Skip to main content
sharethis

กรรรมการสิทธิฯ สอบเหมืองหินเขาคูหา พบบริษัทฯผิดเงื่อนไขสัมปทาน ลงพบชาวบ้านคูหาใต้ รับเรื่องร้องเรียนต้านต่อประทานบัตรเหมืองหินเขาคูหา ยันเจอผลกระทบเพียบ ระบุบริษัทฯ ที่ปรึกษา จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่โปร่งใส

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ได้เชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้ต่อสัมปทานเหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ตามที่ชาวบ้านร้องเรียน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนตำบลคูหาใต้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และตัวแทนภาคประชาชน เข้ามาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นายแพทย์นิรันดร์ เปิดเผยต่อว่า จากการให้ข้อมูลของทุกฝ่ายพบข้อสงสัยว่า ผู้ได้รับสัมปทานอาจจะดำเนินการผิดเงื่อนไขการให้สัมปทาน เนื่องจากขอสัมปทานทำเหมืองหิน เพื่อนำหินการใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างในพื้นที่ แต่ทางผู้ได้รับสัมปทานกลับนำหินดังกล่าว ส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 นายแพทย์นิรันดร์ พร้อมคณะลงพื้นที่พบปะชาวบ้านตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ที่บ้านของนายจิต พูลแก้ว เลขที่ 169 หมู่ที่ 5 ตำบลคูหาใต้ มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหาให้ข้อมูล ตามที่ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552
 
โดยทางเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา ขอใช้สิทธิตามมาตรา 66, 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 พร้อมกับขอให้มีการคุ้มครองแกนนำและครอบครัวผู้เคลื่อนไหว ดังรายชื่อต่อไปนี้ นายครื้น บุญรัตน์ ว่าที่ร้อยตรีหญิงนฤมล จันทสุวรรณ นายสุทธิวงศ์ รักเงิน นายบรรจง ทองเอื้อย นายนิพนธ์ ปราบฤทธิ์ นายสุวรรณ อ่อนรักษ์ นายประเวศ จันทะสระ และนายเอกชัย อิสระทะ ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมชน จากการทำเหมืองหินและขอต่ออายุใบประทานบัตร ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ช่วยสนับสนุนการใช้สิทธิชุมชนโดยให้คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการต่ออายุประทานบัตรไปก่อน จนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ
 
นายแพทย์นิรันดร์ ได้สอบถามึงปัญหาและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ ตัวแทนชาวบ้านตอบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากมีเศษหินจากการระเบิดปลิวโดนบ้านเรือนที่พักอาศัย ความสั่นสะเทือนจากการระเบิดหินทำให้บ้านเรือนแตกร้าว ทรัพย์สินเสียหาย ทางบริษัทฯ จ่ายค่าชดเชยความเสียหายไม่เป็นธรรม จ่ายให้เฉพาะผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทฯ เท่านั้น
 
ประเด็นต่อมาคือ ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายจากฝุ่นที่เกิดจากการระเบิดหิน และการใช้เครื่องจักรกลในการทำงาน ทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายจากยอดเขาลงสู่พื้นดิน นอกจากนี้ยังมีฝุ่นจากการโม่หินย่อย ฝุ่นจากการขนส่งลำเลียงบนถนน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดโรคปอดฝุ่นใยหิน จากระยะการสะสมฝุ่นใยหินต่อเนื่องยาวนาน 10 – 20 ปี
 
มีผลกระทบด้านจิตใจ ที่เกิดจากเสียงการใช้เครื่องจักรกลทำงานหน้าเหมือง ทั้งกลางวันและกลางคืน เสียงจากหัวเจาะอัดระเบิด เสียงระเบิด เสียงคุ้ยหิน เสียงกระแทกหิน เสียงลำเลียงหิน ย่อยหิน โม่หิน และการขนส่ง โดยเฉพาะเสียงจากการระเบิดหินที่ดังไกลนับ 10 กิโลเมตร อาณาบริเวณที่ได้ยินเสียงนอกจากตำบลคูหาใต้แล้ว ยังดังไกลไปถึงตำบลกำแพงเพชร ตำบลควนรู ตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา พื้นที่บางส่วนของอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และอำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง
 
