Skip to main content
sharethis

นายกรัฐมนตรีชี้แจงให้ทหารปิดถนนช่วงการประชุมสภาฯ “เพื่อให้งานนิติบัญญัติเดินได้” “ให้ความปลอดภัยตามวิถีทางประชาธิปไตย” ลั่นยุบสภาไม่ได้เพราะประชาชนจำนวนมากไม่ได้เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม ขณะที่เช้าวันนี้เกิดเหตุผู้ใช้รถเปิดไฟสูง-บีบแตรไล่ขบวนรถมาร์คปิดถนน

 

อภิสิทธิ์แจงเหตุให้ทหารล้อมสภา “สิ่งที่ทำทั้งหมดก็เพื่อให้งานนิติบัญญัติเดินได้”

เว็บไซต์ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล รายงานเมื่อเวลา 15.00 น. วานนี้ (24 มี.ค.) ว่า ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคมนี้ จะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมสภาฯ ตามปกติ ในส่วนของการปิดกั้นถนนและเส้นทางการจราจรนั้นก็ยังคงเป็นมาตรการที่ทางประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะหารือกันเพื่อให้สมาชิกสามารถเข้ามาประชุมได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการประชุมสภาฯ วันนี้ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเราสามารถจะประชุมสภาฯ กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาวันนี้ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาเกษตร หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ ทั้งนี้ งานนิติบัญญัติก็ต้องเดินต่อและรัฐบาลก็ยืนยัน และสิ่งที่ทำก็ไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิ์ของสมาชิกฝ่ายค้านเลย เพราะสมาชิกฝ่ายค้านและทุกฝ่ายก็สามารถจะเข้ามาประชุมและทำหน้าที่ของตัวเองได้โดยปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยมีมติจะไม่มาเข้าเข้าร่วมประชุมสภาฯ จนกว่าจะมีการถอนกำลังทหารออกไป นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนก็ไม่เข้าใจเพราะสิ่งที่ทำทั้งหมดก็เพื่อให้งานนิติบัญญัติเดินได้ ไม่มีเหตุผลอะไรต่อการดำเนินการเช่นนี้ที่จะไปลิดรอนสิทธิ์ใคร ตรงกันข้ามเราควรจะเก็บเกี่ยวบทเรียนจากในอดีต ซึ่งเวลาที่มีการปิดล้อมสภาฯ มีการเผชิญหน้าแล้วความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นกับประชาชน ผู้ชุมนุม ไม่ได้เกิดขึ้นกับสมาชิก เพราะฉะนั้นมาตรการที่ทำอยู่เป็นทั้งการให้ความมั่นใจ ความปลอดภัยกับสมาชิก อีกทั้งเป็นการคุ้มครองไม่ให้ประชาชนที่มาชุมนุมต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องมีการเผชิญหน้าและความรุนแรง

 

ทั้งหมดทำเพื่อบ้านเมือง ให้ ส.ส. มั่นใจ

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง งานนิติบัญญัติ เพื่อประโยชน์ของความมั่นใจของสมาชิก ซึ่งในอดีตเคยมีสมาชิกที่ออกไปแล้วถูกผู้ชุมนุมขว้างปา อีกทั้งก็เป็นประโยชน์กับผู้ชุมนุมเอง เพราะเวลาที่เกิดสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน เกิดการเผชิญหน้าหรือเกิดความเข้าใจผิดขึ้นมา เกิดความสูญเสียทุกอย่างก็จะตกอยู่ที่ประชาชน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยอ้างว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นประชาธิปไตยและกำลังมีการปฏิวัติเงียบเกิดขึ้นในประเทศ นายกรัฐมนตรี ถามว่า “ตรงไหนครับ ใครไปยึดอำนาจใคร ทุกคนก็มาใช้สภาฯ ทำหน้าที่ได้ตามปกติ เพราะฉะนั้นมันไม่เป็นเหตุเป็นผล ตรงกันข้ามขณะนี้การที่ขัดขวางเพื่อนสมาชิกด้วยกันไม่ให้เข้ามาทำหน้าที่ ตรงนั้นต่างหากที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีด้วยว่าเข้ามาแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ผมไม่ได้ทำผิดกฎหมายเลยครับ และการออกมาตรการก็เป็นการปรึกษากันระหว่างประธานสภาฯ และรองนายกฯสุเทพ ทุกอย่างทำเท่าที่มีความจำเป็นเพื่อให้การประชุมสภาฯ สามารถดำเนินการต่อได้”

