Skip to main content
sharethis

 

ผลงาน 1 ปีของรัฐบาลในสายตานักเศรษฐศาสตร์

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 21 แห่ง จำนวน 61 คน เรื่อง “ผลงาน 1 ปีของรัฐบาลในสายตานักเศรษฐศาสตร์” เนื่องในโอกาสที่รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ทำงานครบ 1 ปี ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-16 ธ.ค.2552 โดยโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า เป็นโครงการที่ยอดเยี่ยมที่สุด คือโครงการลดค่าครองชีพ (เช่น รถเมล์ฟรี ค่าไฟฟรี ค่าน้ำฟรี) ส่วนโครงการที่ยอดแย่ที่สุด คือโครงการเช่ารถเมล์ NGV 4,000 คัน พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในปี 2553 โดยการกระตุ้นและส่งเสริมให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและลงทุนต่อจากรัฐบาล ซึ่งจะเห็นผลก็ต่อเมื่อภาครัฐสามารถแก้ปัญหามาบตาพุดและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้โดยเร็วที่สุด

ส่วนประเด็นเงินบาทแข็งค่า (ท่ามกลางการลดค่าเงินดองของเวียดนาม) ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชนและผู้ประกอบการ โดยมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันนั้น พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.9 ไม่เห็นด้วย หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินนโยบายเงินบาทอ่อนค่าตามคำเรียกร้องของภาคเอกชน เนื่องจาก การแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อให้อ่อนค่านอกจากจะมีต้นทุนในการแทรกแซงที่สูง เสี่ยงต่อการสูญเสียทุนสำรองโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังไม่ช่วยให้ขีดความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงเพิ่มขึ้น

ด้านประเด็นการตื่นตัวในเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกว่าจะกระทบต่อภาคการผลิตและภาคส่งออกหรือไม่นั้น นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 47.5 เห็นว่าจะส่งผลกระทบในทางลบต่อภาคการผลิตและส่งออกของไทย

 
รายละเอียดของผลสำรวจ
 
1. โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยอดเยี่ยมที่สุด ในสายตานักเศรษฐศาสตร์
อันดับ 1 (ร้อยละ 28.3) คือ โครงการลดค่าครองชีพ เช่น รถเมล์ฟรี รถไฟชั้น 3 ฟรี ค่าไฟฟ้าฟรี ค่าน้ำฟรี
อันดับ 2 (ร้อยละ 26.7) คือ โครงการเรียนฟรี 15 ปี
อันดับ 3 (ร้อยละ 16.7) คือ โครงการประกันราคาพืชผลการเกษตร
 
หมายเหตุ: นักเศรษฐศาสตร์เลือกจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 10 โครงการประกอบด้วย โครงการประกันราคาพืชผลการเกษตร โครงการลดค่าครองชีพ โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โครงการต้นกล้าอาชีพ โครงการเช่ารถเมล์ NGV 4,000 คัน โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท โครงการเบี้ยยังชีพคนชรา 500 บาทต่อเดือน โครงการเรียนฟรี 15 ปี โครงการธงฟ้าช่วยประชาชน และโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยว
 
2. โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยอดแย่ที่สุดในสายตานักเศรษฐศาสตร์
อันดับ 1 (ร้อยละ 45.8) คือ โครงการเช่ารถเมล์ NGV 4,000 คัน                                        
อันดับ 2 (ร้อยละ 18.6) คือ โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ                 
อันดับ 3 (ร้อยละ 11.9) คือ โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท               
     
หมายเหตุ: นักเศรษฐศาสตร์เลือกจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 10 โครงการประกอบด้วย โครงการประกันราคาพืชผลการเกษตร โครงการลดค่าครองชีพ โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โครงการต้นกล้าอาชีพ โครงการเช่ารถเมล์ NGV 4,000 คัน โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท โครงการเบี้ยยังชีพคนชรา 500 บาทต่อเดือน โครงการเรียนฟรี 15 ปี โครงการธงฟ้าช่วยประชาชน และโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยว
 
