Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นายกนก วงษ์ตระหง่าน ประธานคณะอนุกรรมการโครงการต้นกล้าอาชีพ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการต้นกล้าอาชีพมีมติให้ยุติโครงการต้นกล้าอาชีพอย่างเป็น ทางการ โดยจะปิดโครงการทั้งหมดภายในเดือน มี.ค. 2553

นายกนก กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีผู้เข้าร่วมโครงการที่ต้องดูแลภายใต้โครงการต้นกล้าพิเศษอีกกว่า 80,000 คน คือ โครงการสำรวจสำมะโนประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 62,000 คน และโครงการของมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (สสวช.) 20,000 คน ซึ่งเมื่อรวมกับผู้ผ่านการฝึกอบรมจนสิ้นสุดเมื่อเดือน พ.ย.2552 จำนวน 423,929 คนแล้ว พบว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 500,000 คน โดยใช้งบประมาณเพียง 8,900 ล้านบาทเท่านั้น จากที่ตั้งงบประมาณไว้ทั้งหมด 14,300 ล้านบาท

“ตามเป้าหมายเดิมแบ่งการดำเนินโครงการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน 2552 ตั้งเป้าหมายฝึกอบรมแรงงานได้ 240,000 คน ใช้งบประมาณ 6,900 ล้านบาท และระยะที่ 2 เดือนตุลาคม 2552-มีนาคม 2553 อีก 260,000 คน ใช้งบประมาณ 7,400 ล้านบาท ซึ่งระยะแรกใช้งบประมาณเพียง 4,700 ล้านบาท และได้กันไว้ให้สำหรับแรงงานที่เข้าฝึกอบรมในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งอยู่ในช่วงระยะที่ 2 อีกประมาณ 1,160 ล้านบาท จึงเหลือเงินงบประมาณที่จะส่งคืนคลังประมาณ 1,005 ล้านบาท” นายกนก กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการที่ยังมีแรงงานที่ต้องดูแลกว่า 80,000 คน และยังมีโครงการต้นกล้าปกติที่กลับภูมิลำเนาที่ต้องดูแลต่อเนื่องตาม เงื่อนไขอีก 3 เดือน และโครงการต้นกล้าฯ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องใช้งบประมาณรวมกันอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค.2553 ก่อนส่งมอบโครงการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือสำนักงานการอาชีวศึกษา ไปดำเนินการต่อยอดต่อไป ซึ่งโครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานได้แล้วกว่า 287,205 คน ยังทำให้ระบบสังคมไทยกลับคืนมาอีกด้วย เพราะต้นกล้าส่วนหนึ่งกลับภูมิลำเนาเพื่อประกอบอาชีพอิสระ ทำให้มีเวลาดูแลและอยู่กับครอบครัวมากขึ้น รวมทั้งเกิดการรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ทำให้สังคมชนบทเข้มแข็งมากขึ้น

นายกนก กล่าวด้วยว่า จากผลสำรวจของศูนย์การวิจัยเศรษฐศาสตร์และพยากรณ์ทางการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำรวจตัวอย่างต้นกล้าอาชีพ 1,036 คน พบว่าร้อยละ 83.3 เห็นว่าหลักสูตรมีความเหมาะสมและหลากหลายตรงความต้องการ ร้อยละ 60.9 พบว่านำความรู้จากการอบรมไปประกอบอาชีพร้อยละ 76.7 มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นด้านรายได้เมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพเดิม ร้อยละ 68.6 ความเป็นอยู่ดีขึ้น และร้อยละ 97.9 ต้องการให้จัดอบรมต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ทำหนังสือเชิญมายังสำนักงานโครงการต้นกล้าอาชีพ เพื่อสอบถามการดำเนินโครงการ เพราะช่วยลดปัญหาการว่างงานได้อย่างแท้จริง โดยล่าสุดไทยมีอัตราว่างงานเพียงแค่ร้อยละ 1.2 เท่านั้นจากที่เคยพุ่งสูงสุดถึงร้อยละ 2 ในเดือนเมษายน ขณะที่สหรัฐพบว่ายังมีอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 10 และญี่ปุ่นร้อยละ 5

นายกนก กล่าวยืนยันว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการได้สั่งการให้ยุติโครงการต้นกล้าฯ เพียง 1 โครงการหลังจากตรวจสอบแล้วพบว่ามีเหตุไม่ปกติเกิดขึ้นจริง ขณะที่ล่าสุดคณะกรรมการมีมติไม่อนุมัติโครงการฝึกอบรมการนวดให้คนตาบอด หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่าสถานที่ฝึกอบรมเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับคนที่เข้าฝึก อบรมถึง 70 โครงการ จึงแสดงให้เห็นว่าการดำเนินโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้อง ตรวจสอบได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net