 

ถ้าผู้ชุมนุมไม่มีเจตนาปิดล้อมสภา ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทหารล้อม

ต่อข้อถามว่า แต่มาตรการการรักษาความปลอดภัยส่งผลกระทบกับประชาชนที่สัญจรไปมาด้วยเหมือนกัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็เป็นช่วงที่มีการประกาศใช้พื้นที่ความมั่นคง และก็เห็นใจประชาชนและพยายามจะทำให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันถ้าชัดเจนว่าผู้ชุมนุมไม่มีเจตนาที่จะมาปิดล้อมสภาฯ มาตรการเหล่านี้ก็คงไม่จำเป็น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าในสัปดาห์หน้ายังจำเป็นต้องประชุมสภาฯ อีก ยังคงต้องมีมาตรการเช่นเดิมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องรอดูสถานการณ์การชุมนุม ถ้าผู้ชุมนุมยังประกาศว่าจะไปปิดล้อม หรือไปไล่ตามคนทำหน้าที่ เราก็จำเป็นต้องใช้มาตรการที่ทำให้ทุกคนปลอดภัยและงานสามารถเดินต่อไปได้ ตนได้เรียนแล้วว่าสัปดาห์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำสังคมกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประชุมได้ สภาฯ ประชุมได้ ผู้ชุมนุมก็ชุมนุมต่อไปได้ในกรอบของกฎหมาย สมาชิกฝ่ายค้านก็สามารถมาทำหน้าที่ได้ แต่เมื่อเขาตัดสินใจไม่มาทำหน้าที่เองก็เป็นอีกเรื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่นายกรัฐมนตรีหวังว่าการชุมนุมจะจบอีกไม่นาน วันนี้ยังเชื่ออย่างนั้นอยู่หรือเปล่า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็พยายามทำไปโดยลำดับ ขณะนี้ก็พยายามที่จะให้ทุกคนทำหน้าที่กันให้ได้เป็นปกติให้มากที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ตอนนี้ปัญหาไม่ได้อยู่แค่ตัวผู้ชุมนุม แต่มีการยิงเอ็ม 79 มีการก่อวินาศกรรมเกิดขึ้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง และก็มีการออกหมายจับในส่วนของคนที่ใช้อาร์พีจีที่ยิงไปที่กระทรวงกลาโหมแล้ว เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายทำงานกันอย่างแข็งขันในการที่จะบังคับใช้กฎหมาย

 

ฝ่ายค้านไม่เข้าประชุม เป็นการตัดสินใจของฝายค้านเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้ ส.ส.จะมาครบองค์ประชุม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่มีสมาชิกฝ่ายค้านน้อยก็เป็นภาพที่ไม่ค่อยดี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็เป็นการตัดสินใจของฝ่ายค้านเองที่ไม่เข้าประชุม และมีความพยายามที่จะขัดขวางสมาชิกฝ่ายรัฐบาลไม่ให้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่เขาก็พยายามที่จะเดินทางมาเพื่อทำหน้าที่ ฝ่ายค้านเองก็มีมาประชุมทั้งในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง พรรคประชาราช พรรคมาตุภูมิ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีโอกาสประสานความร่วมมือให้ดีกว่านี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าขณะนี้คณะกรรมการประสานงาน (วิป) ทั้งในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านคงได้คุยกัน เพราะทุกฝ่ายก็เห็นตรงกันว่างานของสภาฯ ต้องเดินต่อ สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ไม่สามารถเดินได้ก็เพราะเรากลัวว่าจะสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง สัปดาห์นี้เราจึงต้องใช้มาตรการทางฝ่ายการบริหารเพื่อให้งานนิติบัญญัติเดินได้ แต่เมื่อฝ่ายค้านตัดสินใจไม่ร่วมก็เป็นสิทธิของฝ่ายค้านในการแสดงออก

ผู้สื่อข่าวถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยกับกลุ่มคนเสื้อแดงกลายเป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยตอนนี้มีการขึ้นเวที 70-80 คนแล้ว

