Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 
ผลพวงจากยุทธการเกลือจิ้มเกลือของ นปช. ที่เขายายเที่ยงเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา นั้น นอกจากจะชี้ให้เห็นภาวะไร้มาตรฐานของการบังคับใช้กฎหมายระหว่างผู้มีฐานะทาง สังคม กับสามัญชนทั่วไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นอานิสงส์สำคัญจากการเคลื่อนไหวข้างต้น คือ การเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการถือครองที่ดินในสังคมไทย ที่มีลักษณะกระจุกตัวอยู่เฉพาะคนมีฐานะทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะที่ดินในเขตป่าซึ่งมีภูมิทัศน์สวยงาม ยิ่งเป็นที่หมายตาของกลุ่มคนเหล่านี้

กรณีปัญหาที่ดินเขายายเที่ยงมีข้อพิพาทมายาวนาน โดยชาวบ้านในพื้นที่มีการเรียกร้องต่อสู้อันเนื่องมาจากการทับซ้อนระหว่าง ที่ทำกินกับป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเตียน เขาเขื่อนลั่น และป่าปากช่อง หมูสี กระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ระหว่างสมัชชาคนจนกับรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 แต่อย่างไรก็ตาม มติครม.ดังกล่าว ถูกยกเลิกโดยมติคณะรัฐมนตรีสมัยนายชวน หลีกภัย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขปัญหาโดยให้ยึดหลักฐานทางราชการ เช่น แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายไว้ครั้งแรก ภายหลังการสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าตามกฏหมายป่าไม้ครั้งแรก (นั่นคือแผนที่ดาวเทียมของกรมแผนที่ทหาร ปี พ.ศ. 2495 ที่ถ่ายไว้ครั้งแรกหลังการออกพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484)  เป็นต้น และการแก้ไขปัญหาตามมติครม.นี้ ชี้ออกมาว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการให้สิทธิ์แก่ชาวบ้านได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร (เขตลุ่มน้ำชั้น 1 บี) ตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดชันคุณภาพลุ่มน้ำปี พ.ศ. 2528

หากกล่าวอย่างถึงที่สุด มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2540 เป็นมาตรการทางนโยบายที่จำกัดสิทธิในการเข้าถึงที่ดินของชาวบ้านที่ถือครองทำประโยชน์มาก่อนการประกาศเขตป่าอย่างยิ่ง  ซึ่ง ปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มติดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินในเขตป่าได้อย่าง สิ้นเชิง นอกจากนี้ มติครม. ฉบับนี้ ยังไม่มีมาตรการที่จะสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดินของเกษตรกรแต่อย่าง ใด ทำให้ที่ดินโดยส่วนใหญ่มีการซื้อสิทธิ์กัน และสุดท้ายก็ตกอยู่ในมือนายทุน และผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจ ดังที่กล่าวแล้ว

กล่าวโดยสรุป การแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าของรัฐไทยจึงมีลักษณะงูกินหางมาโดยตลอด ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของสังคมปัจจุบัน อีกทั้งไม่มีมาตรการที่จะสร้างความมั่นคงในที่ดินของเกษตรกรรายย่อย เราจึงเห็นข่าวคราวการถือครองที่ดินของผู้มีชื่อเสียงในสังคมในเขตพื้นที่ ป่าอยู่ทั่วประเทศ และหากจะใช้โอกาสนี้เป็นบันไดขั้นแรกในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการ ที่ดินและทรัพยากรของสังคมไทย ควรต้องตรวจสอบการถือครองที่ดินของรัฐในทั่วประเทศ ว่าใครที่มีที่พักตากอากาศที่เขาใหญ่ เขาค้อ ภูเรือ น้ำหนาว เชียงราย เชียงใหม่บ้าง และใครที่มีมากเกินความจำเป็น ไม่ทำประโยชน์ ก็ควรนำมาเป็นของรัฐเพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net