Skip to main content
sharethis
สัมภาษณ์ว่าที่ ร.อ.ไพโรจน์ หอมช่วย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ถึงผลกระทบต่อขุมทรัพย์ธรรมชาติหากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เมื่อเส้นทางเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่ ผ่ากลางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา 
 
 
ถึงวันนี้ จะมีสักกี่คนรู้ว่า หากท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิดขึ้นจริง เส้นทางเดินเรือตามแนวร่องน้ำทะเลสตูล จะผ่ากลางอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เรือขนส่งสินค้าจะกระจายอยู่รอบๆ หมู่เกาะอาดัง–ราวี ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ธรรมชาติที่พระเจ้าประทานมาให้กับคนสตูลโดยเฉพาะ
 
ไม่ว่าจะเป็นขุมทรัพย์จากการทำประมง หรือขุมทรัพย์จากนักท่องเที่ยวที่แห่มาชื่นชมท้องทะเลที่อุดมไปด้วยปะการังแสนสวยแห่งนี้ ต่างล้วนได้รับผลกระทบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้พ้น
 
ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ “ว่าที่ ร.อ.ไพโรจน์ หอมช่วย” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา จากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา
 
 
ว่าที่ ร.อ.ไพโรจน์ หอมช่วย
 
.........................................
 
ขอทราบความเป็นมาของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
ปี 2479 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้าย กรมราชทัณฑ์ได้เลือกเกาะตะรุเตาเป็นทัณฑสถาน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2480 ต่อมา ปี 2517 มีการประกาศให้พื้นที่เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะอื่นๆ ในบริเวณเดียวกัน เป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตา รวมเนื้อที่ประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นน้ำ 1,230 ตารางกิโลเมตร ที่เหลือเป็นพื้นดิน
 
อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ประกอบด้วย 3 หมู่เกาะคือ หมู่เกาะตะรุเตา หมู่เกาะกลาง มีเกาะที่มีชื่อเสียงคือ เกาะไข่ อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาประมาณ 20 กิโลเมตร และหมู่เกาะอาดัง–ราวี อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาประมาณ 40 กิโลเมตร มีเกาะที่มีชื่อเสียงคือ เกาะหินงาม เกาะยาง เกาะจาบัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ และเกาะดง
 

 
เฉียดทางเดินเรือสินค้า – หินโค้งบนเกาะไข่ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดสตูล อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา 
 
แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติตะรุเตามีอะไรบ้าง
มีอ่าวพันเตมะละกา ผาโต๊ะบู ถ้ำจระเข้ อ่าวเมาะ อ่าวสน น้ำตกลูดู น้ำตกโละโปะ อ่าวมะขาม อ่าวตะโละอุดัง อ่าวตะโละวาว อ่าวฤๅษี เกาะไข่ มีประตูหินโค้งธรรมชาติ เป็นสถานที่จัดงานวิวาห์เกาะไข่ทุกปี เกาะอาดัง มีน้ำตกโจรสลัด ผาชะโด เกาะหินงาม เกาะยาง เกาะจาบัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ และเกาะดง
 
ปี 2552 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา เป็นชาวไทย 10,068 คน ต่างชาติ 7,801 คน เรามีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวประมาณ 3,160,000 บาท ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตาส่วนใหญ่เป็นคนยุโรปได้แก่ เยอรมัน อังกฤษ นอร์เวย์ และอเมริกา นักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง จะมานอนที่เกาะอาดัง และที่อ่าวเมาะ บนเกาะตะรุเตา ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นทุก
 
อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จะปิดอุทยานเฉพาะหมู่เกาะอาดัง–ราวี ช่วงวันที่ 15 พฤษภาคมถึง 15 พฤศจิกายนของทุกปี แต่ยังคงมีเรือโดยสารไปยังเกาะหลีเป๊ะทุกวัน เนื่องจากที่นั่นเป็นชุมชนใหญ่
 
ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อำเภอละงู จังหวัดสตูล เส้นทางเดินเรือจะอยู่ตรงไหน จะส่งผลกระทบต่ออุทยานแห่งชาติตะรุเตาหรือไม่
บริเวณที่จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ด้านทิศเหนือของเกาะตะรุเตา เมื่อดูจากร่องน้ำ คาดว่าจะมีแนวเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ 2 แนว
 
แนวแรก อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเกาะตะรุเตา เป็นแนวเหนือ–ใต้ จากท่าเรือน้ำลึกปากบาราไปสิงคโปร์
 
แนวที่สอง อยู่ทางด้านทิศเหนือของเกาะอาดัง เป็นแนวตะวันออก–ตะวันตก จากท่าเรือน้ำลึกปากบาราไปยังตะวันออกกลาง
 
สำหรับแนวเหนือ–ใต้ เส้นทางเดินเรือจะอยู่ระหว่างเกาะไข่กับเกาะหลีเป๊ะ นั่นหมายถึงผ่ากลางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา แนวร่องน้ำที่เรือสินค้าวิ่งผ่านจะอยู่เฉียดๆ กับเกาะไข่ ห่างออกไปแค่ 8–10 กิโลเมตร
 
ส่วนแนวตะวันออก–ตะวันตก เฉียดหมู่เกาะอาดัง–ราวี ห่างออกไปแค่ 5–6 กิโลเมตร ใกล้กว่าแนวที่ผ่านเกาะไข่เสียอีก
 
ไม่ว่าจะเดินเรือแนวไหน เกาะที่อยู่บริเวณนี้ได้รับผลกระทบทั้งนั้น
 
สำหรับพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ หมู่เกาะอาดัง–ราวี เพราะได้รับผลกระทบจากการเดินเรือทั้งเส้นทางเดินเรือทิศเหนือและทิศตะวันออกของหมู่เกาะ ผมไม่มีข้อมูลว่า เขาจะวิ่งทางไหน แต่คงต้องใช้ร่องน้ำใน 2 เส้นทางนี้ นั่นหมายความว่า หมู่เกาะอาดัง–ราวี จะถูกล้อมด้วยขบวนเรือขนส่งสินค้าแน่นอน
 
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง
1. ฝุ่นใต้น้ำจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่เคลื่อนไปตามกระแสน้ำ จะส่งผลกระทบต่อปะการัง ผมไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ฝุ่นละอองจะเดินทางไปไกลกี่กิโลเมตร แต่คิดว่าน่าจะเกิน 1–2 กิโลเมตร ตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อปะการังกับหญ้าทะเล อย่างน้อยก็ในระหว่างการก่อสร้าง
 
2. เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ใบจักรเรือก็ต้องใหญ่มีแรงขับดันสูง รวมทั้งคราบน้ำมันจากเรือ พวกนี้จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรในทะเล ไม่ว่าปะการัง หญ้าทะเล และสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในบริเวณเรือวิ่งผ่าน โดยเฉพาะรอบๆ เกาะไข่ ที่มีปะการังจำนวนมาก
 
ส่วนแนวตะวันออก–ตะวันตก จะกระทบหนักกับเกาะบิสซี่ เกาะอาดัง ตรงนี้มีปะการังสวยงาม โดยเฉพาะรอบเกาะอาดัง ชุมชนชาวเลที่อ่าวแม่ม่ายก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
 
นี่ยังไม่พูดถึงทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยว ที่จะสูญเสียความสวยงามไปด้วย จากการวิ่งผ่านไปมาของเรือขนส่งสินค้า
 
แสดงว่าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก
แน่นอน นี่คือสิ่งที่กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ในฐานะเจ้าของโครงการต้องประเมินให้ชัดเจน ข้อมูลในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ผมก็ไม่แน่ใจว่าถูกต้องแค่ไหน แต่การสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ผมว่าไม่เหมาะสม ต้องหาสถานที่ที่ไม่มีผลกระทบมากนัก
 
