ถกปม กยศ. จากลดแรงเสียดทานหลังนำม.ออกนอกระบบ สู่โจทย์เบี้ยวหนี้-เปลืองงบฯ

คุยกับ ‘ษัษฐรัมย์’ หลัง ร่างพ.ร.บ.กยศ. ฉบับที่กำลังจะออกใหม่ จากลดแรงเสียดทาน หลังนำม.ออกนอกระบบและผลักภาระด้านสวัสดิการการศึกษามาที่ผู้เรียน สู่โจทย์เบี้ยวหนี้-เปลืองงบประมาณ? พร้อมข้อเสนอเก็บภาษี-ระดมทุนจากภาคธุรกิจ

จากการณีโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รายงานว่า ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ฉบับที่กำลังจะออกใหม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีส่งให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา และสนช. ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาในวาระที่สองเสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 59 ตามบัญชีร่างกฎหมายเร่งด่วนชุดที่ 2 ในวาระที่สอง อาจจะได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายจริงเร็วๆ นี้

โดยที่ iLaw ได้เปรียบเทียบ ร่างพ.ร.บ.กยศ. ฉบับที่กำลังจะออกใหม่ กับกฎหมายปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นการการปรับโครงสร้าง กยศ. ครั้งใหญ่ เพื่อหวังจะแก้ปัญหาหนี้เสียทวงคืนไม่ได้ โครงสร้างการบริหารงานก็ชุดใหม่ ให้กรรมการเอาเงินกองทุนไปหารายได้ เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล แต่ไม่ต้องให้กรรมการเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะ ขณะที่ผู้กู้เงินจะได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะกฎหมายบังคับให้ผู้กู้ ต้องยินยอมให้เข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ต้องยินยอมให้นายจ้างหักค่าจ้างเพื่อชำระหนี้ให้ กยศ. ก่อนหักค่าสวัสดิการและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สำคัญ คือ เพดานดอกเบี้ยที่กยศ.เรียกเก็บได้ อาจเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 7.5 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เว็บไซต์ iLaw )

ในโอกาสนี้ ประชาไท ได้สัมภาษณ์ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาระบบสวัสดิการสังคมและการศึกษา ถึง ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกี่ยวกับ กยศ. เช่น ประเด็นความสิ้นเปลืองงบประมาณ อัตราการว่างงานเพิ่มเพราะเรียนไม่ตรงกับความต้องการของตลาด  เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับต้องการองค์ความรู้ในระดับสูงที่บูรณาการ มากกว่าความชำนาญเฉพาะเรื่อง ข้อเท็จจริงสำคัญทั้งของไทยและของโลก ยิ่งมีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีมากขึ้นก็ผลักดันให้ เศรษฐกิจพัฒนา เท่าเทียมและสร้างสรรค์ และการณีคนรุ่นใหม่จะเผชิญปัญหา พ่อแม่จะแก่ก่อนรวย พร้อมทั้งตัวแบบสวัสดีการด้านการศึกษา จากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และเวเนซุเอลา

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

สิ้นเปลือง? จากจุดเริ่มต้นจากลดแรงเสียดทานนำ ม.ออกนอกระบบ

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า การเกิดขึ้นของ กยศ. มันเกิดขึ้นมาเพื่อลดแรงเสียดทานที่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือการที่ประเทศปรับตัวเข้ากับกระแสเสีนิยมใหม่ รัฐบาลจะลดการอุดหนุนของค่าใช้จ่ายที่มีต่อสถานบันอุดมศึกษา จึงทำให้ค่าเทอมค่าใช้จ่ายในการเรียนมหาวิทยาลัยสูงขึ้น แต่ตอนนั้นรัฐบาลก็บอกว่าสิ่งเหล่านี้จะถูกทดแทนด้วยตัว กยศ. หรือกองทุนกู้ยืมตามรูปแบบต่างๆ ถ้าเราไปดูการเปรียบเทียบก็จะเห็นว่าอัตราส่วนของการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยต่างๆ มันก็ถูกแปลงออกไปเป็น กยศ. เพราะฉะนั้นหากถามว่ามันสิ้นเปลืองกว่าในอดีตไหม ตนคิดว่าตรงนี้ไม่ใช่