3. ความเห็นต่อประเด็น หากไทยจะดำเนินโนบายเงินบาทอ่อนค่า (ตามคำเรียกร้องของภาคเอกชน) เพื่อไม่ให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน พบว่า
ร้อยละ 27.9 เห็นด้วย หากไทยจะดำเนินนโยบายเงินบาทอ่อนค่า
เพราะ เศรษฐกิจของไทยมีการพึ่งพาการส่งออกซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัว เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดการนำเข้าโดยเฉพาะน้ำมัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์จะเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่ก็เป็นการเห็นด้วยในลักษณะที่มีเงื่อนไข กล่าวคือ มาตรการเงินบาทอ่อนควรเป็นมาตรการระยะสั้น และต้องเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินของประเทศคู่แข่ง และควรดำเนินการไปพร้อมๆ กับนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถอื่นๆ
                                   
ร้อยละ 63.9 ไม่เห็นด้วย หากไทยจะดำเนินนโยบายเงินบาทอ่อนค่า
เนื่องจาก นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าเงินดอลลาร์จะมีทิศทางที่อ่อนค่าอันจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า การแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อให้อ่อนค่านอกจากเป็นการฝืนกลไกตลาดแล้วยังมีต้นทุนในการแทรกแซงที่สูง เสี่ยงต่อการสูญเสียทุนสำรองโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นการดูแลให้ค่าเงินมีเสถียรภาพจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการใช้นโยบายค่าเงินบาทอ่อน(ซึ่งแม้จะช่วยให้การส่งออกดีขึ้นแต่ขณะเดียวกันราคาสินค้านำเข้าก็จะสูงขึ้นด้วย) อีกทั้งนโยบายค่าเงินบาทอ่อนไม่ใช่คำตอบของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่เป็นเพียงการอุดหนุนการส่งออก ดังนั้น ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงมากกว่า
 
ร้อยละ 8.2 ไม่มีความเห็น (ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่มั่นใจ)
 
4. ความเห็นต่อประเด็น การตื่นตัวเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกจะกระทบต่อภาคการผลิต/ภาคส่งออกของไทยหรือไม่ พบว่า
            ร้อยละ 19.7        เห็นว่า ไม่กระทบ ต่อภาคการผลิต/ภาคส่งออก
            ร้อยละ 47.5       เห็นว่า กระทบทางลบ ต่อภาคการผลิต/ภาคส่งออก
            ร้อยละ 19.7        เห็นว่า กระทบทางบวก ต่อภาคการผลิต/ภาคส่งออก
            ร้อยละ   13.1     ไม่มีความเห็น (ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่มั่นใจ)
 
5. ข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ต่อรัฐบาลในการดำเนินโนบายทางเศรษฐกิจปี 2553 พบว่า นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจปี 2553 ควรเน้นนโยบายใน 2 ลักษณะควบคู่กันไป กล่าวคือ
(1) การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นและส่งเสริมให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและลงทุนต่อจากรัฐบาล ซึ่งจะเห็นผลก็ต่อเมื่อภาครัฐสามารถแก้ปัญหามาบตาพุดโดยเร่งด่วนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน (แต่ต้องสอดคล้องกับแนวทาง Green Economy ที่ชุมชนและตลาดต่างประเทศต้องการ) นอกจากนี้ ก็ควรเร่งแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้เร็วที่สุด เพราะปัจจุบันปัญหาทางการเมืองจัดเป็นปัจจัยหลักที่กำลังกัดกร่อนความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย
 
(2) ภาครัฐต้องดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปในปี 2553 โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการต่างๆ เป็นสำคัญ และต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ลดการคอร์รัปชั่น รวมทั้งต้องดำเนินนโยบายอยู่บนพื้นฐานของวินัยทางการคลัง โดยนักเศรษฐศาสตร์เสนอให้รัฐเน้นไปที่โครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งสาธารณะ โลจิสติกส์ การเกษตร และการส่งออก เป็นสำคัญ
 

 

 

