Skip to main content
sharethis

 

 15 ธ.ค.52 คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Working Group for Climate Justice) และเครือข่ายองค์กรชุมชนร่วม 12 คน ได้เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การเจรจาของภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 15 (COP15) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2552 และได้จัดแถลงข่าวเป็นครั้งแรกขึ้นเืมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

 
ก่อนหน้านี้ คณะทำงานฯ และตัวแทนองค์กรชุมชนได้พบกับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ และนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ ที่โรงแรมแมริออต ในกรุงโคเปนเฮเกน เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้มีจุดยืนที่ชัดเจนและมั่นคงในการเจรจาครั้งนี้เพื่อยืดหลักการความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ที่กลุ่มชาติอุตสาหกรรมเป็นผู้ก่อปัญหาโลกร้อนที่สำคัญ การผลักดันการปฏิบัติตามพันธะกรณีภายใต้พิธีสารเกียวโต ฯลฯ

ผู้แทนคณะทำงานฯ ยังเคยเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.52 ที่ทำเนียบรัฐบาลร่วมกับผู้แทนของ UNDP เพื่อยื่นข้อเสนอและความเห็นของภาคประชาสังคมไทยต่อการประชุมครั้งนี้และต่อการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยเองเพื่อร่วมแก้ปัญหาและรับมือกับวิกฤติการณ์โลกร้อน

วันที่15 ธ.ค.ที่ผ่านมานับเป็นวันที่สองของอาทิตย์สุดท้ายของการประชุมแก้ไขปัญหาโลกร้อนครั้งประวัติศาสตร์ของโลก รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของไทย นายสุวิทย์ คุณกิตติ เพิ่งเดินเข้าไปในศูนย์เบลล่า ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมเจรจาหาข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บรรยากาศการประชุมเจรจาที่ตึงเครียดมาตั้งแต่กลางอาทิตย์ที่ผ่านมา ยิ่งตึงเครียดมากขึ้น ด้วยทางหน่วยรักษาความปลอดภัยของสหประชาชาติจำกัดการเข้าสังเกตการณ์ของภาคประชาสังคม ตัวแทนภาคประชาสังคมต่างต้องรอคิวในแถวยาวเหยียดท่ามกลางลมหนาวต่ำกว่าลบ 2 องศาเซลเซียส โดยที่ไม่รู้ว่าประตูจะเปิดให้หรือไม่ เมื่อไร นี่ก็นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เช่นกันที่การประชุมสหประชาชาติปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคประชาชนอย่างชัดเจนที่สุด

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม กล่าวว่า คณะทำงานฯ ได้นำคณะตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนไทยมาเข้าร่วมสังเกตการณ์การทำหน้าที่ของรัฐบาลไทย และร่วมสะท้อนความเห็นประกอบท่าทีและจุดยืนของรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชาวบ้านไทยไม่สามารถเข้าไปรับฟังในห้องประชุมใหญ่ได้ เนื่องจากตั้งแต่วันพุธ (9 ธ.ค.) มีการปิดห้องประชุมใหญ่เป็นระยะๆ ไม่ให้ตัวแทนภาคประชาสังคมเข้า

นอกเหนือจากการปิดกั้นการเข้าร่วมของภาคประชาสังคม ยังพบว่า รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมเดนมาร์ค ประธานการประชุมครั้งนี้ยังมีความพยายามจัดการประชุมแบบไม่เป็นทางการกับรัฐบาลบางประเทศในลักษณาการที่คล้ายกับห้องเขียวในการประชุมองค์กรการค้าโลกที่มีการประชุมล๊อบบี้วงเล็กเพื่อผลักดันข้อเสนอของรัฐบาลอุตสาหกรรมซึ่งมีอำนาจมากกว่า น่าแปลกใจว่าการประชุมเพื่อรักษาโลกไม่ให้เดินหน้าสู่หายนะ กลับใช้กระบวนการปิดประตูตีแมวแบบการประชุมองค์กรการค้าโลกที่เป็นเรื่องการแย่งชิงผลประโยชน์การค้าระหว่างกัน โดยที่ก่อนหน้านี้มีการรั่วไหลของร่างข้อตกลงผลการเจรจา COP 15 ที่ร่างโดยรัฐบาลเดนมาร์ค (Copenhagen Agreement หรือที่เรียกกันว่า Danish Text) มีสาระหลักที่ทำลายหลักการสำคัญว่าด้วยความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ ตามพิธีสารเกียวโต ที่พยายามดึงเอาประเทศกำลังพัฒนามาร่วมผูกพันลดก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย และหลายประการมีความโน้มเอียงข้างประเทศอุตสาหกรรมอย่างเห็นได้ชัด

“อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลเดนมาร์ค และประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายกำลังพยายามสังหารพิธีสารเกียวโต ในผลสรุปการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งนี้” กิ่งกรกล่าว

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ตัวแทนคณะทำงานฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ก่อนเดินทางมาโคเปนเฮเกน ทางคณะทำงานฯ ได้เข้าพบ และยื่นข้อคิดเห็นและท่าทีของภาคประชาสังคมไทย ต่อนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีหลักการสำคัญคือ ยึดหลักการความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ การผลักดันการปฏิบัติตามพันธะกรณีภายใต้พิธีสารเกียวโต การผลักดันพันธะกรณีพิธีสารเกียวโตระยะที่สองที่เข้มแข็ง โดยมีข้อผูกพันการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเพียงพอตามที่คณะทำงานวิทยาศาสตร์สหประชาชาติเสนอ โดยไม่สนับสนุนการใช้กลไก และมาตรการตลาดเป็นเครื่องมือในการลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการมุ่งทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และแผนพัฒนาพลังงานที่มุ่งสู่ความยั่งยืนและเป็นธรรม”

เพ็ญโฉมย้ำว่า “แม้ว่าทางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมร่ำรวยนำโดยประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะมีความพยายามหลบหลีกจากภาระปัญหาที่ตนเองก่อมาในประวัติศาสตร์ ประชาชนไทยก็หวังอย่างยิ่งว่า รัฐบาลไทยไม่ตกหลุมพรางของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ที่พยายามผลักดันให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องมีพันธะกรณีตามกฎหมาย เร่งขยายตลาดคาร์บอน และนำเอาภาคป่าไม้และเกษตรมาทำคาร์บอนเครดิตขายในตลาด ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยปฏิเสธความรับผิดชอบในการลดก๊าซเรือนกระจก หากแต่เราต้องมีการตั้งเป้าหมายการลดที่สอดคล้องกับความพร้อม สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความเป็นธรรมในสังคม”
 
สุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก แสดงความเห็นว่า “ในคณะผู้แทนเจรจาไทยก็มีทั้งตัวแทนจากสภาอุตฯ แห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท.จำกัด เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนเจรจาในครั้งนี้ด้วย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อเจตนารมย์ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนของประเทศไทย สืบเนื่องจากธุรกิจและการพัฒนาของอุตสาหกรรม คือการพัฒนาที่เป็นการสร้างภาวะโลกร้อนและเต็มไปด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การมาครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในฐานะตัวแทนภาคประชาชนได้มารับรู้ข้อมูลท่าที และวิธีการเจรจาของรัฐบาลไทย”

“สิ่งที่เห็นคือ เรื่องการพูดแก้ไขปัญหาโลกร้อนแต่ละประเทศล้วนเต็มไปด้วยการใช้ตลาดเข้ามาเป็นเงื่อนไขกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่แก้ปัญหาที่แท้จริง เช่น REDD CDM นิวเคลียร์ และพลังงานถ่านหิน “สะอาด” มิหนำซ้ำอาจจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนอย่างต่อเนื่อง อยากฝากไปยังรัฐบาลไทย การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการที่มีผลในการทำลงนามข้อผูกพัน ซึ่งอาจจะต้องยึดรัฐธรรมนูญ 190 ก่อนที่จะมีการลงนามด้วย อย่างไรเสีย หากพบว่ารัฐบาลไทยดำเนินการโดยมิได้คำนึงถึงความผูกพันทางกฎหมาย เครือข่ายก็อาจจะยื่นวุฒิสภาเพื่อตรวจสอบการลงนามดังกล่าวต่อไป”

“ทั้งนี้ ขอเสนอแนะให้ประเทศไทยสมควรเร่งจัดทำฐานข้อมูลที่ชัดเจนต่อสภาพแห่งปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับภาวะโลกร้อน กำหนดวิธีการลดก๊าซฯ ภายในประเทศ สร้างมาตรการ ภูมิคุ้มกันปัญหาที่อาจจะเกิดจากปัญหาโลกร้อน รวมถึงสมควรกำหนดการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในประเทศ ภายใต้หลักการสังคมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และเร่งสร้างประเทศให้เป็นตัวอย่างในการจัดการภาวะโลกร้อน ให้เป็นต้นแบบต่อไป” สุทธิกล่าว

พฤ โอ่โดเชา ตัวแทนจากเครือข่ายป่าไม้ และปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เล่าว่า “ตั้งแต่รู้เรื่องโลกร้อนและการแก้โลกร้อนจากภาคป่าไม้ (REDD) ก็กังวลและตระหนักว่าการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไรอยู่ในใจ เมื่อกลไกอยู่ที่รัฐบาลไทย ถ้าแก้ไขไม่ถูกตนเองและคนที่อยู่ในป่าทั้งหมดจะได้รับผลกระทบ เช่น เขาจะไปทำข้อตกลงเรื่องรับเงินจากต่างประเทศเพื่อลดการทำลายป่าในบ้านตัวเอง หรือการปลูกป่าในบ้านตัวเอง และลดกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดคาร์บอนในมุมมองของรัฐ เช่น ชาวบ้านหาฟืน ใช้ชีวิตในป่า เลี้ยงสัตว์ ก็ทำให้เกิดคาร์บอน หมายความว่าทางรัฐบาลจะเพิ่มมาตรการที่อยู่ในป่า มีตัวอย่างทางภาคใต้ และทางภาคเหนือที่ถูกจับและดำเนินคดีในข้อหาทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้คนอยู่ในป่าทั้งหมดเป็นผู้กระทำผิด เมื่อรัฐบาลจะไปเอาเงินต่างประเทศมาจัดการกับคนที่มีชีวิตอยู่กับป่า ทำให้เรากังวลใจ

พฤ กล่าวแสดงความคาดหวังว่า รัฐบาลจะไม่ไปรับปากทำสัญญาหรือข้อตกลงใดๆ ที่จะเพิ่มปัญหาใหม่ รัฐบาลควรจะยอมรับสิทธิชุมชนก่อน และไม่ควรไปรับ REDD ส่วนตัวการที่มาเวทีโลกนั้นเพื่อบอกกับรัฐบาลไทย และประชาคมโลกและรัฐบาลโลก ว่ามีปัญหาในประเทศไทยอย่างไร อย่างที่ว่ามา และไม่เห็นด้วยการกลไกตลาดคาร์บอน เช่น REDD เมื่อมีโอกาสเราจึงมาเพื่อมาร่วมกำหนดชะตากรรมเรื่องโลกร้อน ไม่ให้บริษัท พ่อค้าหรือนักการเมืองมากำหนด เพราะคนเหล่านี้มีแต่เอาผลประโยชน์เข้าตนเอง

