Skip to main content
sharethis

เสนอยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการบังคับกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ยกเลิกการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ พร้อมเรียกร้องผู้ประกอบวิชาชีพสื่อรักษาจริยธรรม-จรรยาบรรณวิชาชีพ นำเสนอข้อมูลตามจริง ย้ำการชุมนุมร้องรัฐฯ ยุบสภา เป็นสิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่ชอบของประชาชน

 

 

แถลงการณ์ของกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา 2543 - 2549

เรื่อง "เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการปิดกั้นสื่อและการใช้สื่อของรัฐเสนอข้อมูลข่าว สารเพียงด้านเดียวกรณีการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553"

ตามที่รัฐบาลไทยได้อ้างอำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเป็นเพียงการปฏิบัติการเพื่อ "ขอพื้นที่ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าคืน") เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 จนเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและทหารเสียชีวิต 24 คน มีผู้บาดเจ็บกว่า 800 คนและผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง นั้น ปรากฏว่านับแต่วันที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากรัฐบาลจะมิได้แถลงชี้แจงข้อเท็จจริง ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดต่อประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่งในครั้งนี้ อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาแล้ว รัฐบาลยังคงปิดกั้นมิให้มีการนำเสนอข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ดัง กล่าวจากทางฝ่ายผู้ชุมนุม โดยตัดสัญญาณการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนและสถานีโทรทัศน์ รวมทั้งยังได้ปิดกั้นสื่อทางอินเทอร์เนต การส่งข่าวสั้นทางโทรศัพท์ (SMS) ที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นสื่อของฝ่าย "เสื้อแดง" เช่น สถานี People Channel, SMS Thairednews จนหมดสิ้น

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อยังประโยชน์และอำนาจของฝ่ายตน รัฐบาลยังได้ใช้สื่อวิทยุโทรทัศน์ทุกสถานีทั้งที่เป็นสื่อของรัฐและเอกชน ( เช่น สถานี TNN) ในการนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบที่ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลด เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และพยายามที่จะโยนความผิดให้แก่พี่น้องประชาชน ผู้เข้าร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยการยุบ สภา ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญและตามครรลองของการ ปกครองระบอบประชาธิปไตย

การกระทำของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว (โดยเฉพาะ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กองทัพบก กรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 (NBT) ช่อง 3, 5, 7, 9 และ Thai PBS) จึงเป็นการทำลายล้างและละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทยตาม หลักนิติธรรม ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และเป็นการละเมิดต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้อง เป็นกลาง และเที่ยงธรรม อันเป็นเสาหลักสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
 
ในนามของกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 ผู้มีรายชื่อท้ายนี้ ขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งยินยอมและรู้เห็นเป็นใจกับรัฐบาลในการเสนอข้อมูลและข่าวสารอย่างไม่เป็นกลางเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อพี่ น้องประชาชนชาวไทยในครั้งนี้ โดย

1. ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐโดยทันที เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐดังกล่าว เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

2. มีคำสั่งยกเลิกการปิดกั้นและตรวจสอบการเสนอข้อมูลข่าวสารโดยเสรีของสื่อทุกชนิด โดยทันที ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ อินเทอร์เนต และสื่อสารมวลชนรูปแบบอื่น ๆ ทุกประเภท ทุกชนิด เพื่อคืนสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอันสมบูรณ์ในการบริโภคสื่อและการแสดงความ คิดเห็นโดยเสรีให้แก่ประชาชน

3. ขอเรียกร้องให้สถาบันและองค์การสื่อสารมวลชนทุกชนิด และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทุกคน รักษาจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพของตน ด้วยการนำเสนอข้อมูลและข่าวสารตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ วันที่ 10 เมษายน 2553 เสนอข้อมูลและพยานหลักฐานของตนโดยเสมอหน้ากัน มิใช่เพียงแต่นำเสนอข้อมูลข่าวสารและพยานหลักฐานของรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังที่ได้กระทำกันมาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้