"แต่ปัญหาคือ พอมาเป็น กยศ. โดยตรรกะมันก็แย่ ผมว่ามันเป็นการโยนภาระค่าใช้จ่ายที่ควรจะเป็นรัฐบาลสนับสนุน กลายเป็นปัจเจกชนต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง" ษัษฐรัมย์ กล่าว

จากสถิติย้อนหลังมาตั้งแต่ปี 40 งบของ กยศ. อยู่ที่ประมา 2 หมื่นล้านโดยเฉลี่ยต่อปี แต่อัตราที่ใช้คืน 75% คือเมื่อถึงกำหนดแล้วมาใช้คืนได้ ทำให้โดยเฉลี่ยมีหนี้สะสมที่ไม่ได้รับการใช้คืนเพิ่มขึ้นปีละ 5 พันล้านบาท พอเป็นหลายปีเข้าจึงดูเยอะ แต่ถ้าเทียบกับก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลให้เปล่าแก่สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศนั้น เมื่อเทียบกับ 5 พันล้านบาทต่อปีตนถือว่าน้อยมาก เพราะฉะนั้นตรงนี้ตนจึงมองว่าตรงนี้ไม่ใช่โจทย์ของการสิ้นเปลือง คุณสูญเงิน 5 พันล้านบาทต่อปี และมีคนยื่นมาเป็นผู้กู้รายใหม่ปีละ 2 แสนคน ถ้าเราคิดเฉลี่ยหลักสูตร 4 ปี ก็เฉลี่ยนแล้วรัฐบาลให้ประมาณคนละ 6,000 บาทต่อปีเท่านั้นเอง จึงถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องสิ้นเปลือง

แล้วงบทหารเกณฑ์?

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า มันมีค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลหรือรัฐบอกว่ามันเป็นเรื่องของความมั่นคงนั่นคือเรื่องของการเกณฑ์ทหาร แต่ค่าใช้จ่ายของ กยศ. ไม่ถึงครึ่งของงบประมาณในส่วนของเงินเดือนทหารเกณฑ์ ดังนั้นหากเราเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับความั่นคงของประเทศ มันควรจะมาจากการลงทุนให้การศึกษาและการพัฒนามนุษย์มากกว่าให้คนไปอยู่ในระบบทหารเกณฑ์ ซึ่งยังไม่ต้องพูดถึงการทำให้เขาเหล่านั้นสูญเสียรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในช่วงเวลาปีถึง 2 ปีจากการไปเกณฑ์ทหารอีก

ว่างงานกับการเรียนไม่ตรงกับตลาด

สำหรับประเด็นการว่างงานกับการเรียนไม่ตรงกับตลาดนั้น ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการว่างงานของคนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25% ซึ่งถามว่าตัวเลขตรงนี้มันสามารถเป็นตัวชี้วัดว่ามันมีปัญหาไหม ผมคิดว่ามันไม่มีปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ จริงๆ แล้วมันมีแนวโน้มคนที่จบการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นจะทำงานอยู่นอกระบบมากขึ้น อย่างที่รัฐบาลพยายามพูดถึงเรื่องสตาร์ทอัพ ที่ด้านหนึ่งไม่อยู่ในระบบราชการ และอีกด้านคือไม่อยู่ในระบบงานประจำ ซึ่งประเทศไทยคนที่จบปริญญาตรีไม่ได้มากขนาดจบมาแล้วไม่มีงานทำ และการจ้างงานระดับปริญญาตรีของไทยก็ยังถือว่าต่ำมาก คือประมาณ 16% ของกำลังแรงงานเท่านั้นเอง และกว่า 40 % ของกำลังแรงงานจบการศึกษาระดับประถมคึกษา หรือระดับต่ำกว่า ซึ่งอันนี้ตนคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ถ้าเราจะบอกว่าเราต้องการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คนที่มีทักษะความสามารถอะไรต่างๆ ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นมันก็เป็นการเพิ่มจินตนาการของคนในการสร้างมูลค่าในการทำงาน และหากเราเปิดโอกาสให้คนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายก็จะเป้นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ษัษฐรัมย์ กล่าวอีกว่า ปัญหาการมองวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ผูกขาดในประเทศ ที่ต้องการแรงงานที่มีอำนาจในการต่อรองต่ำ และจ้างด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ ยังไม่ต้องพูดถึงการไม่มีสหภาพแรงงาน กฎหมายแรงงานที่ไม่ครอบคลุม ดังนั้นจึงคิดว่าตัวนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์

การผลักดันสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความเท่าเทียม

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า หากพูดในมิติของ กยศ. มันก็มีงานวิจัยออกมาว่าคนที่จะสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ดีก็คือมีภาระที่จะเข้าสู่ระบบการจ้างงานแบบประจำน้อยที่สุด พูดอีกด้านหนึ่งก็คือ สมติว่าไม่สามารถจ่ายสวัสดิการในระดับสูงได้ทั้งหมด สิ่งที่ต้องคิดก็คือการทำให้เขามีภาระหลังจากสำเร็จการศึกษาให้น้อยที่สุด แต่ถ้ามีการปรับเพดานให้สูงขึ้นเป็นดอกเบี้ย 7.5% นั้น ก็จะทำให้คนไม่สามารถออกมาสู่การสร้างมูลค่าแบบใหม่ได้ สิ่งที่คนทำก็คือเมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีก็ต้องมุ่งเข้าหางานประจำ มุ่งเข้าสู่ระบบราชการ ซึ่งการเข้าไปสู่ระบบพวกนั้นที่ไวเกินไปสำหรับแรงงานที่จบการศึกษาใหม่ๆ มันก็ทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์มันไม่ได้รับการพัฒนา

อีกด้านหนึ่งตนก็มองว่าการส่งเสริมสาขาอาชีพที่หลากหลายมันก็มีข้อดี แต่สิ่งที่รัฐบาลพยายามเสนอเพิ่มเติมมาตลอดก็คือคนที่มีความชำนาญในวิชาชีพหรือช่างเทคนิค จริงๆแล้วช่างเทคนิคก็มีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ก็มีความจำเป็นเฉพาะในช่วงเริ่มแรก ถ้าเราต้องการให้เศรษฐกิจของเรามีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น นอกจากที่เราต้องการคนที่จะมาทำตามความชำนาญที่มีคนทำมาก่อนหน้านี้แล้ว เรายังต้องสามารถสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีแบบใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งการศึกษาระดับปริญญาจึงมีความสำคัญ ที่จะเป็นการเปิดพรมแดนทางจินนาการมากกว่าเรื่องการสร้างความชำนาญ ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยเคยถูกวางพันธกิจไว้เพียงแค่การสร้างความชำนาญ โดยเป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาวางไว้ตั้งแต่ยุค 60 - 70 แต่มาถึงตอนนนี้เราต้องมองว่ามหาวิทยาลัยควรเป็นสถานที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เกาหลีใต้เอามาทำและสามารถผลักดันให้เศรษกิจเขาสามารถเติบโตได้ในศตวรรษที่ 21 และก้าวกระโดน

คนรุ่นใหม่กับปัญหาพ่อแม่แก่ก่อนรวย

สำหรับประเด็นที่คนรุ่นใหม่จะประสบปัญหาพ่อแม่แก่ก่อนรวยนั้น ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า โครงสร้างสังคมไทยในปัจจุบันมันมีแนวโน้มจะเป็นแบบนั้น คือด้านหนึ่งค่าจ้างที่แท้จริงของเราต่ำเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย เพราะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเราสูงเทียบเท่ากับประเทศ OECD (ประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ขณะที่รายได้ของประชาชนอยู่ในระดับของประเทศกำลังพัฒนา มีงานวิจัยระบุว่าคนที่จะมีชีวิตที่ปลอดภัยหลังเกษียณมันต้องเป็นคนที่มีเงินเดือน 30,000 บาทขึ้นไป และได้เงินเดือนขึ้นปีละ 10% ซึ่งก็พบว่าคนที่จะอยู่ในเงื่อนไขนี้อยู่ในระบบตลาดแรงงานของไทยมีไม่ถึง 20% เพราะฉะนั้นแนวโน้มคือคนที่ทำงานอยู่ในตลาดแรงงานหรือพ่อแม่ของคนรุ่นใหม่นั้น ก็มีแนวโน้มที่จะแก้แล้วยังจนอยู่ ชีวิตไม่ปลอดภัยหลังจากไม่สามารถทำงานได้แล้ว ดังนั้นภาระการดูแลมันจึงตกไปสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งนอกจากที่เขาจะต้องรับผิดชอบต่อชีวิตตัวเองมากขึ้นแล้ว พวกเขายังต้องรับผิดชอบชีวิตของพ่อแม่ที่ไม่มีหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และแนวโน้มปัจจุบันพ่อแม่ก็จะมีลูกน้อยลงเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 คน ต่อครัวเรือน และจะยิ่งมารวมกับเงื่อนไขที่ว่าภาระในการรับผิดชอบในชีวิตการศึกษาของพวกเขา มันถูกถ่ายโอนมาที่ตัวของพวกเขาเอง ลำพังการใช้หนี้ 2 แสนคืนด้วยฐานเงินเดือนของไทยก็ถือว่าเป็นภาระที่หนักมากของแรงงานรุ่นใหม่อยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มเพดานดอกเบี้ยก็จะยิ่งเพิ่มภาระ