เขากล่าวด้วยว่า จากสองสามวันที่ได้มาค่อนข้างจะผิดหวังในเวทีโลกในส่วนของรัฐบาล แต่ก็มีความหวังกับสัญญาณที่เห็นจากประชาชนทั่วโลกที่มาร่วมรณรงค์ที่การประชุมครั้งนี้ ขอวิงวอนให้คนไทย ประชาคมโลกทุกคนเข้ามาแสดงพลังและมาสนใจกับปัญหาที่เขาจะฉวยโอกาสจากปัญหาภาวะโลกร้อนมาเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์เข้าข้างตัวเอง

“เราจึงเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมในการแก้ไขโลกร้อน และไปละเมิดสิทธิของคนเล็กคนน้อย คนยากคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ และไม่ใช่คนที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน แต่ภาคอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน คนเหล่านี้ต้องเป็นคนรับผิดชอบเป็นหลัก ไม่ใช่โยนปัญหาให้กับภาคเกษตร คนอยู่ในป่า ชุมชนท้องถิ่น อุตสาหกรรมได้สร้างมลภาวะโลกร้อนมานับร้อยปี พวกเขาจึงต้องรับผิดชอบคดีประวัติศาสตร์ที่พวกเขาก่อขึ้น” พฤ กล่าว

ส่วนกันยา ปันกิติ เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด สมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ยังกล่าวเพิ่มเติมในประเด็นป่าไม้อีกว่า “จริงๆ แล้วเรื่องป่าไม้ คาร์บอน มันไม่ใช่เป็นอำนาจของใครที่จะเอามาซื้อขายได้ ป่าไม้และอากาศเป็นของสาธารณะไม่ใช่ของบุคคลที่จะเอามาซื้อขายกันได้ และรัฐบาลไทยก็ไม่มีสิทธิจะมาขายให้กับประเทศอื่นๆ มาที่นี่เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องมาดู ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลคนเดียว แต่เป็นหน้าที่ของคนทุกคนทั่วโลก เวลาตัดสินใจอะไร รัฐบาลมักตัดสินใจเพียงลำพัง และชาวบ้านก็ไม่มีส่วนร่วม เวลาเกิดอะไรขึ้นชาวบ้านก็ไปรู้เอาเมื่อสายแล้ว ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องมารับรู้ด้วย มาประชุมครั้งนี้ได้เห็นความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาล แต่ละรัฐมนตรีบอกว่าเราเป็นประเทศเล็กๆ ทำอะไรไม่ได้ แต่เราคิดว่าทำได้ เราต้องยืนหยัดถ้าเราคิดว่าเราถูกต้อง ที่ยืนยันเคียงข้างประชาชนของตัวเอง”

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า “คนที่ได้รับผลกระทบก่อนคนอื่นคือคนที่อยู่ริมชายฝั่งทะเล และกลุ่มที่ดูแลตัวเองได้น้อยที่สุดคือกลุ่มคนยากจน ชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก สิ่งที่เราสนใจและอยากจะเห็นคือ ในเวทีโลกมีความพยายามจะจัดการเรื่องการตั้งรับและปรับตัวอย่างไร ภาพรวมของการเจรจาถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่เห็นความชัดเจน คิดว่าแต่ละประเทศรวมทั้งประเทศไทย ควรจะมีมาตรการทั้งเรื่องโลกร้อนและการปรับตัวอย่างแข็งขัน ไม่ใช่พึ่งภาคการขายคาร์บอนเครดิตเพียงอย่างเดียว และประเด็นสำคัญ ตัวแทนในการเข้าร่วมพูดคุยเจรจาก็ไม่ภาคประชาชนที่ชัดเจน เรามาเพียงสังเกตการณ์ ขณะที่ผู้แทนเจรจามีภาคธุรกิจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมเจรจาของไทย ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีแผนขยายนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในภาคใต้ของไทย ซึ่งมีผลในการทำลายทรัพยากรชายฝั่งของชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้เห็นว่า บทบาทของรัฐบาลไทยในเวทีโลกไม่ค่อยมีบทบาท ทั้งในเรื่องการลดโลกร้อนและการปรับตัว คิดว่าด้านหนึ่งมีความคิดว่าประเทศไทยควรจะมีบทบาทมากกว่านี้ และในประเทศเราเองแม้ว่าจะไม่มีข้อตกลง รัฐบาลก็ควรมีแนวคิดจัดการอย่างรูปธรรม ไม่ต้องรอข้อตกลงระดับโลก เราสามารถจัดการได้ ”