 

ไม่ขอวิจารณ์ “อภิวันท์” ขึ้นเวทีเสื้อแดง แต่ห่วงสาระที่พูดมากกว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดอย่างไรกับการขึ้นเวทีกลุ่มคนเสื้อแดงของพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ขอวิจารณ์ แต่เป็นห่วงสาระที่ พ.อ.อภิวันท์พูดมากกว่า เพราะเป็นตัวบ่งบอกอีกครั้งหนึ่งว่าสิ่งที่เป็นเงื่อนไขการเจรจา การยุบสภาก็ไม่ชัดเจน เพราะ พ.อ.อภิวันท์ไปพูดถึงขั้นว่าตนไม่ได้มีอำนาจ ต้องไปถึงประธานองคมนตรี ตนจึงได้ยืนยันว่าถ้าเรื่องของการเจรจาระหว่างฝ่ายการเมืองด้วยกันเป็นเรื่องการยุบสภา ไม่มีวาระที่เกินเลยไปคงพูดกันง่ายไม่น่ามีข้อขัดข้อง แต่ก็มีสิ่งที่เป็นตัวบ่งบอกอยู่ตลอดเวลาว่ามันไม่ใช่เช่นนั้น

 

ลั่นยุบสภาไม่ได้เพราะประชาชนจำนวนมากไม่ได้เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าการยุบสภาไม่ทำให้ปัญหาจบ แล้วอะไรที่จะทำให้ปัญหาจบได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่บอกว่าจบถ้าเราไปยึดเอาความต้องการของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคงไม่ได้ มีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการคำนึงถึงความเหมาะสมที่เป็นทางออกของบ้านเมืองอย่างแท้จริง สำหรับตนถ้าทางออกของบ้านเมืองเลยเถิดไปจนถึงข้ามเส้นในเรื่องของความถูกต้อง ไปกระทบกระเทือนกับสถาบันหลัก ระบบกฎหมายของประเทศ ตนก็คงจะไปโอนอ่อนตามไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราก็จะพูดกันอยู่ในกรอบของทางออกทางการเมืองที่เหมาะสมและต้องไม่ให้เกินเลย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางออกที่เหมาะสมในสายตาของนายกรัฐมนตรีขณะนี้คืออะไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องที่ตนอยากจะฟังจากผู้ชุมนุมหรือแกนนำ เพราะเป็นข้อเรียกร้องของเขา มันไม่ใช่ข้อเรียกร้องของฝ่ายรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านเสนอให้นายกรัฐมนตรีไปหารือกับประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเพื่อร่วมกันหาทางออก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนจึงได้ตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ต้นเพราะดูว่ามันมีสิ่งที่บ่งบอกว่าปัญหามันไม่จบ จากจุดหนึ่งก็ไปอีกจุดหนึ่ง มอบให้รัฐมนตรีไปเจรจาในฐานะตัวแทนก็ไม่ยอมต้องเป็นนายกฯ คนเดียว ขณะนี้ก็ลามไปถึงประธานองคมนตรี แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อ เพราะฉะนั้น อันนี้คือสิ่งที่ตนบอกว่าถ้าจะพูดคุยกันต้องขีดเส้นให้ชัดว่าเราคุยกันเรื่องอะไรแล้วมาตกลงกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมจึงมีความพยายามพาดพิงไปถึงประธานองคมนตรีตลอดเวลา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องถามผู้ชุมนุม เขาเป็นฝ่ายที่ทำอย่างนั้น อย่าให้ตนไปพูดเลยเพราะจะเป็นเงื่อนไขของความแตกแยกเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง เสนอว่าอยากให้ประเทศมีนายกรัฐมนตรี 2 คน เหมือนประเทศกัมพูชา มีความเป็นไปได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องถามประชาชนว่าอยากให้ประเทศไทยใช้ระบบอย่างนั้นหรือไม่ ซึ่งตนไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นการขอเปิดอภิปรายร่วมรัฐสภาตามมาตรา 179 และการอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 161 รัฐบาลจะตอบรับหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเด็นมาตรา 161 คงเดินอยู่แล้ว เพราะญัตติของวุฒิสภาหากสมบูรณ์ก็จะแจ้งรัฐบาลมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตนได้คุยกับนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ไปแล้วว่าขอให้ส่งมาและรัฐบาลจะกำหนดวันที่เหมาะสม เข้าใจว่าจะต้องเป็นหลังการประชุมสหภาพรัฐสภา (IPU)