ผลกรุงเทพโพลล์ ปชช.ให้คะแนน 1 ปี รัฐแค่ 3.87

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ผู้จัดทำโพลล์เจ้าเดียวกันได้ เผยผลสำรวจ “ประเมินผลงาน 1 ปี รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 11 จังหวัดจากทุกภาคของประเทศ จำนวน 1,660 คน ระหว่างวันที่ 11-14 ธ.ค.พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้คะแนนความพึงพอใจผลงานของรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เมื่อทำงานครบ 1 ปี ได้คะแนนเฉลี่ย 3.87 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยจากการสำรวจเมื่อตอนที่รัฐบาลทำงานครบ 6 เดือน และ 9 เดือน พบว่ามีคะแนนลดลง ดังตารางต่อไปนี้

 
6 เดือน
(คะแนนที่ได้)
9 เดือน
(คะแนนที่ได้)
1 ปี
(คะแนนที่ได้)
ด้านเศรษฐกิจ                                         
3.95
4.17
4.41
ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต 
4.13
4.39
3.76
ด้านการต่างประเทศ         
4.58
4.15
3.75
ด้านการบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมาย
3.91
3.72
3.71
ด้านความมั่นคงของประเทศ                       
3.73
3.69
3.73
เฉลี่ยรวม
4.06
4.02
3.87

หมายเหตุ: การสุ่มตัวอย่างในการสำรวจแต่ละครั้งใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ด้วยข้อคำถามแบบเดียวกัน แต่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียวกัน

สำหรับบุคคลในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันที่ประชาชนชื่นชอบการทำงานมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ นายกรัฐมนตรี 36.9% อันดับที่ 2 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ 6.2% และ อันดับที่ 3 นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง 6.1% ส่วนที่เหลือ 36.9% ไม่ชื่นชอบใครเลย

ส่วนผลงานหรือโครงการของรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด 5 อันดับแรก เรียงตามลำดับ คือ โครงการเรียนฟรี 15 ปี, โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างอาชีพ, โครงการไทยเข้มแข็ง สร้างความสามัคคี ร้องเพลงชาติ, โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และ โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

คะแนนความพึงพอใจต่อการทำงานของพรรคแกนนำรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน (จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน)

 
ครบ 6 เดือน
(คะแนนที่ได้)
ครบ 9 เดือน
(คะแนนที่ได้)
ครบ 1 ปี
(คะแนนที่ได้)
พรรคแกนนำรัฐบาล (พรรคประชาธิปัตย์)    
4.38
4.17
 
4.23
พรรคร่วมรัฐบาล (พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทย
 พัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน)
3.40
3.45
3.44
พรรคฝ่ายค้าน (พรรคเพื่อไทย พรรคประชาราช)           
3.46
3.65
 
3.37

หมายเหตุ: การสุ่มตัวอย่างในการสำรวจแต่ละครั้งใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ด้วยข้อคำถามแบบเดียวกัน แต่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียวกัน

คะแนนความพึงพอใจการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้คะแนนเฉลี่ย 4.70 จากคะแนนเต็ม 10 โดยมีคะแนนความพึงพอใจในด้านต่างๆ ดังนี้

 
 
ครบ 9 เดือน
(คะแนน)
ครบ1 ปี
(คะแนน)
เพิ่มขึ้น / ลดลง
ความซื่อสัตย์สุจริต
5.37
5.44
+ 0.07
ความขยันทุ่มเทในการทำงาน
5.07
5.35
+ 0.28
การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ
4.81
4.83
+ 0.02
ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานหรือโครงการใหม่ๆ
4.44
4.62
+ 0.18
ความสามารถในการบริหารจัดการตามอำนาจหน้าที่ที่มี
4.31
4.25
- 0.06
ความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ
3.71
3.72
+ 0.01
คะแนนเฉลี่ย
4.62
4.70
+ 0.08

