข้อมูลในสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นจริยธรรมในการแพร่ข้อมูล (พูดมั่ว ข่าวมั่ว โดนคนด่ากลับ) วิจารณญาณในการรับข่าวสาร (เชื่อหรือตื่นตูมกับข่าวโคมลอย ก็มักมีความคิดตรงข้ามมาตำหนิ) ซึ่งดูจะเป็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ พูดง่ายๆคือคนในอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มที่จะฉลาด มีทักษะในการรับส่งข้อมูลมากขึ้นเป็นขั้นๆ จากเดิมเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วที่หลายคนส่งฟอร์เวิร์ดเมล์ที่บอกว่าฮอตเมล์จะระงับแอคเคาน์ตัวเองหากไม่ส่ง มาถึงวันนี้ ฟอร์เวิร์ดเมล์ลักษณะนั้นก็หายไปแล้ว ผู้คนเจอเรื่องโกหกบนอินเทอร์เน็ตจนเอียน เป็นปัจจัยบังคับที่ทำให้คนต้องพัฒนาวิจารณญาณเพื่อไม่ให้ถูกหลอกจนดูเหมือนคนโง่ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ผมจึงเชื่อในการแสดงความคิดเห็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีว่ามันจะช่วยพัฒนามนุษย์ให้มีภูมิคุ้มกันทางวิจารณญาณมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันต่อการยั่วยุมากขึ้น (แม้จะยังไม่มากนักในปัจจุบัน) คนมีแนวโน้มที่จะพัฒนาทักษะในการตรวจสอบข่าวสารด้วยตัวเอง ในโลกที่ยิ่งเปิดเสรี ก็ยิ่งมี case study ออกมาให้สังคมเรียนรู้มากขึ้น

การที่คนบนโลกออนไลน์มีอิสระในการพูด ก็เป็นการฝึกวิจารณญาณของผู้รับสาร เพราะว่าไม่มีผู้ควบคุมประตูข่าวสารมาคอยคัดคอยป้อนว่าเรื่องอะไรสังคมควรรับรู้ เรื่องอะไรไม่ควร อะไรควรให้ความสำคัญ เรามักเห็นการเล่นมุขตลกห่ามๆในหลายเพจของเฟสบุ๊คที่นำข่าวสารสังคมการเมืองมาล้อเลียน ทำภาพตัดต่อ บางคนมักด่าผู้ตัดต่อภาพมุขตลกเกี่ยวกับข่าวสารเหล่านั้นว่า "สร้างความแตกแยก" แต่คนที่ละเอียดอ่อนกับทุกเรื่องก็มักถูกหลายคนรำคาญและต่อว่าเย้ยหยันกลับว่าวิจารณญาณบกพร่อง แยกแยะอารมณ์ขันไม่เป็น

ถึงเวลาที่ทุกคนต้องวิวัฒนาการทักษะความเป็นนักข่าวด้วยตัวเองในการจะรับจะเชื่อหรือให้ความสำคัญกับสิ่งใด ในเมื่อประตูข่าวสารแบบเดิมๆ อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ควบคุมการสื่อสารรับรู้ในระดับกว้างไม่ได้แล้ว

การสื่อสารที่เป็นไปอย่างเสรีในยุค New Media ยากต่อการปิดกั้นควบคุม ก็ทำให้การผูกขาดความคิดความเชื่อของคนโดยรัฐก็ทำให้ได้ยากขึ้น การตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆที่เคยเป็นเรื่องต้องห้าม ก็มีพื้นที่ให้ถกเถียงกันได้มากขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า  New Media ส่งผลให้มโนสำนึกของคนในสังคมนั้นวิวัฒนาการไปสู่ยุคตั้งคำถามกับสิ่งที่เคยเชื่อ ตั้งคำถามกับความคิดกระแสหลักมากขึ้น (เนื่องจากมีพื้นที่ให้พูด และเปลี่ยนความคิดอย่างเสรีมากขึ้น) เกาหลีเหนือที่ข้อมูลข่าวสารถูกควบคุมเบ็ดเสร็จโดยรัฐ ไม่มี internet มีแต่ intranet ประชาชนก็จะเหมือนเด็กไม่มีวัคซีน ที่พร้อมจะเชื่อในสิ่งที่รัฐบาลป้อน

การเปลี่ยนผ่านสู่ยุค New Media จึงเป็นกลไกหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางมโนสำนึก วิธีคิด การมองโลกของผู้คน ไปสู่ยุค Post-modern เต็มตัว การเปลี่ยนผ่านเป็นธรรมชาติ เป็นสัจธรรมของโลกนี้ดังที่เคยเกิดมาตลอดในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวอะไร แต่อาจน่ากลัวสำหรับผู้เรียนทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ที่อาจปรับตัวไม่ทัน กลัวว่าจะหาอาชีพได้ยากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net