Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

แม้ว่าอากาศที่เมืองโคเปนเฮเกนขณะนี้จะอยู่ต่ำกว่าระดับศูนย์องศาเซลเซียส แต่บรรยากาศภายในศูนย์การประชุมเบลลา (Bella Center) ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมเจรจาความตกลงระหว่างประเทศเรื่องโลกร้อนครุกรุ่นไป ด้วยความขัดแย้ง มีข้อถกเถียงกันอย่างดุเดือดระหว่างกลุ่มประเทศต่างๆ ที่มีจุดยืนแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกำลังพัฒนา กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว กลุ่มประเทศหมู่เกาะ กลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ฯลฯ

การเจรจาในขณะนี้แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ การเจรจาภายใต้อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เรียกว่ากลุ่ม AWG-LCA) และการเจรจาภายใต้พิธิสารเกียวโต (เรียกว่ากลุ่ม AWG-KP)

ประเด็นการเจรจาในกลุ่ม AWG-LCA คือ เป้าหมายการลดก๊าซของโลกในระยะยาว (ปี ค.ศ.2050) การแบ่งความรับผิดชอบในการลดก๊าซระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศ กำลังพัฒนา การปรับตัว การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเรื่องกลไกทางการเงิน สำหรับประเด็นหลักของการเจรจาในกลุ่ม AWG-KP คือ พันธกรณีการลดก๊าซในช่วงที่สอง (หลังปี ค.ศ.2012) สำหรับประเทศที่อยู่ในภาคผนวกที่ I ของพิธีสารเกียวโตซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

ตลอดช่วงของการเจรจาที่โคเปนฮาเกน ประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งมากที่สุด คือ การแบ่งความรับผิดชอบในการลดก๊าซระหว่างกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และโครงสร้างรูปแบบของความตกลงด้านโลกร้อนฉบับใหม่ ซึ่งทั้งสองประเด็นมีความเกี่ยวโยงกันอย่างมาก

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในนาม “กลุ่ม G77 และจีน” มีจุดยืนที่เป็นทางการเรียกร้องให้มีพิธีสารเกียวโตต่อไป และมีความตกลงฉบับใหม่ที่เป็นผลของการเจรจาจากกลุ่ม AWG-LCA โดยมีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่สำหรับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ต้องการให้มีการจัดทำเป็นความตกลงฉบับเดียวที่มีพันธกรณีการลดก๊าซผูกพันทั้งกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด (ซึ่งรวมถึงสหรัฐอมริกา) กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

เนื่องจาก พิธีสารเกียวโตมีข้อบังคับการลดก๊าซสำหรับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจึงต้องการให้มีพิธีสารเกียวโตต่อไป เป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับตนเองในประเด็นเรื่องการแบ่งความรับผิดชอบในการลดก๊าซเรือนกระจก สำหรับความตกลงฉบับใหม่ภายใต้กลุ่มเจรจา AWG-LCA ก็มีเนื้อหาหลายด้านที่จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่องกลไกทางการเงินสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการปรับตัวรับมือกับปัญหา โลกร้อน ฯลฯ แต่สำหรับเรื่องการแบ่งความรับผิดชอบในการลดก๊าซซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งในการ เจรจาของกลุ่ม AWG-LCA นั้น ทางกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีจุดยืนหนักแน่นไม่ยอมรับการลดก๊าซแบบบังคับโดยมีพันธกรณี โดยยืนหยัดเหตุผลว่า ปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซในอดีตของประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น จีน อินเดีย ได้ถูกกดดันอย่างหนักให้ยอมรับพันธกรณีลดก๊าซ และเป็นเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งสำหรับการสหรัฐที่จะยอมเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศด้านโลกร้อน อย่างไรก็ตาม หากมีพิธีสารเกียวโตอยู่ต่อไป ก็จะเป็นการแบ่งภาระความรับผิดชอบในการลดก๊าซอย่างชัดเจนส่วนหนึ่งไปให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจึงต้องการให้มีพิธีสารเกียวโตอยู่ต่อไป พร้อมกับมีความตกลงใหม่อีกฉบับ โดยจะต้องไม่มีพันธกรณีลดก๊าซสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นต้องการล้มเลิกพิธีสารเกียวโต เนื่องจากตามพิธีสารไม่มีพันธกรณีลดก๊าซสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นเหตุผลที่วุฒิสภาสหรัฐตั้งเป็นเงื่อนไขไม่ให้รัฐบาลสหรัฐให้สัตยาบันพิธีสารเกียวโต สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นอ้างว่าพิธีสารเกียวโตบังคับลดก๊าซสำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่ปล่อยก๊าซรวม 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก พิธีสารเกียวโตจึงไม่อาจแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้จริง หากล้มพิธีสารเกียวโตและมีความตกลงฉบับใหม่เกิดขึ้นจากผลการเจรจาของกลุ่ม AWG-LCA เป็นความตกลงฉบับเดียว จะเป็นโอกาสต่อสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นในการจัดระบบใหม่ในการแบ่งสรรภาระการลดก๊าซให้กับสหรัฐและประเทศกำลังพัฒนาที่ปล่อยก๊าซสูง เป็นการแบ่งเบาภาระและต้นทุนการลดก๊าซของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นในอนาคต

จากการเจรจาที่โคเปนเฮเกนตั้งแต่สัปดาห์แรกจนถึงกลางสัปดาห์ที่สอง ทั้งสองฝ่ายต่างยืนหยัดรักษาจุดยืนดังกล่าวข้างต้นอย่างหนักแน่น ทำให้การเจรจาไม่คืบหน้าและอาจจะไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมาในท้ายที่สุด จนต้องมีการขยายการเจรจาออกไปอีกหนึ่งปี

ในขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ยังเหลือเวลาสำหรับการเจรจาอีก 1 วัน สถานการณ์ที่อาจดีที่สุดในเวลานี้สำหรับการเจรจาที่โคเปนเฮเกน คือ พยายามหาข้อยุติเกี่ยวกับพันธกรณีช่วงที่สองของประเทศที่พัฒนาแล้วตามพิธีสารเกียวโต เก็บพิธีสารเกียวโตไว้ให้ได้ต่อไป แล้วขยายการเจรจาในกลุ่ม AWG-LCA ไปอีก 1 ปี

 
หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทางหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ Magazine Cool ฉบับวันเสาร์ ที่ 19 ธันวาคม 2552
ที่มา:
โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ลดโลกร้อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net