มีผลกระทบต่อการทำมาหากินและการทำเกษตร วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวบ้าน บริเวณรอบภูเขา ไม่สามารถทำนาได้ เพราะขาดน้ำทำนา และมีเศษหินกระเด็นมาตกในนา ไม่สามารถไถนาด้วยเครื่องจักรกลได้ตามปกติ ก่อนหน้าจะมีการให้ประทานบัตรกับบริษัทฯ ชาวบ้านเคยตีหินขาย การให้สัมปทานทำให้วิถีการทำมาหากินของคนตีหินเขาคูหาหายไป
 
ส่วนผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขาคูหาเป็นภูเขาลูกโดดอยู่ในที่ราบกลางทุ่งนา มีคลองเคียนไหลลอดใต้ภูเขา ในภูเขามีสายน้ำย่อยหลายสาย เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ แหล่งอนุบาล และหลบภัยของสัตว์น้ำ บนภูเขามีพันธุ์ไม้ กล้วยไม้ สัตว์ป่า ลิง ค่าง นกหลายชนิด ปัจจุบันหายไปหมดแล้ว
 
ตัวแทนชาวบ้าน ชี้แจงต่อไปว่า หินที่ได้จากการทำเหมืองหินเขาคูหาปัจจุบันนำส่งขายประเทศอินเดีย ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการให้ประทานบัตร ที่ระบุว่าจะนำหินมาใช้ในจังหวัดสงขลาและบริเวณใกล้เคียง ขณะนี้ชาวบ้านขอแบ่งซื้อหินมาใช้ ทางบริษัทฯ ยังไม่ยอมขายให้
 
ส่วนรายงานศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่บริษัท เอ บี อี เอ็น เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษา มีวาระซ่อนเร้นใน 3 ประเด็นคือ 1.รายงานการประชุมชาวบ้านมีมติอนุญาตให้ต่อประทานบัตรได้ ชาวบ้านชี้แจงว่า เมื่อดูจากวันเวลาประชุม และลายเซ็นต์ผู้เข้าร่วมประชุมพบว่า เป็นการประชุเรื่องอื่น ที่ประชุมในวันดังกล่าว ไม่ได้พูดถึงเรื่องการต่อประทานบัตรเหมืองหินเขาคูหา 2. เรื่องฝุ่นมีการรายงานว่าอยู่ในระดับไม่เกินมาตรฐานกำหนด ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นตามที่รายงานฉบับนี้ระบุ 3. เรื่องผลกระทบจากบ้านร้าวในรายงานระบุว่า ชาวบ้านได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม ซึ่งขัดกับความเป็นจริง
 
นายแพทย์นิรันทร์ กล่าวว่า ถ้าถูกคุกคามเป็นเรื่องที่กรรมการสิทธิมนุยชนแห่งชาติมีหน้าที่ป้องกันให้ทุกคนได้รับความปลอดภัย โดยการทำเรื่องนี้ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างว่า มีการคุกคามจะเอาชีวิต ต้องใช้กฎหมายดำเนินการกับกลุ่มคนที่เข้ามาใช้อำนาจและอิทธิพลกับชาวบ้าน ในส่วนของประชาชนต้องพิจารณาให้ดีว่า หากต่อประทานบัตร จะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง
 
“มีหลายเรื่องที่ผมไม่เห็นด้วย เช่น ประกาศโรงงานดีเด่น โรงโม่หินติดดาว ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทางอุตสาหกรรม เรื่องเหล่านี้ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด จะทำอะไรต้องให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย การให้รางวัลหรือเชิดชูอะไร ต้องทำให้เห็นกระบวนการพิจารณาอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา” นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว
 
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553 ที่โรงเรียนวัดเจริญภูผา (จุ้มปะ) ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา เปิดโรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา เปิดห้องเรียนให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA
 
นายเอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา เปิดเผยว่า นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ มาให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงการทำเหมืองหินว่า อาจจะเป็นโรคปอดฝุ่นใยหินจากฝุ่นเข้าไปอยู่ในถุงลม เกิดการสะสมเป็นเนื้อเยื่อ ทำให้พื้นที่ปอดลดลง ถ้าเป็นแล้วไม่มีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ กว่าจะเจออาการอาจจะต้องใช้เวลาประมาร 10 - 20 ปี โดยมีอาการเริ่มต้นคือเหนื่อยอ่อนเพลีย
 
นายเอกชัย กล่าวถึงกรณีร้องขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนคุ้มครองแกนนำคัดค้านการต่ออายุสัมปทานเหมืองหินเขาคูหาว่า เพื่อให้เกราะสร้างความปลอดภัยกับบรรดาแกนนำ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีแกนนำคนใดถูกข่มขู่คุกคามแต่อย่างใด
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net