เอื้องฟ้า ช้ำเกตุ ตัวแทนเครือข่ายเกษตรทางเลือก และกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้า กล่าวว่า “เกษตรกรก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากถ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไปจะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรเสียหาย ฤดูกาลผลิตอาจเปลี่ยนไป ผลผลิตลดลง และเป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียพันธุกรรมท้องถิ่นไป เกษตรกรอาจจะล่มสลาย ตัวเองเป็นชาวนาที่ทำการเกษตรอินทรีย์ สามารถสร้างผลผลิตที่ใช้เลี้ยงในประเทศและส่งไปต่างประเทศ ได้รับการรับรองจากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป เราทำอาหารที่ปลอดภัยเหมาะกับการบริโภคในครัวเรือนและในท้องถิ่น เพื่อความมั่นคงทางอาหาร อยู่ๆ มาก็จะมีโรงไฟฟ้ามาตั้งใกล้บ้านด้วย เรียกว่าเจอปัญหาสองซ้อน”

“จากการมาร่วมในครั้งนี้รู้มาว่าในคณะเจรจาไทยและประเทศอื่นๆ ต่างมีตัวแทนภาคธุรกิจเข้าร่วมเจรจาด้วย คิดว่าไม่เห็นความสำคัญของเกษตรกรรายย่อยเพราะไม่มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วม คิดว่าตัวแทนการเจรจาอาจเจรจามุ่งปกป้องภาคธุรกิจมากกว่าการแก้ปัญหาโลกร้อน เช่น กรณีพลังงานถ่านหินสะอาดไม่มีจริงในโลก เพราะว่าพลังถ่านหินทำให้โลกร้อนตั้งแต่ขุดขึ้นมาแล้ว จนถึงกระทั่งเผา ทำให้โลกร้อนมากขึ้น และรัฐบาลยังไม่มีการแก้ไขปัญหาพลังงานถ่านหินทีมีปัญหาขึ้นในประเทศไทย เช่น กรณีแม่เมาะ แล้วยังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้แก้ไขอะไรได้เลย ปล่อยให้ชาวบ้านต้องรับชะตากรรมที่เกิดขึ้นเอง ภาคประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้พลังงานถ่านหิน ภาครัฐไม่เคยถามชาวบ้านเลยว่าต้องการหรือไม่ และไม่เคยพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเผาถ่านหินว่าเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง และรัฐบาลยังมีหน้ามาเจรจาการลดภาวะโลกร้อน โดยที่ยังไม่ได้แก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเลย”

นับจากวันนี้ ไปจนถึงวันศุกร์ ซึ่งจะเป็นวันสุดท้ายของการเจรจา และจะมีผู้นำประเทศจากทั่วโลกกว่า 110 ประเทศมาร่วมประชุมในโค้งสุดท้าย ทั่วโลกต้องจับตามองแบบไม่อาจกระพริบตาว่า ข้อตกลงที่ดีที่จะนำโลกพ้นหายนะ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

พรุ่งนี้ (16 ธค.) เครือข่ายภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วโลกจะชุมนุมรวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อประกาศแก่รัฐบาลทั้งหลาย และประชาคมโลกว่า ถึงเวลาแล้วที่เสียงของประชาชนจะต้องดังก้องในที่ประชุมสหประชาติ ถึงเวลาที่รัฐบาลทั้งหลายไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหา และหันสู่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม อันเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ถูกต้องเป็นธรรมอย่างแท้จริง 

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net