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะเปิดให้มีการอภิปรายตามมาตรา 179 หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยัง เพราะขณะนี้เห็นได้ชัดว่า ส.ส.ฝ่ายค้านยังไม่พร้อมที่จะมาร่วม

 

เผยมี ส.ส.กทม. มาหารือว่าประชาชนเดือนร้อนจากการชุมนุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันที่ 27 มีนาคม กลุ่มคนเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้ทำความเข้าใจกับส.ส.กทม.อย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส.ส.กทม.มาสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และได้มีการแลกเปลี่ยนกันว่าการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในฐานะผู้แทนควรจะเป็นอย่างไร ในการที่จะบรรเทาความเดือดร้อนหรือสื่อสารเพื่อให้ทางผู้ชุมนุมได้คิดในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันทางรัฐบาลก็มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินสถานการณ์การเคลื่อนไหวในวันที่ 27 มีนาคม ไว้อย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รูปแบบเขายังไม่ชัด เพราะฉะนั้นคงต้องติดตามสถานการณ์ก่อน ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่าจะมีการยกระดับถึงขั้นแตกหัก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องไม่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย หากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายรัฐบาลก็ต้องดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ประชาชนเดือดร้อนมาก รัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้เราจะฟันฝ่าปัญหาไปได้จะต้องอาศัยความอดทนของทุกฝ่าย ตนก็เห็นใจวันนี้ ส.ส.กทม. มาสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชนเยอะ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่มีการชุมนุม แต่ขณะเดียวกันก็ให้ข้อคิดเขาไปว่าการที่เราจะไปบอกว่าขอให้เด็ดขาด ในความเป็นจริงถ้าเกิดมีการใช้ความเด็ดขาด แล้วมีการสูญเสียขึ้น สังคมก็ไม่ยอมรับ เพราะสังคมเองมีความหวงแหนสิทธิร่างกายเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นล้มตายบาดเจ็บเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องอยู่ในความพอดี วันนี้ต้องแสดงให้เห็นก่อนว่าการทำงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องเดินต่อไป ซึ่งพื้นที่จะใช้วิธีการเจรจาไปเรื่อยๆ ว่าตรงไหนที่สามารถที่จะคืนพื้นที่กลับมาให้กับประชาชนได้ ตรงไหนที่จะช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชนได้รัฐบาลก็จะอาสาเข้าไปเจรจา

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมนำความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการบีบรัฐบาลจะได้ผลหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราคงจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทุกกลุ่ม

ผู้สื่อข่าวถามว่า การประชุมสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เสนอให้นายกรัฐมนตรีจัดวาระปฏิรูปประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากมีการอภิปรายทั่วไปคงจะได้มีการรับฟังความคิดเห็น

 

ส.ส.เพื่อไทยตั้งกระทู้อภิปรายเอาทหารมาล้อมสภาเหมือนรัฐประหาร

ขณะที่วันนี้ (25 มี.ค.) ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาลรายงานด้วยว่า ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามสดของนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดอุตรดิตถ์ กรณีสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และการนำเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจมาอยู่โดยรอบรัฐสภา ว่า ตนเป็นนักการเมืองในวิถีทางนักการเมืองมาตลอด ไม่ต่างจากผู้ที่นั่งในห้องประชุมนี้ ซึ่งเห็นว่ารัฐสภาเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยและของประชาชน และการนำทหารตำรวจมาเป็นจำนวนมาก เพื่อมาอารักขาการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เชื่อว่าพวกเราทุกคนต้องการความสะดวก และต้องการเห็นความเป็นปกติในบ้านเมืองของเรา แต่ขณะเดียวกันตนอยากให้เพื่อนสมาชิกเข้าใจว่า การที่มีภาพทหารหรือตำรวจรอบๆ สภา และมองเป็นเหมือนการมีรัฐประหาร ปฏิวัติ นั้น คงไม่ใช่เป็นการปฏิวัติ รัฐประหาร แต่ต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำงานได้ เพราะถ้ามีการปฏิวัติจริงก็หมายความว่าสภาผู้แทนราษฎรและฝ่ายบริหารหมดสภาพแล้วและต้องออกประกาศของคณะปฏิวัติ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่

 

มาร์คแจงให้ทหารมารักษาความปลอดภัยตามวิถีทางประชาธิปไตย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รอบๆ สภาในขณะนี้จำนวนมากมีความยากลำบากเช่นกันในการเข้ามาดูแลสถานการณ์ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา และไม่ได้เข้ามายึดอำนาจนิติบัญญัติ แต่อยากให้เราใช้อำนาจนิติบัญญัติได้ นี่เป็นการแสดงออกว่าตำรวจ ทหาร กองทัพ พร้อมให้ความปลอดภัยตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่ข้อเท็จจริงคือ หากไม่มีการดำเนินการเช่นที่ผ่านมา ก็มีคนกลุ่มหนึ่งประกาศแล้วว่าจะมีการล้อมสภา และเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และท่านคงจำได้ถึงภาพที่สมาชิกสภาต้องปีนหนีจากสภา และมีการบาดเจ็บของพี่น้องประชาชน อีกวัตถุประสงค์คือการป้องกันการสูญเสียของพี่น้องประชาชน

“การเข้ามาของเจ้าหน้าที่เป็นการอำนวยความสะดวก และไม่เป็นการสร้างเงื่อนไข ไม่ให้เกิดการปะทะกันระหว่างผู้มาชุมนุม ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาของการชุมนุม และสามารถทำให้อำนาจนิติบัญญัติเดินต่อได้ ไม่มีใครชอบที่ให้สภาพเป็นแบบนี้ แต่อยากให้เข้าใจเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติการ และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เสียสละ ที่มาทำหน้าที่ และสมาชิกสภาท่านใดที่อยากมาทำงานก็เข้ามาทำได้ มีเพียงสมาชิกบางส่วนที่ขัดขวางเพื่อนสมาชิกด้วยกันที่ไม่ให้มาทำหน้าที่ในสภา และขออภัยในความไม่สะดวก ซึ่งอาจเกิดจากความคลาดเคลื่อนในการประสานงาน หรือประชาชนแถวๆ นี้ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่ง คือสามารถทำให้อำนาจนิติบัญญัติเดินต่อได้ และไม่ให้เกิดความสูญเสียแก่พี่น้อง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

คนกรุงเทพฯ เปิดไฟสูง-บีบแตรไล่ขบวนรถมาร์ค

ขณะที่มติชนออนไลน์ ยังรายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้ (25 มี.ค.) ระหว่างที่ขบวนรถของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางออกจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ หลังการประชุมศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เพื่อมุ่งหน้าไปร่วมประชุมสภา โดยใช้เส้นทางด่วนโทล์เวย์ ต่อเชื่อมเข้าทางด่วนและลงที่ด่านยมราชนั้น โดยขบวนรถของนายอภิสิทธิ์ มีรถในขบวนรวมถึง 19 คัน และยังมีรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สารวัตรทหาร และมีรถสื่อมวลชนอีกกว่า 10 คัน ทำให้ประชาชนที่สัญจรอยู่เกิดความไม่พอใจ บางคันถึงกับบีบแตรและเปิดไฟสูงใส่

 

ที่มาของข่าว

นายกรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลต้องใช้มาตรการทางฝ่ายการบริหารเพื่อให้งานนิติบัญญัติเดินได้, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 24 มี.ค. 53

นายกรัฐมนตรียืนยันภาพทหาร-ตำรวจรอบสภาไม่ใช่ปฏิวัติรัฐประหาร, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 25 มี.ค. 53

ฉุนขบวน"นายกฯ"ทำรถติดหนัก คนทนไม่ไหวบีบแตร-เปิดไฟสูงไล่ ทั้งคณะมีกว่า 30 คัน, มติชนออนไลน์, 25 มี.ค. 53

ปชป.อ้างคนกรุงรำคาญรัฐบาลไม่สลายม็อบ "อภิสิทธิ์"ซัด"พท.-แดง" ไม่จบ ต่อรองไปถึง ปธ.องคมนตรี,  มติชนออนไลน์, 24 มี.ค. 53

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net