ทรัพยากรธรรมชาติที่อ่อนไหวที่สุด ที่จะได้รับผลกระทบถ้ามีการเดินเรือสินค้า
ถ้าเป็นฝุ่นละอองกับสารแขวนลอยใต้น้ำ พวกที่อ่อนไหวที่สุดคือ ปะการัง ขนาดปี 2553 อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลง ยังเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวประมาณ 80% แค่อุณหภูมิของน้ำยังส่งผลขนาดนี้ พวกสารแขวนลอยต่างๆ ที่อยู่ในคราบน้ำมันจากเรือ จะส่งผลกระทบกับปะการังขนาดไหน ถ้าปะการังได้รับผลกระทบ มันจะสร้างความเสียหายไปทั้งระบบนิเวศ
 
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา จึงไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา
ใช่ เพราะอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา มีศักยภาพสูงพอที่จะพัฒนาให้เป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว ไม่แพ้ภูเก็ตหรือกระบี่ เพราะสามารถเชื่อมเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยวในทะเลอันดามัน ตั้งแต่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา หมู่เกาะตะรุเตา ไปเกาะสุกร ไปหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง จนถึงกระบี่และภูเก็ต
 
ผมมองว่า เราสามารถทำได้เหมือนฝั่งอ่าวไทย ที่มีเรือท่องเที่ยววิ่งจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ตั้งแต่เกาะนางยวน เกาะเต่า ไปถึงเกาะพะงัน และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
ผมคิดว่าทางฝั่งอันดามัน เรือท่องเที่ยวน่าจะวิ่งตั้งแต่ภูเก็ตลงมาที่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ มาเกาะไหง เกาะหลีเป๊ะ เข้าเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางด้านการท่องเที่ยวได้อีกมหาศาล
 
ฝั่งอ่าวไทย นักท่องเที่ยวจะไปตอนไหนก็ได้ มีเรือท่องเที่ยววิ่งทั้งอ่าวไทย มีผู้ประกอบการท่องเที่ยวถึง 3 บริษัทดำเนินการอยู่ แต่ฝั่งอันดามันยังไม่มี ผมไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะนักธุรกิจยังไม่กล้าเข้ามาลงทุนหรือไม่
 
บางทีเขาอาจยังไม่เห็นความสวยงามของหมู่เกาะตะรุเตาก็เป็นได้ ผมเคยเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรมาก่อน ผมเห็นว่าความสวยงามสู้ที่นี่ไม่ได้ ที่นี่มีความหลากหลายทางธรรมชาติมากว่า
 
ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ มีเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่วิ่งขวางไปขวางมา ศักยภาพตรงนี้ก็จะหมดไป เพราะภูมิทัศน์ทางทะเลเสียหาย ถึงแม้วัตถุประสงค์การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ จะเพื่อการอนุรักษ์ เพื่อการนันทนาการ และการพักผ่อน แต่พอไปเที่ยว โน่นมีเรือสินค้ามาขวาง มองแล้วไม่สวยเท่าไหร่
 
ที่นี่เรามีชุมชนชาวเลหลายครอบครัวที่อ่าวแม่ม่าย บนเกาะอาดัง มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ เราสามารถนำวัฒนธรรมมาขายได้ ไม่ใช่เฉพาะขายธรรมชาติอย่างเดียว คล้ายกับหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ขายพวกมอแกน ที่นี่เราขายชาวเล เพราะพวกเขามีวัฒนธรรม มีการตั้งบ้านเรือน การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ แม้จะเปลี่ยนไปบ้างแล้ว แต่ประเพณียังเหมือนเดิม อย่างประเพณีลอยเรือในคืน 15 ค่ำ เดือน 6 เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาเข้าไปส่งเสริมอยู่
 
เคยประเมินหรือไม่ว่า เมื่อมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะมีเรือสินค้าวิ่งผ่านอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตากี่ลำ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคิดเป็นตัวเลขเท่าไหร่
ตอนนี้ข้อมูลยังน้อย กรมเจ้าท่าไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้เลยว่า จะมีท่าเรือน้ำลึก ท่าเรือนี้จะเหมือนกับที่ภาคตะวันออกหรือไม่ ชาวบ้านรู้ไม่มาก มันจะเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าอะไรบ้าง ผมเองก็ยังไม่รู้ ข้อมูลที่กรมเจ้าท่าให้ก็เป็นข้อมูลที่ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ การเข้าถึงชุมชนก็น้อย
 
