Skip to main content
sharethis

ตำรวจเชียงรายออกหมายเรียกนักเรียนและนักศึกษา กรณีถือป้าย "ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์" วิพากษ์วิจารณ์การเมือง ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปัดกลั่นแกล้ง ด้านกรรมการสิทธิฯ ส่งทีมเก็บข้อมูล ชี้แค่ยืนถือป้าย ย่อมมีสิทธิแสดงออก นัดสอบอีกครั้งวันศุกร์ที่ 23 ก.ค. นี้ 

วันนี้ (20 ก.ค.53) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.นักเรียนและนักศึกษา เชียงราย จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นายกิตติพงษ์ นาคเกศ อายุ 24 ปี นายนิติเมธพนฎ์ เมืองมูลกุลดี อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และนายกอ (นามสมมติ) อายุ 16 ปี นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนแห่งหนึ่งเขตเทศบาลเชียงราย ได้เดินทางเข้าแสดงตนต่อพนักงานสอบสวน ที่ สภ.เมืองเชียงราย จากที่ถูกหมายเรียกในข้อหา "ชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด, ร่วมกันเสนอข่าว, ทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งพิมพ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชน เกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดใน สถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของ ประชาชน" ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังบังคับใช้ในพื้นที่

 
 
 

ที่มาภาพ:  กระดานสนทนากลุ่มสื่อประชาชน

 

การออกหมายเรียกดังกล่าว สืบเนื่องจากจากกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาจำนวน 5 คน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมโดยการไปถือป้ายแสดงข้อความต่างๆ ที่บริเวณตลาดสดเทศบาล 1 หอนาฬิกา และทางขึ้นศาลากลางจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมดังกล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับการคงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกรณีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณแยกราชประสงค์เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 โดยป้ายระบุข้อความ อาทิ ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์, นายกครับอย่าเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นะครับไม่งั้นรัฐบาลจะพัง, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องคงไว้เพื่อไม่ให้ความจริงปรากฏ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามยังมีนักศึกษาอีกจำนวน 2 คนจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ที่อยู่ในกลุ่มที่ไปชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มาแสดงตน ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสืบสวน จึงยังไม่มีการออกหมายเรียก นอกจากนี้ พ.ต.ท.บัญญัติ ทำทอง รักษาราชการแทนในตำแหน่งรอง ผกก.สส.สภ.เมืองเชียงราย ได้มีการออกหมายเรียกไปยังนายธนิต บุญญนสนีเกษม จากกลุ่มพลังมวลชนเชียงรายซึ่งเคลื่อนไหวในพื้นที่ จ.เชียงราย มาโดยตลอด ให้ไปทำการสอบปากคำที่ สภ.เมืองเชียงราย ในข้อหาเดียวกันนี้ด้วย เนื่องจากมีคนพบว่านายธนิต อยู่ในบริเวณที่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาดำเนินกิจกรรมดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสอบปากคำกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาครั้งนี้ คณะทำงานในคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นำโดย น.ส.เกศริน เตียวตระกูล พร้อมนำเจ้าหน้าที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การดำเนินคดีด้วย 

น.ส.เกศริน กล่าวถึงการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า ทางคณะมีหน้าที่ไปดูแลผู้ที่ถูกดำเนินคดีอันเกิดจากเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมาที่เรือนจำกลาง จ.เชียงใหม่ และเรือนจำกลาง จ.เชียงราย โดยที่ จ.เชียงราย พบว่ามีผู้ถูกคุมขังเอาไว้ประมาณ 10 คน แต่บังเอิญมาพบกรณีคดีของเยาวชนถือป้ายในครั้งนี้จึงได้เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งเห็นว่าการถือป้ายลักษณะดังกล่าวถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการคิดของพวกเขา เด็กเพียงแค่ 16 ปีก็มีความคิดได้เช่นกัน ดังนั้นจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดนำเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป

นอกจากนั้น น.ส.เกศรินได้เข้าไปพูดคุยกับเด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าวว่า การชุมนุมโดยถือป้ายในลักษณะดังกล่าวไม่ถือเป็นการกระทำที่ผิด และกฎหมายที่ห้ามการกระทำดังกล่าวเป็นกฎหมายพิเศษที่คล้ายกฎอัยการศึกซึ่งน่าจะยกเลิกไปได้แล้ว

"ถ้าเขาบอกว่าเรามาชุมนุมกันเกิน 5 คน ก็บอกว่าเราไม่ได้นัดหมายไปชุมนุมกันเพียงแต่พูดคุยกันทาง face book จากนั้นต่างคนต่างก็ถือป้ายไปพบกันโดยบังเอิญเท่านั้น เราไปทีละคนไม่ได้ไปชุมนุมจึงไม่ผิด และข้อความที่ระบุในป้ายก็ไม่ได้ไปกระทบสิทธิใครนอกจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่ถึงกับต้องดำเนินคดีก็ได้ และเนื่องจากอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เราจึงสามารถปฏิเสธหรือดื้อแพ่งต่อกฎหมายนี้ได้" น.ส.เกศริน กล่าวแนะนำกลุ่มนักเรียนนักศึกษา

ด้าน พ.ต.ท.บัญญัติ กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดเพราะพื้นที่ยังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงสืบสวนพบว่าผู้ชุมนุมเป็นนักศึกษาจาก 2 มหาวิทยาลัยและ 1 โรงเรียน จึงทำการสืบสวนจนพบทั้ง 3 คน มีการติดต่อนัดแนะไปชุมนุมถือป้ายทางอินเตอร์เน็ตด้วย face book ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงนายธนิต บุญญสนีเกษม ด้วยจึงถูกดำเนินคดีไปพร้อมกัน ทั้งนี้ตำรวจยืนยันว่าไม่ได้กลั่นแกล้งใครแต่เป็นไปตามกฎหมายและข้อหานี้ก็มีโทษสูงสุดคือจำคุก 2 ปีและปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.เกศริน พยายามจะซักถาม พ.ต.ท.บัญญัติ ว่าข้อความที่ระบุในป้ายไม่ถือว่าน่ากลัวแต่อย่างใดซึ่งทาง พ.ต.ท.บัญญัติ ชี้แจงว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตีความซึ่งต้องมีการตีความกันต่อไป เพราะยังต้องมีการสอบปากคำพยานแวดล้อมที่เกี่ยวข้องด้วยว่าเมื่อพวกเขาเห็นป้ายต่างๆ ดังกล่าวแล้วรู้สึกเช่นไร จากนั้นทาง พ.ต.ท.บัญญัติ ได้เรียกสอบปากคำผู้ต้องหาเป็นรายบุคคล

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และทางเจ้าหน้าที่ได้นัดหมายทำการสอบสวนอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 23 ก.ค. นี้ โดยจะมีทนายจากคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาร่วมรับฟังการสอบสวนด้วย

 
 

ภาพถ่ายขณะทำกิจกรรมเมื่อวันที่ 16 ก.ค.53 ที่มา: uddthailand's Photos - กิจกรรมนศ.เชียงราย 

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์ และ กระดานสนทนากลุ่มสื่อประชาชน 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net