เมื่อเปรียบเทียบความคาดหวังระหว่างตอนที่นายอภิสิทธิ์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับผลการทำงานในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่า 34.6% เห็นว่า พอๆ กับที่คาดหวังไว้ ส่วนที่เห็นว่าแย่กว่าที่คาดหวังไว้กับไม่ได้คาดหวังกลับมีเท่ากับคืออย่างละ 27.3% ส่วนที่เห็นว่าดีกว่าที่คาดหวังไว้ มีเพียง 10.8%

ทั้งนี้ ประชาชนเห็นว่าเรื่องที่น่าเห็นใจรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ เรื่องการชุมนุมต่อต้านของกลุ่มคนเสื้อแดง, เป็นรัฐบาลในช่วงที่ประเทศชาติวุ่นวาย การเมืองไม่นิ่ง และเป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง, ประชาชนในประเทศมีความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน, มีความขัดแย้งกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล, คณะรัฐมนตรีบางคนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

ส่วนรื่องที่ต้องการให้ นายกฯ อภิสิทธิ์ทำมากที่สุดในเวลานี้ คือ เดินหน้าทำงานต่อไป 59.3%, ยุบสภา 24.5% ขณะที่ 6.7% เห็นว่าควรมีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีที่ควรถูกปรับออกมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อันดับ 1 นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ อันดับ 2 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ อันดับ 3 นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ส่วนที่เห็นว่ารัฐบาลควรลาออกมีเพียง 5.2%

 

เอแบคโพลล์ชี้รัฐบาลแค่สอบผ่าน

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.52 สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง “ผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปี การยุบพรรคประชาธิปัตย์” โดยสำรวจจากประชาชน 1,150 ครัวเรือน ระหว่างวันที่ 18-19 ธ.ค. พบว่า 10 อันดับแรกของผลงานรัฐบาลที่ประชาชนพอใจมากที่สุดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อันดับที่ 1 ได้ 8.15 คะแนน คือการปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันดับที่ 2 เบี้ยยังชีพคนชราได้ 7.59 คะแนน อันดับ 3 เรียนฟรี 15 ปี ได้ 7.28 คะแนน

อันดับ 4 การป้องกันประเทศ ได้ 7.04 คะแนน อันดับที่ 5 การประกันราคาพืชผลทางการเกษตรได้ 6.79 คะแนน อันดับ 6 ได้ 6.75 คะแนน การลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในการเดินทาง ก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า น้ำประปา และรองๆ ลงไปคือโครงการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง การควบคุมโรคระบาด การส่งเสริมความร่วมมือของประเทศในกลุ่มอาเซียน และการส่งเสริมตลาดและการกระจายสินค้าเกษตรและชุมชน

ส่วน 10 อันดับที่ประชาชนพอใจผลงานรัฐบาลน้อยที่สุด อันดับ 1 ได้คะแนนพอใจเฉลี่ย 5.10 คะแนน คือการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อันดับ 2 ได้ 5.55 คะแนน การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น อันดับ 3 ได้ 5.74 คะแนน การแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง ตามด้วยการกำกับดูแลเรื่องราคาน้ำมัน ได้ 5.78 คะแนน การเสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีของคนในชาติ ได้ 5.95 คะแนน และการกระตุ้นการท่องเที่ยว การดูแลสร้างความเป็นธรรมในสังคม การแก้ไขปัญหายาเสพติด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และโครงการต้นกล้าอาชีพของรัฐบาล เป็นต้น

เมื่อวิเคราะห์คะแนนความพอใจโดยรวมต่อผลงานรัฐบาลพบว่า ได้ 6.35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 โดยมีประชาชนพอใจผลงานรัฐบาลมากร้อยละ 45.0 และร้อยละ 14.7 พอใจมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 11.9 พอใจน้อย และร้อยละ 4.7 ไม่พอใจเลย ร้อยละ 23.7 พอใจปานกลาง

ส่วนคำถามถึงพรรคประชาธิปัตย์รับเงินบริจาค 258 ล้านบาท พบว่าร้อยละ 56.9 ไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นต่อความโปร่งใสของกระบวนการตรวจสอบกรณีนี้ และร้อยละ 63.8 คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ถูกยุบ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net