อนึ่ง กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 ขอแสดงจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มไว้ ณ ที่นี้โดยเห็นว่า การชุมนุมของพี่น้องชาวไทย เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาคืนอำนาจให้แก่ประชาชนในครั้งนี้ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ชอบ ด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามครรลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังที่ได้มีการรับรองไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 3, 7, 26, 28-30,37, 39-41, 44 และ 65 (ไม่อ้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้มาโดยการรัฐประหารซึ่งขัดกับหลักนิติธรรมและวิถี ทางของระบอบประชาธิปไตย) การลิดรอนและละเมิดสิทธิ เสรีภาพดังกล่าวด้วยการใช้อำนาจรัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยมิชอบ จึงเป็นการลบหลู่และทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติของประชาชนทุกคนในโลกนี้ มิใช่เป็นแต่เพียงสิทธิของประชาชนชาวไทยเท่านั้น การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรมในการปกครองบ้านเมือง จึงก่อให้เกิดสิทธิตามธรรมชาติของประชาชนที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองบ้านเมืองซึ่งใช้อำนาจรัฐโดยไม่เป็นธรรมได้ ดังวาทะของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอลน์ ที่เคยกล่าวไว้ว่า

"ประชาชนทุกผู้ทุกนามไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดในโลกนี้ ซึ่งมีวิจารณญาณและอำนาจโดยชอบ ย่อมมีสิทธิที่จะลุกขึ้นมาถอดถอนรัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่เพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ ที่พวกเขาเห็นว่าเป็นรัฐบาลที่เหมาะสมและดีกว่ารัฐบาลเดิมได้ สิทธิดังกล่าวนี้เป็นสิทธิอันมีคุณค่าและเป็นสิทธิที่มีความศักดิ์สิทธิที่สุด ซึ่งเราหวังและเชื่อว่าจะนำโลกมนุษย์สู่เสรีภาพโดยแท้จริงได้" 

พนัส ทัศนียานนท์ (ตาก)
นภินทร ศรีสรรพางค์ (ราชบุรี)
ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น (กาฬสินธุ์)
มนตรี สินทวิชัย (สมุทรสงคราม)
ไสว พราหมณี (นครราชสีมา)
ดร.บุญทัน ดอกไธสง (นครราชสีมา)
ประเกียรติ นาสิมมา (ร้อยเอ็ด)
สุรชัย ดนัยตั้งตระกูล (ร้อยเอ็ด)
บุญญา หลีเหลด (สงขลา)
สมพงษ์ สระกวี (สงขลา)
คำพันธ์ ป้องปาน (อุดรธานี)
สมเกียรติ ศรลัมพ์ (นครสวรรค์)
พล.อ.มนัส อร่ามศรี (สุพรรณบุรี)
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ (กรุงเทพมหานคร)
ร.ต.อำนวย ไทยานนท์ (ประจวบคีรีขันธ์)
พร เพ็ญพาส (บุรีรัมย์)
พล.ต.อ.วิรุฬห์ ฟื้นแสน (เชียงราย)
อดุลย์ วันไชยธนวงศ์ (แม่อ่องสอน)
ถาวร เกียรติไชยากร (เชียงใหม่)
คำนวณ ชโลปถัมภ์ (สิงห์บุรี)
พา อักษรเสือ (ขอนแก่น)
อมร นิลเปรม (อุบลราชธานี)
มนู วนิชชานนท์ (สุราษฎร์ธานี)
นันทนา สงฆ์ประชา (ชัยนาท)
อนุชาติ บรรจงศุภมิตร (อุตรดิตตถ์)
ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ (ภูเก็ต)
สุทัศน์ จันทร์แสงศรี (เพชรบูรณ์)
นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล (พระนครศรีอยุธยา)
ศรีเมือง เจริญศิริ (มหาสารคาม)

18 เมษายน 2553
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net