Skip to main content
sharethis

12 มี.ค. 53 - สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วม "เรื่องการทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้ง" โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

เรื่องการทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้ง

ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มเคลื่อนไหวเข้ามาชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพมหานครซึ่งเริ่มขึ้นแล้วในวันที่12 มีนาคม นี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วยสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ประชุมหารือกันและเป็นห่วงต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ องค์กรวิชาชีพสื่อฯข้างต้น มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงตระหนักว่าเรากำลังทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง เราขอสนับสนุนให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่อย่างเข็มแข็ง เสนอข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรใช้ภาษาข่าวที่รุนแรงดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งอาจเป็นการยั่วยุให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้สื่อมวลชนทุกแขนงต้องยึดมั่นในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด ด้วยการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านมากที่สุด

2. ขอให้ฝ่ายผู้ชุมนุมและรัฐบาลตระหนักว่าสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ทำหน้าที่รายงานข่าวและข้อเท็จจริงตามหน้าที่ของตนไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่ คุกคามและแทรกแซงไม่ว่าจากฝ่ายใด ซึ่งหากสื่อถูกข่มขู่และคุกคามจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ จะผลกระทบกับประชาชนที่ไม่สามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลและข้อเท็จจริง

3. นอกจากนี้องค์กรวิชาชีพสื่อฯได้ประชุมร่วมกับกันนักข่าวที่ทำข่าวในพื้นที่ต่างๆ ของการชุมนุม เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้องค์กรสื่อต่างๆ ดูแลด้านสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับการทำข่าวกรณีที่เกิดความวุ่นวายเช่น อุปกรณ์ประเภทหมวกกัน น็อก แว่นป้องกันแก๊สน้ำตา

ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อได้จัดทำปลอกแขนที่เป็นสัญลักษณ์ของสมาคมฯและได้เปิดสมาคมนักข่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักข่าวเข้ามาใช้สถานที่จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเปิดให้ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต อาหารว่าง รวมถึงอุปกรณ์การทำงาน ทางสมาคมจะจัดหาให้ โดยเปิดเป็นศูนย์ press center  ให้กับนักข่าว

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุญาตให้ใช้พื้นที่คอมมอนรูมใต้ตึกคณะนิติศาสตร์ และกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (สน.นางเลิ้ง) ก็อนุญาตให้นักข่าวใช้พื้นที่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในช่วงการชุมนุมเช่นกัน

สุดท้ายนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่อย่าเข็มแข็ง ซื่อสัตย์ในวิชาชีพ และขอให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างจริงจัง เนื่องจากความรุนแรงทุกรูปแบบจะไม่สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้อย่างยั่งยืน แต่กลับจะสร้างความสูญเสียต่อประเทศชาติอย่างยากที่จะแก้ไขเยียวยาไม่ว่าจะใช้วิธีการใ


สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
12 มีนาคม 255

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net