ทำให้ประเมินไม่ได้ว่าผลกระทบจริงๆ จะขนาดไหน
ใช่ เท่าที่ผมฟังข้อมูลมาจากการเข้าร่วมประชุมเรื่องนี้หลายครั้ง เส้นทางรถไฟที่จะก่อสร้าง นำมาใช้ขนส่งอะไรก็ยังไม่ชัดเจน ชาวบ้านก็เลยรู้สึกรัฐไม่จริงใจ บอกว่าจะทำโครงการอย่างนี้ แต่ให้ข้อมูลที่ชาวบ้านไม่เต็มที่ เราจึงไม่รู้ว่าหลังจากสร้างท่าเรือน้ำลึกแล้ว ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง
 
กรมเจ้าท่าไม่ได้ชี้แจงให้ชาวบ้านฟังข้อดี ข้อเสียของท่าเรือน้ำลึกมีอะไรบ้าง เช่น ข้อดีคือ ทำให้มีงานทำ มีโรงงานมากขึ้น จะมีอุตสาหกรรมหนัก หรือทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น มีเส้นทางคมนาคมสะดวกขึ้น คุณไม่เคยชี้แจงให้ชาวบ้านฟังเลย
 
สถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ก็ยังไม่ได้กำหนดพิกัดให้ชาวบ้านเห็นเป็นรูปธรรม เพียงแต่บอกว่า ต้องการใช้พื้นที่ 4,700 ไร่ สถานที่สร้างท่าเรือน้ำลึกอยู่กลางทะเลตรงนี้
 
ผมคิดว่าเรื่องที่มีผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างนี้ มันต้องกำหนดจุดให้ชัดเจน แล้วเปิดให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจ
 
ท่าทีของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต่อการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราบางส่วน เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นอย่างไร
ผมคุยกับหัวหน้าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์นครศรีธรรมราช ที่รับผิดชอบอุทยานแห่งชาติแห่งชาติตะรุเตา เห็นว่าการสร้างท่าเรือในเขตอุทยานแห่งชาติ ผิดวัตถุประสงค์การตั้งอุทยานแห่งชาติ
 
เรื่องนี้มีการคุยกันในระดับกรมแล้ว ข้าราชการในกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย การเพิกถอนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ยังต้องใช้เวลาอีกนาน
 
ขอทราบขั้นตอนการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ
การเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติมี 15 ขั้นตอน ในการเพิกถอนต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในส่วนประชาชนคือ ขั้นตอนที่ 6 เป็นขั้นตอนที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ นำผลการสำรวจพื้นที่เข้าที่ประชุมสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้ความเห็นชอบ ถ้าที่ประชุมไม่เห็นชอบทุกอย่างก็จบตรงนี้
 
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ต้องนำเรื่องการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ขอความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ
 
หลังจากได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้อีกครั้ง ในขั้นตอนที่ 11 ขั้นตอนนี้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งจะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียไปชี้แจง ถ้ามีการคัดค้านในขั้นตอนนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาจะตกไป ไม่สามารถเพิกถอนอุทยานแห่งชาติพื้นที่นั้นได้
 
นโยบายให้ตั้งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งมีที่มาอย่างไร
เรื่องนี้เป็นนโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องการให้ตั้งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติทั้ง 148 แห่งทั่วประเทศ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ได้ส่งรายชื่อให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพิจารณาแล้ว มีนายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลอยู่ด้วย ต่อไปจะทำอะไรในอุทยานแห่งชาติ ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วม ผมจะตัดสินใจอะไรคนเดียวไม่ได้อีกแล้ว
 
กรณีนี้เป็นคนละประเด็นกับการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net