"พอภาระมากขึ้น เศรษฐกิจสร้างสรรค์มันก็จะไม่เกิด คนก็จะอยู่ในวังวลของการใช้หนี้ การต้องพยายามอยู่ในระบบงานประจำ การคิดนวัตกรรมหารการสร้างเทคโนโลยีที่มันมีการเพิ่มมูลค่าใหม่ๆ ในระบบ ก็จะไม่เกิดขึ้น มันก็จะขัดกับแนวคิดเรื่องการสตาร์ทอัพ 4.0 ต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามพูดถึง" ษัษฐรัมย์ กล่าว

เก็บภาษี-ระดมทุนจากภาคธุรกิจ

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทย 90% ออกนอกระบบไปแล้ว และตัว กยศ. ถูกออกแบบมาอุดค่าใช้จ่ายของประชาชนที่สูงมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ได้แย่ลงไปนั้น เข้าใจว่ารัฐบาลควรจะมาควบคุมเพดานการแสวงหากำไร โดยการเพิ่มงบประมาณให้มากขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรในมหาวิทยาลัยต่าง ไม่ใช่การผลักภาระให้มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐดำเนินการเอง รวมทั้งรัฐควรเพิ่มการอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านงานวิจัย และมีการมาควบคุมสผลกำไรที่เกิดขึ้นต่างๆ ในระบบการศึกษาถูกย้อนกลับมาเป็นทุนการศึกษาหรือเงื่อนไขที่จะทำให้สวัสดิการด้านการศึกษามันดีขึ้น เพราะทุกวันนี้กลายเป็นว่ารัฐบาลผลักให้การค้ากำไรของการศึกษาเป็นความพันธ์กับลูกค้า ดังนั้นมหาวิทยาลัยก็พยายามที่จะแสวงหากำไรจากผู้เรียน ซึ่งมันง่ายที่สุด ทั้งที่จริงๆ ล้วมันมีช่องทางอื่นในการที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่มหาวิทยาลัย เช่น ตัวแบบที่ใช้ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ทางมหาวิทยาลัยเองพยายามที่จะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น และแสวงหากำไรเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษามากขึ้น

ษัษฐรัมย์ กล่าวด้วยว่า กรณีเวเนซุเอลา ที่ให้ภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์จากภาคการศึกษานั้น จ่าภาษีด้านการศึกษาที่เก็บกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องจ่ายเงินเข้ากับกองทุนหนึ่งเพื่อให้มาสนับสนุนสวัสดิการด้านการศึกษา หรือเป็นกองทุนกู้ยืมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจไทยไม่ได้ระดมทุนในส่วนนี้เลย หากจะมีก็เป็นการไปตั้งมหาวิทยาลัยเอกชนของตัวเองและควบคุมการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการขอภาคธุรกิจของตัวเอง จึงไม่เป็นการสร้างนวัตกรรมในภาพรวม และอีกช่องทางหนึ่งคือการดึงให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องของการระดมทุนเข้า กยศ. แต่ไม่ได้หมายถึงเป็นการไปร้องขอและควรเป็นกฎหมายที่บังคับออกมา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท